Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
MCU
ON THIS SITE
Curriculum
Academic Articles

First Page » Dr. Kritsana Raksachom » รูปแบบและกระบวนการจัดการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ:กระบวนการเปลี่ยนแปลง “เส้นทางบุญ “สู่” เส้นทางธรรม”
 
counter : 13915 time

''รูปแบบและกระบวนการจัดการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ:กระบวนการเปลี่ยนแปลง “เส้นทางบุญ “สู่” เส้นทางธรรม”''
 
ดร.แม่ชีกฤษณา รักษาโฉมและคณะ (2556)

บทความวิจัย

 

เรื่อง รูปแบบและกระบวนการจัดการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ:กระบวนการเปลี่ยนแปลง “เส้นทางบุญ “สู่” เส้นทางธรรม”

 

                       โดย ดร.แม่ชีกฤษณา  รักษาโฉมและคณะ

                                            บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

บทคัดย่อ

 

รหัสโครงการ  :  สัญญาเลขที่ RDG5550018

ชื่อโครงการ    : รูปแบบและกระบวนการจัดการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาในภาค

 ตะวันออกเฉียงเหนือ :  กระบวนการเปลี่ยนแปลง เส้นทางบุญ สู่  เส้นทางธรรม

                   The  Forms   and  the  Processes  of   Buddhism-based  Tourism

                    Management  in  Northeastern  Thailand:  the  Process  of  Changing

                    Merit  Routes  to  Dhamma  Routes.

ชื่อนักวิจัย    : ดร.แม่ชีกฤษณา รักษาโฉม , ดร.แสวง นิลนามะ, พระมหาเกรียงศักดิ์

                 อินฺทปญฺโญ

ระยะเวลาโครงการ :  พฤษภาคม 2555 – 30 สิงหาคม 2556

 

วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้เพื่อ (1)เพื่อศึกษารูปแบบ กิจกรรม อัตลักษณ์ และกระบวนการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (2)เพื่อศึกษาพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวและกระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้และการสื่อสารคุณค่าของแหล่งท่องเที่ยวประเภทวัดที่มีความสัมพันธ์กับกระบวนการเปลี่ยนแปลงจากเส้นทางบุญสู่เส้นทางธรรม (3)เพื่อศึกษาเส้นทางและประเมินทรัพยากรการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งแนวทางการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (4) เพื่อศึกษาวิเคราะห์สภาพปัญหาและผลกระทบของการท่องเที่ยวที่มีต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

วิธีการดำเนินการวิจัยประกอบด้วยวิธีวิจัยเชิงเอกสาร โดยศึกษาจากหนังสือประวัติวัด เอกสารแผ่นพับ จิตรกรรมฝาผนัง การวิจัยเชิงสำรวจโดยใช้แบบสอบถามสำหรับเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นชาวไทยและชาวต่างชาติ จำนวน 300 ชุด แบบสอบถามและสัมภาษณ์เชิงลึกเจ้าอาวาส  พระเถระและผู้เกี่ยวข้องภายในวัดจำนวน 30 ชุด/รูป ประชุมเสวนาวิชาการมีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน การประชุมกลุ่มย่อยพระสงฆ์และชุมชนจำนวนกว่า 20 รูป/คน  ซึ่งสามารถสรุปผลการวิจัย ได้ดังนี้

จากวัดกลุ่มตัวอย่าง 30 วัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนา พบว่าเส้นทางการท่องเที่ยวมี 2 รูปแบบ 3 เส้นทาง ดังนี้ รูปแบบที่ 1) เส้นทางบุญ ซึ่งประกอบด้วย 2 เส้นทาง คือ เส้นทางตำนานองค์พระธาตุและเส้นทางอภิวาทพระพุทธรูปคู่บ้านพระอริยสงฆ์คู่เมือง  รูปแบบที่ 2) เส้นทางธรรม คือ เส้นทางรุ่งเรืองในพุทธธรรม แต่ละเส้นทางมีอัตลักษณ์และกระบวนการท่องเที่ยว ดังนี้ 

1) เส้นทางตำนานองค์พระธาตุ  มีพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าเป็นแหล่งดึงดูด ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดเป้าหมายในการเดินทางกราบไหว้แสวงบุญ มีทั้งหมด 10 พระธาตุ   

2) เส้นทางอภิวาทพระพุทธรูปคู่บ้านพระอริยสงฆ์คู่เมือง  มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และพระอริยสงฆ์เป็นแหล่งดึงดูด  ซึ่งนักท่องเที่ยวมีความเชื่อว่าไหว้พระพุทธรูปและทำบุญกับพระอริยสงฆ์ได้บุญมาก  ได้ชื่อว่าเดินตามรอยพระอริยสงฆ์ และยังมีรูปแบบการปฏิบัติธรรมที่ยังสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้มีทั้งหมด 10 วัด

3) เส้นทางรุ่งเรืองในพุทธธรรม  วัตถุประสงค์ของการไปคือเพื่อปฏิบัติธรรม หวังเพิ่มบุญ สั่งสมความสงบ แสวงหาความจริงของชีวิต ลดความวุ่นวาย หวังการบรรลุธรรม  ปฏิบัติตามแนวทางที่พระอริยสงฆ์ปฏิบัติไว้เป็นแบบอย่าง มีทั้งหมด 10 วัด

จากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการเปลี่ยนแปลงจากเส้นทางบุญสู่เส้นทางธรรม พบว่าเส้นทางท่องเที่ยว 3 เส้นทาง สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบท่องเที่ยวได้ เส้นทางบุญสามารถเปลี่ยนเป็นเส้นทางธรรมได้  ในทำนองเดียวกันเส้นทางธรรมสามารถเปลี่ยนกลับเป็นเส้นทางบุญได้ เมื่อมีปัจจัยเข้ามากระตุ้น เช่น เส้นทางการไหว้พระธาตุและพระพุทธรูปมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ทำให้ขาดความสงบทำให้เริ่มมีการจัดการแบ่งพื้นที่ทำบุญกับพื้นที่ปฏิบัติธรรมให้เห็น

ส่วนเส้นทางปฏิบัติธรรมและเส้นทางไหว้พระอริยสงฆ์ซึ่งมีความเงียบสงบ  เดิมเคยมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาทำบุญและปฏิบัติธรรมจำนวนมากครั้งที่พระอริยสงฆ์ยังมีชีวิตอยู่ นอกจากนี้เส้นทางทั้งสองเส้นนี้ มีการผสมผสานกันสลับไปสลับมา อันเนื่องจากกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาและกิจกรรมทางประเพณีทำให้เกิดเส้นทางบุญสู่เส้นทางธรรมและจากแบบสอบถามพบว่านักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนมากเป็นสุภาพสตรี สถานภาพโสด อายุเฉลี่ย 21-30 ปี การศึกษาส่วนใหญ่ปริญญาตรี เดินทางท่องเที่ยวเป็นคณะ ทราบข้อมูลจากญาติและเพื่อน ให้ความสนใจในการไหว้พระธาตุเป็นส่วนมาก  นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติส่วนใหญ่เป็นชาย สถานภาพโสดอายุเฉลี่ย 21-30 ปี การศึกษาระดับปริญญาตรี มาท่องเที่ยวกับครอบครัว โดยบริษัทนำเที่ยว เคยมาเมืองไทยมากกว่า 2 ครั้ง ทราบข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวจากแผ่นพับ เหตุผลในการเดินทางไปเยี่ยมชมวัดคือชมความงามของวัดและพุทธศิลป์ จากแบบสอบถามเจ้าอาวาสและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวพบว่าผู้ดูแลจัดการท่องเที่ยวภายในวัด มีอายุมากกว่า 60 ปี การศึกษาระดับมัธยมศึกษา มีหน้าที่จัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาเช่นการไหว้พระ การฝึกสอนสมาธิ

การศึกษาเส้นทางและประเมินทรัพยากรการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งแนวทางการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  พบว่าวัดกลุ่มตำนานองค์พระธาตุและกลุ่มพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มีความพร้อมในทางกายภาพมากที่สุด               วัดกลุ่มพระอริยสงฆ์และวัดกลุ่มปฏิบัติธรรมมีความพร้อมทางกายภาพ ระดับปานกลาง                ในส่วนศาสนสถานนั้นรูปแบบของพระธาตุมีลักษณะคล้ายคลึงกันกระจายอยู่ทั่วภูมิภาค  ส่วนใหญ่จำลองแบบจากพระธาตุพนม ศาสนวัตถุคือพระพุทธรูปปางมารวิชัยมีชื่อเสียงในความศักด์สิทธิ์           วัดพระอริยสงฆ์ส่วนใหญ่นิยมสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์อัฏฐบริขาร ในขณะที่วัดปฏิบัติธรรมมีสภาพป่าที่สมบูรณ์  บางท้องถิ่นชุมชนเป็นผู้ก่อตั้งชมรมในวัดให้ความรู้เกี่ยวกับอาชีพและสุขภาพ มีรูปแบบการสื่อธรรมผ่านสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรมหรือสื่อพุทธธรรมและคติธรรมตามต้นไม้ ยิ่งไปกว่านั้น วัดเหล่านี้มีส่วนช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมแรงงานในท้องถิ่น ชุมชนมีส่วนร่วมกำหนดแผนการจัดงาน มีส่วนร่วมจัดงาน มีร่วมในการจัดเก็บรายได้ของวัด บางวัดมีความขัดแย้งกับกรรมการวัดในเรื่องทรัพย์สินของวัด

จากการศึกษาวิเคราะห์สภาพปัญหาและผลกระทบของการท่องเที่ยวที่มีต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าพระสงฆ์มีการตื่นตัวและปรับปรุงวัดเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เกิดการสร้างงาน การพัฒนาสาธารณูปโภคภายในวัด ในขณะเดียวกันภาระของพระสงฆ์ในการต้อนรับนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นรบกวนการปฏิบัติธรรมและบางวัดยังไม่มีการแบ่งพื้นที่ระหว่างนักท่องเที่ยวและที่พักพระสงฆ์ แม้ว่าการท่องเที่ยวจะนำมาซึ่งรายได้จำนวนมากถึงกระนั้นวัดก็ได้กระจายรายได้ไปสู่ชุมชนในรูปแบบการบำเพ็ญประโยชน์ เช่นมอบทุนการศึกษา นอกจากนี้ยังพบว่าชุมชนท้องถิ่นไม่แสดงอัตลักษณ์ทางท่องเที่ยว ยกเว้นงานเทศกาลประจำปี

               

คำสำคัญ :การท่องเที่ยว, การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม, การท่องเที่ยวเชิงพุทธ, การจัดการพุทธ

             ศิลป์, ผลกระทบทางการท่องเที่ยว

 

                                               

Abstract

 

The objectives of  this  research are:

1.       To study the forms and processes of Buddhism-based tourism in Northeastern Thailand.

2.       to study the behaviour of Buddhism based- tourists, to find ways to promote  the ability of such tourists to better learn about Buddhism, and to study the way merit making routes change into Dhamma routes.

3.       to study the routes and resources of Buddhism-based tourism, and to find ways of promoting such tourism in the northeast of Thailand.

4.       to study and analyze the problems associated with, and the effects of Buddhist-based tourism  on the way of life and culture of Thai people living in and near the place where such tourism occurs.

              The research methods used in conducting this research included documentary  research (the study of historical books, official records and manuscripts, wall-painting examination, and survey. Data from a group of 300 selected  people (both Thai and foreign) was collectedby questionnaire. 30 sets of questionnaires were given to abbots and venerable monks, and in-depth interviews were held with the same 30 abbots and monks. A meeting was heldacademic  discussion, and 100 people attended. A focus  group meeting, which included  both monks and lays, was also held, and there were more than 20 people in attendance.

              The  results  of the  research  can  be summarized   as  follows:  data collectedfrom the nominated groups of the temples in Northeastern  Region  shows that there are two  types  tourist routes. The first  type, which can be labeled as the merit  group, consists  of  two routes, namely:  the  relics  legends  route and  the  Buddha  image and  Noble  monks route. The second type is that of the Dhamma route, which the route of  progress in Buddha Dhamma is.

              Each route has its  own characteristics  and   involves its own  processes of tourism.The relics legend route (the route of the PhraDhatu) involves tourists going to worship  Buddha relics in  the search for merit. There are altogether 10 relics.   The  route  of  Buddha  Image and  noble  monks  worship  has as its focus a number of important sacred  Buddha  images  and  noble  monks.  Tourists  believe  that  they can make much merit  by  worshiping  the  Buddha  images  and  making  offerings to noble  monks. The routeof  progress in  the  Dhamma is actively   pursued in ten temples. people who follow this route aim to advance their Dhamma practice; they try to find peace, and  reduce stress, and often aim at seeing the truth of life and reaching enlightenment as do the noble monks who practice  in all  ten  temples.

              From the study of routes mentioned above, it is found that merit routes can be transformed  intoDhamma routes, and the reverse process can also occur; that is that  Dhamma routes can also change into merit routes. Another observation was that many travelers caused trouble in the Buddhist centers. This  fact caused  the  division  between the  area  of  making  merit  and  practice of the Dhamma to widen.

              In  the  past, there  were  many  tourists  who  came  to  make  merit  in areas where there was also a  lot of Dhamma activities going on. People who were in attendance  at merit making  Buddhist  activities and ceremonial activities met the monks and other practitioners, and became  inspired  to undertake more serious Dhamma activities.  This in fact was a transformation of merit routes to Dhamma routes.

     From  the  questionnaires, it  was found  that  most  of  the  Thai  tourists  were unmarried  females in the 21-30 years old age range. Most of them had bachelor’s degrees. They travelled in groups and   loved to worship Buddha’s relics. Most of the foreigners were unmarried men in the 21-30 years old age range, and held bachelor’s degrees. They  came  to  the  centers in  groups with  members of their  families, with their travels often organized by  the  travel  companies. They had been to Thailand  more than two times. They knew about the Buddhist tourism chances from   tourist offices and booklets. They visited  the temples  in order to admire the beauty  of  the  temples and to savor Buddhist  art.

     Interviews with abbots and seniors concerned with tourism revealed that many of them were older than 60 years of age. They were educated to the secondary school level. They looked after their temple and managed the tours in their temple. Moreover, they also managed   Buddhist activities   such as the worship of Buddhist monks and meditation teaching and practice.

     The study  of tourist  routes and the  estimation of  resources  along  those routes reveled that temples that specialized  in relic and  Buddha  image  tourism were very successful and functioned at the highest level, whereas temples  in the Dhamma  practice  group were moderately successful. In  many of the relic temples, a similar type of relic (based on the  PhraDhatuPhanom  (Phanompagoda) was found, although the relics did vary somewhat from site to site. The PhraDhatuPhanom relic is based on a Buddha image in the Maravijaya style that is much revered. In most of the Noble Monks’ temples, the people were pleased to build  pagodas. However, much less of this type of practice occurred in the Dhamma practice temples, which were often located in thick forest. In some regions, quite large communities had grown up around the Buddhist tourist site, and these communities provided knowledge of occupation and health. The temples in Northeast communicate the Dhamma through architecture, painting and sculpture, and also through the media. Most Dhamma is taught and practiced in forest temples. In addition to the above mentioned points, the research shows that temples associated with tourism can generate considerable economic activity in their local communities, and create employment. In fact, local communities are co-partners as they may support the temple, work at it, and participate in collection of income. However, in some temples, conflicts have arisen between the various involved parties, and disputes over temple income and ownership of resources have occurred.

     The  analytical  study  of  the  effects of  tourism  on the  way  of  life  and  the Buddhist  culture in the Northeastern  Region shows that such tourism caused many monks to get active, learn new skills, and improve the temples so as to be better able to support the tourists. So, there wasa big development in the public use of the temple.  On the other hand, as the numbers of tourists increased, more time and effort were required to provide tourist services, and  theDhamma practice of some monks suffered. Though tourism brought much income to the temple, many temples allowed that income to flow out into the local communities in the form of benefits like educational funds. It was also found that local communities often did not display or share their unique identities as part of Buddhism-tourism, except at annual festival time.

 

Keyword: CulturalTourism,BuddhistTourism,BuddhistArtsManagement, CulturalManagement, Impact of Tourism

 

1.บทนำ

 

              ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาการท่องเที่ยวประเภทวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ภาคอีสาน)ได้รับความนิยมมากขึ้นในรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยว หรือที่รู้จักในลักษณะของทัวร์ท่องเที่ยวตามวัดต่างๆ โดยใช้ศาสนาสถาน ศาสนาวัตถุและเรื่องราวที่เกี่ยวกับพระสุปฏิปันโนเป็นสิ่งดึงดูดทางการท่องเที่ยว  ดังปรากฎให้เห็นในรูปของการจัดกิจกรรมทัวร์ธรรมะไหว้พระธาตุ เช่น ไหว้พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม พระธาตุเชิงชุม จังหวัดสกลนคร และพระธาตุนาดูน จังหวัดมหาสารคามเป็นต้น การจัดกิจกรรมไหว้พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเช่นหลวงพ่อพระใส จังหวัดหนองคาย พระเจ้าใหญ่อินแปลง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่านักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปไหว้รูปเหมือนพระอริยสงฆ์เช่นหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต  จังหวัดสกลนคร หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโลและหลวงพ่อชา สุภทฺโท จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น

     ในการเดินทางท่องเที่ยวของพุทธศาสนิกชนส่วนมากมักนิยมไปทอดผ้าป่าทอดกฐินที่วัดใดวัดหนึ่งจากนั้นจะท่องเที่ยวไหว้พระธาตุหรือพระพุทธรูป และรูปเหมือนพระสุปฏิปันโนตามวัดต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  สำหรับเหตุผลที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปไหว้รูปเหมือนพระ              สุปฏิปันโนนั้นเป็นการแสดงความระลึกถึงบุคคลต้นแบบในการประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อจะได้เป็นแนวทางไปสู่การปฏิบัติธรรมตามต้นแบบนั้น  ซึ่งปรากฏให้เห็นในลักษณะที่นักท่องเที่ยวบางกลุ่ม  ได้มีการพักค้างแรมปฏิบัติธรรมทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาหรือกิจกรรมทางประเพณีภายในวัดนั้นๆ  รูปแบบการประพฤติปฏิบัติธรรมของนักท่องเที่ยวสะท้อนให้เห็นการท่องเที่ยวในรูปแบบเส้นทางบุญสู่เส้นทางธรรม ดังนั้นผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาถึงรูปแบบและกระบวนการจัดการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในลักษณะของ “เส้นทางบุญ “สู่”เส้นทางธรรม”

 

2.วัตถุประสงค์ในการวิจัย

          ผู้วิจัยตั้งวัตถุประสงค์ไว้ดังนี้

1.         รูปแบบ กิจกรรม อัตลักษณ์ และกระบวนการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอย่างไร 

2.    พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวและกระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้และการสื่อสารคุณค่าของแหล่งท่องเที่ยวประเภทวัดที่มีความสัมพันธ์กับกระบวนการเปลี่ยนแปลงจากเส้นทางบุญสู่เส้นทางธรรมเป็นอย่างไร

3.    เส้นทางและประเมินทรัพยากรการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งแนวทางการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเป็นอย่างไร

4.    สภาพปัญหาและผลกระทบของการท่องเที่ยวที่มีต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอย่างไร

 

3.รูปแบบ กิจกรรม อัตลักษณ์ และกระบวนการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนา

          ผลการวิจัยพบเส้นทางการท่องเที่ยวมี 2 รูปแบบ 3 เส้นทางดังนี้ รูปแบบที่ 1 เส้นทางบุญ  ซึ่งประกอบด้วย 2 เส้นทาง คือเส้นทางตำนานองค์พระธาตุ และเส้นทางอภิวาทพระพุทธรูปคู่บ้านพระอริยสงฆ์คู่เมือง และรูปแบบที่ 2 เส้นทางธรรม มี 1 เส้นทาง คือเส้นทางรุ่งเรืองในพุทธธรรม        แต่ละเส้นทางมีอัตลักษณ์และกระบวนการท่องเที่ยว ดังนี้

          (1) เส้นทางตำนานองค์พระธาตุ  มีพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าเป็นแหล่งดึงดูด             ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดเป้าหมายในการเดินทางกราบไหว้แสวงบุญมีทั้งหมด 10 พระธาตุ

          (2) เส้นทางอภิวาทพระพุทธรูปคู่บ้านพระอริยสงฆ์คู่เมือง  มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และพระอริยสงฆ์เป็นแหล่งดึงดูด  ซึ่งนักท่องเที่ยวมีความเชื่อว่าไหว้พระพุทธรูปและทำบุญกับพระอริยสงฆ์        ได้บุญมาก ทั้งยังได้ชื่อว่าตามรอยพระอริยสงฆ์ และยังมีรูปแบบการปฏิบัติธรรมที่ยังสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้มีทั้งหมด 10 วัด

          (3) เส้นทางรุ่งเรืองในพุทธธรรม  วัตถุประสงค์ของการไปคือเพื่อปฏิบัติธรรม หวังเพิ่มบุญ สั่งสมความสงบ แสวงหาความจริงของชีวิต ลดความวุ่นวาย หวังการบรรลุ  ปฏิบัติตามแนวทางที่พระอริยสงฆ์ปฏิบัติไว้เป็นแบบอย่างมีทั้งหมด 10 วัด

              ในส่วนรูปแบบกิจกรรมที่พบภายในแหล่งท่องเที่ยวมี 2 ลักษณะ คือ รูปแบบทางพระพุทธศาสนา  และรูปแบบทางประเพณี   ซึ่งรูปแบบทางพระพุทธศาสนานั้นเป็นสิ่งที่ทุกวัดจัดขึ้นเป็นประจำ เช่นวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา เป็นต้น โดยมีกิจกรรมให้ทำหลากหลายประเภท เช่น ทำบุญ ทำทาน อธิษฐาน ทำบุญเพิ่ม ถวายสังฆทาน งานนมัสการพระธาตุหรือสรงน้ำพระพุทธรูป ส่วนกิจกรรมทางประเพณี เช่น แก้บน สะเดาะห์เคราะห์ต่อชะตา รำถวายพระธาตุ  อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าไปกราบไหว้พระธาตุแล้วได้บุญเพิ่ม นอกจากนี้ ตามวัดที่มีพระอริยสงฆ์มักนิยมจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาคือวันครบรอบวันมรณภาพของครูบาอาจารย์  สำหรับวัดปฏิบัติธรรมนิยมกำหนดวันวิสาขบูชาเป็นงานใหญ่ของวัด ซึ่งเป็นวันที่มีศิษยานุศิษย์ รวมตัวกันจัดกิจกรรมเพื่อระลึกถึงครูบาอาจารย์ของตน

              จากจำนวนดอกไม้ที่จัดจำหน่าย สมุดลงนามเข้าเยี่ยม และสอบถามเพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดงาน พบว่า งานนมัสการพระธาตุมีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุดตลอดงาน ประมาณ 200,000 -300,000 คน ต่ำสุดประมาณ 1,000 - 2,000 คน  กิจกรรมสรงน้ำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มีจำนวนนักท่องเที่ยว สูงสุดประมาณ 200,000 - 300,000 คน ต่ำสุดประมาณ 20,000 คน  กิจกรรมวันครบรอบวันมรณภาพของพระอริยสงฆ์มีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุดประมาณ 20,000 - 30,000 คน ต่ำสุดประมาณ 100 - 200 คน การจัดกิจกรรมของวัดขึ้นอยู่กับอัตลักษณ์ของวัด วัดพระธาตุและวัดพระพุทธรูปนิยมจัดกิจกรรมแบบธรรมะผสมกับการเฉลิมฉลองแนวบันเทิงอย่างยาวนาน ในขณะที่วัดปฏิบัติธรรมไม่นิยมจัดงานเฉลิมฉลองด้วยมหรสพ  

               กระบวนการจัดการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนา พบว่าวัดพระธาตุหรือวัดพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีการดำเนินงานโดยคณะสงฆ์เป็นหลัก และร่วมมือกับภาครัฐบาล เอกชนและท้องถิ่น มีการกำหนดวันที่แน่นอนโดยอิงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ในขณะที่วัดที่มีรูปเหมือนพระอริยสงฆ์ เน้นจัดงานในวันครบรอบวันมรณภาพของพระอริยสงฆ์กำหนดวันแน่นอนและมีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าเกี่ยวกับการจัดงานในปีถัดไป วัดปฏิบัติธรรมมีรูปแบบการประชาสัมพันธ์ไม่หลากหลาย เนื่องจากวัดต้องการความเรียบง่ายสงบ

      เส้นทางบุญเป็นการท่องเที่ยวเชิงปริมาณอันจะนำไปสู่การท่องเที่ยวไม่ยั่งยืน             ในอนาคตได้ เนื่องจากเป็นการท่องเที่ยวที่เน้นให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากอาจละเลยในเรื่องการใช้ทรัพยากรของแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ จำนวนคนที่มากทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเข้าสู่ความสงบซึ่งเป็นเป้าหมายของการปฏิบัติธรรมในขณะที่เส้นทางธรรมเป็นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ที่นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสซึมซับคุณค่าของแหล่งท่องเที่ยว ไม่ฉาบฉวย ไม่รบกวนสิ่งแวดล้อม ไม่รบกวนชุมชน ปฏิบัติธรรมอย่างมีรูปแบบชัดเจน สภาพแวดล้อมธรรมชาติของวัดปฏิบัติธรรมเอื้อต่อการเข้าถึงธรรมมีเป้าหมายคือความสุขระดับสมาธิ

 

4.พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวและกระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้และการสื่อสารคุณค่าของแหล่งท่องเที่ยวประเภทวัดที่มีความสัมพันธ์กับกระบวนการเปลี่ยนแปลงจากเส้นทางบุญสู่เส้นทางธรรม

              ในส่วนของนักท่องเที่ยวชาวไทยพบว่าเพศหญิงมากกว่าเพศชาย มีอายุระหว่าง21-30 ปี ส่วนใหญ่สถานภาพโสด ลักษณะเดินทางแบบกลุ่มเพื่อน  รองลงมาคือครอบครัว ส่วนใหญ่ทราบข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวจากเพื่อนและญาติ รองลงมาจากอินเตอร์เน็ต  สำหรับเหตุผลที่นักท่องเที่ยวชาวไทยสนใจในการท่องเที่ยวนั้น พบว่านักท่องเที่ยวให้ความสนใจในการท่องเที่ยวแสวงบุญเป็นอันดับหนึ่ง  ส่วนเหตุผลในการเดินทางมาศึกษาหรือเยี่ยมชมวัดหรือศาสนสถานนั้นพบว่านักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนใหญ่ เดินทางมาสักการะพระธาตุ รองลงมากราบไหว้ขอพรต่อพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และรูปเคารพพระอริยสงฆ์ ตามลำดับ

              ในส่วนของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติพบว่าเพศชายมากกว่าเพศหญิง ส่วนใหญ่อายุโดยเฉลี่ย21-30 ปีรองลงมาอายุมากกว่า 60 ปี ส่วนใหญ่สถานภาพโสด รองลงมาสถานภาพสมรส             มาท่องเที่ยวกับครอบครัว รองลงมาบริษัททัวร์ และใช้รถยนต์บริษัทนำเที่ยว ทราบข้อมูลวัดจากแผ่นพับรองลงมาเพื่อนและญาติ เหตุผลในการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนกับครอบครัวหรือกับเพื่อน รองลงมาเพื่อเยี่ยมชมความงามของวัดและพุทธศิลปะ และเพื่อเที่ยวชมงานประเพณีของทางพระพุทธศาสนา

 

5.รูปแบบ  กระบวนการจัดกิจกรรมและการพัฒนาจิตใจของวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

จากการสอบถามความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเกี่ยวกับรูปแบบ กระบวนการจัดกิจกรรมและการพัฒนาจิตใจที่นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ภายในวัดมีทั้งหมด 4 ด้าน ดังนี้

          1)ด้านการให้บริการด้านการท่องเที่ยว พบว่า นักท่องเที่ยวมีความพึงพอใจในด้านนี้อยู่ในระดับมาก ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับการวัดจัดภูมิทัศน์สวยงาม/สะอาด/ร่มรื่น/เหมาะแก่การพักผ่อน รองลงมาพึงพอใจในเรื่องสถานที่จอดรถของวัด การบริการข้อมูลข่าวสารของวัดอยู่ในระดับมากมีพระภิกษุสงฆ์แนะนำเกี่ยวกับธรรมะและพิธีกรรม สำหรับสินค้าพื้นเมืองอยู่ในระดับมาก

          2) กระบวนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว พบว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ชื่นชอบในการรักษาโบราณสถานโบราณวัตถุภายในวัด รองลงมากิจกรรมสักการะพระธาตุเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์รองลงมา การจัดกิจกรรมการไหว้พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และการจัดกิจกรรมปฏิบัติธรรม/ฝึกสมาธิ การจัดกิจกรรมครบรอบวันมรณภาพพระอาจารย์สายกรรมฐาน การจัดกิจกรรมสวดมนต์ประจำวันรองลงมาตามลำดับ      

3)การพัฒนาจิตใจและปัญญา พบว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ให้ความสนใจการสอนหลักธรรมต่างๆด้วยเรื่องเล่าเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง  รองลงมาชื่นชอบในการเข้าร่วมกิจกรรมของวัดและกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา รองลงมาคือการปฏิบัติธรรมฝึกสมาธิ และการจัดเตรียมเส้นทางธรรมชาติภายในวัดเพื่อการเรียนรู้และการพัฒนาจิตใจ รองลงมาวัดได้จัดพิพิธภัณฑ์เพื่อนำเสนอวิถีชีวิตของชุมชนโบราณท้องถิ่น นอกจากนั้นได้จัดมุมหนังสือไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษา

4)ความรู้สึก และผลการเรียนรู้จากแหล่งท่องเที่ยวภายในวัด  ความรู้และผลการเรียนรู้จากแหล่งท่องเที่ยวภายในวัด พบว่าส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วได้รับความสบายใจและมั่นใจในชีวิต รองลงมาการได้มีโอกาสได้มากราบไหว้องค์พระธาตุเหมือนได้ไหว้พระพุทธเจ้าทำให้ได้บุญมาก เข้าใจในการดำเนินชีวิตของตนเองและต่อผู้อื่น และเห็นคุณค่าในวัฒนธรรมประเพณีชาวพุทธ 

 

6.ข้อมูลจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องดูแลและจัดกิจกรรมของวัด

              ผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลและจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในวัด ส่วนใหญ่เป็นบรรพชิต เช่น เจ้าอาวาส หรือพระภิกษุที่ได้รับมอบหมาย ส่วนมากมีอายุมากกว่า 60 ปีระดับการศึกษาของผู้ดูแลและจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในวัด ส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษา มีตำแหน่งเป็นผู้แนะนำให้ข้อมูลหรือไกด์/มัคคุเทศก์ของวัด ได้ให้ความเห็นดังนี้ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ให้ความสนใจต่อทัศนียภาพภายในวัด นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวชมวัดโดยเฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 50 คน พระสงฆ์และกรรมการวัดได้ให้ความสำคัญในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในวัดโดยภาพรวมแล้วอยู่ในระดับมาก โดยให้ความสำคัญกับเรื่องห้องน้ำมากที่สุดและได้จัดสิ่งอำนวยความสะดวกไว้ภายในห้องน้ำ นอกจากนั้นได้วางถังขยะไว้เป็นจุด เตรียมสถานที่จอดรถอย่างเพียงพอ  จัดนิทรรศการทางพระพุทธศาสนาเตรียมสถานที่ไหว้พระสวดมนต์และฝึกสมาธิ และได้จัดทำสื่อ เช่นแผ่นพับ ป้ายประกาศ หนังสือ แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวภายในวัด

     ในการจัดกิจกรรมของวัดได้มีการแต่งตั้งกรรมการและเชิญผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดูแลในการปรับปรุงสถานที่ภายในวัด จัดตั้งมูลนิธิเพื่อพัฒนาวัด ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานจังหวัดนั้นๆ ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมด้านพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมไทย  การพัฒนาและการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของวัดทุกวัดอยู่ในระดับมาก ส่วนใหญ่วัดได้ส่งเสริมความรู้และการปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนาควบคู่กับการให้ความรู้ทางด้านวัฒนธรรมไทย ส่งเสริมการปรับปรุงบริเวณวัด ปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในวัดส่งเสริมการให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ของวัดและชุมชน

     สำหรับอุปสรรคที่พบในการจัดการท่องเที่ยวภายในวัด พบว่า วัดมีข้อจำกัดมากที่สุดในด้านรูปแบบการจัดการท่องเที่ยวและการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกหรือวัดที่มีความขัดแย้งระหว่างวัดกับผู้ประกอบการ โดยมักประสบปัญหาเรื่องการปรับปรุงภายในวัด อุปสรรครองลงมาคือการจัดระบบการรักษาความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งทั้งสองประเด็นมีสาเหตุจากการที่วัดมีงบประมาณจำกัด  นอกจากนี้ พบปัญหาเกี่ยวกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์และการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวภายในวัด

 

7.เพื่อศึกษาเส้นทางและประเมินทรัพยากรการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งแนวทางการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยว

 

     เส้นทางท่องเที่ยวทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แบ่งเป็น 3 เส้นทาง โดยแบ่งตามลักษณะความสนใจของนักท่องเที่ยว คือกลุ่มที่ศรัทธาในพระธาตุ  กลุ่มที่ศรัทธาในพระพุทธรูปและพระอริยสงฆ์ และกลุ่มที่ปฏิบัติธรรม ดังนี้

     1)ตำนานองค์พระธาตุเป็นเส้นทางท่องเที่ยววัดที่มีองค์พระธาตุเป็นจุดเด่น ซึ่งประกอบไปด้วยวัดทั้งหมด 10 วัดดังนี้ (1)วัดพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม  (2)วัดพระธาตุเรณูจังหวัดนครพนม  (3) วัดหนองแวงพระมหาธาตุแก่นนคร จังหวัดขอนแก่น  (4) วัดพระธาตุเรืองรอง จังหวัดศรีสะเกษ (5) วัดพระมหาเจดีย์ชัยมงคล จังหวัดร้อยเอ็ด (6) วัดพระธาตุนาดูน จังหวัดมหาสารคาม  (7) วัดพระธาตุบังพวน จังหวัดหนองคาย  (8) วัดพระธาตุขามแก่น ขอนแก่น  (9) วัดพระธาตุหนองบัว  จังหวัดอุบลราชธานี (10) วัดพระธาตุเชิงชุม จังหวัดสกลนคร

     2) เส้นทางอภิวาทพระพุทธรูปคู่บ้าน พระอริยสงฆ์คู่เมือง  เป็นเส้นทางท่องเที่ยววัดที่มีจุดเด่นเกี่ยวกับพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ และวัดที่มีพระอริยสงฆ์เคยพำนักอาศัยอยู่ ซึ่งประกอบไปด้วย วัด จำนวน 20 วัดดังนี้  (1) หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย (2) พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง  วัดมหาวนาราม จังหวัดอุบลราชธานี  (3) สรีระของหลวงปู่คำคะนิง จุลมณี วัดถ้ำคูหาสวรรค์ อุบลราชธานี  (4) รูปเหมือนของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และเจดีย์พิพิธภัณฑ์ รูปเหมือนหลวงปู่หลุย          จนฺทสาโรและเจดีย์พิพิธภัณฑ์ วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร  (5) รูปเหมือนหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโลและเจดีย์พิพิธภัณฑ์ วัดดอนธาตุ จังหวัดอุบลราชธานี  (6) รูปเหมือนหลวงปู่เทสก์  เทสรังสี และเจดีย์พิพิธภัณฑ์ วัดหินหมากเป้ง  จังหวัดหนองคาย  (7) รูปเหมือนหลวงปู่หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจและเจดีย์พิพิธภัณฑ์ วัดป่าเขาน้อยจังหวัดบุรีรัมย์ (8) รูปเหมือนหลวงพ่อชา สุภัทโท และเจดีย์พิพิธภัณฑ์ วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี (9) หุ่นขี้ผึ้งของหลวงพ่อพระมหาพันธ์ สีลวิสุทโธ และเจดีย์อัฏฐบริขาร วัดเนรมิตวิปัสสนา จังหวัดเลย  (10) รูปเหมือนของหลวงปู่ศรี มหาวีโรและเจดีย์พิพิธภัณฑ์ วัดประชาคมวนาราม(ป่ากุง) จังหวัดร้อยเอ็ด

     3) เส้นทางรุ่งเรืองในพุทธธรรม เป็นเส้นทางท่องเที่ยววัดที่มีจุดเด่นในด้านการจัดกิจกรรมปฏิบัติธรรมตลอดทั้งปี และมีประชาชนมาเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก  จำนวน 10 วัด คือ ได้แก่ (1) วัดป่าหนองหลุบ จังหวัดขอนแก่น (2) วัดเนินพระเนาวนาราม จังหวัดหนองคาย (3)            วัดป่านานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี (4) วัดเขาจันทร์งาม จังหวัดนครราชสีมา  (5) วัดป่าบ้านสร้างขุ่ย จังหวัดสกลนคร  (6) วัดไตรสิกขาทลามลตาราม จังหวัดสกลนคร  (7) วัดป่าโสมพนัส จังหวัดสกลนคร  (8) วัดคลองตาลอง นครราชสีมา (9) วัดพิชโสภาราม จังหวัดอุบลราชธานี(10) วัดป่าสาลวันจังหวัดนครราชสีมา

 

8. ประเมินทรัพยากรการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนา

1) ประเมินด้านกายภาพ กลุ่มวัดทั้ง 30 วัด มีความพร้อมในทางกายภาพ ห้องน้ำสะอาด แยกหญิงแยกชาย ลานจอดรถกว้างสามารถจอดรถทัวร์ได้ประมาณ 50 คัน บางวัดมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ วางถังขยะเป็นจุดและป้ายบอกทางภายในวัด วัดพระอริยสงฆ์ และวัดปฏิบัติธรรม มีสภาพป่าสมบูรณ์ มีสัตว์ป่า เช่นกระรอกกระแตไก่ป่า เป็นต้น

          2) ประเมินการจัดการด้านพุทธศิลปะ/โบราณสถาน พบว่าพระธาตุที่มีศิลปะล้านช้างจำนวน 5 พระธาตุ คือพระธาตุพนม พระธาตุเรณู พระธาตุเชิงชุม พระธาตุบังพวน พระธาตุขามแก่นอยู่ในสภาพสวยงาม และอีก 5 พระธาตุเป็นศิลปะผสมผสานมีพื้นที่ใช้สอยภายในคือ (1) พระธาตุเรืองรอง (2) พระมหาเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ (3) พระมหาธาตุแก่นนครอนุสรณ์สถาน (4) พระบรมธาตุนาดูน(5) พระมหาเจดีย์ชัยมงคลพระธาตุ สำหรับพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงคือหลวงพ่อพระใสและพระเจ้าใหญ่อินแปลง เป็นศิลปะแบบลาวปางมารวิชัย  ในส่วนวัดพระอริยสงฆ์มีเจดีย์พิพิธภัณฑ์อัฏฐบริขารของพระอริยสงฆ์ศิลปะอีสานเหนือและอีสานใต้

3) ประเมินการรองรับด้านสังคมและวัฒนธรรม วัดบางวัดมีชมรมเช่นชุมชนคนทำเทียน” “ชุมชนคนรักษ์วัด” “ชมรมผู้สูงอายุ” “ชมรมออนซอนอีสานและพบว่ากลุ่มวัดทั้ง 30 วัดไม่มีการแสดงถึงอัตลักษณ์ของชุมชนในแหล่งท่องเที่ยว ยกเว้นในช่วงเทศกาลสำคัญจึงแสดงอัตลักษณ์ เช่นแต่งกายพื้นบ้าน เป็นต้น

4) ประเมินความพร้อมด้านการให้คุณค่าทางจิตใจและปัญญาของวัดตามหลักพุทธศาสนา พบว่าเป็นการพัฒนาคุณค่าทางจิตใจและการพัฒนาปัญญาโดยผ่านสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม นำเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้ามาผูกติดกับพระเจดีย์ โบสถ์ วิหาร  ภาพเขียน และรูปปั้น ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นอมตะ กลายเป็นเรื่องเหนือกาลเวลาสืบทอดต่อกันมาอย่างไม่รู้จบ ทำให้เรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้ามีมิติที่เข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมหรือรูปแบบของพระธาตุเจดีย์สามารถอธิบายความหมายเกี่ยวกับธรรมะได้ เช่น การทำปล้องไฉน (ส่วนหนึ่งของพระเจดีย์ต่อบัวกลุ่มขึ้นไป) ให้มี 8 ขั้น หรือ 9 ขั้นบ้าง ซึ่งสื่อถึงมรรคมีองค์ 8 หรือ โลกุตรธรรม 9  อันประกอบด้วย มรรค4 ผล 4 นิพพาน 1 เป็นต้น การสอนศาสนาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันส่วนมากอาศัยระบบสัญลักษณ์ผ่านภาษาเขียนและภาษาเทศน์ การสร้างวิหาร เจดีย์ พระพุทธรูปจึงเป็นสื่อสอนธรรม กล่าวได้ว่าสร้างแรงศรัทธาได้ดีกว่าสัญลักษณ์ทางภาษา และสื่อธรรมผ่านต้นไม้ ก้อนหิน เช่น ต้นไม้สอนธรรม สวนหินสอนธรรมเป็นต้น  กลุ่มวัดพระธาตุและวัดพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ยังมีส่วนช่วยในการส่งเสริมความรู้ด้านปริยัติ เช่นก่อตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม  และมหาวิทยาลัยสงฆ์ เป็นต้น

 

5)  ประเมินด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและการพัฒนาสังคม    กลุ่มวัดพระธาตุ            วัดพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และพระอริยสงฆ์ มีส่วนช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและส่งเสริมแรงงานในท้องถิ่น  ส่วนวัดปฏิบัติธรรมไม่มีความชัดเจนในการส่งเสริม 

6)  การมีส่วนร่วมของชุมชน วัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ชุมชนมีส่วนร่วมกำหนดแผนการจัดงาน  ร่วมจัดงานและร่วมจัดเก็บรายได้ของวัด บางวัดมีคณะกรรมการที่เข้มแข็งบริหารจัดการวัดสำหรับวัดปฏิบัติธรรมชุมชนมีส่วนร่วมค่อนข้างน้อย

7)  แนวทางการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยว วัดทั้ง 30 วัด ดำเนินการอบรมศีลธรรม        ฝึกปฏิบัติสมาธิเพื่อให้เกิดปัญญา การจัดกิจกรรมตามโอกาสวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา จัดงานประจำปี บางวัดใช้กระบวนการทางธรรมชาติคือความเงียบสงบความร่มรื่นเป็นพื้นที่สำหรับให้นักท่องเที่ยวมาศึกษาและปฏิบัติธรรมโดยศึกษารูปแบบวิถีชีวิตแห่งความเรียบง่าย  มีการจัดมุมหนังสือธรรมะบวกกับสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบก็เป็นกระบวนการพัฒนาจิตที่หลายวัดดำเนินการ แนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวอยู่ในกรอบไตรสิกขาคือศีลสมาธิและปัญญา

 

9.สภาพปัญหาและผลกระทบของการท่องเที่ยวที่มีต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

          1)  ผลกระทบต่อวัด  ผลกระทบเชิงบวกคือพระสงฆ์มีการตื่นตัวและปรับปรุงวัดเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เกิดการสร้างงาน การพัฒนาสาธารณูปโภคเช่นระบบไฟฟ้าระบบการคมนาคมและการสื่อสารภายในวัด มีการปรับปรุงลานจอดรถและถนนภายในวัด ปรับปรุงห้องน้ำให้สะอาดและทันสมัยเพื่อสร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยว  ผลกระทบเชิงลบ คือ การท่องเที่ยวทำให้ภาระของพระสงฆ์เพิ่มมากจากเดิมแทนที่จะปฏิบัติธรรมต้องมารับผิดชอบนักท่องเที่ยว ปัญหาขยะ มิจฉาชีพแอบแฝง ปัญหาขัดแย้งภายในและปัญหาขัดแย้งกับชุมชน ไม่ได้แยกระหว่างพื้นที่ท่องเที่ยวและที่พักสงฆ์          ส่วนวัดที่มีรูปเหมือนพระอริยสงฆ์และวัดปฏิบัติธรรมแบ่งพื้นที่ชัดเจน

          2)  ผลกระทบทางจริยธรรมของชุมชนที่มีต่อวัด จำแนกตามกลุ่มวัด 3 กลุ่ม ได้แก่ วัดกลุ่มตำนานองค์พระธาตุวัดกลุ่มอภิวาทพระพุทธรูปคู่บ้านพระอริยสงฆ์คู่เมือง และกลุ่มวัดปฏิบัติธรรม ดังนี้

(1) วัดกลุ่มตำนานองค์พระธาตุได้รับผลกระทบจากชุมชนส่วนใหญ่เป็นเรื่องผู้ประกอบการค้า บางวัดไม่สามารถบริหารจัดการกับร้านค้าได้ ผู้ประกอบการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยวเช่นจัดหน่ายดอกไม้ธูปเทียนเกินราคา   ชุมชนแต่งกายเลียนแบบนักท่องเที่ยว วัดขัดแย้งกับกรมศิลปากร ขัดแย้งกับท้องถิ่น ขัดแย้งกับชุมชน ปัญหาเรื่องขยะ พลาสติก กล่องโฟม              พ่อค้าแม่ค้าลักลอบตัดต้นไม้ทำร้านค้า  ตัดต้นไม้เพราะกีดขวางร้านค้าตนเอง ผู้ประกอบการค้าทำความสกปรกภายในวัด สตรีแต่งกายไม่สุภาพมาไหว้พระธาตุ เป็นต้น  

(2)  วัดกลุ่มอภิวาทพระพุทธรูปคู่บ้านพระอริยสงฆ์คู่เมือง  สำหรับวัดใกล้แม่น้ำได้รับผลกระทบจากชุมชนที่มาจับสัตว์น้ำในช่วงเวลาใกล้สว่าง วัดที่มีป่าไม้สมบูรณ์ได้รับผลกระทบจากชาวบ้านหาของป่าในช่วงเที่ยงคืนและทยอยมากันเป็นกลุ่ม ทำให้พระสงฆ์ไม่มีสมาธิในการปฏิบัติธรรม   กรรมการวัดสายวัดป่าบางวัดมีอิทธิพลเหนือพระสงฆ์ในวัด    

                    (3)  กลุ่มวัดปฏิบัติธรรม มักประสบปัญหาจากกลุ่มวัยรุ่นขับขี่รถเสียงดังภายในวัด บางวัดชาวบ้านไปรบกวนความสงบภายในวัด เช่น วัดเขาจันทร์งามมีชาวบ้านบางกลุ่มตามหารหัสลายแทงสมบัติ โดยมีความเชื่อว่าบริเวณรูปเขียน 4,000 ปี มีลายแทงสมบัติโบราณซ่อนอยู่

3) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ  ผลกระทบด้านบวก พบว่ากลุ่มวัดพระธาตุ 10 วัด                     วัดพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 2 วัดมีรายได้เฉลี่ย10,000-1,000,000 บาทต่อเดือน ในช่วงเทศกาลนมัสการพระธาตุ 9 วัน มีรายได้สูงสุดกว่า 20 ล้านบาท  ส่วนวัดพระอริยสงฆ์และวัดปฏิบัติธรรมมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 10,000-50,000 บาทต่อเดือน วัดกลุ่มพระธาตุและกลุ่มพระพุทธรูปมีรูปแบบการกระจายรายได้นอกจากบูรณะปฏิสงขรณ์ภายในวัดแล้วยังพบว่าบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่อสังคมเช่นมอบทุนการศึกษาสร้างสถานีอนามัยป้อมตำรวจ  อาคารผู้ป่วยในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสงฆ์            อาคารเรียน,สนับสนุนเงินแก่มหาวิทยาลัยสงฆ์,สร้างอาคารที่พักคนชรา กลุ่มวัดพระอริยสงฆ์/วัดปฏิบัติธรรมมีรูปแบบการนำเงินรายได้ไปใช้ประโยชน์ภายในวัดและชุมชนเช่นกันแต่ไม่ชัดเจน           ส่วนผลกระทบเชิงลบพบว่า แหล่งท่องเที่ยวมักมีราคาสินค้าสูง ไม่มีมาตรฐานควบคุมราคาสินค้าร้านอาหารบางร้านคุณภาพอาหารต่ำนอกจากนั้นชาวไร่ชาวนาได้เปลี่ยนอาชีพมาเป็นผู้ประกอบการค้าส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร

          4)  ผลกระทบต่อศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม  ได้ทำการศึกษาใน 3 ด้าน ได้แก่ด้านวัฒนธรรม ด้านศิลปะ และด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในด้านบวกและด้านลบ ดังนี้

(1)  ผลกระทบต่อวัฒนธรรม  ในด้านบวกพบว่าวัฒนธรรมด้านศาสนาก่อให้เกิดการสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ  การผสมผสานวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้าพระพุทธศาสนาเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่นการรำบูชาถวายองค์พระธาตุเป็นกิจกรรมที่ถือว่าเป็นจุดเด่นของการจัดงาน  รักษาเอกลักษณ์ อัตลักษณ์การแต่งกาย เสื้อผ้า เครื่องประดับ  สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเฉลิมฉลองคือดนตรีอีสาน เหนือสิ่งอื่นใดคือเป็นประเพณีที่ทำให้ประชาชนได้รู้จักซึ่งกันและกันมีความเป็นพี่น้อง นำไปสู่การผูกเสี่ยว (นับถือกันเป็นเพื่อนรัก)การประดิษฐ์ท่าฟ้อน ท่าร่ายรำจากขันหมากเบ็ง(กรวยใบตองประดับดอกไม้) การนำบทสวดสดุดีองค์พระธาตุทำนองสรภัญญะมาประกอบดนตรีมโหรีบรรเลงประกอบการฟ้อนรำ เป็นต้น  ส่วนผลกระทบต่อวัฒนธรรมด้านลบ พบว่านักท่องเที่ยวแต่งกายไม่สุภาพ ละเลยป้ายประกาศเตือน บางวัดประกาศเตือนด้วยป้ายถาวรของวัด หรือนำป้ายสตรีที่แต่งกายด้วยผ้าถุงพื้นเมืองแต่งกายสุภาพมาตั้งคู่กับป้ายสตรีที่แต่งกายไม่สุภาพ โดยใช้เครื่องหมายกากบาทไว้บนรูปที่แต่งกายไม่สุภาพ วัดบางวัดมีผ้าถุงสวมทับไว้บริการนักท่องเที่ยว

(2)  ผลกระทบต่อศิลปะ  ในด้านบวกพบว่าวัดพระธาตุส่วนมากมีการผสมผสานศิลปะภาคกลางและภาคเหนือผสมกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นการคิดนอกกรอบต่อยอดพัฒนาศิลปะอย่างไม่หยุดนิ่ง  ส่วนวัดที่มีพระอริยสงฆ์และวัดปฏิบัติธรรมสร้างอาคารเน้นเรียบง่ายมุ่งใช้ประโยชน์เท่านั้น  ในด้านด้านลบพบว่าบางวัดไม่คงเอกลักษณ์ของท้องถิ่น มีการสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร ศาลาผสมผสานศิลปะภาคกลางภาคเหนือทำให้เอกลักษณ์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือถูกกลืนขาดเอกลักษณ์ของตนเอง หรือบางวัดสร้างพระพิฆเนศ พระพรหม สร้างเจ้าแม่กวนอิม ให้ประชาชนกราบไหว้ ไม่สามารถคงเอกลักษณ์ของพุทธศาสนาเถรวาทของตนเอง

(3)  ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  ในด้านบวก พบว่าวัดพระอริยสงฆ์และวัดปฏิบัติธรรมยังคงรักษาสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เช่นไก่ป่า กระรอก กระแต งู นกหลายชนิด แมลงหลายชนิด เช่นจั๊กจั่นเป็นต้น อุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารป่าตามฤดูกาล เช่นผักหวานป่า เห็ดชนิดต่างๆ หน่อไม้  ผักเม็ก  ผักติ้ว ผักกระโดน ไข่มดแดง  เป็นต้น ข้อเด่นของวัดสายปฏิบัติธรรมคือการปรับภูมิสถาปัตยกรรมอย่างสวยงาม มีพื้นที่สีเขียวอนุรักษ์ต้นไม้เดิม และปลูกต้นไม้ใหม่  มีความสะดวกในการเข้าถึงได้ง่าย ส่วนในด้านลบพบว่าวัดพระธาตุและวัดพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ได้รับผลกระทบทางเสียง  ปัญหาเรื่องขยะ  ปัญหามลพิษทางอากาศ  ส่วนวัดพระอริยสงฆ์และวัดปฏิบัติธรรมได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไม่ชัดเจน

 

10.การสร้างเครือข่ายของวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนา

  วัดกลุ่มพระธาตุและวัดกลุ่มพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์  มีการสร้างครือข่ายกับวัดที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวร่วมกัน สร้างเครือข่ายกับหน่วยงานราชการเกี่ยวกับการศึกษา พร้อมทั้งมีเครือข่ายกับชุมชนในการจัดงานในวัดและชุมชน สำหรับวัดกลุ่มพระอริยสงฆ์และวัดกลุ่มปฏิบัติธรรม ได้ขยายเครือข่ายสาขาวัดป่าในจังหวัดอื่นๆ

 

11. การประชุมเสวนารับฟังความคิดเห็นระหว่างวัด ชุมชน ภาครัฐ เอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้องในจัดการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนา

          จากการจัดประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องในประเด็นต่างๆ ได้แก่ปัญหาและอุปสรรคโอกาส และแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยว ดังนี้

1.       ปัญหาและอุปสรรคมีประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้

-         โบราณสถานที่อยู่ภายในวัดส่วนใหญ่มีสภาพเป็นนิติบุคคลซ้อนนิติบุคคล ระหว่างวัด  องค์การบริหารส่วนตำบล  และกรมศิลปากร ทำให้การประสานงานกันเป็นไปโดยลำบาก ขาดความเป็นเอกภาพมีปัญหาในทางปฏิบัติโดยเฉพาะด้านการพัฒนาแหล่งโบราณสถานเนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ และความรู้ที่แท้ใจริงในการรักษาคุณค่าของโบราณสถานนั้นๆ

-         พระสงฆ์ไม่มีความรู้ในการบริหารจัดการวัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น การจัดสัดส่วนพื้นที่รองรับการท่องเที่ยว บริหารจัดการตู้บริจาค ปรากฏมีพระสงฆ์แต่งกายไม่เรียบร้อยให้ศีลให้พรนักท่องเที่ยว  ขาดพระสงฆ์มัคคุเทศก์ ปัญหาเรื่องการสื่อธรรมของพระสงฆ์ที่ไม่เป็นเอกภาพ  ข้อธรรมชนิดเดียวกันแต่สื่อไม่เหมือนกัน

-         เสียงจากมหรสพในงานเฉลิมฉลององค์พระธาตุยาวนาน 9 คืน 9 วัน รบกวนสมาธิ รบกวนความสงบในขณะที่กำลังปฏิบัติธรรมและไหว้พระธาตุ

-         ชุมชนและวัดขัดแย้งกันเรื่องผลประโยชน์ ชุมชนต้องการให้แบ่งพื้นที่พระสงฆ์และพื้นที่พระธาตุแยกกัน

-         ปัญหาท้องถิ่นไม่แสดงอัตลักษณ์ในทางท่องเที่ยว ยกเว้นเทศกาล

-         นักท่องเที่ยวแต่งกายไม่สุภาพ การทิ้งขยะ  นักท่องเที่ยวมักนำเกณฑ์วัดหนึ่งไปเปรียบเทียบกับอีกวัดหนึ่ง หาข้อด้อยของวัดนั้น พบข้อร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวเรื่องพุทธพาณิชย์

-         นโยบายของมหาเถรสมาคมไม่ชัดเจนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนา

-         หน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงด้านการท่องเที่ยวมีบุคลากรน้อย ไม่เพียงพอ การผลักดันงานต่างๆ เป็นไปได้ยาก

-         สำนักงานศิลปากรมีงบประมาณและบุคลากรจำกัด ไม่เพียงพอกับงานที่มีจำนวนมากในขณะที่พื้นที่ทางโบราณสถานมีจำนวนมาก

          2)  โอกาส  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นดินแดนพระพุทธศาสนาโดยมีพระธาตุที่เก่าแก่ พระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ พระอริยสงฆ์ วัดป่าสายปฏิบัติธรรมและมีบรรยากาศในการปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งที่โดดเด่น วัฒนธรรมการฟ้อนรำที่ผสมผสานกับการไหว้พระธาตุอย่างลงตัว  วัฒนธรรมการแต่งกาย วัฒนธรรมภาษา อัธยาศรัยไมตรี เป็นโอกาสแห่งการท่องเที่ยว

          3)  แนวทางการส่งเสริม มีประเด็นสำคัญๆ ดังนี้

-         ควรส่งเสริมให้ภายในวัดมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม เช่น  วัดทุกวัดควรให้การบริการห้องน้ำที่สะอาด เพราะห้องน้ำเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวใส่ใจตลอดจนบริหารจัดการภายในวัดให้เหมาะสม เช่น วัดควรลดเสียงโฆษณาในบริเวณพระธาตุ

-         ควรส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใต้ชื่อว่า “ไหว้พระธาตุพบพระธรรมยามค่ำคืน” รายละเอียดคือการสวดมนต์ไหว้พระธาตุและปฏิบัติธรรม “เส้นทางบุญสู่เส้นทางธรรม”โดยไม่ต้องมีมหรสพเฉลิมฉลอง  จัดในช่วงใดช่วงหนึ่งของวันขึ้น 15 ค่ำ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ความสงบพบธรรมะอย่างแท้จริง หรือส่งเสริมให้พระธาตุพนมเป็นสถานที่แสวงบุญ เหมือนนครเมกกะประเทศซาอุดิอาระเบีย

-         ควรส่งเสริมให้มีพระสุปฏิปันโน ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ คู่กับองค์พระธาตุ เพราะพระธาตุเป็นเพียงวัตถุไม่สามารถให้ศีลให้พรให้คำปรึกษาได้ ตรงข้ามกันกับพระสุฏิปันโน

-         ควรพัฒนาให้เกิดการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วยวัด   การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเทศบาลองค์การบริหารส่วนตำบลวัฒนธรรมจังหวัดและวัฒนธรรมอำเภอสำนักพุทธศาสนาประจำจังหวัดเป็นต้น          ควรมีการประชุมทำความเข้าใจกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อความเป็นเอกภาพในการพัฒนาโบราณสถาน

-         ควรมีหลักสูตรการท่องเที่ยวทั้งในระดับพระสงฆ์เพื่อเป็นผู้นำปฏิบัติธรรมในสถานที่ท่องเที่ยวเช่นควรจัดหลักสูตรอบรมเกี่ยวกับพระสงฆ์ให้มีความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวในวัดอย่างยั่งยืน และระดับนักเรียนเพื่อสร้างความเข้าใจในชุมชนนำมาสู่การรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น ศาสนา วัฒนธรรม

-         ควรส่งเสริมให้ชุมชนมีความพร้อมในการรองรับการท่องเที่ยว เช่น การปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวให้มีจุดเด่น หรือจุดดึงดูด เช่น สร้างจุดอธิษฐานหันหน้าเข้าหาองค์พระธาตุ           สร้างตลาดอินโดจีน บริเวณด้านหน้าประตูทางเข้าวัดพระธาตุพนม  และสร้างเรื่องราวเชื่อมโยงเรื่องตำนานท้องถิ่นตลอดจนสิ่งรองรับนักท่องเที่ยว เช่น ส่งเสริมให้มีร้านอาหารที่ใหญ่และควรให้มีความต่อเนื่องของสินค้าชุมชนหรือท้องถิ่น เช่น สินค้าโอทอป ส่งเสริมชุมชนให้มีส่วนในการต้อนรับนักท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืนตลอดจนร่วมกันกระตุ้นให้ท้องถิ่นออกมาท่องเที่ยว

 

12.  บทสรุป

 

              รูปแบบการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนา “เส้นทางบุญสู่เส้นทางธรรม” เส้นทางทั้ง 3 เส้นทางสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบได้  เส้นทางบุญสามารถเปลี่ยนเป็นเส้นทางธรรม ในทำทองเดียวกันเส้นทางธรรมสามารถเปลี่ยนเป็นเส้นทางบุญได้เมื่อมีปัจจัยเข้ามากระตุ้น เส้นทางเหล่านี้มีการผสมผสานสลับกันไปสลับกันมาอันเนื่องจากกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาและกิจกรรมทางประเพณี  การท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาเป็นเหมือนดาบ  2 คม มีทั้งส่วนดีและส่วนไม่ดี                 ในส่วนดีนั้นสามารถนำรายได้เข้ามาพัฒนาปรับปรุงวัด จัดหาเครื่องอำนวยความสะดวกตลอดจนพัฒนาชุมชนให้เจริญ นอกจากนั้นยังได้กระจายรายได้ให้ชุมชนในรูปแบบการบำเพ็ญประโยชน์   เหนือสิ่งอื่นใดการท่องเที่ยวสามารถใช้ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในรูปแบบต่างๆได้เป็นอย่างดี             สำหรับในส่วนไม่ดีนั้นเนื่องจากวัดมีนักท่องเที่ยวเข้าไปจำนวนมากเกินไปอาจขาดความสงบ            รบกวนหน้าที่ที่แท้จริงของพระสงฆ์  หากขาดการบริหารจัดการที่เหมาะสม อาจทำให้พระสงฆ์ที่ต้องการความสงบมีการย้ายวัดไปอยู่ที่อื่นหรืออาจทำให้นักท่องเที่ยวเบื่อหน่ายเนื่องจากไม่ได้รับความสงบ ยิ่งไปกว่านั้นชุมชนเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในวัดในรูปแบบต่างๆนำไปสู่การขัดแย้งระหว่างชุมชนและวัด

 

13.ข้อเสนอแนะ

 

       1. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

             1) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ควรมีการจัดทำแผนในการสนับสนุนกิจกรรมการเรียนรู้และท่องเที่ยวร่วมกับวัด โดยดำเนินการตามรูปแบบการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา เช่น การฝึกอบรมสมาธิ วิปัสสนา แก่นักท่องเที่ยวผู้ที่สนใจ

             2) มหาเถรสมาคมควรส่งเสริมการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาโดยกำหนดให้เป็นวาระสำคัญส่วนหนึ่งของการดำเนินงานกิจการคณะสงฆ์ รวมถึงพัฒนาวัดร้างที่เข้าถึงได้ง่ายให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนา

             3) จากผลการศึกษาพบว่า นักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนใหญ่สนใจท่องเที่ยวเพื่อกราบไหว้   ขอพรและชอบท่องเที่ยวชมความสวยงามของโบราณสถานโบราณวัตถุภายในวัด จึงควรมีการร่วมมือกันระหว่างวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดรูปแบบการถ่ายทอดความรู้ที่สร้างความประทับใจและให้แง่คิดเชิงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา โดยการใช้เทคโนโลยีต่างๆเข้ามาช่วยทั้งนี้ต้องอยู่ในกรอบที่เหมาะสมในบริบทของวัดในพระพุทธศาสนา

             4) วัดที่เน้นการปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะวัดในเส้นทางอภิวาทพระพุทธรูปคู่บ้านพระอริยสงฆ์คู่เมือง ส่วนใหญ่มีความพร้อมในด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในทางพระพุทธศาสนาแก่ชาวไทยเป็นอย่างดี แต่ยังขาดทักษะและกระบวนการจัดการที่มีประสิทธิภาพเพื่อนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สถาบันการศึกษา ควรมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและการให้ข้อมูลความรู้ในมิติการจัดการ

             5) จากผลการศึกษา พบว่ามีนักท่องเที่ยวสนใจมาท่องเที่ยววัดโดยการศึกษาข้อมูลผ่านสื่อต่าง โดยเฉพาะสื่ออินเตอร์เน็ต ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจอย่างมาก ดังนั้นจึงควรมีการจัดเตรียมข้อมูลที่สำคัญรวมถึงนำเสนอกิจกรรมต่างๆ และข้อมูลเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติต่อวัดและโบราณสถานโบราณวัตถุที่ตั้งอยู่ภายในวัด ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น จัดทำเว็บไซต์เพื่อเป็นศูนย์รวมในการแสดงข้อมูลเกี่ยวกับวัดต่างๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

       2. ข้อเสนอแนะในระดับวัด และชุมชน

          1) ควรนำเสนอความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละวัด ด้วยการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นในสถานที่ท่องเที่ยวภายในวัดมาสร้างสัญลักษณ์เฉพาะตน เช่นให้เจ้าหน้าที่ของวัดทุกแผนกแต่งกายสวมเสื้อผ้าท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลดีต่อนักท่องเที่ยวที่จะสามารถติดต่อสอบถามหรือขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ของวัดได้สะดวก ด้วยการสังเกตจากชุดที่สวมใส่ของเจ้าหน้าที่ของวัด

          2) ควรปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาบริเวณพื้นที่ว่างภายในวัดให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงมีการดูแลเสนาสนะสิ่งปลูกสร้างและอาคารสถานที่ ภายในวัดให้มีความสะอาดสวยงามพร้อมทั้งจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆไว้ให้พร้อม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยพื้นฐานและสำคัญที่จะสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยว

          3) ควรพัฒนาพระสงฆ์ให้มีความรู้ในกระบวนการจัดการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนา โดยการเข้าศึกษาตามสถานศึกษา หรือเข้าอบรม สัมมนา ดูงานตามหน่วยงานหรือวัดอื่นๆที่ประสบผลสำเร็จในการจัดการท่องเที่ยว

          4) ควรมีการประชาสัมพันธ์วัดอย่างต่อเนื่อง และหลากหลายช่องทางตามสื่อต่างๆ

          5) ควรจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแลนักท่องเที่ยว โดยจัดให้มีกลุ่มจิตอาสา เช่นกลุ่มคนรักษ์วัด รวมถึงขอความร่วมมือไปยังหัวหน้าชุมชนในการจัดหาคนในชุมชนมาร่วมในการดูแลรักษาความปลอดภัย ตลอดถึงขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อมาอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะวัดที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

 

       3. ข้อเสนอแนะในการพัฒนา

             1)  กิจกรรมที่เกิดจากเส้นทางบุญ ควรมีการร่วมมือจากหลายๆฝ่ายดังนี้ วัดสำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัด  ท้องถิ่น  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย วัฒนธรรมจังหวัด โรงเรียน  มัคคุเทศก์ ชุมชน และผู้รับผิดชอบในวัด

             2)  กิจกรรมที่เกิดจากเส้นทางธรรม ควรมีการร่วมมือจาก วัด สำนักงานพระพุทธศาสนาและผู้รับผิดชอบวัด 

             3) ควรสร้างสถาบันผลิตและพัฒนาบุคคลากรด้านการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาให้ชัดเจน เช่นจัดหลักสูตรอบรมบุคคลากรของวัดและชุมชน

             4) วัดควรตั้งกรรมการวัดผู้มีความรู้ด้านประวัติโบราณสถานของวัดเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยว

             5) กำหนดทิศทางของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาให้ชัดเจนรูปแบบจะให้เป็นเส้นทางบุญอย่างเดียวหรือจะให้เป็นเส้นทางธรรมอย่างเดียวเพื่อความคุ้มค่าตามศักยภาพของวัด  

             6) วัด  ท้องถิ่น กระทรวงการท่องเที่ยว ควรร่วมมือจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาให้มีคุณภาพและยั่งยืน

             7) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การท่องเที่ยวทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการประชาสัมพันธ์และจัดการท่องเที่ยวภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มซึ่งสามารถต่อยอดนำผลการวิจัยสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนและระบบบริการข้อมูลเพื่อการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

       4. ข้อเสนอแนะสำหรับการศึกษาครั้งต่อไป

             1) ควรศึกษาถึงกระบวนการพัฒนาเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยววัดในแต่ละจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอื่นๆในมิติของกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมท่องเที่ยวบุญนิยมสู่ธรรมนิยม

             2) ควรศึกษารูปแบบในการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ของแหล่งท่องเที่ยวประเภทวัด ให้เป็นแหล่งการเรียนรู้แห่งความสุข ที่มีความน่าสนใจ และมีขีดความสามารถในการถ่ายทอดความรู้เชิงพระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรมในชุมชน

             3) ควรศึกษาถึงกระบวนการถ่ายทอดธรรมะ และหลักธรรมในการส่งเสริมการเรียนรู้แก่นักท่องเที่ยวของพระสงฆ์หรือวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จะนำไปสู่พฤติกรรมการท่องเที่ยวเชิงพุทธที่เหมาะสม

 


บรรณานุกรม

 

ประวัติพระบรมธาตุนาดูน. 2554.เอกสารอัด. (มปป. ,มปม)

พระครูภาวนาเจติยาภิบาล. ประวัติพระธาตบังพวน. อุดรธานี : เอเชียการพิมพ์.

พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต). 2543.พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์.กรุงเทพมหานคร:

          โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระปลัด ดร.บุญเพ็ง วรธมฺโม.2555.   ประวัติวัดแนรมิตรวิปัสสนา. เลย:

          บริษัทรุ่งแสงธุรกิจการ     พิมพ์.

พระมหาสม สุมโน. 2522.ประมวลภาพประวัติศาสตร์พระธาตุพนม. กรุงเทพมหานคร:

          บริษัท จูน พับลิชชิ่ง จำกัด.

พระราชปริยัติเมธี.2545.ประวัติการสร้างเมืองขอนแก่น. ขอนแก่น: แก่นกิจวิบูลย์การพิมพ์.

พระราชรัตนากร. 2554.ประวัติวัดธาตุเรณู.นครพนม: พรประสิทธิ์การพิมพ์.

มูลนิธิโตโยต้า สนับสนุนการจัดทำและการพิมพ์.2539.ธาตุอีสาน.บริษัทเมฆาเพรสจำกัด.

          กรุงเทพมหานคร.

วีรพงษ์ สิงห์บัญชา. 2553.ปาฎิหาริย์พระธาตุนาดูน. มหาสารคาม: หจก.อภิชาติการพิมพ์.

วุฐิศานติ์ จันทร์วิบูล. 2548บรรณาธิการ. จากธิเบตถึงทะเลจีนใต้. กรุงเทพมหานคร:

          สำนักพิมพ์ง่ายงาม.

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ.2504.ประชุมพระนิพนธ์เบ็ดเตล็ด.

          กรุงเทพมหานคร.คุรุสภา.

สำนักงานกองทุนพัฒนาและอนุรักษ์พระบรมธาตุนาดูน. 2556.ประวัติการจัดงานนมัสการพระ

          บรมธาตุนาดูน. มหาสารคาม: หจก.อภิชาติการพิมพ์.

สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดศรีสะเกษ. คู่มือท่องเที่ยวจัวหวัดศรีสะเกษ. มปป, มปม.

สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร.2540.ระบบการบริหาร การจัดการ

          วัฒนธรรมฉบับแก้ไขปรับปรุง กรุงเทพมหานคร:พิมพ์ที่บริษัทประชาชนจำกัด .

สุตตันตปิฎก  ขุททกนิกาย  พุทธวงศ์ .เล่มที่ 33.ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

อุดร จันทวัน, 2553.สุดยอดวรรณกรรมอีสาน, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพมหานคร:

            ชมรมรวมพลคนพุทธ.

พระเทพวรมุนี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม.

พระราชรัตนากร เจ้าอาวาสวัดธาตุเรณู จังหวัดนครพนม.

พระครูเจติยภูมิพิทักษ์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุขามแก่น อำเภอน้ำพอง  จังหวัดขอนแก่น.

พระราชรัตนาลงกรณ์  ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย  อำเภอเมือง  จังหวัดหนองคาย.

พระครูภาวนาวิสุทธาภรณ์  เจ้าอาวาสวัดเนรมิตวิปัสสนา อำเภอด่านซ้าย  จังหวัดเลย.

พระครูวิบูลธรรมภาณ  เจ้าอาวาสวัดพระธาตุเรืองรอง อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ.

พระครูบวรสีลวัฒน์  เจ้าอาวาสวัดเขาจันทร์งาม อำเภอสีคิ้ว  จังหวัดนครราชสีมา.

พระครูสารกิจโกศล ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาวนาราม  อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี.

พระครูโสภณเจติยาภิรักษ์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม.

พระครูพนมปรีชากร  เลขานุการและผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม.

พระครูสุวิธานพัฒนบัณฑิต รองอธิการบดี มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระครูสุตธรรมภาณี  รองเจ้าอาวาสวัดพระธาตุขามแก่น อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น.

พระครูปริยัติธรรมวงศ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดหนองแวง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น.

พระครูภาวนาเจติยาภิบาล(ทวี  มหาวีโร) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุบังพวนอำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย.

พระครูวิสุทธิญาณสุนทร  วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง  จังหวัดสกลนคร.

พระอาจารย์สมบูรณ์  ขนฺติโก เจ้าอาวาสวัดดอนธาตุ  อำเภอพิบูลมังสาหาร  จังหวัดอุบลราชธานี.

พระมหาธนวิชช์จิตฺตทนฺโต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุเชิงชุม  อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร.

พระครูสมุห์ทองทัตต์คุเณสโก   สำนักสงฆ์ป่าช้าตาหล่ำธรรมมงคล อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์.

พระมหาวรรณชัย  ชยวณฺโณ,ดร.ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม.

พระมหาจีรวัฒน์จิรวฑฺฒโน ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา.

พระเฮนนิง เกวลี  เจ้าอาวาสป่านานาชาติ  อำเภอวารินชำราบ  จังหวัดอุบลราชธานี.

พระอาจารย์มหาบันทอน  สุธีโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดภิชโสภาราม อำเภอขามราฐ จังหวัดอุบลราชธานี.

พระอาจารย์หลวงพ่อวีระ  สีลโชโต  เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านสร้างขุ่ย  อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร.

พระอาจารย์สุริยา มหาปญฺโญ   เจ้าอาวาสวัดป่าโสมพนัส  อำเภอพรรณานิคม  จังหวัดสกลนคร.

พระคำไพ   สุสิกขิโต   วัดหินหมากเป้ง  อำเภอศรีเชียงใหม่  จังหวัดหนองคาย.

พระมหาตรีภูมิสุริยะ วรญาโณ  วัดพระธาตุบังพวน  จังหวัดหนองคาย.

พระวัชรินทร์ โฆสปญฺโญ  เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุเจดีย์ชัยมงคล อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด.

พระสัณห์พิชญ์  สุทฺธมโน วัดหนองแวง อำเภเมือง  จังหวัดขอนแก่น.

พระมหาสนอง  วิทยาลัยสงฆ์นครพนม.จังหวัดนครพนม.

พระมหาประสาน  คุณนุตฺโต.วัดสระแก้ว.อำเภอเรณูนคร.นครพนม.

พระนราธิป  นราสโภ.วัดหนองแวง.จังหวัดขอนแก่น.

พระสายยนฐานวโร.วัดหนองแวง.จังหวัดขอนแก่น.

นางพัฒน์มาศ วงศ์พัฒนศิริ.ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว. การท่องเที่ยวแห่งประเทศ

          ไทย(ททท.).

นายศรีสุข  แสนยอดคำ  นายกเทศมนตรีเรณูนคร  อำเภอเรณูนคร  จังหวัดนครพนม.

นายเกษมสิทธิ มาพบ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพุทธศาสนาจังหวัดนครพนม.

อาจารย์ชัยบดินทร์  สาลีพันธ์  ศิลปินพื้นบ้านอีสาน.

นางอิงหทัย  เรหนู  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเรณูนคร.

อาจารย์ทนงศักดิ์  ใจสบาย อาจารย์ประจำวิทยาลัยสงฆ์นครพนม.

นายระพีพัฒน์มหาโคตร ปลัดเทศบาลตำบลเรณูนคร.

นางรัตนาภรณ์คงพราหมณ์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเรณู.

นางสาวบุณยานุช  วรรณยิ่ง ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานนครพนม.

นายสีภูวง   จันทร์ชมภู ผู้อำนวยการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครพนม.

นายสุพจน์  ผิวดำ ปลัดอำเภอธาตุพนม  อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม.

นางเกศินี  สวัสดี    วัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น.

อาจารย์สายทอง  สายทำพล  ไวยาวัจกรวัดพระธาตุขามแก่น จังหวัดขอนแก่น.

นางรุ่งทิพย์  บุกขุนทด ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานขอนแก่น      (ขอนแก่น,ร้อยเอ็ด,กาฬสินธุ์,มหาสารคาม).

นางสาวนราธิป ไชยานุกิจ   นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 9 ขอนแก่น.

นายจักรกฤษณ์   ศิริพานิชย์นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว,ประธานสภาอุตสาหกรรม

          ท่องเที่ยว จังหวัดขอนแก่น.

นางสาวธนวรรณ  พันเทศ   ไกด์นำเที่ยว บริษัทไทยดรีมทัวร์ จังหวัดขอนแก่น.

นางสาวโสภา  สำเร็จรัมย์ ชาวบ้านวัดป่าเขาน้อย  อำเภอเมือง  จังหวัดบุรีรัมย์.

นายชัยชนะนารถสูงเนินสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลลาดบัวขาวอำเภอสีคิ้วจังหวัด

          นครราชสีมา.

นายชาตรี  บำรุงตา   ประชาชนอำเภอสีคิ้ว  จังหวัดนครราชสีมา.

นางนกแก้ว  สวัสดี   ประชาชนอำเภอสีคิ้ว  จังหวัดนครราชสีมา.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

(Source: บทความวิชาการ)
 
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012