หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » โดย ดร.ประพันธ์ ศุภษร » ธัมมสันตติ : วิธีการตอบปัญหาเรื่องกรรมกับอนัตตาของพระนาคเสน
 
เข้าชม : ๑๗๓๒๔ ครั้ง

''ธัมมสันตติ : วิธีการตอบปัญหาเรื่องกรรมกับอนัตตาของพระนาคเสน''
 
ดร. ประพันธ์ ศุภษร (2550)

                      บทความนี้ผู้เขียนได้ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิต เรื่อง การศึกษาวิเคราะห์พัฒนาการแห่งการตอบปัญหาเรื่องกรรมกับอนัตตาในพระพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งได้เสนอต่อบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อปีการศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๐ วิธีการตอบปัญหาของพระนาคเสนนี้เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนได้รวบรวมและวิเคราะห์ไว้ และเป็นวิธีการที่มีหลักการตอบที่น่าศึกษาเพราะเต็มไปด้วยอรรถรสทางภาษาและปฏิภาณของผู้ตอบ ทำให้เข้าใจประเด็นปัญหาและวิธีการตอบอย่างชัดเจน ดังนั้น จึงได้ปรับปรุงและสรุปวิเคราะห์วิธีการตอบปัญหาของพระนาคเสนมาลงตีพิมพ์ในวารสารบัณฑิตปริทัศน์ฉบับนี้
 
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
      แนวคิดเรื่อง “กรรมกับอัตตา(อาตมัน)” เป็นที่ยอมรับของสำนักปรัชญาอินเดียโบราณเกือบทุกสำนักและสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะสำนักปรัชญาที่เชื่อถือคัมภีร์พระเวท เพราะแนวคิดนี้สามารถตอบปัญหาและแก้ข้อสงสัยต่างๆ ของมนุษย์ได้อย่างกลมกลืนและลงตัว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องชีวิตหลังความตาย การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ การทำกรรมและการรับผลของกรรม ตลอดทั้งอุดมคติของชีวิตคือการบรรลุโมกษะและการเข้าถึงปรมาตมัน เป็นต้น สำนักปรัชญาอินเดียโบราณทั้งหลายที่เชื่อถือคัมภีร์พระเวท หรือแม้กระทั่งศาสนาเชน (ที่ไม่เชื่อถือคัมภีร์พระเวท) ต่างก็มีความเห็นร่วมกันอย่างหนึ่งว่าชีวิตร่างกายของมนุษย์และสรรพสัตว์เป็นของไม่เที่ยงแท้ มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และในที่สุดต่างก็จะละโลกนี้ไป ทว่าในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้จะต้องมีสภาพบางอย่างที่เที่ยงแท้ถาวรซ่อนอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์นั้น สภาพบางอย่างที่ว่านี้นักคิดแต่ละสำนักต่างเรียกชื่อแตกต่างกันไป  เช่น “อัตตา” “อาตมัน ปรมาตมัน” “ชีวาตมัน” “สัตว์” “บุคคล” หรือ “ชีวะ” [๑] เป็นต้น ชื่อเรียกเหล่านี้เป็นการบ่งบอกถึงสภาพที่เป็นแก่นแท้ของชีวิตที่อยู่เบื้องหลังการทำกรรมดีและกรรมชั่วของมนุษย์ เป็นผู้ที่คอยรับผลของกรรมทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เป็นผู้ท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏและเข้าไปรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพรหมันในที่สุด นักคิดเหล่านี้มองว่าสำนักปรัชญาใดก็ตามที่เสนอแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องกรรม การเวียนว่ายตายเกิดและอุดมคติของชีวิตโดยปราศจากการยอมรับความจริงทางอภิปรัชญาว่ามีอัตตาถาวรเป็นฐานรองรับ ต้องถือว่าแนวคิดนั้นหรือระบบปรัชญานั้นเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย
      พระพุทธศาสนามีแนวคิดและคำสอนบางอย่างร่วมกับสำนักปรัชญาอินเดียโบราณ เช่น แนวคิดเรื่องกรรม การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏและความหลุดพ้น เป็นต้น แต่แนวคิดที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนที่ทำให้พุทธปรัชญาแตกต่างจากปรัชญาอินเดียโบราณ คือพุทธปรัชญาไม่เชื่อว่ามีอัตตา หรือตัวตนอันเป็นแก่นแท้ที่อยู่เบื้องหลังความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย อัตตาเป็นเพียงสมมติบัญญัติที่มนุษย์ใช้เรียกเพื่อสื่อสารกันเท่านั้น นี้คือแนวคิดใหม่และทวนกระแสที่พุทธปรัชญาเสนอต่อสังคมสมัยนั้น เมื่อพุทธปรัชญายอมรับเรื่องกรรม แต่ไม่ยอมรับว่ามีอัตตา หรือสอนเรื่องกรรมและสอนเรื่องอนัตตา แนวคิดนี้จึงขัดแย้งกับสามัญสำนึกของคนทั่วไป ทันทีที่พุทธปรัชญาเสนอแนวคิดนี้ขึ้นมา ทั้งคำถาม ข้อสงสัยและข้อโต้แย้งได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาเลยทีเดียว เช่น ปัญหาว่ากรรมกับอนัตตาขัดกันเองหรือไม่ ถ้าไม่ยอมรับว่ามีอัตตาจะตอบปัญหาเรื่องกรรมและการเวียนว่ายตายเกิดได้อย่างไร ถ้าไม่มีอัตตาเสียแล้วใครเป็นผู้ทำกรรมและรับผลของกรรม กรรมที่อนัตตากระทำจะตกอยู่กับใคร เป็นต้น
      สำหรับคำสอนที่พระพุทธศาสนานำมาใช้อธิบายเรื่อง “อนัตตา” มาทุกยุคทุกสมัยนั้นได้แก่ขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นการอธิบายให้เห็นถึงองค์ประกอบของชีวิตที่เกิดจากการรวมตัวขององค์ประกอบย่อยๆ ๕ ส่วน  อันได้แก่รูป  เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ แต่ละส่วนของขันธ์ ๕ ต่างอาศัยกันและกันเกิดขึ้น มีการเกิดดับอย่างต่อเนื่อง(อิทัปปัจจยตา) ตกอยู่ในสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา(ไตรลักษณ์)[๒] ดังนั้นหลักอนัตตาของพระพุทธศาสนาจึงตั้งอยู่บนฐานของการอธิบายโลกและชีวิตแบบอิทัปปัจจยตา หรือเรียกอีกอย่างว่าแนวคิดแบบทางสายกลาง(มัชเฌนธรรม) ที่ไม่เอียงไปสุดโต่งด้านใดด้านหนึ่งระหว่างสัสสตทิฏฐิกับอุจเฉททิฏฐิ นี้คือจุดยืนที่พระพุทธศาสนาเกือบทุกนิกายพยายามรักษามาตลอดประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา แม้ว่าจะมีความขัดแย้งทางความคิดระหว่างนิกายในช่วงหลังพุทธกาลจนทำให้พระพุทธศาสนาแตกแยกออกเป็นนิกายย่อยๆ อีกมากมายก็ตาม    แต่โดยส่วนใหญ่นิกายเหล่านั้นมักจะเกิดจากการไม่เห็นด้วยกับวิธีการอธิบายเรื่องทางสายกลางของอีกฝ่ายหนึ่งว่าเอนเอียงไปข้างสัสสตวาทหรือไม่ก็อุจเฉทวาท   และอ้างว่าฝ่ายตนอธิบายถูกต้องตามพุทธประสงค์เดิม เช่น การโต้แย้งระหว่างนิกายมาธยมิกะกับนิกายโยคาจาร เป็นต้น[๓] กระนั้นก็ตาม แม้จะมีความขัดแย้งกันเกิดขึ้น แต่ทุกนิกายต่างก็ยืนยันว่าฝ่ายตนได้อธิบายเรื่องทางสายกลางเพื่อตอบคำถามเรื่องอนัตตาหรือศูนยตาบนฐานแห่งหลักอิทัปปัจจยตา(ปฏิจจสมุปบาท) ตามแนวพุทธมติที่ทรงวางไว้ทุกประการ
      อย่างไรก็ตาม   เมื่อมองเข้ามาในเนื้อหาของคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท เริ่มตั้งแต่พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกาและอนุฎีกา ตลอดถึงปกรณ์วิเสสทั้งหลาย จะเห็นได้ชัดเจนว่าแนวคิดเรื่องกรรมกับอนัตตายังคงเป็นปัญหาเด่นที่ได้รับความสนใจมาทุกยุคทุกสมัย ทั้งจากชาวพุทธเองและคนในลัทธิศาสนาอื่นๆ แม้ว่าพระพุทธเจ้าและพระพุทธสาวกในสมัยพุทธกาลและในยุคต่อมาจะพยายามแก้ปัญหานี้และได้ตอบข้อสงสัยของผู้ซักถามมาโดยลำดับแล้วก็ตาม แต่ก็ดูเหมือนว่าคำถามหรือข้อโต้แย้งของฝ่ายตรงข้ามยังคงมีปรากฏให้เห็นเสมอมา ยิ่งคำถามและข้อโต้แย้งมีความซับซ้อนลุ่มลึกเท่าใด ก็จะมีการคิดค้นหาวิธีการตอบให้รัดกุมยิ่งขึ้นเท่านั้น ในสมัยพุทธกาล  เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงขันธ์ ๕ ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ภิกษุรูปหนึ่งเกิดความสงสัยขึ้นว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า รูปเป็นอนัตตา ...วิญญาณเป็นอนัตตา เพราะเหตุนั้น กรรมที่ถูกอนัตตากระทำจักถูกต้องอัตตาได้อย่างไร”[๔]  หรือปัญหาของสัจจกะ นิครนถบุตร ที่ถามว่า
     ท่านพระโคดม พืชพันธุ์ไม้เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ พืชพันธุ์ไม้เหล่านั้นทั้งหมดต้องอาศัยแผ่นดิน อยู่ในแผ่นดิน จึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้ หรือการงานอย่างใดอย่างหนึ่งที่บุคคลต้องทำด้วยกำลัง การงานเหล่านั้นแม้ทั้งหมดต้องอาศัยแผ่นดิน ต้องอยู่บนแผ่นดินจึงทำได้ แม้ฉันใด บุรุษบุคคลนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีรูปเป็นอัตตา… มีวิญญาณเป็นอัตตา ต้องดำรงอยู่ในรูป…ในวิญญาณ จึงจะประสบบุญหรือบาปได้[๕]
      พระพุทธองค์ทรงตอบปัญหานี้และอธิบายอย่างละเอียดด้วยการนำขันธ์  ๕  มาเป็นตัวตั้งแล้วจำแนกองค์ประกอบให้เห็นส่วนย่อยของขันธ์แต่ละอย่างที่มีความสัมพันธ์กันเป็นกระแสตามหลักอิทัปปัจจยตา[๖] เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่มีสิ่งใดที่จะเรียกได้ว่าเป็นอัตตา นอกจากนี้เหล่าพุทธสาวกและพุทธสาวิกาในสมัยพุทธกาลหลายรูปต่างก็พยายามตอบปัญหานี้เช่นกัน ดังเช่น พระสารีบุตรเถระกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อากาศอาศัยไม้ เถาวัลย์ หญ้าและดินเหนียวมาประกอบเข้ากันจึงนับว่า “เรือน” แม้ฉันใด อากาศอาศัยกระดูก   เอ็นด้วย  เนื้อและหนังมาประกอบเข้าด้วยกันจึงนับว่า “รูป”   ฉันนั้น[๗]      และพระวชิราภิกษุณีได้กล่าวกับมารว่า “มารเอ๋ย ทิฏฐิของเจ้าเชื่อว่าอะไรเป็นสัตว์ กองแห่งธรรมล้วนๆ นี้ บัณฑิตจะเรียกว่าสัตว์ไม่ได้เลย เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ การสมมติว่าสัตว์ก็มีได้ เหมือนคำว่ารถมีได้เพราะประกอบส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน”[๘]
      ในคัมภีร์พระอภิธรรมปิฎก ซึ่งนักปราชญ์ทั้งหลายสันนิษฐานกันว่าได้มีการแต่งเพิ่มเติมมาโดยลำดับในยุคหลังพุทธกาล(ประมาณช่วงสังคายนาครั้งที่ ๒-๓)โดยการนำเอาคำสอนแนวอภิธรรมที่มีอยู่ในพระสุตตันตปิฎกมาขยายเพิ่มเติม[๙] อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคัมภีร์นี้จะเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือเนื้อหาของคัมภีร์นี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการตอบปัญหาเรื่องกรรมกับอนัตตาที่ได้พัฒนาถึงระดับที่สุขุมลุ่มลึกอย่างน่าอัศจรรย์ กล่าวคือการนำเอาพุทธธรรมในเชิงวิชาการล้วนๆ โดยไม่เกี่ยวข้องกับบุคคล เหตุการณ์และสถานที่เหมือนในพระสูตรมาอธิบาย กล่าวคือเป็นการนำเอาเรื่องขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ เป็นต้น มาวิเคราะห์จำแนกแจกแจงให้เห็นกระบวนการทำงานที่สัมพันธ์กันและกระแสของการเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปของจิต เจตสิก รูป อย่างละเอียดลึกซึ้ง
      ในช่วงสังคายนาครั้งที่ ๓ นี้ เราจะเห็นความพยายามในการตอบปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกรรมกับอนัตตาในรูปแบบแตกต่างหลากหลาย น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดการแตกแยกทางความคิดอันเป็นที่มาของการเกิดนิกายต่างๆ ในวงการคณะสงฆ์สมัยหลังพุทธกาล ดังจะเห็นได้ในคัมภีร์กถาวัตถุ ซึ่งท่านพระโมคคลีบุตรติสสเถระได้ให้ความสำคัญแก่ปัญหาอัตตาและอนัตตามากจนถึงกับต้องจัดหัวข้อเรื่อง “ปุคคลกถา” ไว้เป็นอันดับหนึ่ง ในกถานี้ได้กล่าวถึงคณะสงฆ์กลุ่มหนึ่งคือปุคคลวาท(สมิติยะ-วัชชีปุตตกะ) ว่าเป็นนิกายที่ยอมรับความมีอยู่ของบุคคล[๑๐] กลุ่มนิกายนี้ยอมรับว่าขันธ์ ๕ มีการเปลี่ยนแปลง แต่ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนั้นมีสิ่งที่เรียกว่า “บุคคล”(Individuality)เป็นฐานรองรับอยู่ บุคคลนี้ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ในขณะเดียวกันก็ไม่เป็นอื่นจากขันธ์ ๕ และบุคคลนี้เองเป็นผู้ทำกรรมและคอยรับผลกรรมทั้งในชาตินี้และชาติหน้า อีกนิกายหนึ่งคือนิกายสัพพัตถิกวาท(หรือสรวาสติวาท) แม้จะมีแนวคิดร่วมกับคณะสงฆ์นิกายอื่นๆ ที่ยอมรับว่าสิ่งทั้งปวงมีความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้มีบางสิ่งบางอย่างคงอยู่ตลอดทั้ง ๓ กาลคืออดีต ปัจจุบัน และอนาคต สิ่งที่คงอยู่นี้เรียกว่า “สภาวะ/สวภาวะ”(Self-Nature) กล่าวคือความเป็นรูป(รูปภาวะ) ความเป็นเวทนา(เวทนาภาวะ) ความเป็นสัญญา(สัญญาภาวะ) ความเป็นสังขาร(สังขารภาวะ) และความเป็นวิญญาณ(วิญญาณภาวะ)[๑๑] ถามว่าทำไมคณะสงฆ์กลุ่มปุคคลวาทนี้จึงยอมรับเรื่องบุคคล และทำไมนิกายสัพพัตถิกวาทจึงยอมรับความคงอยู่ตลอดกาลทั้งสามของสิ่งทั้งปวง เป็นไปได้หรือไม่ว่ากลุ่มพระสงฆ์เหล่านี้เห็นว่ารูปแบบการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างกรรมกับอนัตตาเท่าที่มีอยู่ในยุคนั้นไม่สามารถตอบปัญหาของผู้สงสัยได้อย่างสมบูรณ์ จึงได้เสนอรูปแบบการอธิบายใหม่ขึ้นมา นั่นคือการเสนอว่ามีอะไรบางอย่างอยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงของขันธ์ ๕ ในฐานะเป็นผู้ทำกรรมและผู้รับผลกรรมในโลกนี้และโลกหน้า
คัมภีร์มิลินทปัญหา เป็นวรรณกรรมที่เกิดหลังพุทธกาลประมาณ ๕๐๐ ปี โดยพระติปิฎกจูฬาภยเถระชาวสิงหลเป็นผู้รวบรวมคำปุจฉา-วิสัชนาของพระเจ้ามิลินท์และพระนาคเสนไว้[๑๒] เนื้อหาของวรรณกรรมชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาเรื่องกรรมกับอนัตตายังเป็นปัญหายอดนิยมที่สังคมยุคนั้นให้ความสำคัญในอันดับต้นๆ เหมือนเดิม มิลินทปัญหาได้ยกเอาปัญหานี้ขึ้นมาอยู่ในอันดับแรกเช่นเดียวกับกถาวัตถุ โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับการบัญญัติชื่อเรียกบุคคล ผู้ทำกรรม ผู้รับผลของกรรม ถูกรวมอยู่ในหัวข้อ “ปัญญัตติปัญหา”[๑๓] และข้ออื่นๆ เป็นลำดับ ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าความพยายามในการตอบปัญหาเรื่องกรรมกับอนัตตาเท่าที่ทำมาตลอด ๕๐๐ ปีนั้น ยังไม่เป็นที่พอใจและไม่สามารถแก้ข้อสงสัยของคนในสังคมได้ทุกประเด็น พระเจ้ามิลินท์คือตัวแทนของคนในยุคนั้นที่ยังมีความสงสัยในแนวคิดของพุทธปรัชญาหลายๆ เรื่อง พระนาคเสนคือตัวแทนของคณะสงฆ์ในสมัยหลังพุทธกาล ๕๐๐ ปี ที่พยายามสรรหาวิธีการต่างๆ มาตอบข้อสงสัยในพุทธปรัชญาของผู้คนในสังคม
      คัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นวรรณกรรมที่พระพุทธโฆสาจารย์แต่งขึ้นในลังกา หลังพุทธปรินิพพาน ๙๐๐ ปีเศษ ได้นำเสนอพุทธธรรมในกรอบของไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา สำหรับในส่วนที่อธิบายปัญญา(ปัญญานิทเทส) พระพุทธโฆสาจารย์ได้เสนอการตอบปัญหาเรื่องกรรมกับอนัตตาตามแนวคัมภีร์อภิธรรม โดยแยกชีวิตออกเป็นขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ ซึ่งถือว่าเป็นภูมิแห่งปัญญา อธิบายเรื่องกรรมกับอนัตตาอย่างละเอียดในรูปภวจักรหรือสังสารวัฏอย่างละเอียดบนพื้นฐานความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยตามหลักปฏิจจสมุปบาทแบบข้ามภพข้ามชาติ แล้วเชื่อมโยงกับแนวการปฏิบัติตามหลักวิสุทธิ ๗ อย่างครบถ้วน เป็นที่น่าสังเกตว่ารูปแบบการอธิบายปฏิจจสมุปบาทในพระไตรปิฎก ปราชญ์ชาวพุทธบางท่านสรุปว่ามี ๒ แบบ[๑๔] คือแบบแสดงกระบวนการเกิดดับแห่งทุกข์ที่เป็นไปในชีวิตในชาติปัจจุบันหรือแบบขณะจิต และแบบแสดงกระบวนการเกิดดับแห่งทุกข์ที่ดำเนินไปข้ามภพข้ามชาติ ในบรรดา ๒ แบบนั้น พระพุทธโฆสาจารย์ได้เน้นอธิบายแบบข้ามภพข้ามชาติเป็นจุดเด่นในคัมภีร์นี้มากกว่าการอธิบายแบบขณะจิต ซึ่งจุดเน้นนี้ทำให้มองเห็นแนวคิดว่าการอธิบายแบบข้ามภพข้ามชาติเป็นการแสดงให้เห็นถึงหลักกรรมและอนัตตาได้อย่างเป็นรูปธรรมกว่า อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องกรรมและผู้รับผลของกรรมแบบข้ามภพข้ามชาติในสภาพที่ปราศจากตัวตนยังคงเป็นปัญหาคาใจของคนในยุคของท่านอยู่หมือนเดิม 
                      คัมภีร์อภิธัมมาวตาร  เป็นวรรณกรรมที่พระพุทธทัตตเถระแต่งขึ้นในยุคเดียวกันกับคัมภีร์วิสุทธิมรรค เนื้อหาคัมภีร์เป็นการสรุปพุทธธรรมลงในกรอบปรมัตถธรรม ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน และกล่าวถึงเรื่องเบ็ดเตล็ดอื่นอีกรวมเป็น ๒๔ ปริจเฉท กล่าวกันว่าอภิธัมมาวตารเป็นคัมภีร์สังเขปอภิธรรมเล่มแรกและเป็นต้นแบบของคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะในเวลาต่อมา    สำหรับเรื่องกรรมและการให้ผลของกรรมท่านกล่าวไว้ในวิปากจิตตัปปวัตตินิเทศ เรื่องอัตตา อนัตตา อธิบายไว้ในการกปฏิเวธนิเทศและทิฏฐิวิสุทธินิเทศ ข้อน่าสังเกตในการตอบปัญหาเรื่องกรรมกับอนัตตาในคัมภีร์นี้คือรูปแบบการนำเสนอใช้วิธีการถามตอบคล้ายกับกถาวัตถุ  แต่เป็นการตั้งคำถามขึ้นมาเองและตอบเองด้วยข้อความสั้นกระชับ ไม่ซับซ้อนเหมือนกถาวัตถุ   เช่น
     ถามว่า : พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกุศลธรรมเป็นต้นไว้ แต่มิได้ทรงแสดงอัตตาผู้ทำกุศลเป็นต้นนั้น เมื่อไม่มีอัตตาผู้ทำกรรมผู้เสวยผลกรรม กุศลและอกุศลก็ไม่ควรจะมีได้ เมื่อไม่มีกุศลและอกุศล วิบากของกุศลและอกุศลที่เป็นไปเนื่องด้วยกุศลและอกุศลก็ไม่ควรจะมีได้ ดังนั้นการแสดงกุศลธรรมเป็นต้น ก็หาประโยชน์มิได้หรือไร
     ตอบว่า : การแสดงธรรมนี้มีประโยชน์โดยแท้ เพราะถ้ากุศลเป็นต้นไม่ควรจะมีได้เนื่องจากไม่มีผู้ทำกรรม อัตตาที่เดียรถีย์ดำริขึ้นก็ไม่ควรจะมีได้ เพราะไม่มีอัตตาอื่นที่ทำอัตตานั้น[๑๕]
      อย่างไรก็ตาม เมื่อดำเนินการถามตอบปัญหาเรื่องนี้ไปจนถึงที่สุดแล้ว พระพุทธทัตตะได้สรุปว่าผู้ศึกษาเรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจเทศนาของพระพุทธเจ้าว่ามีทั้งสมมติสัจจะและปรมัตถสัจจะ โดยเฉพาะเรื่องขันธ์ ๕ นี้เมื่อว่าตามสภาวะปรมัตถ์แล้วเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง มีเพียงกระแสธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นเท่านั้น
      นอกจากวิสุทธิมรรคและอภิธัมมาวตารแล้ว วรรณกรรมแนวอภิธรรมยุคต่อมาคือคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ(ประมาณ พ.ศ.๑๗๐๐) อภิธัมมัตถสังคหฎีกา อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา และอภิธัมมัตถสังคหทีปนีฎีกา วรรณกรรมเหล่านี้ได้พยายามรักษารูปแบบการตอบปัญหาเรื่องกรรมกับอนัตตาในแนวอภิธรรม โดยสรุปและจัดเนื้อหาของพระอภิธรรมปิฎกให้อยู่ในกรอบปรมัตถธรรม ๔ เหมือนเดิม แล้วแสดงให้เห็นกระบวนการทำงานสัมพันธ์กันและกระแสการเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปของจิต เจตสิกและรูป ตามหลักปฏิจจสมุปบาท
                      จากข้อมูลที่ผู้วิจัยได้นำเสนอมาโดยสังเขปนี้ แสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาเถรวาทได้เผชิญหน้ากับการโต้แย้งและการตั้งคำถามเรื่องกรรมกับอนัตตามาตลอดประวัติศาสตร์ ทั้งจากชาวพุทธเองและคนในลัทธิฝ่ายตรงข้าม ยิ่งฝ่ายตรงข้ามได้พัฒนาตรรกศาสตร์หรือเหตุผลในการโต้แย้งให้มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งกระตุ้นให้มีการพัฒนารูปแบบการตอบปัญหาให้สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ในงานวิจัยนี้ผู้วิจัยจึงต้องการศึกษาว่าตั้งแต่ยุคสมัยพุทธกาลจนถึงยุคหลังพุทธกาลโดยมีอรรถกถาฎีกาเป็นหลักฐาน พระพุทธศาสนาเถรวาทได้เผชิญกับปัญหาข้อโต้แย้งเรื่องกรรมกับอนัตตาอย่างไรบ้าง และได้พัฒนารูปแบบและวิธีการตอบปัญหานี้อย่างไรบ้าง
                      บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการตอบปัญหาเรื่องกรรมกับอนัตตาของพระนาคเสนที่ปรากฏในคัมภีร์มิลินทปัญหา โดยจำกัดขอบเขตของการเขียนเฉพาะที่ปรากฏในมิลินทปัญหาและอรรถกถา ฎีกาของมิลินทปัญหาเท่านั้น
      การปฏิเสธอัตตา ของพระนาคเสน
                      พระนาคเสนมีอายุในปี พ.ศ.ที่เท่าใดยังไม่มีหลักฐานชัดเจน มีแต่สัณฐานตามลักษณะประวัติของกรีกคือยุคพระยามิลินท์หรือเมนันเดอร์ที่มาปกครองอินเดียทางภาคเหนือ(พ.ศ.๓๘๘-๔๑๓) และการแต่งคัมภีร์นี้น่าจะอยู่ในช่วงพ.ศ. ๕๐๐[๑๖] ส่วนประวัติของพระนาคเสนตามคัมภีร์นี้ระบุว่าท่านเกิดที่หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อคชังคละ ข้างภูเขาหิมพานต์ เมื่ออายุ ๗ ปีได้ศึกษาจบไตรเพทและต่อมาเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา โดยมีพระโรหณะเป็นอุปัชฌาย์[๑๗] พระเถระมีความรู้แตกฉานในคัมภีร์พระพุทธศาสนา เป็นผู้ที่ได้ทำการกอบกู้สถานการณ์พระพุทธศาสนาซึ่งกำลังย่ำแย่เพราะถูกโจมตีจากราชาปราชญ์คือพระยามิลินท์กษัตริย์แห่งโยนกได้ตั้งข้อสงสัยและถามเมื่อประมาณ ๒,๐๔๖ ปีมาแล้ว ข้อสงสัย ประเด็นคำถามและคำตอบของนักปราชญ์ทั้งสองได้ดำเนินไปอย่างดุเดือดชนิดที่ฝ่ายหนึ่งเอาเกียรติยศและศักดิ์ศรีของความเป็นพระราชามาเป็นเดิมพัน และอีกฝ่ายหนึ่งก็เอาความมั่นคงของพระพุทธศาสนาเป็นประกัน แม้ว่าเรื่องนี้จะผ่านมาแล้วสองพันกว่าปีก็ตาม แต่ยังดูเหมือนว่าคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เนื่องจากว่าเป็นประเด็นเกี่ยวกับหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนาซึ่งเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตมนุษย์ในสังคมทั้งโดยตรงและโดยอ้อม โดยพระยามิลินท์สวมบทบาทของผู้ครองเรือน ส่วนพระนาคเสนสวมบทบาทตัวแทนทางศาสนาที่จะต้องตอบปัญหาให้กระจ่าง ไม่ทิ้งหลักพุทธธรรม และไม่สร้างปัญหาสังคมภายหลัง   เพราะถ้าพระนาคเสนตอบปัญหานี้ผิดจากแนวพุทธศาสนา นั่นก็แสดงว่าปริยัติธรรมถูกท้าทายต่อการพิสูจน์จากกระแสสังคม จะส่งผลต่อการปฏิบัติศาสนา ปฏิเวธธรรมก็จะเปล่าประโยชน์ แต่เหตุการณ์นี้ได้ผ่านบทพิสูจน์ไปได้ด้วยดี วีรธรรมของนักปราชญ์ทั้งสองที่ได้ทำไว้ยังอยู่ในความทรงจำของชาวพุทธตลอดมา
                      สำหรับปัญหาที่นักปราชญ์ทั้งสองได้ถามตอบกันนั้นมีหลายประเด็น ในที่นี้จะพิจารณาเฉพาะการปฏิเสธอัตตา ของพระนาคเสนเท่านั้น เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา แนวการปฏิเสธของพระเถระพอสรุปได้ดังนี้
                      การปฏิเสธอัตตา ด้วยวิธีการวิภัชชวาที
                      วิธีการนี้เป็นวิธีการตอบปัญหาแบบจำแนกแยกแยะคำถามและคำตอบอย่างละเอียด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงปัญญา ปฏิภาณไหวพริบของผู้ถามและผู้ตอบได้อย่างชัดเจน เป็นวิธีการที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกร่วมสมัยเคยใช้มาแล้ว ต่างกันเพียงวิธีการ(เทคนิค) บุคคล เวลาและสถานที่เท่านั้น ส่วนเนื้อหายังคงเหมือนเดิม     จะเห็นได้จากการปฏิเสธเรื่องบุคคลหรืออัตตาในปัญญัตติปัญหา หรือนามปัญญัตติ โดยที่พระยามิลินท์ได้ถามพระนาคเสนว่าพระผู้เป็นเจ้ามีชื่อว่าอย่างไร พระนาคเสนถวายพระพรว่า อาตมภาพชื่อนาคเสน สหพรหมจารีก็เรียกอาตมภาพว่านาคเสน ส่วนโยมมารดาบิดาเรียกชื่อว่า นาคเสนบ้าง สูรเสนบ้าง วีรเสนบ้าง สีหเสนบ้าง แต่ชื่อนาคเสนนั้นเป็นสักแต่ว่าชื่อใช้เรียกขาน เป็นสมัญญา เป็นบัญญัติ เป็นโวหาร ไม่มีบุคคล(อัตตา)ในชื่อนั้น เมื่อพระนาคเสนกล่าวอย่างนี้ พระยามิลินท์เห็นโอกาสที่จะจับผิดคำพูดของพระเถระจึงประกาศให้ชาวโยนก ๕๐๐ และภิกษุ ๘ หมื่นรูปได้เป็นพยานว่า พระนาคเสนกล่าวว่าไม่มีบุคคลในชื่อนั้น ซึ่งก็คือการปฏิเสธว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่อัตตา นั่นเอง โดยท้าวเธอได้ถามอีกว่า ถ้าไม่มีบุคคล(อัตตา) แล้ว ใครถวายบริขารมีจีวรเป็นต้น แก่พระผู้เป็นเจ้า ใครใช้สอยบริขารนั้น ใครรักษาศีล ประกอบภาวนา ใครทำให้แจ้งมรรคผลนิพพาน ใครฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์...ใครทำอนันตริยกรรม เพราะฉะนั้น กุศลอกุศลก็ไม่มี กรรมดีกรรมชั่วที่บุคคลทำเองและให้ผู้อื่นทำก็ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วก็ไม่มี ถ้ามีผู้มาฆ่าพระผู้เป็นเจ้าก็ไม่เป็นบาป แม้อาจารย์ อุปัชฌาย์และอุปสมบทของพระผู้เป็นเจ้าก็ไม่มี แล้วอะไรกันละเป็นนาคเสน ผมเป็นนาคเสนหรือ ขน เล็บ...สมอง พระเถระถวายพระพรว่า ไม่ใช่ทั้งนั้น พระราชาจึงถามว่าขันธ์ ๕ แต่ละอย่างเป็นนาคเสนหรือ จนกระทั่งถามว่าเสียงเรียกว่านาคเสนเท่านั้นหรือเป็นนาคเสน พระเถระถวายพระพรไม่ใช่เหมือนเดิม ซึ่งเมื่อกล่าวโดยสรุปปัญหาคือถ้าไม่มีบุคคลหรืออัตตาแล้ว ใครเป็นผู้ทำกรรมและรับผลของกรรม
                      เมื่อพระเจ้ามิลินท์ถามปัญหาเสร็จแล้ว พระนาคเสนได้ถามกลับบ้างว่า มหาบพิตรเสด็จมาครั้งนี้ด้วยพระบาทหรือราชรถ ได้รับคำตอบว่า ด้วยราชรถ พระเถระถามต่อไปว่าตรงไหนเรียกว่ารถ งอน(อีสา)รถเป็นรถหรือ ล้อรถเป็นรถหรือ แอกรถเป็นรถหรือ จนกระทั่งถามว่า เสียงเรียกว่ารถเท่านั้นเป็นรถหรือ พระราชาตอบว่าไม่ใช่ทั้งนั้น พระเถระจึงกล่าวว่า มหาบพิตรเป็นอัครราชาแห่งสกลชมพูทวีป ทำไมกล่าววาจาเหลาะแหล กล่าวมุสาวาทเล่า เชิญฟังเถิดชาวโยนกและภิกษุทั้งหลาย จากนั้น พระยามิลินท์รีบโต้แย้งว่าไม่ได้กล่าวมุสา ที่เรียกว่ารถนั้นเพราะอาศัยส่วนประกอบต่างๆ มีงอนเป็นต้น รวมกันเข้าเป็นรถ คำว่ารถเป็นเพียงโวหารเรียกขานให้เข้าใจกัน เมื่อถึงตอนนี้ พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า ถูกแล้ว มหาบพิตร อาตมภาพได้ชื่อว่านาคเสนเพราะอาศัยเครื่องประกอบอวัยวะทุกอย่างคืออาการ ๓๒ มีผมเป็นต้น และขันธ์ ๕ แต่โดยปรมัตถ์แล้วบุคคล(อัตตา)ไม่มีในชื่อนั้น และยกเถรีภาษิตมาประกอบว่า “เสียงว่า “รถ” มีได้เพราะอาศัยส่วนประกอบของรถ ฉันใด เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ การสมมติว่า “สัตว์” ก็มีได้ ฉันนั้น”[๑๘]
                      จะเห็นได้ว่าพระนาคเสนตอบปัญหาแบบวิภัชชวาที จำแนก “บุคคล” หรืออัตตาที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่ามี แยกแยะให้เห็นรายละเอียดว่าโดยปรมัตถ์แล้วไม่มีอะไรที่จะเรียกได้ว่าสัตว์ บุคคลตัวตน เราเขา เป็นเพียงนาม(นามภาว)เป็นเพียงบัญญัติ เป็นเพียงชื่อสมมติที่ใช้สื่อความหมายเรียกกันให้เข้าใจเท่านั้น สิ่งที่นอกจากนาม เช่น สภาวะแห่งรูป(รูปสภาว) เวทนา(เวทนาสภาว) สัญญา(สญฺญาสภาว) สังขาร(สงฺขารสภาว) วิญญาณ(วิญญาณสภาว) อายตนะ(อายตนสภาว) ธาตุ(ธาตุสภาว) สัจจะ(สจฺจสภาว) และอินทรีย์(อินทฺริยสภาว) ก็ไม่มีเช่นกัน[๑๙] 
                      นอกจาก นามบัญญัติ ที่ใช้วิธีการแบบวิภัชชวาทีดังกล่าวนี้แล้ว พระเถระยังใช้ตอบปัญหาเรื่องอื่นอีก เช่น ปัญหาเรื่องการถือปฏิสนธิของบุคคลผู้ที่ตายไปแล้ว แต่พระเถระแยกตอบว่า ผู้ที่ตายไปแล้ว บางจำพวกปฏิสนธิ แต่บางพวกไม่ปฏิสนธิ กล่าวคือผู้มีกิเลสปฏิสนธิอีก ส่วนผู้หมดกิเลสไม่ปฏิสนธิอีก[๒๐] จึงถือได้ว่าพระนาคเสนได้ตอบปัญหาโดยใช้วิธีการแบบวิภัชชวาทีตอบซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดยืนที่สอดคล้องกับหลักมัชฌิมาปฏิปฏิปทาที่ไม่ใกล้ฝ่ายสัสสตวาทและอุจเฉทวาทได้อย่างงดงาม
                      การปฏิเสธอัตตา ด้วยหลักธัมมสันตติ
                      ธัมมสันตติ คือความสืบต่อแห่งธรรม เป็นวิธีการตอบปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่พระนาคเสนใช้ปฏิเสธอัตตา ธัมมสันตติ น่าจะเกิดจากแนวคิดจากประโยคบาลีว่า “ น จ โส น จ อญฺโญ” แปลความว่า ผู้นั้นก็ไม่ใช่ ผู้อื่นก็ไม่ใช่”[๒๑] โดยความหมายก็คือความที่ธรรมทั้งหลายมีการเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ปัญหาข้อนี้พระยามิลินท์ได้ตรัสถามพระนาคเสนว่า “ผู้ใดเกิดก็เป็นผู้นั้น หรือว่ากลายเป็นผู้อื่น” พระนาคเสนตอบว่า “จะว่าผู้นั้นก็ไม่ใช่ จะว่าผู้อื่นก็ไม่ใช่” พร้อมยกตัวอย่างว่า สมัยที่มหาบพิตรยังเป็นเด็กอ่อน (กับ)บัดนี้กลายเป็นผู้ใหญ่ มหาบพิตรคือกุมารนั้นหรือ พระราชาตรัสว่าไม่ใช่คนเดียวกัน เด็กอ่อนก็คนหนึ่งต่างหาก โยมเป็นผู้ใหญ่ก็เป็นอีกคนหนึ่งต่างหาก พระเถระถามต่อไปว่า ถ้าอย่างนั้น มารดาบิดา อาจารย์ ผู้มีศิลปะ ผู้มีปัญญาก็จักไม่มี เพราะมารดาของผู้ที่เป็นกลละเป็นผู้หนึ่งต่างหาก ของผู้ที่เป็นอัพพุทะ ฯลฯ เด็กโตเป็นผู้หนึ่งต่างหาก ผู้มีศิลปะ ผู้สำเร็จการศึกษา ผู้ทำบาปกรรม ก็เป็นอีกผู้หนึ่งต่างหากหรือ พระราชาตรัสว่าไม่ใช่อย่างนั้น พระนาคเสนถวายพระพรว่า เมื่อก่อนอาตมภาพเป็นเด็กอ่อน และมาเป็นผู้ใหญ่ในบัดนี้ อวัยวะทั้งปวงรวมเข้าเป็นอันเดียวกันเพราะอาศัยกายอันนี้ เปรียบเหมือนเปลวประทีปที่สว่างไสวตลอดคือ เปลวประทีปในปุริมยาม มัชฌิมยาม และปัจฉิมยาม ไม่ใช่เปลวประทีปอันเดียวกัน และก็ไม่ใช่เปลวประทีปคนละอัน แต่เปลวประทีปที่สว่างทั้งคืนนั้นอาศัยประทีปดวงเดียวกันนั่นแหละ และเปรียบเหมือนนมสด(ขีร)กลายเป็นนมส้ม(ทธิ) จากนมส้มกลายเป็นนมข้น(นวนีต) จากนมข้นกลายเป็นเปรียง(ฆต) ผู้ที่กล่าวว่านมสดคือนมส้ม นมส้มคือนมข้น นมข้นคือเปรียง จะว่าผู้นั้นกล่าวถูกต้องย่อมไม่ได้ ธัมมสันตติก็เหมือนกันคือสิ่งหนึ่งเกิดสิ่งหนึ่งดับสืบต่อกันไปไม่ก่อนไม่หลัง จะว่าผู้นั้นก็ไม่ใช่ จะว่าผู้อื่นก็ไม่ใช่ ย่อมถึงซึ่งการจัดเข้าในวิญญาณดวงหลัง[๒๒]
                     จะเห็นได้ว่า ธัมมสันตติที่พระเถระเน้นคือการสืบต่อแห่งขันธ์ ๕ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่กลละ คือน้ำใสๆ เล็กเท่ากับหยาดน้ำมันงา จนถึงปัญจสาขา มีมือ ๒ เท้า ๒ ศีรษะ ๑ คือกลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นพัฒนาการมาตามลำดับ จะเรียกว่าเป็นคนเดียวกันก็ไม่ใช่ เป็นคนอื่นก็ไม่ใช่   ตอบได้แต่เพียงว่าสภาพที่คนคนหนึ่งเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้แหละอาศัยสภาพที่เริ่มมาแต่ยังเป็นกลละ นี้กล่าวเฉพาะในชาติปัจจุบัน หากจะสาวลึกลงไปอีกในแง่ของสังสารวัฏก็ตอบได้ว่าเบื้องต้นรู้ไม่ได้ ธัมมสันตติเป็นวิธีการที่ทำให้มองเห็นความเป็นอนัตตาของขันธ์ ๕ อย่างละเอียดในลักษณะการสืบต่อ ส่วนลักษณะวิภัชชวาททำให้มองเห็นองค์ประกอบของขันธ์ ๕ แต่ละขันธ์
การตอบปัญหาของพระนาคเสน
                      ในหัวข้อนี้ จะศึกษาเกี่ยวกับประเด็นที่ว่าพระเถระมีการพัฒนาวิธีการตอบปัญหาเรื่องกรรมกับอนัตตาอย่างไรและวิธีการดังกล่าวมีพื้นฐานหรือแนวคิดมาจากเนื้อหาส่วนใดของพระไตรปิฎก และแตกต่างจากพระพุทธศาสนาสดั้งเดิมหรือไม่อย่างไร สำหรับวิธีการที่เป็นเอกลักษณ์ในคัมภีร์คือ (๑) วิธีการสนทนาแบบปฏิปุจฉา คือการถามตอบปัญหา ประกอบด้วยผู้ถามและผู้ตอบ (๒) หลักธัมมสันตติ นอกจากธัมมสันตติแล้วสิ่งที่เป็นอลังการให้การตอบปัญหาธรรมครั้งนี้มีอรรถรสและชัดเจนคือ การอุปมาอุปไมย และปฏิภาณไหวพริบของพระนาคเสน 
 
                      ๑. การสนทนาแบบปฏิปุจฉา 
                      วิธีการสนทนาแบบปฏิปุจฉา(dialogue) คือการถามตอบปัญหาซึ่งกันและกัน วิธีการนี้ผู้ตอบต้องย้อนถามก่อนว่า คำถามที่ต้องการทราบคืออะไร หรือปัญหานั้นมีความคลุมเครือ ซึ่งมีปรากฏมากมายในพระไตรปิฎก เช่น พระพุทธเจ้าสนทนาและตอบปัญหาปริพาชก อัญญเดียรถีย์ นิครนถ์นาฏบุตร และพวกเทวดามีท้าวสักกะเป็นต้น   ส่วนพระสาวกก็มีปรากฏเช่นกัน เช่น พระสารีบุตรสนทนากับพระอานนท์ พระมหาโกฏฐิกะ เป็นต้น พระกุมารกัสสปะสนทนากับเจ้าปายาสิ การสนทนาไต่ถามปัญหาธรรมต่างๆ เป็นลักษณะการเผยแผ่ศาสนาในสมัยพุทธกาล และพระสูตรส่วนมากก็เกิดจากการสนทนาธรรมนี้ การสนทนาระหว่างพระเจ้ามิลินท์กับพระนาคเสนก็มีลักษณะคล้ายสมัยพุทธกาลRhys Davids)ได้กล่าวว่า “พระคันถรจนาจารย์ผู้แต่งเป็นผู้ชำนาญพระไตรปิฎกแตกฉานอาจจะอ้างได้ทุกคัมภีร์ สำนวนที่แต่งหนังสือก็แต่งดี แต่ข้อวิเศษที่สำคัญนั้นที่ฉลาดทั้งในทางวินิจฉัยและในกระบวนการวิสัชนาพระธรรมเทศนาให้เข้าใจได้ด้วยอุปมา”[๒๔] การถามการตอบจึงต้องระวังไม่เปิดช่องให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง ที่สำคัญเป็นเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา เพราะถ้าพระนาคเสนไม่สามารถตอบปัญหาได้ชัดเจน อาจทำให้พระเจ้ามิลินท์และบริวารไม่ศรัทธา เมื่อพระราชาไม่ศรัทธาก็เป็นเหตุให้ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ไม่ศรัทธาไปด้วย เหตุเสื่อมของพระพุทธศาสนาก็จะตามมา เพราะเราต้องยอมรับความจริงส่วนหนึ่งว่าที่พระพุทธศาสนาสามารถยืนยงอยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็คือการได้รับความอุปถัมภ์จากสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือผู้มีอำนาจฝ่ายอาณาจักร เริ่มตั้งแต่สมัยพระเจ้าพิมพิสารเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน[๒๓] จุดที่แตกต่างกันคือ ครั้งนี้เป็นลักษณะการถามตอบปัญหาที่ลุ่มลึกคัมภีรภาพมาก ต่างฝ่ายต่างก็มีความรู้และปฏิภาณไหวพริบ ดังที่ริดส์เดวิดส์(
                      รูปแบบของปฏิปุจฉาในครั้งนี้มีกติกา ดังนี้ 
                      ๑) การบอกชื่อ อายุของกันและกัน เพื่อให้แต่ละฝ่ายได้รู้จักกัน
                      ๒) การสนทนาต้องสนทนาแบบบัณฑิต มีองค์ประกอบ ๗ อย่าง คือ (๑) ผูกปัญหาได้ (อาเวฐนํ) หมายถึงการถามปัญหา การตั้งปัญหา (๒) แก้ปัญหาได้(นิพฺเพฐนํ) หมายถึงการแก้ปัญหา การเข้าถึงหรือแก้ปมปัญหาถูก (๓) ข่มกันได้(นิคฺคโห) หมายถึงการกล่าวทักท้วงได้ว่าคำพูดของท่านขัดแย้งกันเอง ดังนั้นจึงผิด (๔) แก้ตัวได้ หรือโต้กลับได้(ปฏิกมฺมํ ) หมายถึง การโต้กลับด้วยยืนยันว่าคำของตนเป็นคำจริงไม่มีโทษ การข่มของท่านไม่ถูกต้อง (๕) รับได้ (วิเสโส) หมายถึงการกล่าวว่าคำของท่านไม่ชัด คำของเราชัดเจน (๖) ปฏิเสธได้(ปฏิวิเสโส) หมายถึงการกล่าวว่า คำของท่านชัดเจน แต่คำของเราชัดเจนกว่า และ (๗) ไม่โกรธต่อกัน คือไม่ผูกอาฆาตพยาบาทต่อคู่สนทนา
                      (๓) เรื่องที่สนทนา ต้องประกอบด้วยประโยชน์[๒๕]
                      จะสังเกตเห็นได้ว่า กติกาข้อ ๒ นั้นมีองค์ประกอบที่สำคัญและควรสังเกต คือข้อ ๓-๔ มีรูปแบบคล้ายในคัมภีร์กถาวัตถุ คือนิคคหะและปฏิกัมมะ ซึ่งฎีกามิลินท์กล่าวว่านำมาจากกถาวัตถุปกรณ์ ผู้วิจัยเห็นด้วยกับฎีกา เพราะมีความเป็นไปได้ว่า พระนาคเสนหรือผู้แต่งคัมภีร์มิลินท์ได้นำเอารูปแบบตรรกนัยในกถาวัตถุบางข้อมาประยุกต์ใช้ในการตอบปัญหาครั้งนี้ อีกอย่างการสนทนาจำเป็นต้องนิคคหะและปฏิกัมมะคู่ต่อสู้เพื่อยืนยันและหักล้างคำพูดซึ่งกันและกัน ส่วนคำว่า “อาเวฐนะ” และ “นิพเพฐนะ” ความหมายในสังคมไทยคือการรู้จักผูกปัญหาและรู้จักแก้ปัญหา และคำว่า “วิเสสะ” และ “ปฏิวิเสสะ” นั้นมีลักษณะเหมือนการกล่าวข่มแต่ไม่ถึงกับหักล้างจนเกินไป ทำนองว่าเสนอมุมมองที่แตกต่างออกไปนิดหน่อย หรือเป็นการสร้างบรรยากาศให้เกิดความคุ้นเคย กติกาดังกล่าวนี้ทำให้บรรยากาศในการสนทนามีความเป็นกันเองและสามารถแสดงทัศนะของตนอย่างอิสระ    แสดงปฏิภาณโวหารได้เต็มที่   จึงทำให้รูปแบบการสนทนาในคัมภีร์มิลินท์มีเสน่ห์ดึงดูดใจของนักปราชญ์ผู้ใคร่จะลับสมองทอดลองปัญญาได้แสวงหาและศึกษาคัมภีร์นี้ ซึ่งมีพร้อมให้เหล่าปราชญ์ได้ศึกษาถึง ๓๔๐ ปัญหา[๒๖] จากนี้จะมาดูกันว่ารูปแบบการอธิบายกรรมและอนัตตาเป็นอย่างไรต่อไป
 
                      ๒. หลักธัมมสันตติ
                      ธัมมสันตติ (ธมฺม + สนฺตติ) แปลโดยพยัญชนะได้ว่า “ความสืบต่อแห่งธรรม หรือความต่อเนื่องแห่งธรรม” แปลโดยอรรถได้ว่า “สภาวะที่แสดงความต่อเนื่องแห่งรูปธรรมนามธรรม อย่างไม่ขาดสาย ไหลไปดุจสายน้ำ” ความไม่ขาดสายนั้นมิใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดจะเป็นสิ่งหรือภาวะที่มั่นคงเที่ยงแท้ หากแต่แสดงอาการให้เห็นการเกิดของสิ่งหนึ่งเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดอีกสิ่งหนึ่ง กล่าวคือแสดงอาการเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปตามอำนาจเหตุปัจจัยแห่งสังขตธรรม  ธัมมสันตตินี้เป็นวิธีการตอบปัญหาเรื่องกรรมและอนัตตา   ที่พระนาคเสนนำมาใช้ในคัมภีร์มิลินท์ ซึ่งในบทที่ผ่านมาได้กล่าวไปแล้ว ธัมมสันตติเกิดจากแนวการตอบปัญหาว่า “น จ โส น จ อญฺโญ ผู้นั้นก็ไม่ใช่ ผู้อื่นก็ไม่ใช่” ที่พระเจ้ามิลินท์ถามว่า “ โย อุปฺปชฺชติ โส เอว โส อุทาหุ อญฺโญ ผู้ใดเกิดก็เป็นผู้นั้นหรือว่าเป็นผู้อื่น”[๒๗]  เบื้องต้นพระนาคเสนตอบสั้นๆ ว่า “น จ โส น จ อญฺโญ”   แล้วได้อธิบายอย่างละเอียดพร้อมทั้งยกอุปมาให้เห็นอย่างชัดเจน เริ่มตั้งแต่การย้อนถามพระเจ้ามิลินท์ว่า สมัยที่พระองค์ยังเป็นเด็กกับตอนเป็นผู้ใหญ่ในปัจจุบันเป็นคนเดียวกันหรือคนละคน เมื่อพระเจ้า มิลินท์ตอบว่าเป็นคนละคน พระเถระจึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นมารดาบิดาเป็นต้นก็ไม่มี เพราะมารดาของผู้ยังเป็นกลละก็เป็นผู้หนึ่งต่างหาก ของผู้ที่เป็นอัพพุทะก็เป็นอีกคนหนึ่ง แม้กระทั่งผู้ทำบาปกรรมก็เป็นคนละคนกัน พระเจ้ามิลินท์กล่าวว่าไม่ใช่อย่างนั้น แล้วพระคุณเจ้ากล่าวอย่างไร พระเถระจึงกล่าวตอบว่า เมื่อก่อนอาตมภาพเป็นเด็กมาเป็นผู้ใหญ่ในบัดนี้ อวัยวะทั้งปวงรวมเข้าเป็นอันเดียวกันเพราะอาศัยกายนี้ เปรียบเหมือนดวงประทีปที่ลุกโพลงตลอดทั้งคืน เปลวไฟในปุริมยาม มัชฌิมยามและปัจฉิมยาม จะว่าเป็นคนละดวงก็ไม่ใช่ แต่มันอาศัยกันเกิดดับต่อเนื่องตลอดคืน เปรียบเหมือนนมสดที่กลายเป็นนมส้ม นมส้มกลายเป็นนมข้น นมข้นกลายเป็นเปรียง จะว่าเป็นอันนั้นก็ไม่ใช่ คนละอันก็ไม่ใช่ แต่มันอาศัยกันเกิดมาโดยลำดับ พระเถระกล่าวต่อไปว่า
          เอวเมว โข มหาราช ธมฺมสนฺตติ สนฺทหติ อญฺโญ อุปฺปชฺชติ อญฺโญ นิรุชฺฌติ อปุพฺพํ อจริมํ วิย สนฺทหติ เตน น จ โส น จ อญฺโญ ปุริมวิญฺญาเณ ปจฺฉิมวิญฺญาณสงฺคหํ คจฺฉตีติ
          มหาราช ฉันนั้นเหมือนกัน ธัมมสันตติย่อมไหลไป สิ่งหนึ่งเกิดขึ้นสิ่งหนึ่งดับไป ต่อเนื่องกันไปไม่ก่อนไม่หลัง เพราะฉะนั้น ผู้นั้นก็ไม่ใช่   ผู้อื่นก็ไม่ใช่ ย่อมถึงการสงเคราะห์วิญญาณดวงก่อนเข้าวิญญาณดวงหลัง[๒๘]
                      จะเห็นได้ว่า ธัมมสันตติใช้อธิบายกระบวนการเกิดของชีวิตตั้งแต่ยังเป็นกลละจนกระทั่งเติบใหญ่ซึ่งจะบอกว่าเป็นคนนั้นก็ไม่ใช่ เป็นคนอื่นก็ไม่ใช่ สงเคราะห์เรียกอันหลังหรือเรียกว่าเป็นคนนั้นคนนี้ได้ก็เฉพาะปัจจุบัน หรือสมมติเรียกว่าเป็นนาย ก. นาย ข. ได้ก็เฉพาะปัจจุบัน
                      ถามว่า พระเถระนำแนวคิด “ธมฺมสนฺตติ” มาจากไหน อาจตอบได้ว่า คำว่า ธมฺมสนฺตติ เกิดจากการตกผลึกแห่งความชำนาญพระไตรปิฎกแล้วประยุกต์ผลิตเป็นคำใหม่ขึ้นมา เพราะจากการสืบค้นในเบื้องต้นยังไม่พบคำนี้ในพระไตรปิฎก พบแต่คำว่า “สนฺตติ” ซึ่งพบมากในพระอภิธรรมปิฎก โดยท่านอธิบายลักษณะสุขุมรูปว่า “อตฺถิ รูปํ รูปสฺส สนฺตติ อตฺถิ รูปํ รูปสฺส น สนฺตติ รูปที่เป็นสันตติรูปก็มี รูปที่ไม่เป็นสันตติรูปก็มี”[๒๙] และประโยคบาลีว่า “ยํ ตํ รูปํ อชฺฌตฺติกํ ตํ รูปสฺส น สนฺตติ. ยํ ตํ รูปํ พาหิรํ ตํ อตฺถิ รูปสฺส สนฺตติ อตฺถิ รูปสฺส น สนฺตติ. รูปที่เป็นภายในไม่เป็นสันตติรูป รูปที่เป็นภายนอกเป็นสันตติรูปก็มี ไม่เป็นสันตติรูปก็มี”[๓๐] และประโยคว่า “โย รูปสฺส อุปจโย สา รูปสฺส สนฺตติ อิทํ ตํ รูปํ รูปสฺส สนฺตติ. ความเจริญแห่งรูปนั้นเป็นความสืบต่อแห่งรูป รูปนี้ชื่อว่าเป็นสันตติรูป”[๓๑] จะเห็นได้ว่า สันตติ ใช้อธิบายความสืบต่อแห่งรูป
                      ในกถาวัตถุมีการถามความสืบต่อแห่งจิต ว่า “จิตฺตสนฺตติ สมาธีติ? อามนฺตา. สก.ความสืบต่อแห่งจิตเป็นสมาธิ ใช่ไหม   ปร.  ใช่[๓๒]    จิตตสันตติ    นี้เป็นแนวคิดของสัพพัตถิวาทและอุตตราปถกะ ที่ต้องการยืนยันว่ามีจิตที่สืบต่อเนื่องในเวลาเข้าสมาบัติ แต่เถรวาทไม่ยอมรับเพราะเห็นว่าขัดต่อจิตที่เกิดดับเป็นขณะ“สนฺตติ” ในการขยายความกาลเวลา เช่น สทาติ สทา ฯเปฯ สนฺตติ. คำว่า ทุกเมื่อ อธิบายว่า ในกาลทั้งปวง ฯลฯ ตลอดกาลเป็นไปต่อเนื่องไม่ขาดสาย[๓๔]“สนฺตติ” ในทำนองเดียวกัน กล่าวคือท่านใช้อธิบายความหมายของปัจจุบันกาล โดยกล่าวว่า ปัจจุบัน มี ๓ คือ (๑)  ในสมันตปาสาทิกา โมหวิจเฉทนีและสารัตถทีปนีฏีกาใช้ [๓๓]  และในมหานิทเทสมีการใช้คำว่า ขณปัจจุบัน คือความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป (๒) สันตติปัจจุบัน คือปัจจุบันแบบต่อเนื่อง ได้แก่ความต่อเนื่องแห่งรูปและอรูป คือรูปสันตติ และอรูปสันตติ รูปสันตติ คือกำหนดเอาความมืดของผู้มาจากที่กลางแดดเข้าสู่ห้อง ยังไม่ไปปราศ หรือ ความไหวของนัยน์ตาของผู้ที่เข้าไปภายในห้องแล้วมองดูที่แดดในกลางวัน ยังไม่สงบ ส่วนอรูปสันตติ คือชวนวาระ ๒-๓ (๓) อัทธานปัจจุบัน คือกาลที่กำหนดภพหนึ่ง[๓๕] จากหลักฐานที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่ามีการใช้ “สนฺตติ” อธิบายความสืบต่อแห่งรูปซึ่งตามแนวอภิธรรมเรียกว่าลักขณรูป(รูปคือลักษณะหรืออาการเป็นเครื่องกำหนด) ซึ่งสันตติแห่งรูปนี้เป็นการแสดงให้เห็นสภาวะที่สืบต่อกันเป็นขณะแห่งรูปและอรูปตั้งแต่แรกเริ่มเกิดเป็นมนุษย์จนถึงตาย 
                      สำหรับ ธัมมสันตติ ที่พระนาคเสนนำมาใช้อาจกล่าวได้ว่าเป็นพัฒนาการอย่างหนึ่งในการนำศัพท์ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกซึ่งมักใช้ในแง่ของการอธิบายลักษณะสภาวธรรมเท่านั้น แต่พระนาคเสนได้นำมาอธิบายทั้งรูปธรรมและนามธรรมให้เห็นการสืบต่อแห่งสภาวธรรมอย่างชัดเจน และสอดคล้องกับแนวปฏิจจสมุปบาทคือความเป็นเหตุปัจจัยแห่งองค์ธรรมทั้งหลาย เราจะพิจารณาต่อไปว่า ธัมมสันตติ นำมาใช้ตอบปัญหาอย่างไรต่อไป
 
 
                      (๑) ธัมมสันตติกับการสืบต่อแห่งนามรูป
                      พระเจ้ามิลินท์ถามว่า อะไรเป็นเหตุให้นามรูปเกิดต่อไปอีก พระนาคเสนตอบว่า อวิชชาคือความไม่รู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ ๔ เพราะอวิชชาจึงทำให้สัตว์ทำกรรมดีกรรมชั่ว กรรมดีกรรมชั่วนั้นเป็นเหตุให้เกิดปฏิสนธิวิญญาณ  เมื่อมีปฏิสนธิวิญญาณซึ่งเป็นเสมือนรากแก้วอยู่ ก็เกิดนามรูปแตกกิ่งก้านเป็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นประตูสำหรับรับอารมณ์มีรูปเสียงเป็นต้น จากนั้นเมื่อประสบกับสิ่งที่ชอบใจ ก็รู้สึกยินดีมีความสุขใจ เมื่อถูกสิ่งแสลงใจมากระทบ ก็รู้สึกยินร้ายเป็นทุกข์ใจ เมื่อได้ความสุขก็ดิ้นรนจะให้ความสุขนั้นยั่งยืน เมื่อได้ความทุกข์ก็ดิ้นรนจะหนีจากทุกข์ให้พ้น อวิชชานี้ทำให้ยึดถือเป็นอัตตาเป็นเราเป็นเขาบ้าง ให้ยึดถือในอุบายต่าง ๆ เพื่อจะให้ตนได้สมประสงค์บ้าง เพราะความยึดถือนั้นจึงทำให้สัตว์ทำกรรมดีบ้างกรรมชั่ว ด้วยผลกรรมนี้จึงทำให้เกิดมีนามรูปต่อไป ตั้งแต่มีนามรูปเป็นฐาน ความทุกข์ทั้งหลายจึงมี
                      เวลาเกิดดับของนามรูปที่ล่วงมาแล้วในอดีต นานจนเบื้องต้นไม่ปรากฏ อุปมาเหมือน พืชพันธุ์ที่เขาปลูกที่พื้นดิน ครั้นพืชพันธุ์นั้นงอกงามผลิดอกออกใบ เขาก็เก็บผลเอาเมล็ดไปเพาะใหม่ต่อไปอีก โดยทำนองนี้เรื่อยๆ ไป เมื่อเวลาล่วงไปนานๆ ย่อมไม่รู้ได้ว่านั่นเป็นพืชพันธุ์เดิม หรือเหมือนรูปล้อรถขณะที่กำลังหมุน ไม่สามารถกำหนดได้ว่า ซี่ไหนเป็นอันต้น ดังนั้นเบื้องต้นและเบื้องปลายของนามรูปจึงกำหนดไม่ได้ พระเจ้ามิลินท์ถามว่า  เมื่อต้นปลายไม่ปรากฏทั้งสองข้าง จะมาติดต่อกันได้หรือ พระนาคเสนได้อุปมาว่า เหมือนต้นไม้แรกปลูกก็ยังไม่มีใบไม่มีดอก ต่อมาพอเกิดต้นก็เกิดมีใบมีดอกขึ้น การที่ต้นไม้มีใบมีดอกในระหว่างกลางขึ้นได้นั้นเป็นเพราะมีลำต้นอยู่ ต่อมาใบและดอกเหล่านั้นก็ร่วงหล่นไปหมดสิ้น จะมีเหลืออยู่ก็แต่ต้นและกิ่งซึ่งถึงคราวก็เกิดใบเกิดดอกใหม่อีก นามรูปก็เป็นเช่นเดียวกับใบไม้ ดอกไม้นั้น คือเดิมก็ไม่ปรากฏแต่เนื่องด้วยมีบุญบาปซึ่งตนได้กระทำไว้ในก่อนเป็นเหตุอยู่ บุญบาปนั้นแลเป็นลำต้นให้เกิดมีนามรูปติดต่อขึ้นมาในระหว่างได้ ครั้นเกิดเป็นตัวตนขึ้นแล้ว ถึงวาระที่สุดก็ทอดทิ้งร่างกายสูญหายไป สิ่งที่ยังคงมีอยู่ก็คือบุญบาป ซึ่งจะให้เกิดนามรูปต่อไปอีก
                      ส่วนคำถามที่ว่า บุญบาปที่เป็นต้นเหตุให้นามรูปเกิดซึ่งกำลังเกิดอยู่ในบัดนี้มีหรือไม่   พระนาคเสนตอบว่า มี ซึ่งได้แก่ เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้ดมกลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส กายได้แตะต้อง ใจได้รับอารมณ์ ก็ใน ๖ อย่างนี้ ขณะเมื่ออย่างใดอย่างหนึ่งกระทำกิจของตนอยู่ ย่อมเกิดความรู้แจ้งขึ้น ถ้าเป็นอารมณ์ที่ดี ก็รู้สึกชอบ รู้สึกพอใจ พยายามดิ้นรนหาต่อไป ถ้าเป็นอารมณ์ที่ไม่ถูกใจ ก็ไม่พอใจ พยายามดิ้นรนหนี เมื่อขณะดิ้นรนอยู่ก็จำต้องยึดถือวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งคนเห็นว่าจะทำให้การดิ้นหาหรือดิ้นหนีนั้นได้สมประสงค์  เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นเหตุให้ทำพูดและคิดดีบ้างชั่วบ้าง เกิดเป็นบุญเป็นบาปขึ้นในทันที   
                      สรุปได้ว่า เหตุปัจจัยที่ทำให้นามรูปเกิดคืออวิชชา อวิชชาทำให้มนุษย์ทำกรรม(สังขาร) เมื่อทำกรรมย่อมส่งให้เกิดปฏิสนธิวิญญาณ วิญญาณก็เป็นปัจจัยแก่นามรูป สฬายตนะ ฯลฯ ชาติชรามรณะ และเกิดทุกข์ครบวงจรตามหลักปฏิจจสมุปบาท แล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปต่อไปในสังสารวัฏอย่างไม่มีสิ้นสุด จนกำหนดไม่ได้ อุปมาเหมือนพืชพันธ์ไม้ต่างๆ ที่เกิดเจริญเติบโต ผลิดอกออกผลแล้วแห้งเหี่ยวตายไปจนไม่รู้ต้นไหนเป็นต้นแรก หรือเหมือนล้อรถที่กำลังวิ่งอยู่ เราไม่รู้เลยว่าซี่อันไหนเป็นซี่แรก การอธิบายความสืบต่อแห่งนามรูปด้วยหลักธัมมสันตติและมีอุปมาเสริมนี้ทำให้เห็นชัดเจนว่า นามรูปมีการเกิดดับตามหลักไตรลักษณ์ แสดงให้เห็นหลักกรรมและอนัตตาอยู่ในกระบวนการนี้ด้วย
                      (๒) ใครถือปฏิสนธิ
                      ปัญหาเรื่องปฏิสนธิเป็นปัญหาหนึ่งที่ต่อเนื่องกับนามรูปในข้อที่ผ่านมา พระเจ้ามิลินท์ถามว่า ใครปฏิสนธิ พระนาคเสนตอบว่า นามรูปปฏิสนธิ คือบุคคลทำกรรมดีบ้าง ชั่วบ้าง ด้วยนามรูปนี้ นามรูปอื่นจึงปฏิสนธิเพราะกรรมนั้น พระเจ้ามิลินท์ถามว่า ถ้านามรูปนี้มิได้ปฏิสนธิ บุคคลผู้นั้นจักเป็นผู้พ้นจากกรรมชั่วทั้งหลายได้   พระนาคเสนตอบว่า  ถ้านามรูปไม่อาจปฏิสนธิได้ เขาก็พึงเป็นผู้พ้นจากกรรมชั่วทั้งหลาย แต่เพราะเหตุที่นามรูปย่อมปฏิสนธิ เหตุนั้นเขาจึงไม่พ้นจากกรรมชั่วทั้งหลายได้[๓๖] พระเจ้ามิลินท์จึงขอให้พระนาคเสนอุปมาให้ฟัง พระเถระได้ยกอุปมาสำหรับตอบปัญหาข้อนี้ถึง ๕ อุปมา คือ อุปมาบุรุษขโมยมะม่วง อุปมาบุรุษก่อไฟ อุปมาบุรุษจุดประทีป อุปมาบุรุษหมั้นสาว อุปมาบุรุษซื้อนมสด ดังเนื้อหาอุปมาโดยสังเขปดังนี้ อุปมาบุรุษขโมยมะม่วง บุรุษคนหนึ่งขโมยผลมะม่วงของบุรุษคนหนึ่งไป บุรุษผู้เป็นเจ้าของมะม่วงจับบุรุษคนนั้นไปเฝ้าพระราชาและขอให้ลงโทษเขา บุรุษผู้ขโมยผลมะม่วงกราบทูลว่ามิได้ขโมยมะม่วงที่นายคนนี้เพาะปลูก มะม่วงที่เก็บมาเป็นมะม่วงอื่นอีกต่างหาก จึงไม่ควรลงโทษ บุรุษผู้ขโมยมะม่วงอาจกล่าวอย่างนี้ได้ แต่จะบอกปัดผลมะม่วงก่อนมิได้หรอก เขาควรเป็นผู้ต้องรับโทษ เพราะมะม่วงผลหลัง[๓๗] อุปมาบุรุษก่อไฟ ก็มีลักษณะเหมือนอุปมาแรก คือเขาก่อไฟในฤดูหนาวแล้วเผอิญไฟที่เขาก่อนั้นได้ไหม้ลุกลามไปเผานาของชาวบ้าน เขาถูกจับฟ้องคดีแต่ก็พยายามพูดว่าไม่ได้เผานาชาวบ้าน ไฟที่เขาก่อมันเป็นคนละอันกับที่มันเผานา อุปมาบุรุษจุดประทีปก็มีนัยเหมือนกันคือไฟที่เขาจุดได้ลุกลามไปไหม้บ้านเรือนคนอื่น และ อุปมาบุรุษหมั้นสาว คือบุรุษคนหนึ่งสู่ขอเด็กหญิงหมั้นแล้วก็ไปเสีย ต่อมา เด็กผู้หญิงนั้นก็โตเป็นสาวและมีบุรุษอีกคนหนึ่งมาหมั้นแล้วทำการวิวาห์ บุรุษคนที่หมั้นไว้ก่อนนี้กลับมาแล้วกล่าวว่าหญิงนั้นเป็นภรรยาของเขาแล้วทำไมนายจึงพาภรรยาของเขาไป บุรุษคนหลังนั้นก็กล่าวว่า ไม่ได้พาภรรยาของนายไป เด็กหญิงวัยรุ่นที่นายสู่ขอและหมั้นไว้นั้นเป็นอีกคนหนึ่ง หญิงสาวในปัจจุบันก็เป็นอีกคนหนึ่ง อุปมาบุรุษซื้อนมสด คือบุรุษคนหนึ่งซื้อนมสดหม้อหนึ่งจากคนเลี้ยงโค แต่เขาไม่ได้ถือนมสดไปด้วยบอกว่าพรุ่งนี้จะมารับไป วันต่อมา นมสดหม้อนั้นก็กลายเป็นนมส้มไป บุรุษคนนั้นกลับมาเพื่อจะรับเอาไป คนเลี้ยงโคก็มอบนมส้มให้ เขากล่าวว่า ไม่ได้ซื้อนมส้ม จงเอาหม้อนมสดมาให้ฉัน เมื่อแสดงอุปมาจบแต่ละครั้งพระเถระได้สรุปตอนท้ายทุกครั้งว่า “อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น นามรูปก่อนตาย (ในภพก่อน) ก็ส่วนหนึ่ง นามรูปคราวปฏิสนธิก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง แต่ทว่านามรูป (ในคราวปฏิสนธิ) นั้น ก็เกิดจากนามรูปก่อนตายนั้นนั่นแหละ เพราะฉะนั้น จึงไม่อาจเป็นผู้พ้นจากกรรมชั่วทั้งหลายได้”[๓๘] อุปมาทั้งหมดนี้ต้องการยืนยันว่า ความเป็นสันตติแห่งนามรูป กรรมและผลของกรรม มีลักษณะสืบทอดส่งต่อเป็นกระแส นามรูป หรือกรรมในภพหนึ่งเป็นเหตุปัจจัยแก่นามรูป และกรรมในอีกภพหนึ่ง เป็นกระแสแห่งสภาวะของเหตุปัจจัยที่มีผลต่อนามรูปและกรรมในภพใหม่
                      จะเห็นได้ว่า ธัมมสันตติ สามารถอธิบายความสืบต่อแห่งนามรูป นามรูปก็คือขันธ์ ๕ โดยมีกรรมดีกรรมชั่วเป็นปัจจัยให้มันสืบต่อ มีอวิชชาความไม่รู้อริยสัจเป็นเหตุ ปฏิสนธิวิญญาณเหมือนรากแก้วทำให้แตกกิ่งก้านสาขาออกไปเพื่อรับอารมณ์ดีและไม่ดีหมุนเวียนต่อไปอย่างไม่รู้จบ นามรูปในอดีตต่อกันโดยมีกรรมที่สัตว์ทำแล้วด้วยอำนาจอวิชชา สืบทอดจากภพหนึ่งไปสู่อีกภพหนึ่ง อาการที่นามรูปหรือขันธ์ ๕ เป็นไปนี้ย่อมแสดงให้เห็นไตรลักษณ์อยู่ในตัวแล้ว ซึ่งก็คือแสดงให้เห็นทั้งกรรมและอนัตตานั่นเอง
 
                      (๓) ธัมมสันตติกับการอธิบายผู้ไปเกิดในโลกหน้า
                      ปัญหาเกี่ยวกับสัตว์ไปเกิดในโลกหน้ามีสีสันวรรณะอย่างไร ในพระไตรปิฎกพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ตรัสไว้ แต่พระเจ้ามิลินท์ก็นำมาถาม หากไม่ตอบก็จะเชื่อว่าโลกหน้าไม่มี ดังนั้นพระนาคเสนจึงกล่าวว่า เมื่อเสียงของอาตมภาพแล่นเข้าสู่พระกรรณของพระองค์ๆ ไม่เห็นมีสีสันวรรณอย่างไร คติของสัตว์ก็เหมือนกัน เมื่อจะไปเกิดยังโลกหน้า ก็มิได้ปรากฏเป็นสีหรือรูปทรงสันฐานให้เห็น  พระเจ้ามิลินท์จึงกล่าวว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น ร่างกายเราบัดนี้ก็ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งไปเกิดยังโลกหน้าอีกเลย เมื่อเป็นอย่างนั้น ก็แสดงว่าโลกหน้ามีร่างกายซึ่งเกิดขึ้นเองอีกร่างหนึ่งต่างหาก พระนาคเสนกล่าวว่า รวงข้าวในนาไม่เกิดตามลำพังต้องอาศัยพืชพันธุ์ ซึ่งชาวนาได้หว่านได้ทำลงไป จึงจะเกิดรวงขึ้นมาได้ ร่างกายในโลกหน้าก็เป็นเช่นเดียวกับรวงข้าวนั้น คือมิได้เกิดขึ้นเอง ต้องอาศัยพืชพันธุ์เหมือนกัน แต่พืชพันธุ์ในที่นี้ได้แก่บุญบาปซึ่งร่างกายในบัดนี้ได้กระทำไว้ พอตายไป บุญบาปนั้นก่อให้ร่างกายโลกหน้าเกิดมีขึ้น เพราะถ้าเกิดขึ้นได้เองโดยมิได้มีบุญบาปปรุงแต่งให้เป็นไปแล้ว มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายก็จะมีรูปพรรณสัณฐานเหมือนกันไปหมด
                      พระเจ้ามิลินท์ถามว่า สัตว์เมื่อจะเข้าถือปฏิสนธิในครรภ์มารดาเข้าไปทางไหน พระนาคเสนตอบว่า ลักษณะของจิตที่ไปเกิดใหม่ในครรภ์มารดา ไม่มีรูปพรรณสัณฐาน เหมือนพระองค์ส่งจิตเข้าไปได้จนเห็นแก้วแหวนเงินทองในหีบนั้น ก็เนื่องด้วยจิตหมายรู้ตามที่ได้ประจักษ์มาแล้ว เมื่อคนจะเกิดในครรภ์มารดา ก็มีเฉพาะแต่จิตซึ่งเรียกว่าปฏิสนธิวิญญาณเข้าไปถือปฏิสนธิ ขณะเข้าไปก็เข้าไปโดยอาการเช่นพระองค์ทรงส่งพระหฤทัยเข้าไปในหีบนั้นเหมือนกัน   นอกจากนี้แล้วพระเจ้ามิลินท์ยังถามว่า คนตายที่นี่คนหนึ่งไปเกิดพรหมโลก อีกคนหนึ่งไปเกิดที่กัสมีรนคร ๒ คนนี้ใครจะเร็วจะช้ากว่ากัน พระนาคเสนตอบว่า ไปเกิดพร้อมกัน  ก่อนขณะจะดับจิตไปจากโลกนี้ จิตนั้นย่อมเกี่ยวเกาะที่ใดที่หนึ่งไว้แล้ว ครั้นดับจากที่นี้ก็แล่นไปถึงที่หมายไว้นั้นทันที เหตุนี้จึงว่าคนทั้งสองนั้นเกิดพร้อมกัน
                      ความต้องการของพระเจ้ามิลินท์คือความชัดเจนเรื่องคติของสัตว์ผู้เกิดในโลกหน้าจะต้องมีรูปทรงสัณฐาน สีสันวรรณะที่ไปจากโลกนี้จึงจะถือว่ามันติดต่อกัน ถ้าไม่ต่อกันก็แสดงว่าเป็นคนละคน คนละร่าง เป็นร่างกายใหม่ที่ไม่เกี่ยวกับร่างกายเดิมและกรรมเก่าทั้งสิ้น พระนาคเสนจึงอุปมาเหมือนเสียงที่ผ่านเข้าหู เราไม่สามารถทราบได้ว่ามันมีสีสันอย่างไร เข้าไปทางไหน และรวงข้าวในนาก็ไม่ได้เกิดเอง ต้องอาศัยคนปลูก อาศัยดินและอุณหภูมิที่เหมาะสมเป็นต้น จึงเจริญงอกงามได้ มนุษย์ก็มีกรรมเป็นพืช(คือบุญบาป)ที่คอยตกแต่งชีวิตให้เป็นไปต่างกัน ถ้าไม่มีกรรมปรุงแต่ง มนุษย์จะมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกันหมด
                      (๔) สิ่งที่เกิดจากกรรมเป็นต้น
                      พระเจ้ามิลินท์ถามว่า อะไรเป็นสิ่งที่เกิดจากกรรม อะไรเป็นสิ่งที่เกิดจากเหตุ อะไรเป็นสิ่งที่เกิดจากอุตุ อะไรเป็นสิ่งที่ไม่เกิดจากกรรม ไม่เกิดจากเหตุ ไม่เกิดจากอุตุ พระนาคเสนตอบว่า สัตว์ผู้มีเจตนาทั้งหลายทั้งปวงล้วนเกิดจากกรรม ไฟและพืชที่เกิดมาทั้งหมด ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดจากเหตุ แผ่นดิน ภูเขา น้ำ ลมทั้งหมด ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดมาจากอุตุ ส่วน อากาศและพระนิพพาน เป็นสภาวะที่ไม่เกิดจากกรรม ไม่เกิดจากเหตุ ไม่เกิดจากอุตุ พระนิพพาน ใคร ๆ ไม่ควรกล่าวว่าเกิดจากกรรม เหตุ อุตุ หรือเกิดจากสิ่งใดทั้งสิ้น เพราะพระนิพพาน อันมโนวิญญาณจะพึงรู้ได้ คือ เป็นสิ่งที่พระอริยสาวกผู้ปฏิบัติชอบนั้น เห็นด้วยญาณที่หมดจด[๓๙]
                      ปัญหาข้อนี้เป็นการถามโดยรวม แต่ต้องแยกตอบทีละอย่าง ซึ่งเมื่อแยกตอบทีละอย่างแล้วทำให้มองเห็นชัดว่า สัตว์ทั้งหลายที่มีเจตนาล้วนเกิดจากกรรม อากาศและพระนิพพานเป็นสภาวะที่ไม่เกิดจากกรรม นอกนั้นเป็นสิ่งที่เกิดจากเหตุและฤดู
                      (๕) ที่อยู่ของบุญและบาปในขณะรอให้ผล
                      พระเจ้ามิลินท์ถามว่า บุญและบาปที่ยังไม่ให้ผลไปรออยู่ที่ไหน พระนาคเสนตอบว่า ติดตามผู้ทำไปดุจเงาตามตัว  ถ้าได้โอกาสเมื่อใด ก็ให้ผลเมื่อนั้น แต่ไม่สามารถจะบอกได้ว่ามันอยู่ไหน อุปมาเหมือนต้นไม้เมื่อยังไม่ออกผล ย่อมไม่สามารถชี้ได้ว่า ผลอยู่ที่นั่นที่นี่ บุญบาปก็เป็นเช่นเดียวกับผลไม้นั้น คือเมื่อกำลังติดตามไป ก็รู้ไม่ได้ว่า เวลานี้อยู่ที่นั่นที่นี่ ผู้ที่จะต้องบังเกิดต่อไป เขารู้ตัวว่าจะต้องไปเกิดอีก เหมือนชาวนาเมื่อหว่านข้าวปลูกลงในพื้นนาแล้ว ฝนก็โปรยปรายลงมาโดยลำดับ เมื่อนั้นชาวนาเขาจะรู้ได้ว่า ข้าวปลูกจักงอกงาม ผู้ที่จะบังเกิดต่อไป ก็รู้ตัวเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะว่าพืชคือบุญบาปซึ่งเป็นเหตุให้เกิดยังเพาะยังทำอยู่[๔๐] 
                      การอุปมาว่าบุญและบาปนั้นเหมือนเงาติดตามตัว ได้โอกาสเมื่อใดย่อมให้ผลเมื่อนั้น เหมือนต้นไม้ที่ยังไม่ออกผล เราไม่สามารถชี้ได้ว่าผลมันอยู่ที่ไหน กลางต้นหรือกิ่งของมัน แต่รู้ได้แน่นอนว่ามันต้องให้ผล เหมือนชาวหน้าหว่านพืชในนาย่อมทราบว่ามันต้องให้ผลแน่นอน เพราะมันมีปัจจัยพร้อม การตอบปัญหาข้อนี้จึงมีเหตุผลชัดเจนและสอดคล้องกับพุทธภาษิตในธรรมบทที่ว่า กรรมชั่วติดตามมนุษย์ไปเหมือนล้อติดตามรอยเท้าโค ส่วนกรรมดีติดตามคนทำไปเหมือนเงาตามตัว แม้ว่าพยัญชนะจะไม่ตรงกันเสียทีเดียว แต่โดยสาระแล้วไม่ขัดแย้งกัน
                      (๖) ความหนักเบาแห่งบุญและบาป กฎหมายกับกฎแห่งกรรม
                      บุญและบาปเป็นนามธรรมอย่างหนึ่งที่คนทั่วไปก็ไม่รู้ว่าอย่างไหนหนักเบากว่ากัน แต่ดูเหมือนว่าบาปมีสภาพหนักกว่าบุญ เพราะเวลาคนทำบาปมักได้รับโทษหรือกรรมเห็นทันตาคือให้ผลเร็วกว่าทำบุญ พระเจ้ามิลินท์ก็สงสัยในข้อนี้เหมือนกันจึงถามพระนาคเสนและได้รับคำตอบว่า บุญมีกำลังมากกว่า   เช่น นายปุณณกะ ผู้ถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระสารีบุตร แล้วได้รับตำแหน่งเศรษฐีในวันนั้น นางโคปาลมาตา ถวายบิณฑบาตแก่พระมหากัจจายนเถร แล้วได้รับตำแหน่งพระอัครมเหสีของพระเจ้าอุเทนในวันนั้น นางสุปปียาอุบาสิก เถือเนื้อของตนแกงถวายพระภิกษุไข้ ถึงวันที่ ๒ แผลก็หายสนิทไม่มีแผลเป็นเลย นางมัลลิกาถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระพุทธเจ้าแล้วได้รับตำแหน่งพระอัครมเหสีของพระเจ้าโกศลในวันนั้น นายสุมนมาลาการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกมะลิ ๘ กำมือ แล้วได้ทรัพย์สมบัติมากมายในวันนั้น  เอกสาฏกพราหมณ์บูชาพระพุทธเจ้าด้วยผ้าห่ม แล้วได้รับพระราชทานทรัพย์สมบัติต่างๆ ชนเหล่านี้ได้รับผลแห่งบุญกุศลในปัจจุบันทั้งนั้น พระเจ้ามิลินท์ได้แย้งว่า จำนวนผู้ได้รับผลบุญในปัจจุบันยังมีน้อย ยกตัวอย่างอสทิสทาน (คือทานที่ไม่มีคราวไหนจะเปรียบได้) ที่พระเจ้าโกศลทรงบริจาคในพระพุทธศาสนานั้น หลังจากทรงบำเพ็ญทานแล้ว พระเจ้าโกศลก็มิได้ทรงรับยศศักดิ์หรือทรัพย์สมบัติซึ่งเป็นผลของทานในทันที ฉะนั้นบาปมีผลแรงกว่าบุญ พระนาคเสนได้อุปมาว่า ข้าวเบาทำได้รับผลเร็ว แต่ได้ผลน้อย ข้าวหนักทำได้รับผลช้า แต่ได้ผลมาก บุญบาปก็เป็นเช่นเดียวกัน คือ บุญมีผลมากกว่าแรงกว่าจึงได้ผลช้า ส่วนบาปมีผลน้อยกว่าเบากว่า จึงให้ผลเร็ว
                      พระเจ้ามิลินท์กล่าวเปรียบเทียบว่า ทหารที่สามารถจับศตรูได้โดยเร็วพลันชื่อว่าเป็นผู้องอาจแกล้วกล้ามีกำลังมากกว่า นี่คือสิ่งที่แปรไปเร็วให้ผลเร็ว ก็เพราะสิ่งนั้นเป็นสภาพที่มีกำลังเช่นกับทหารผู้กล้าหาญนั้น หรือ คนที่ฆ่ามนุษย์หรือลักทรัพย์เขา ถ้าเจ้าพนักงานจับตัวได้ก็ต้องนำไปให้พระราชาลงโทษทันที  พระนาคเสนกล่าวว่า อันนั้นเป็นเรื่องของการลงโทษตามกฎของบ้านเมืองเพราะการกระทำนั้นๆ เป็นความผิดที่ได้ระบุไว้ และจะจัดว่าเป็นโทษของบาปก็ถูก  แต่ว่านี้พระองค์ทรงยกมาด้วยมีพระประสงค์จะแสดงให้เห็นว่า บาปกำลังมากกว่าบุญนั้นไม่ได้ เพราะการทำบุญกฎหมายมิได้ระบุผลที่จะพึงได้รับไว้ ฉะนั้นจึงไม่มีทั่วไปว่า คนทำบุญได้รับผลทันทีเหมือนคนทำบาป    ข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่ถือว่าเป็นสิ่งใหม่ในที่นี้คือ การพยายามที่จะเปรียบเทียบกฎแห่งกรรมกับกฎหมายบ้านเมือง ซึ่งพระเจ้ามิลินท์พยายามอ้างว่าคนทำชั่วกฎหมายยังลงโทษทันที กฎแห่งกรรมน่าจะเป็นอย่างนั้น แต่พระนาคเสนกล่าวว่าจะนำกฎหมายมาเทียบกับกฎแห่งกรรมไม่ได้ เพราะเป็นคนละเกณฑ์ กฎหมายเป็นเรื่องของมนุษย์ในสังคมตกลงกติกากันเอง ส่วนกฎแห่งกรรมเป็นกฎธรรมชาติเป็นกรรมนิยาม เมื่อบุคคลทำกรรมใดลงไปแล้วย่อมได้รับผลทันที กล่าวคือสภาวะทางจิตได้สั่งสมกรรมไว้แล้ว รอเวลาให้ผลเท่านั้น ส่วนกฎหมายนั้นต้องรอการสืบสวนสอบสวนจากหลักฐานข้อเท็จจริง ทั้งฝ่ายโจทและจำเลย และดำเนินการตัดสินชี้ผิดถูกโดยคณะบุคคล ซึ่งคณะดังกล่าวก็อาจมีอคติในการตัดสินได้ สรุปความว่ากฎแห่งกรรมครอบคลุมเรื่องกฎหมาย และกฎกติกาสังคม[๔๑]
                      จากที่กล่าวมาสรุปได้ว่า พัฒนาการแห่งการตอบปัญหาของพระนาคเสน มี ๒ ลักษณะ  คือ (๑) รูปแบบการสนทนาแบบปฏิปุจฉา ซึ่งต้องมีกติกาในการสนทนากันโดยให้บอกชื่อของกันและกัน ต้องเป็นการสนทนาแบบบัณฑิต ที่เรียกว่า บัณฑิตสัลลาปะ ต้องรู้จักผูกปัญหาและแก้ปัญหา กล่าวข่มกันได้ โต้ตอบกันได้ ยอมรับได้ ปฏิเสธได้ และไม่โกรธ ที่สำคัญต้องเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ โดยรูปแบบการสนทนานี้ส่วนหนึ่งได้พัฒนาจากคัมภีร์กถาวัตถุ (๒) หลักธัมมสันตติ ซึ่งเป็นคำที่สังเคราะห์ขึ้นใหม่ โดยนำแนว สันตติ จากคัมภีร์อภิธรรม มาใช้อธิบายกรรมและผลของกรรม กรรมและการเกิดใหม่ และหลักอนัตตาได้อย่างสอดคล้องกับพระไตรปิฎกและอรรถกถาทั้งหลาย สิ่งที่โดดเด่นในการอธิบายนี้คือลักษณะของอุปมาอุปไมยสิ่งที่เป็นนามธรรมให้มองเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน พร้อมด้วยปฏิภาณโวหาร แตกฉานในหลักพุทธธรรมอย่างน่าอัศจรรย์ 
                      นอกจากนี้ยังปรากฏแนวคิดเรื่องธัมมสันตตินี้ที่มีอิทธิพลมาถึงยุคฎีกา โดยปรากฏในคัมภีร์วชิรพุทธิฎีกา และ คัมภีร์สารัตถทีปนีฎีกา ซึ่งคัมภีร์ฎีกาทั้งสองนำ “สนฺตติ” และ “ธมฺมสนฺตติ” มาอธิบายตัดสินการทำปาณาติบาต และใช้ “ธมฺมสนฺตติ” ขยายความคำ “ปเวณี” ที่แปลว่าเชื้อสายหรือวงศ์[๔๒] ซึ่งอิทธิพลนี้ทำให้มองเห็นว่า ธัมมสันตติ ได้ผ่านการกลั่นกรองมาหลายร้อยปีจนเป็นที่นับถือของปราชญ์รุ่นหลัง
 
สรุป
ในสมัยพระนาคเสน มีพัฒนาการวิธีการตอบ ๒ แบบคือ (๑) การสนทนาแบบปฏิปุจฉา ซึ่งมีกติกาในการสนทนาบางส่วนสืบทอดมาจากตรรกนัยของพระโมคคัลลีบุตร (๒) หลักธัมมสันตติ คือการอธิบายความสืบต่อแห่งธรรมที่เป็นกระแส มีอุปมาอุปไมยประกอบ โดยมีจุดร่วมกับสมัยพุทธกาลคือใช้ขันธ์ ๕ เป็นหลักและตอบแบบจำแนกโดยชธัมมสันตติเป็นตัวเชื่อมให้เห็นความสืบต่อแห่งนามรูป กรรมและผลของกรรม สิ่งที่ต้องการยืนยันคือขันธ์ ๕ ไม่ใช่อัตตา สิ่งที่ใช้ในการอธิบายคือธัมมสันตติ โดยวิธีการสนทนาแบบปฏิปุจฉา
 
                      ธัมมสันตติคือความสืบต่อแห่งสภาวธรรม เป็นคำที่พระนาคเสนนำมาใช้ตอบปัญหาเรื่องนามรูปที่ว่า “ผู้นั้นก็ไม่ใช่ ผู้อื่นก็ไม่ใช่” ที่พระเจ้ามิลินท์ถามว่า “ ผู้ใดเกิดก็เป็นผู้นั้นหรือหรือว่าเป็นผู้อื่น” พระนาคเสนได้อธิบายอย่างละเอียดพร้อมทั้งยกอุปมาให้เห็นอย่างชัดเจนว่า บุคคลคนเดียวกันนั้น ในตอนเป็นเด็กกับตอนเป็นผู้ใหญ่ในปัจจุบัน จะว่าเป็นคนละคนก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นคนเดียวกันก็ไม่ใช่ แต่ทั้งสองนั้นเกิดเพราะอาศัยกันอย่างต่อเนื่อง หากตอบว่าเป็นคนละคนก็จะมีปัญหาเรื่องกรรมและผลของกรรม จะกลายเป็นว่าคนหนึ่งทำกรรมอีกคนต้องมารับผลของกรรมแทน ถ้าตอบว่าเป็นคนเดียวกันก็ขัดกับความเป็นจริงจะกลายเป็นความเที่ยง จึงมีอุปมาว่าเหมือนดวงประทีปที่ลุกโพลงอย่างต่อเนื่อง หรือนมสดที่กลายเป็นนมข้น ชีวิตคนก็เหมือนกัน พัฒนาการมาตั้งแต่กลละจนเป็นผู้ใหญ่ กำหนดเรียกได้ว่าเป็นคนนั้นคนนี้เพราะกำหนดปัจจุบันที่เขาเป็นอยู่และเรียกตามภาษาสมมติ
                      พระนาคเสนอธิบายนามรูปว่ามีการสืบต่อแบบสันตติ  โดยเริ่มจากอวิชชาคือความไม่รู้อริยสัจ ๔ มีทุกข์เป็นต้นว่า อวิชชาทำให้สัตว์ทำกรรมดีบ้างกรรมชั่วบ้าง กรรมดีกรรมชั่วนั้นเป็นเหตุให้เกิดปฏิสนธิวิญญาณ  เมื่อมีปฏิสนธิวิญญาณเป็นรากแก้วอยู่  ก็เกิดนามรูปแตกกิ่งก้านเป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  ซึ่งเป็นประตูสำหรับรับอารมณ์มีรูปเสียงเป็นต้น  เมื่อประสบสิ่งที่ชอบใจ ก็รู้สึกยินดีมีความสุขใจ เมื่อถูกสิ่งแสลงใจมากระทบ ก็รู้สึกยินร้ายเป็นทุกข์ใจ  เมื่อได้ความสุขก็ดิ้นรนจะให้ความสุขนั้นยั่งยืน เมื่อได้ความทุกข์ก็ดิ้นรนจะหนีทุกข์ให้พ้น และอวิชชานี้ทำให้ยึดถือขันธ์ ๕ ว่าเป็นอัตตา และสร้างแนวคิดทฤษฎีต่างๆ ขึ้นมาแล้วยึดไว้ ความยึดถือก็จะทำให้สัตว์ทำกรรมดีกรรมชั่วอีก   กรรมดีกรรมชั่วก็จะส่งผลทำให้เกิดมีนามรูปต่อ ๆ ไป   เหมือนต้นไม้แรกปลูกก็ยังไม่มีใบไม่มีดอก ต่อมาพอต้นไม้เจริญเติบโตก็ผลิดอกออกผล ในที่สุดใบและดอกเหล่านั้นก็ร่วงหล่นไปหมดสิ้น จะมีเหลืออยู่ก็แต่ต้นและกิ่งซึ่งถึงคราวก็เกิดใบเกิดดอกใหม่อีก  นามรูปก็เป็นเช่นเดียวกับใบไม้ ดอกไม้ คือเดิมก็ไม่ปรากฏแต่เนื่องด้วยมีบุญบาปซึ่งตนได้กระทำไว้ในอดีตเป็นเหตุอยู่ บุญบาปเป็นลำต้นให้เกิดมีนามรูปติดต่อขึ้นมาในระหว่างได้ ครั้นเกิดเป็นตัวตนขึ้นแล้ว ถึงวาระที่สุดก็ทอดทิ้งร่างกายสูญหายไป สิ่งที่ยังคงมีอยู่ก็คือบุญบาป ซึ่งจะให้เกิดนามรูปต่อไปอีกเท่านั้น  บุคคลทำกรรมดีบ้าง กรรมชั่วบ้าง ด้วยนามรูปนี้ แล้วส่งผลให้เกิดนามรูปใหม่ ปฏิสนธิวิญญาณจึงเกิดเพราะกรรมนั้น
                      พระนาคเสนได้อุปมาให้พระเจ้ามิลินท์ฟังอีกหลายอย่าง คือ อุปมาด้วยบุรุษขโมยมะม่วง อุปมาด้วยบุรุษก่อไฟ อุปมาด้วยบุรุษจุดประทีป อุปมาด้วยบุรุษหมั่นสาว อุปมาด้วยบุรุษซื้อนมสด ส่วนบุญและบาป เมื่อยังไม่ให้ผลก็จะติดตามผู้ทำไปดุจเงาตามตัว ถ้าได้โอกาสเมื่อใด ก็ให้ผลเมื่อนั้น  ตรงนี้ก็สอดคล้องกับพระพุทธภาษิตที่ว่า กรรมชั่วติดตามบุคคลไปเหมือนล้อเกวียนตามรอยเท้าโค กรรมดีติดตามไปเหมือนเงาตามบุคคลไป[๔๓] 


                      [๑] เช่น ที่ปรากฏในศรีมัทภควัทคีตาว่า
                      น ชายเต มริยเต วา กทาจินฺนายํ ภตฺวา ภวิตา วา น ภูยะ /
                      อโช นิตฺยะ ศาศฺวโต’ ยํ ปุราโณ น หนฺยเต หนฺยมาเน ศรีเร //๒๐//
                      ศิริณ(อาตมัน/ชีวาตมัน)นี้ไม่เคยเกิดไม่เคยตาย จะไม่เป็นอีก เมื่อได้เป็นแล้ว ศิริณนี้ไม่เกิด
                      เที่ยงในภายหน้า และเที่ยงมาแล้ว ย่อมฆ่าไม่ตาย ในเมื่อร่างกายถูกฆ่า (อัธยายที่ ๒ บท ๒๐) ศาสตราจารย์ ร.ต.ท.แสง มนวิทูร(ผู้แปล), ศรีมัทภควัทคีตา (กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, ๒๕๒๗), หน้า ๒๖.
                      และของศาสนาเชน(Jaina) ว่า 
                      egayā devalokesu, naryesu vi egayā              egayāāsuram kāyam, āhākammehim gacchaī.
                      ชีวะบางครั้งเกิดในเทวโลก บางครั้งก็เกิดในนรก บางครั้งเป็นอสูร ทั้งหมดนี้เป็นเพราะกรรมกำหนด
Krishan, Yuvraj, The Doctrine of Karma, (Delhi : Motilal Banarsidass Publishers Pvt Lid., 1997), p. 43.
      [๒] วิ.ม.(บาลี) ๔/๒๐-๒๓/๑๗-๑๙, สํ.ข.(บาลี) ๑๗/๕๙/๕๕-๕๖.
      [๓] Stischandra Chatterjee and Dhirendronmohan Datta, An Introduction to Indian Philosophy,   pp. 147-148.
      [๔] .อุ.(บาลี) ๑๔/๙๐/๗๐–๗๑, ม.อุ.(ไทย) ๑๔/๙๐/๑๐๒, สํ.ข.(บาลี)๑๗/๘๒/๘๓, สํ.ข.(ไทย)๑๗/๘๒/๑๓๙.
      [๕] ม.มู.(บาลี)๑๒/๓๕๖/๓๑๙, ม.มู.(ไทย)๑๒/๓๕๖/๓๙๒.
      [๖] ม.มู.(บาลี) ๑๒/๒๔๔/๒๐๖–๒๑๐,๓๐๖/๒๖๙,   ม.มู.(ไทย) ๑๒/๒๔๔/๒๖๐–๒๖๖,๓๐๖/๓๓๘–๓๓๙, ม.อุ.(บาลี) ๑๔/๘๕–๙๐/๖๗–๗๑, ม.อุ.(ไทย) ๑๔/๘๕–๙๐/๙๖–๑๐๔, สํ.ข.(บาลี) ๑๗/๘๒/๘๑–๘๔, สํ.ข.(ไทย) ๑๗/๘๒/๑๓๔–๑๔๐.
      [๗] ม.มู.(บาลี) ๑๒/๓๐๖/๒๖๙, ม.มู.(ไทย) ๑๒/๓๐๖/๓๓๘., วิสุทฺธิ.(บาลี) ๒/๖๗๒/๒๕๗.
      [๘] สํ.ส.(บาลี) ๑๕/๑๗๑/๑๖๓, สํ.ส.(ไทย) ๑๕/๑๗๑/๒๒๘.
      [๙] ผู้สันนิษฐานในลักษณะนี้ เช่น พุทธทาสภิกขุ พระญาณดิลก(ชาวเยอรมัน) คัสสิอุส เอ. เปไซรา(Cassius A.Peseira) เฮรี่ ซิงห์ กอร์(Hary Singh Gour) และ เสถียร โพธินันทะ ดู พุทธทาสภิกขุ, อภิธรรมคืออะไร ใน สันทัสเสตัพพธรรม, (ไชยา : ธรรมทานมูลนิธิ, ๒๕๓๘), หน้า ๓๖๔-๔๓๒, เสถียร โพธินันทะ, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, พิมพ์ครั้งที่ ๓, (กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑), หน้า ๘๖–๙๐.
      [๑๐] อภิ.ก.(บาลี) ๓๗/๑-๒๓๘/๑-๖๙, อภิ.ก.(ไทย) ๓๗/๑-๒๓๘/๑-๑๐๘, อภิ.ปญฺจก.อ.(บาลี) ๑-๒๓๗/๑๒๙-๑๖๐.
      [๑๑] อภิ.ก.(บาลี) ๓๗/๒๘๒-๒๙๘/๑๗๕-๒๒๙, อภิ.ปญฺจก.อ.(บาลี) ๒๘๒-๒๙๘/๑๗๐-๑๗๘.
      [๑๒] อ้างในบทนำ มิลินฺทปญฺหปกรณํ (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์วิญญาณ, ๒๕๔๐), หน้า ๒๘-๓๐.
      [๑๓] นอกจากนี้ยังปรากฏในหัวข้ออื่นๆ เช่น ธมฺมสนฺตติปญฺห นามรูปเอกตฺตนานตฺตปญฺห กมฺม-ผลอตฺถิภาวปญฺห เป็นต้น ดู มิลินฺท.(บาลี) ๑/๒๕–๒๘,๑/๔๒–๔๓. และ The Questions of King Milinda- 2nd edition : Edited by N.G.K.Mendis – Kandy Buddhist Publication Society, 2001.
      [๑๔] เช่น พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต) พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ, พิมพ์ครั้งที่ ๖, (กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๘), หน้า ๘๔. ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพรหมคุณาภรณ์
      [๑๕] อภิ.วตาร (บาลี) ๑๐๘, อภิ.วตาร(ไทย) ๓๐๑ (แปลโดย พระคันธสาราภิวงศ์ )
      [๑๖]  มิลินฺท.(บาลี) อ้างในบทนำ หน้า [๒๓]
      [๑๗] มิลินฺท.(บาลี) ๙/๙.
      [๑๘]  สํ.ส.(บาลี) ๑๕/๑๗๑/๑๖๓.
      [๑๙]  มิลินฺท.อ. (บาลี) ๑/๑๐๐.
      [๒๐]  มิลินฺท.(บาลี) ๖/๓๒.
      [๒๑] มิลินฺท.(บาลี) ๑/๔๒.
      [๒๒] มิลินฺท.อ.(บาลี) ๑/๑๒๓.
[๒๓]  The Question of King Milinda, 2nd edition edited by N.G.K. Mendis, (Kandy Sri Lanka : Buddhist Publication Society, 2001), p. 8.
[๒๔]  พระปิฎกจูฬาภัย, คัมภีร์มิลินทปัญหา ไทย-บาลี, พิมพ์ครั้งที่ ๙, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ประยูร พริ้นติ้ง, ๒๕๕๐) หน้า (๔๑) พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระพุทธิวงศมุนี(บุญมา ทีปธมฺโม สุดสุข)
[๒๕] มิลินฺท.(บาลี) ๓/๒๙, มิลินฺท.อ.(บาลี) ๓/๑๐๓, มิลินฺท.ฏีกา(บาลี) ๓/๑๑.
[๒๖] มิลินฺท.(บาลี) ๔๓๖.
[๒๗]  มิลินฺท.(บาลี) ๑/๔๒.
[๒๘]  มิลินฺท.(บาลี) ๑/๔๒. ในฉบับอังกฤษปรากฏข้อความว่า “Even so, sire, a continuity of phenomena is linked together. It uprises as one and ceases as another, linked together as though there were no before and no after.Hence it is neither the same nor another, but the subsequent conciousness is reckoned (together with) the preceding conciousness.” The Question of King Milinda, pp. 40-41.
[๒๙] อภิ.สํ.(บาลี) ๓๔/๕๘๔/๑๗๐, อภิ.สํ.(ไทย) ๓๔/๕๘๔/๑๗๓
[๓๐]  อภิ.สํ.(บาลี) ๓๔/๕๘๕/๑๗๐, อภิ.สํ.(ไทย) ๓๔/๕๘๕/๑๘๑
[๓๑]  อภิ.สํ.(บาลี) ๓๔/๖๔๒/๑๙๖, อภิ.สํ.(ไทย) ๓๔/๖๔๒/๒๐๕
[๓๒]  อภิ.ก.(บาลี) ๓๗/๖๒๕/๓๗๙-๓๘๐, อภิ.ก.(ไทย) ๓๗/๖๒๕/๖๘๒.
[๓๓]  อภิ.ก.(บาลี) ๓๗/๖๒๖/๓๘๐, อภิ.ก.(ไทย) ๓๗/๖๒๕/๖๘๓-๖๘๔,อภิ.ปญฺจก.อ.(บาลี) ๖๒๕/๒๕๙.
[๓๔]  ขุ.ม.(บาลี) ๒๙/๖/๙, ขุ.ม.(ไทย) ๒๙/๖/๒๓.
[๓๕]  วิ.อ.(บาลี) ๑/๑๗๒/๔๗๖-๔๗๗, โมหวิจฺเฉทนี(บาลี) ๒๐๐, สารตฺถ.ฏีกา(บาลี) ๒/๒๗๘/๕๑๔.
[๓๖] มิลินฺท.(บาลี) ๖/๔๘.
[๓๗] มิลินฺท.(บาลี) ๖/๔๙.
[๓๘] มิลินฺท.(บาลี) ๖/๕๐-๕๑.
[๓๙]  มิลินฺท.(บาลี) ๖/๒๘๒.
[๔๐] มิลินฺท.(บาลี) ๘-๙/๘๐.
[๔๑] มิลินฺท.(บาลี) ๓/๓๐๐-๓๐๔.
[๔๒]  ปเวณีติ ธมฺมสนฺตติ ธมฺมสฺส อวิจฺเฉเทน ปวตฺติ. สารตฺถ.ฏีกา(บาลี) ๑/๑๐๔, วชิร.ฏีกา(บาลี)๑๗๒/๑๙๖-๑๙๘.
[๔๓] ขุ.ธ.(บาลี) ๒๕/๑-๒/๑๕, ขุ.ธ.อ.(บาลี) ๑/๑-๒/๑๗,๒๘.

 

(ที่มา: -)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕