Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
 
MCU

First Page » พระมหาอำนวย อานนฺโท (จันทร์เปล่ง)
 
Counter : 20014 time
การศึกษาเรื่องการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒๕๔๒)
Researcher : พระมหาอำนวย อานนฺโท (จันทร์เปล่ง) date : 17/08/2010
Degree : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
Committee :
  พระเมธีรัตนดิลก
  พระครูศรีสุตากร
  ร.ท. ดร. บรรจบ บรรณรุจิ
Graduate : ๓ เมษายน ๒๕๔๒
 
Abstract

จุดประสงค์ของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ คือ การศึกษาหลักธรรมและแนวทางการปฏิบัติเพื่อการบรรลุธรรม โดยค้นคว้าจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาเป็นสำคัญ

          ผู้วิจัยพบว่าการบรรลุธรรมนั้น สิ่งสำคัญประการแรก คือ การศึกษาถึงหลักธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ โดยเฉพาะโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เป็นหลักธรรมที่นำไปสู่การปฏิบัติเพื่อการบรรลุธรรมโดยเฉพาะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ในวาระต่าง ๆ กัน เพื่อให้เหมาะกับจริตนิสัยของแต่ละบุคคล โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ประกอบด้วย สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘ แต่ละหมวดธรรมมีความสมบูรณ์อยู่ในตัว ผู้ปฏิบัติจะถือหลักธรรมหมวดไหนในการปฏิบัติก็สามารถบรรลุธรรมได้เช่นเดียวกัน เปรียบเหมือนแม่น้ำทุกสายย่อมไหลลงสู่มหาสมุทร ฉันใด การปฏิบัติธรรมตามหมวดธรรมใดย่อมนำไปสู่การบรรลุธรรมได้ ฉันนั้น

         โดยสรุปการปฏิบัติธรรมนั้นมี ๒ วิธี คือ สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งจะต้องปฏิบัติควบคู่กันไป โดยเฉพาะวิปัสสนากรรมฐาน ถือว่าเป็นหัวใจของการปฏิบัติ ถ้าผู้ปฏิบัติยังไม่สามารถยกจิตเข้าสู่วิปัสสนาญาณได้ การบรรลุมรรคผลจะไม่เกิดขึ้นเลย เมื่อสามารถทำวิปัสสนาญาณให้แจ้งได้แล้ว การบรรลุมรรคผลจึงจะเกิดขึ้น

          การปฏิบัติเมื่อได้ศึกษาหลักธรรมจนมีความเข้าใจและจดจำได้เป็นอย่างดีแล้วจึงลงมือปฏิบัติ ซึ่งต้องเตรียมตัวให้พร้อม ตัดสิ่งวิตกกังวลต่าง ๆ ออกให้หมดเสียก่อน เมื่อพร้อมแล้วจึงไปสู่สำนักของอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถในการสอน แนะนำ แก้ไขข้อขัดข้องต่าง ๆ ได้ แล้วเริ่มลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง มีความมุ่งมั่นอย่างมีเป้าหมาย ไม่ท้อแท้ เพียรพยายามปฏิบัติไปตามขั้นตอน และต้องคอยตรวจสอบผลการปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา พยายามปรับปรุแก้ไขวิธีการปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักการที่ได้ศึกษา จนสามารถขจัดกิเลสออกจากจิตสันดาน และบรรลุมรรคผลตามที่ปรารถนาในที่สุด

          ผลของการบรรลุธรรมนั้นมี ๔ ระดับ คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล และอรหัตตผล ซึ่งผลของการบรรลุธรรมแต่ละระดับ สามารถขจัดกิเลสได้ตามลำดับ ตั้งแต่กิเลสอย่างหยาบไปจนถึงกิเลสอย่างละเอียด พร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลนั้น ๆ ไปด้วย

          สภาวะของการบรรลุธรรมและช่วงจังหวะในการบรรลุธรรมนั้น มีความแตกต่างกัน แล้วแต่ประสบการณ์และภูมิหลังของแต่ละบุคคล แต่ที่เหมือนกัน คือ เมื่อถึงจุดสุดท้ายของการบรรลุธรรม ทุกคนล้วนมองเห็นความจริงของสรรพสิ่งว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา ทุกสิ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีใครบังคับบัญชาได้

          ผลจากการศึกษาพบว่า หลักธรรมและแนวทางในการปฏิบัติมีความสมบูรณ์อยู่แล้ว แต่ยังขาดขั้นตอนการปฏิบัติและแบบแผนในการปฏิบัติที่เป็นระบบเป็นขั้นเป็นตอน และการประเมินผลการปฏิบัติที่สามารถนำมาประเมินผลการปฏิบัติของทั้งตนเองและผู้อื่นได้ ทั้งส่วนที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ได้เสนอแผนการปฏิบัติไว้อย่างเป็นขั้นตอน โดยแบ่งเป็น ๓ ระยะ คือ ระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว พร้อมทั้งการประเมินผลการปฏิบัติของตนเองและผู้อื่นไว้ เพื่อให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติและการประเมินผลการบรรลุธรรมสืบไป โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ปรารถนาการบรรลุธรรมจักได้ประโยชน์จากวิทยานิพนธ์ฉบับนี้
 

Download : 254212.pdf
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012