"ปัญหาสวนสันติธรรม" เป็นประเด็นที่หลายท่านเคยตั้งข้อสังเกต หรือกำลังตั้งคำถามว่าว่า เกิดอะไรขึ้น มีแง่มุมต่างๆ อย่างไร และทางออกควรจะเป็นอย่างไร เนื้อในที่จะนำเสนอต่อไปนี้ เป็นประเด็นที่ผู้เขียนได้นำเสนอความเห็นในรายการ "ตอบโจทย์" เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๓ พร้อมกับโฆษกของสภาทนายความและ ดร.เทิดศักดิ์ ในขณะเดียวกัน วัตถุประสงค์หลักของการนำมาเสนอก็เพื่อ "ให้พวกพุทธศาสนิกชน และผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง และโดยอ้อมได้มองเห็นข้อมูลต่างๆ อย่างรอบด้าน" และในฐานะเ็ป็นพุทธศาสนิกชนที่มี "พระพุทธเจ้าเป็นพ่อ" หรือ "ต้นธารแห่งธรรม" จะได้ตระหนักรู้ เข้าใจ และมีท่าทีที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น
การดำเนินการต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ "กรณีสวนสันติธรรม" นั้น สาระสำคัญคือการ "แยกแยะคดีโลก และคดีธรรม" ให้ชัดเจน ในประเด็นที่เกี่ยวกับ "คดีธรรม" นั้น "อาจจะ" พาดพิง หรือกระทบทั้ง "ธรรม และวินัย" ฉะนั้น ประเด็นใดกระทบธรรมควรใช้ธรรมเข้าไปตรวจสอบว่า แนวทางการสอน การเผยแผ่และตีความสอดรับกับธรรมหรือไม่ หากประเด็นใด ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่อง "วินัย" จำเป็นที่จะต้องนำหลักวินัยไปเป็นเครื่องมือในการสอบทาน และหากทางออกในประเด็นดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ในกรณีนี้ ได้มีการกล่าวหาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ "คดีโลก" ด้วย ซึ่งประเด็นนี้มีความจำเป็นที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฏหมาย ก็ควรเข้าไปดำเนินการเพื่อให้เกิดคุณค่า และความบริสุทธิ์ทั้งแก่ผู้ถูกกล่าวหา หากข้อหาดังกล่าวไม่ปรากฎว่าเป็นจริง การสอบสวนดังกล่าวจะทำให้เกิดผลเชิงบวกแก่ลูกศิษย์ทั้งสองฝ่าย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ "พระพุทธศาสนา" เพราะจะทำให้ศรัทธาที่มี่ต่อพระพุทธศาสนาทั้งในแง่ของพระพุทธเจ้า ศาสนธรรม ศาสนบุคคล และศาสนพิธีของพุทธศาสนิกชนที่มีศรัทธายัไม่มั่นคง และง่อนแง่นมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น
ถึงกระนั้น เมื่อกล่าวถึง การตรวจสอบนับเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องดูท่าทีของการตรวจสอบ" โดยให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณีทั้งสองฝ่าย สาระของการตรวจสอบนั้นหากดำเนินการบนพื้นฐานของการเสาะแสวงหาข้อเท็จจริง โดยไม่ใช้อารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องย่อมจักเป็นบุญ และเกิดคุณูปการต่อพระพุทธศานาเป็นอย่างมาก แต่พอดึงเข้ามาหาเรื่องของการตรวจสอบแนวทางของครูบาอาจารย์ ถ้าเราเชื่อตามหลักของกาลามสูตร ต้องไปดูเจตนาของผู้ตั้งข้อสังเกตว่า อยู่บนฐานของความเคารพ ยกย่อง และให้เกียรติหรือไม่ อย่างไร
"อารมณ์เป็นเรื่องของศรัทธา ปัญญาเป็นเรื่องของเหตุผล" ฉะนั้น ในสถานการณ์ของความขัดแย้ง หรือเห็นต่าง จำเป็นที่เราต้อง "แยกอารมณ์ออกจากคน แยกคนออกจากปัญหา และแยกปัญหาออกจากการแก้ไข"
เมื่อใดก็ตามเราประสบกับความตีบตันทางความคิด และอยากจะทราบว่า เรากำลังเป็นพุทธแท้ หรือพุทธเทียม" นั้น ได้โปรดตามดู ตามรู้ และตามเห็นจิตของเราว่า "ในขณะที่เรากำลังเผชิญกับอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบใจของเรานั้น เรากำลัง 'รู้ ตื่น และเบิกบานบนสายธารแห่งพุทธธรรมหรือไม่"
ในขณะเดียวกัน หากเรากำลังเกิดความสับสน สงสัย ท้อแท้ และกำลังสิ้นหวัง ขอได้โปรดหันกลับไปพิเคราะห์ธรรมที่แก่น และแกนที่แท้จริงของพระพุทธศาสนาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ และรอบด้าน เมื่อนั้น เราจะประจักษ์ชัดว่า "ความสุขนั้นไซร์ อยู่ใกล้แค่ใจเรา"
๑. คลิบไฟล์ภาพและเสียงการให้สัมภาษณ์ทางไทยพีบีเอส ดูใน
http://www.thaipbs.or.th/s1000_obj/front_page/page/1058.html?content_id=272487&content_detail_id=743514&content_category_id=712
๒. คลิบที่ตัดต่อ และใส่ไว้ใน Youtube ซึ่งเป็นไฟล์งานของผู้เขียน
๒.๑ ศาสนากับปัญหาสวนสันติธรรม ตอนที่ ๑ http://www.youtube.com/hansa1536#p/a/u/0/Bj4dozzq76w
๒.๒ ศาสนากับปัญหาสวนสันติธรรม ตอนที่ ๒ http://www.youtube.com/hansa1536#p/a/u/1/zfbckZIiyEI
๒.๓ ศาสนากับปัญหาสวนสันติธรรม ตอนที่ ๓ http://www.youtube.com/hansa1536#p/a/u/2/el3q1sIx2xs
|