Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
 
MCU

First Page » พระมหาณรงค์ชัย ฐานชโย (สนิทผล)
 
Counter : 19980 time
การศึกษาเปรียบเทียบแนวความคิดเรื่องความหลุดพ้นในพุทธ (๒๕๓๗)
Researcher : พระมหาณรงค์ชัย ฐานชโย (สนิทผล) date : 17/08/2010
Degree : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
Committee :
  พระมหาต่วน สิริธมฺโม
  ดร.บัว พลรัมย์
  ดร.วีรชาติ นิ่มอนงค์
Graduate : ๒๕ เมษายน ๒๕๓๙
 
Abstract

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปรียบเทียบแนวความคิดที่เกี่ยวกับความหลุดพ้นในพุทธปรัชญาเถรวาทกับปรัชญาเชน ปรัชญาทั้งสองระบบนี้ เป็นปรัชญาอินเดียที่ไม่ยอมรับคัมภีร์พระเวทและเป็นฝ่ายอเทวนิยมและปรัชญาทั้งสองระบบนี้ ก็มีความเชื่อในเรื่องความหลุดพ้นเช่นเดียวกันและต่างก็ถือว่าความหลุดพ้นเป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญสูงสุด ประเด็นที่มุ่งเปรียบเทียบได้แก่ ความหมายของความหลุดพ้น วิธีปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความหลุดพ้น, ขั้นตอนของความหลุดพ้น และประเภทของความหลุดพ้น จากการศึกษาพบว่า พุทธปรัชญาและปรัชญาเชน มีสิ่งที่คล้ายกันและแตกต่างกันในประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

          เกี่ยวกับความหมายของความหลุดพ้น ปรัชญาทั้งสองระบบเห็นตรงกันว่า นิพพาน/โมกษะ เป็นภาวะของความหลุดพ้นจากทุกข์ และเป็นภาวะที่อยู่เหนือวิสัยของคนสามัญธรรมดาโดยทั่วไป แต่อยู่ในวิสัยของผู้บรรลุเท่านั้นที่จะรู้ได้ ที่เห็นไม่ตรงกันคือนิพพานจะบรรลุได้ก็ด้วยการกำจัดกิเลส ส่วนโมกษะจะบรรลุได้ก็ด้วยการกำจัดกรรมให้หมดไป และภาวะของนิพพานเป็นอนัตตา ส่วนภาวะของโมกษะ เป็นอัตตา

          สำหรับจุดมุ่งหมายสูงสุดของพุทธปรัชญาเถรวาทและปรัชญาเชนเห็นสอดคล้องกันว่า ชีวิตเป็นสภาพที่เต็มไปด้วยความทุกข์ การพ้นจากทุกข์ได้จึงเป็นสิ่งสำคัญทั้งพุทธและเชนจึงมีจุดมุ่งหมายปลาทางอย่างเดียวกัน คือแสวงหาทางพ้นจากทุกข์แล้ว บรรลุถึงสุขอันถาวร โดยการปฏิบัติตามหลักธรรมในศาสนาของตน ๆ

          สำหรับวิธีปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความหลุดพ้น พุทธปรัชญาจะตั้งอยู่บนหลักไตรสิกขา (ศีล,สมาธิ,ปัญญา) หรือมัชฌิมาปฏิปทา อันเป็นหลักปฏิบัติที่มีลักษณะเป็นทางสายกลาง ส่วนปรัชญาเชนจะตั้งบนหลักตริรัตนะ (สัมยัคทรรศนะ, สัมยัคชญาณ, สัมยัคจารีตระ) ทั้งพุทธและเชนเห็นตรงกันว่า ไตรสิกขา และตริรัตนะ เป็นหลักที่เกี่ยวกับการศึกษา และถือว่าเป็นหลักจริยศาสตร์ที่สำคัญในปรัชญาของตน เพราะครอบคลุม เนื้อหาของการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นไว้ทั้งหมด ที่เห็นไม่ตรงกันคือ หลักไตรสิกขา ในพุทธปรัชญามีลักษณะเป็นทางสายกลาง (มัชฌิมา ปฏิปทา) ส่วนหลักตริรัตนะใน ปรัชญาเชนมีลักษณะเป็นอัตตกิลมถานุโยค คือ เป็นข้อปฏิบัติที่ตึงเกินไป เช่น การอดอาหาร, การทำพิธีฆ่าตัวตาย เป็นต้น และนอกจากนี้ยังมีข้อที่แตกต่างกันอีกในเรื่องการฝึกจิต กล่าวคือ พุทธปรัชญามีการเจริญสติ แต่ปรัชญาเชนไม่มี

          เกี่ยวกับผู้หลุดพ้นนั้น ผู้หลุดพ้น (อรหันต์) ในพุทธปรัชญา และปรัชญาเชน มีภาวะทางจิตและภาวะทางความประพฤติคล้ายกันคือ ภาวะทางจิตจะมีความสุข สงบ เพราะไม่มีกิเลสรบกวน ภาวะทางความประพฤติ พระอรหันต์ก็ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี และอุทิศตนเพื่อสังคม ส่วนที่แตกต่างกันคือ ภาวะทางปัญญา เพราะเชนถือว่าผู้หลุดพ้นแล้ว (อรหันต์) จะมีเกวลญาณ สามารถรู้ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกันหมดทุกคน แต่พุทธปรัชญาถือว่า ผู้หลุดพ้นจะมีภาวะทางปัญญาแตกต่างกันไปตามภูมิชั้นของแต่ละบุคคล

          ประการสุดท้าย แม้ผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมของทั้งสองศาสนา จะยังไม่สามารถบรรลุถึงความหลุดพ้นได้ในปัจจุบันชาติก็ตาม แต่วิถีชีวิตของผู้ปฏิบัติจะอยู่อย่างไม่มีความเบียดเบียนซึ่งกันและกัน และเอื้ออาทรต่อกันส่งผลให้สังคมมีสันติสุข ปรัชญาทั้งสองระบบจึงมีลักษณะเป็นปรัชญาเพื่อชีวิตอย่างแท้จริง
 

Download : 253903.pdf
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012