หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » Phra Soravit Aphipanyo (Duangchai) » ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจไม่ลาสิกขาของนิสิต
 
เข้าชม : ๑๔๗๗๘ ครั้ง

''ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจไม่ลาสิกขาของนิสิต''
 
พระสรวิชญ์ อภิปญฺโญ (2556)

(บทความวิจัย)

 

ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจไม่ลาสิกขาของนิสิต หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

ผู้วิจัย

 

พระสรวิชญ์  อภิปญฺโญ

พธ.บ.(ครุศาสตร์), ป.บัณฑิต.(การวิจัยสังคม),ศศ.ม.) จิตวิทยาชุมชน

Phra SORAVIT APHIPANYO

อาจารย์ประจำภาควิชาปริยัติธรรมและจริยศึกษา คณะครุศาสตร์

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

Mahachulalongkornrajvidyalaya University

 

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่อง การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจลาสิกขาของนิสิต หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการตัดสินใจลาสิกขาและปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจลาสิกขาของนิสิต หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประชากรที่ใชในการศึกษาครั้งนี้คือ นิสิตที่เป็นพระภิกษุและกำหลังศึกษาตาม หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปีการศึกษา 2553 จำนวน 197 รูป เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นแบบสอบถาม  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล  คือ การวิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ตอบแบบสอบถาม ใช้การแจกแจงความถี่ ( n ) และค่าร้อยละ ( % )  ใช้ไคสแควร์ (Chi-Square) วัดความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร โดยกำหนดระดับความมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .005

 

         ผลการวิจัยพบว่า

            1. นิสิตส่วนใหญ่มีแนวโน้มการตัดสินใจไม่ลาสิกขามากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 77.7 และมีความต้องการที่จะปฏิบัติงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและการปกครองคณะสงฆ์มากที่สุดร้อยละ 73.9  และมีเพียงร้อยละ 22.3 เท่านั้น ที่ตัดสินใจลาสิกขาและต้องการประกอบอาชีพเป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจมากที่สุด ร้อยละ 63.6

 

2. ความคาดหวังจากเพื่อน  อายุ  พรรษา สถานภาพก่อนบวช ตำแหน่งทางคณะสงฆ์ สมณศักดิ์ สาขาวิชาที่เรียน เป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจลาสิกขาของนิสิต อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.005

 

 

 

 

บทนำ

               การพัฒนาประเทศให้มีความเจริญมั่นคงและยั่งยืนจำเป็นจะต้องพัฒนาคนให้มีสติปัญญาสามารถดำรงชีวิตอยู่ด้วยปัญญา การพัฒนาคนจึง จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาในทุก ๆ ด้านครบวงจรของวิถีชีวิต เช่นด้านสังคม เศรษฐกิจ  ความมั่นคงในชีวิต เป็นต้น ซึ่งการจะพัฒนาด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพจะต้องกลับมาดูพื้นฐานของการจัดทำแผนพัฒนาประเทศว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนในสังคมมีพัฒนาการไปด้านใด จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ฉบับที่  9  (พ..2545–2549)ที่ผ่านมาได้กล่าวถึง  การปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต และในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 - 2554) ได้กำหนดวัตถุประสงค์ในแผนพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นไปเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้คู่คุณธรรม จริยธรรมอย่างต่อเนื่องที่ขับเคลื่อนด้วยการเชื่อมโยงบทบาทครอบครัว สถาบันศาสนาและสถาบันการศึกษา เสริมสร้างบริการสุขภาพอย่างสมดุลระหว่างการส่งเสริม การป้องกัน การรักษา และการฟื้นฟูสมรรถภาพ และสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การศึกษาจึงเป็นกระบวนการสำคัญในการพัฒนาคุณภาพของมนุษย์ ให้มีความเจริญทางด้านสติปัญญา สามารถนำพาชีวิตไปสู่ความผาสุกที่มั่นคงและยั่งยืน เป้าหมายของการจัดการศึกษาก็เพื่อส่งเสริมให้มนุษย์ มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นผู้มีสติปัญญา มีคุณธรรมจริยธรรมอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข มีจิตใจเอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นสังคมที่ใช้เมตตาธรรมเป็นตัวขับเคลื่อนความผาสุกทั้งทางกายและจิตใจหากสถาบันทางสังคม มีแนวทางในการพัฒนากำลังคนด้วยการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นการดำรงชีพที่แท้จริงจนถึงขั้นการจัดการศึกษาเพื่อการประกอบอาชีพ ก็จะส่งผลให้เกิดความเจริญทั้งต่อตนเองสังคมและประเทศชาติ โดยเฉพาะการทำความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตและการตั้งเป้าหมายชีวิตของแต่และบุคคลว่าจะดำเนินไปอย่างไรในอนาคต

มนุษย์ประกอบด้วยองค์ประกอบ 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่เป็นร่างกายและจิตใจ ซึ่งต้องอาศัยกันและกันเสมอ หากมนุษย์เข้าใจส่วนประกอบของชีวิตไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง อาจทำให้ชีวิตทั้งชีวิตต้องเดินทางผิดทั้งชีวิตเลยก็ได้ แต่หากเข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีท่าทีและการแสดงพฤติกรรมออกมาอย่างถูกต้องดีงามและมีความสอดคล้องความจริงมากที่สุด ดังนั้น การทำความเข้าใจในองค์ประกอบของชีวิตอย่างถูกต้องเป็นสัมมาทิฐิตั้งแต่เริ่มต้น ถือว่ามีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากมนุษย์ต้องการที่จะทำความเข้าใจและรู้จักตนเองอย่างแท้จริงแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องถามปัญหากับตัวเองว่า ชีวิตคืออะไร ความหมายของชีวิตคืออะไร และควรจะต้องเป้าหมายชีวิตอย่างไร ซึ่งเป้าหมายชีวิตตามแนวคิดทางพระพุทธศาสนามีความเชื่อว่า มนุษย์เป็นผู้ที่ประเสริฐกว่าสัตว์โลกทั้งปวงก็เพราะรู้จักการจัดการความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ รู้จักสัจธรรมและความหลุดพ้น ถ้ามนุษย์ไม่รู้จักความพอดีพอควรในเรื่อง กิน กาม เกียรติ ก็ไม่สามารพัฒนาตนไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ และการพัฒนาตนเองเพื่อมุ่งความสมบูรณ์นั้น  บุคคลจำเป็นต้องรู้จักประยุกต์ใช้สองขั้นตอนสำคัญคือ การวางเป้าหมายของชีวิตให้ตระหนักถึงความต้องการภายในและภายนอกและการรู้จักประยุกต์ใช้หลักอิทธิบาทสี่ เป็นแรงจูงใจในการทำงานให้มุ่งสู่เป้าหมายชีวิต องค์ประกอบทั้งสองประการเป็นหลักประกันความสมหวังของชีวิตทั้งในและนอกหน้าที่การงาน เป็นทางสว่างแห่งชีวิตที่อยู่ภายและนอกหน้าที่การงานเป็นทางสว่างแห่งชีวิตที่อยู่ภายใต้กรอบความดีงาม ซึ่งถึงพร้อมด้วยการพัฒนาตนเองและสังคม

การดำเนินชีวิตของบุคคลหากมีการกำหนดเป้าหมายชีวิตไว้อย่างชัดเจนก็จะสามารถมองเห็นวิถีทางแห่งความสำเร็จในชีวิตได้ เมื่อมีเป้าหมายชีวิตแล้วก็จะใช้กระบวนการเรียนรู้เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายที่ตนเองต้องการด้วยการวางแผนชีวิตและปฏิบัติตามแผนที่ตนเองตั้งไว้อย่างมุ่งมั่นและตั้งใจ เป้าหมายชีวิตของบุคคลย่อมมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมและความตระหนักรู้ถึงความสามารถของตนเอง เช่นบางคนอาจจะมีเป้าหมายในชีวิตเพื่อจะมีบ้านหลังใหญ่ มีรถ มีชื่อเสียง มีคนที่รัก หรือบางคนอาจต้องการความสงบไม่ชอบความวุ่นวายในบันปลายชีวิตก็เป็นเป้าหมายชีวิตเฉพาะบุคคล การตั้งค่าเป้าหมายชีวิตจึงเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับการสร้างความสำเร็จในชีวิตที่ดี เป้าหมายชีวิต เป็นสิ่งที่บุคคลได้สร้างภาพจิตนาการเกี่ยวกับการนำพาชีวิตของตนไปในบทบาทและหน้าที่หรือสิ่งที่ตนเองใฝ่ฝันหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นปนการดำเนินชีวิตของบุคคลในการดำเนินชีวิตเพื่อกำหนดทิศทางของชีวิตในอนาคตของตนเองการวางเป้าหมายชีวิตไว้แล้วใช้ศักยภาพที่ตนเองมีอยู่ไปให้ถึงเป้าหมายนั้นจึงเป็นสิ่งที่บุคคลต้องการให้เกิดขึ้นกับตนเอง  บุคคลที่ดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทหรือหน้าที่อะไรก็ย่อมมีความมุ่งหวังในการดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จในชีวิต การสั่งสมประสบการณ์การเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ถือว่าเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะเผชิญกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับตนเองในอนาคตไม้เว้นแต่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา

พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเป็นบุคคลที่ผ่านกระบวนการเข้าสู่การเป็นสงฆ์ถือว่าได้เป็นผู้เข้าสู่กระบวนการขัดเกลาทางสังคมสงฆ์ได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์การดำรงชีวิตในรูปแบบหนึ่ง เมื่ออยู่ในสังคมสงฆ์จากพระสงฆ์กับเป็นบุคคลธรรมดาเมื่อบวชเข้ามาแล้วก็ตั้งปณิธานเพื่ออุทิศตนในการศึกษาหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาจนมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วนำไปสู่ภาคปฏิบัติจนเห็นผลแล้วไปบอกไปสอนต่อไปสร้างศาสนทายาทต่อทั้งที่เป็นองกรสงฆ์เองและประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตามพระวินัยก็ไม่ได้บังคับว่าเมื่อบุคคลบวชเป็นพระสงฆ์แล้วไม่สามารถลาสิกขา(เป็นคฤหัสถ์) ได้   พระพุทธศาสนาจะเจริญหรือเสื่อมนั้นพระพุทธองค์ทรงมอบเป็นธุระให้กับ พุทธบริษัท 4 ประกอบด้วย ภิกษุ ภิกษุณี และ อุบาสก อุบาสิกา ผู้ที่ผ่านกระบวนการขัดเกาลาทางสังคมสงฆ์เมื่อมีความประสงค์ลาลิกขาเป็นคฤหัสถ์ก็สามารถที่จะช่วยดำรงพระศาสนาไว้ได้ โดยการพลเมืองที่ดีของสังคมประเทศชาติต่อไป

              มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2430 ตั้งอยู่ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ และโปรดให้เรียกว่า มหาธาตุวิทยาลัยเปิดสอนครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2432 ต่อมาวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2439 ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยโดยให้มีพระราชประสงค์ให้ใช้ “เป็นสถานศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูงสำหรับพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์” ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยก็ได้จัดทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัยฯ ขึ้นเพื่อให้การบริหารจัดการงานของมหาวิทยาลัยดำเนินไปได้อย่างสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาอุดมศึกษาของประเทศ  ในช่วงแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระยะที่ 10 (พ.ศ. 2550 – 2554) โดยมุ่งสู่ความเป็น ศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา ที่เน้นการ บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ ควบคู่ไปกับการ พัฒนาจิตใจและสังคม” และวิสัยทัศน์ที่มุ่งเป็น “ศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา ที่สร้างคนดีและเก่งอย่างมีสมรรถภาพ จัดการศึกษาและวิจัยดีอย่างมีคุณภาพ บริการวิชาการดีอย่างมีสุขภาพ และ บริหารดีอย่างมีประสิทธิภาพระดับนานาชาติ”ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้เปิดสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก สำหรับการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยสนใจศึกษาเป้าหมายชีวิตของนิสิตที่เป็นพระภิกษุและกำลังศึกษาอยู่ในหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต ชั้นปีที่ 1-2  แผนการศึกษาภาคปกติ  ปีการศึกษา 2553 เท่านั้น ซึ่งหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิตที่จัดการเรียนการสอนในปัจจุบันมีจำนวน 14 สาขาวิชา ดังนี้

                     (1)    สาขาวิชาบาลี                                      (2) สาขาวิชาพระพุทธศาสนา

                     (3)    สาขาวิชาปรัชญา                                  (4) สาขาวิชาธรรมนิเทศ

                     (5)    สาขาวิชาศาสนาเปรียบเทียบ                 (6) สาขาวิชาวิปัสสนาภาวนา

                     (7)    สาขาวิชามหายานศึกษา                        (8) สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์

                     (9)    สาขาวิชาการบริหารการศึกษา                (10) สาขาวิชาชีวิตและความตาย

                     (11) สาขาวิชาพุทธศาสตร์และศิลปะแห่งชีวิต (12) สาขาวิชาสันสกฤต

                     (13) สาขาวิชาภาษาศาสตร์                           (14) สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ

 

*สถิติจำนวนนิสิตหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต การศึกษาภาคปกติ (เฉพาะพระภิกษุ) ปีการศึกษา 2552-2553

 

ปัจจุบันปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต ก็คือเมื่อนิสิตจบการศึกษาระดับปริญญาโทไปแล้ว บางรูปก็บวชต่ออุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา บางรูปก็ลาสิกขาเพื่อไปประกอบอาชีพ  ซึ่งผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายชีวิตของนิสิตที่ตัดสินใจเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งนิสิตที่เป็นพระสงฆ์ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีบทบาททางสังคมอยู่แล้ว ควรที่จะได้รับการวางแผนเพื่อเตรียมเข้าสู่ตำแหน่งทางคณะสงฆ์หรือการมอบภาระหน้าที่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเพื่อความมั่นคงถาวรแห่งพระพุทธศาสนา ผู้วิจัยจึงตั้งข้อคำถามของการวิจัยว่า หลังจากจบการศึกษาแล้วท่านมีเป้าหมายหรือได้วางแผนชีวิตอย่างไร จะยังคงบวชต่ออุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา หรือจะลาสิกขาเพื่อประกอบอาชีพ ขณะเดียวกันก็ต้องการทราบว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่มีความความสัมพันธ์กับการตัดสินใจลาสิกขาของนิสิต  ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาการตัดสินใจลาสิกขาของนิสิต และวิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจลาสิกขาของนิสิต อันจะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการแก้ปัญหาและกำหนดแผนการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยต่อไป

ขอบเขตการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยได้เลือกและจัดกลุ่มประชากรตามสาขาวิชาที่มีการจัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ส่วนกลางเท่านั้น และเลือกสาขาที่มีประชากรตั้งแต่ 10 รูป ขึ้นไป ได้ จำนวน 7 สาขาวิชา แต่ละสาขามีจำนวนประชากร ดังนี้ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา จำนวน 23 รูป สาขาวิชาปรัชญา จำนวน 17 รูป สาขาวิชาวิปัสสนาภาวนา จำนวน 75 รูป สาขาวิชาศาสนาเปรียบเทียบ จำนวน 43 รูป สาขาวิชาบริหารการศึกษา จำนวน 130 รูป สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ จำนวน 45 รูป สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จำนวน 54 รูป รวม 289 รูป

 

 

ผู้วิจัยประมาณขนาดกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยที่ระดับความเชื่อมั่น 95 จากตารางของยามาเน่ (Yamane. 1967 : 886-887) พบว่าต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 197 รูป ดังนั้นผู้วิจัยจึงใช้สัดส่วนประชากรจำแนกตามสาขาวิชา ได้กลุ่มตัวอย่าง ดังนี้ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา จำนวน 12 รูป สาขาวิชาปรัชญา จำนวน 9 รูป สาขาวิชาวิปัสสนาภาวนา  จำนวน 38 รูป สาขาวิชาศาสนาเปรียบเทียบ จำนวน 22 รูป สาขาวิชาการบริหารการศึกษา จำนวน 66 รูป สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ จำนวน 23 รูป และสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ จำนวน 27 รูป  ดังแสดงในตารางที่ 1

 

สาขาวิชา

ประชากร (รูป)

กลุ่มตัวอย่าง (รูป)

สาขาวิชาพระพุทธศาสนา

23

12

สาขาวิชาปรัชญา

17

9

สาขาวิชาวิปัสสนาภาวนา

75

38

สาขาวิชาศาสนาเปรียบเทียบ

43

22

สาขาวิชาการบริหารการศึกษา

130

66

สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ

45

23

สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์

54

27

รวม

387

197

ขอบเขตด้านตัวแปรที่ศึกษา ผู้วิจัยได้จัดกลุ่มตัวแปรออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1. ปัจจัยด้านภูมิหลังของนิสิต ประกอบด้วย อายุ, สถานภาพก่อนบวช, ระยะเวลาการบวช (พรรษา), ตำแหน่งทางคณะสงฆ์, สมณะศักดิ์, ชั้นปีที่ศึกษา, สาขาวิชาที่ศึกษา และเหตุผลที่บวช 2. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ความคาดหวังจากเจ้าอาวาสหรืออาจารย์,จากเพื่อน,จากครอบครัว,จากผู้อุปถัมภ์ (บุคคลทั่วไป),จากสถาบันการศึกษาเดิม

และ การตัดสินใจของนิสิต วัดได้จากการตัดสินใจไม่ลาสิกขาและลาสิกขา

 

นิยามศัพท์เฉพาะ

1.การตัดสินใจของนิสิต หมายถึง  ความมุ่งหมายที่นิสิตตั้งใจจะกระทำเพื่อให้บรรลุผล มีความมุ่งมั่นและมีเป้าหมายอย่างชัดเจนในการเลือกแนวทางการดำเนินชีวิต ในที่นี้ได้แก่ การตัดสินใจไม่ลาสิกขา หมายถึง การที่นิสิตมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินชีวิตเป็นพระภิกษุต่อไปหลังจบการศึกษา ตามหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต และมีความประสงค์ที่จะปฏิบัติตามบทบาทและหน้าที่ของพระสงฆ์ในด้านต่างๆ  เช่น  ด้านการปกครองคณะสงฆ์ การศาสนศึกษา การเผยแผ่พระพุทธศาสนา สาธารณูปการ สาธารณสงเคราะห์ เป็นต้นและการลาสิกขา หมายถึง การเปลี่ยนแปลงเพศภาวจากความเป็นพระภิกษุเป็นคฤหัสถ์ หลังจบการศึกษาหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต และจะสามารถนำไปประกอบอาชีพตามความต้องการของตนเองได้ เช่น เป็นข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ เกษตกร ค้าขาย/ประกอบอาชีพอิสระ ทำงานกับองค์กรเอกชน นักการเมืองระดับท้องถิ่น/ระดับชาติ เป็นต้น

2. ความคาดหวังจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง  หมายถึง การรับรู้ของนิสิตที่มีต่อความต้องการหรือการตั้งเป้าหมายของผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีต่อนิสิต ประกอบด้วย ความคาดหวังจากเจ้าอาวาสหรืออาจารย์ผู้ปกครอง, เพื่อน, ครอบครัว, โยมอุปัฏฐาก (ผู้ให้ความอุปถัมภ์ที่มิใช่ญาติ) และสถาบันการศึกษาเดิม เช่น คาดหวังให้นิสิตศึกษาต่อระดับสูง  รับหน้าตำแหน่งทางคณะสงฆ์  ช่วยงานภายในวัด  สร้างชื่อเสียงให้กับวัด เรียนจบระดับปริญญาโท  เป็นที่พึงของญาติโยมในชุมชน  และเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในและนอกวัด เป็นต้น

 

วิธีดำเนินการวิจัย

            การวิจัยครั้งนี้เป็นงานวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) ใช้การเก็บข้อมูลด้วยวิธีการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research Method) เพื่อที่จะตอบคำถามในวัตถุประสงค์ของการวิจัยข้อ 1, 2 ซึ่งเป็นการดำเนินงานตอนที่ 1 เพื่อให้การสรุปผลการศึกษามีความครอบคลุมในประเด็นต่างๆ ที่สอดคล้องและตรงตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยทั้ง 2 ข้อ ผู้วิจัยเลือกและจัดกลุ่มประชากรตามสาขาวิชาที่มีการจัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ส่วนกลางเท่านั้น และเลือกสาขาที่มีประชากรตั้งแต่ 10 รูป ขึ้นไป ได้จำนวน 7 สาขาวิชา แต่ละสาขามีจำนวนประชากร ดังนี้ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา จำนวน 23 รูป สาขาวิชาปรัชญา จำนวน 17 รูป สาขาวิชาวิปัสสนาภาวนา จำนวน 75 รูป สาขาวิชาศาสนาเปรียบเทียบ จำนวน 43 รูป สาขาวิชาบริหารการศึกษา จำนวน 130 รูป สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ จำนวน 45 รูป สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จำนวน 54 รูป รวม 289 รูปและประมาณขนาดกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยที่ระดับความเชื่อมั่น 95 จากตารางของยามาเน่ (Yamane. 1967 : 886-887) พบว่าต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 197 รูป ดังนั้นผู้วิจัยจึงใช้สัดส่วนประชากรจำแนกตามสาขาวิชา ได้กลุ่มตัวอย่าง ดังนี้ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา จำนวน 12 รูป สาขาวิชาปรัชญา จำนวน 9 รูป สาขาวิชาวิปัสสนาภาวนา  จำนวน 38 รูป สาขาวิชาศาสนาเปรียบเทียบ จำนวน 22 รูป สาขาวิชาการบริหารการศึกษา จำนวน 66 รูป สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ จำนวน 23 รูป และสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ จำนวน 27 รูป  เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถาม โดยผู้วิจัยได้สร้างแบบวัดตามนิยามปฏิบัติการของตัวแปร ภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ของการศึกษา สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ SPSS for Windows (Statistical Package for the Social Science for Windows) โดยการหาค่าสถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าความถี่และร้อยละ สำหรับการบรรยายลักษณะพื้นฐานของข้อมูลส่วนบุคคลของนิสิตและใช้ไคสแควร์ (Chi-Square) วัดความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร        โดยกำหนดระดับความมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .005

 

ผลการวิจัย

            จากการศึกษาพบว่า นิสิตส่วนใหญ่มีอายุอยู่ระหว่าง 30-40 ปี ร้อยละ 32.5 โดยมีอายุต่ำสุด 23 ปี สูงสุด 73 ปี มีพรรษาต่ำกว่า 10 ปี ร้อยละ 59.4  โดยมีพรรษาต่ำสุด 1 ปี สูงสุด 52 ปี และส่วนใหญ่เป็นคฤหัสถ์มาก่อนแล้วจึงบวชเป็นพระสงฆ์มีจำนวยมากสุด ร้อยละ 59.4 และไม่ได้เป็นพระสังฆาธิการ ร้อยละ 64  ส่วนใหญ่ไม่มีสมณะศักดิ์ ร้อยละ 43.1 และกำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 1ร้อยละ 59.4 ศึกษาอยู่ในสาขาวิชาบริหารการศึกษา ร้อยละ 33.5 และบวชเพื่อศึกษาหลักธรรมและเพื่อแทนคุณพ่อแม่ คือ ร้อยละ 61.9

นอกจากนี้ผลการศึกษาการตัดสินใจของนิสิต  พบว่า นิสิตส่วนใหญ่มีแนวโน้มตัดสินใจไม่ลาสิกขามากที่สุด ร้อยละ 77.7 มีเพียงร้อยละ 23.3 เท่านั้น ที่มีแนวโน้มว่าจะลาสิกขา ส่วนความต้องการปฏิบัติงานหรือการประกอบอาชีพของนิสิต ซึ่งจากการศึกษา พบว่า  นิสิตที่มีแนวโน้มไม่ลาสิกขามีความต้องการที่จะปฏิบัติงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนามากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 43.8 และนิสิตที่มีแนวโน้มลาสิกขา ต้องการประกอบอาชีพเป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจมากที่สุด ร้อยละ 63.6

สำหรับการศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจของนิสิต พบว่า ความคาดหวังจากเพื่อน  อายุ  พรรษา สถานภาพก่อนบวช ตำแหน่งทางคณะสงฆ์ สมณศักดิ์ สาขาวิชาที่เรียน เป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจของนิสิต อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.005 ส่วนเหตุผลการบวช ความคาดหวังจากเจ้าอาวาสหรืออาจารย์ ความคาดหวังจากครอบครัว ความคาดหวังจากผู้ให้ความอุปถัมภ์และความคาดหวังจากสถาบันการศึกษาเดิม  พบว่า ไม่มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจของนิสิตแต่อย่างใด

 

วิจารย์

               จากการศึกษา พบว่า นิสิตส่วนใหญ่มีแนวโน้มตัดสินใจไม่ลาสิกขามากที่สุด อาจเป็นเพราะว่า       ผู้ที่เข้ามาบวชเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาส่วนใหญ่เกิดจากความศรัทธาและเพื่อแสวงหาคำตอบของการใช้ชีวิตโดยการศึกษาหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา อีกทั้งวัฒนธรรมประเพณีที่คนในสังคมถูกหล่อหลอมให้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณโดยเฉพาะพ่อแม่ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บุคคลมีเป้าหมายบวชเพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีดังกล่าว ขณะเดียวกันเมื่อบวชเข้ามาเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาแล้วก็เกิดความชื่นชอบที่จะดำรงชีวิตแบบนักบวช ซึ่งตรงกันข้ามกับการศึกษาของปรีชา บุญรอด เรื่อง แนวโน้มการลาสิกขาของพระสงฆ์ : ศึกษากรณีพระเปรียญและพระนิสิต/นักศึกษามหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความโน้มเอียงไปในทางที่จะลาสิกขามากกว่าจะอยู่ดำรงสมณเพศ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าลักษณะกลุ่มประชากรที่ศึกษามีความแตกต่างกันมาก เช่น อายุ พรรษา และระดับการศึกษาของการศึกษาครั้งนี้แตกต่างจากกลุ่มประชากรที่ปรีชา บุญรอด ศึกษา จึงทำให้ผลการศึกษาตรงกันข้ามกัน อีกทั้งการศึกษาครั้งนี้ได้มุ่งไปที่นิสิตที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิตของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นสำคัญ มิได้อ้างอิงกลุ่มประชากรอื่นที่อยู่นอกขอบเขตการศึกษาแต่อย่างใด

            ขณะเดียวกันเมื่อเพื่อพิจารณาถึงความต้องการปฏิบัติงานของพระสงฆ์แล้วพบว่า มีความต้องการที่จะเผยแผ่พระพทุธศาสนาและงานด้านการปกครองคณะสงฆ์มากที่สุดนั้น อาจเป็นเพราะว่า บทบาทหน้าที่ของพระสงฆ์ที่ต้องแสดงออกต่อสังคมนั้น การเผยแผ่พระพุทธศาสนานับว่าเป็นหน้าที่ ที่สำคัญที่สุดในฐานะเป็นพระสงฆ์สาวก  เป็นผู้ที่สังคมคาดหวังที่จะรับการถ่ายทอดหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาเพื่อนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมอย่างรู้เท่าทันสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกันนอกจากการทำหน้าที่เกี่ยวกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้วก็ยังต้องรักษาความเป็นองค์กรไว้ด้วยโดยเฉพาะการปกครองคณะสงฆ์เป็นอีกหน้าที่หนึ่งของพระสงฆ์ที่ต้องดำรงอยู่ เพื่อสร้างความเป็นสังฆสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่สงฆ์ การที่นิสิตมีความมุ่งมั่นจะเผยแผ่พระพุทธศาสนาและปฏิบัติหน้าที่ด้านการปกครองคณะสงฆ์นับว่าเป็นบทบาทที่สำคัญในยุคปัจจุบัน และเมื่อพิจารณาความคาดหวังจากบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นรายข้อคำถามแล้ว พบว่า เจ้าอาวาสหรืออาจารย์คาดหวังให้นิสิตสร้างชื่อเสียงให้กับวัดอยู่ในระดับมากแต่ความคาดหวังให้นิสิตได้รับตำแหน่งคณะสงฆ์ในอนาคตอยู่ในระดับปานกลางเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นไปได้ว่า เมื่อนิสิตจบการศึกษาระดับมหาบัณฑิตแล้ว จะได้ใช้ความรู้ที่ศึกษามาพัฒนากิจการคณะสงฆ์และสร้างชื่อเสียงให้กับวัดได้         ส่วนตำแหน่งทางคณะสงฆ์นั้นเป็นตำแหน่งทางการบริหารคณะสงฆ์ที่มีจำนวนจำกัดประกอบพระสงฆ์ที่จะดำรงตำแหน่งทางคณะสงฆ์ได้นั้นต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ของคณะสงฆ์และความเหมาะสมของแต่ละบุคคลขณะเดียวกันเพื่อนได้คาดหวังให้นิสิตเป็นแบบอย่างด้านการศึกษาอยู่ในระดับมากแสดงให้เห็นว่าแม้นิสิตจะมีอายุมากก็ยังมีความมุ่งมั่นที่จะศึกษาและมีความเพียรพยามที่จะแสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลาจึงนับได้ว่าเป็นแบบอย่างที่ดีด้านการศึกษา ขณะเดียวกันครอบครัวมีความคาดหวังกับนิสิตทุกข้อคำถามอยู่ในระดับมากโดยเฉพาะความคาดหวังให้นิสิตทำชื่อเสียงให้แก่วงศ์ตระกูล ส่วนความคาดหวังจากโยมอุปัฏฐากหรือผู้ให้ความอุปถัมภ์ก็มุ่งที่จะให้นิสิตเผยแผ่พระพุทธศาสนามากขึ้น โดยไม่ได้มุ่งที่จะให้นิสิตไปทำงานในบริษัทหรือหน่วยงานในครอบครัว และลาสิกขาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวแต่อย่างใด

สำหรับปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจของนิสิตนั้น จากการศึกษาพบว่า ความคาดหวังจากเพื่อนเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยมีขนาดความสัมพันธ์ระดับปานกลาง และเมื่อนำความคาดหวังจากเพื่อนมาเปรียบเทียบกับการตัดสินใจของนิสิต พบว่า นิสิตที่มีความคาดหวังจากเพื่อนสูงมีแน้วโน้มจะไม่ลาสิกขามากกว่าลาสิกขา ร้อยละ 85.7และ 14.3 ตามลำดับ ขณะเดียวกันยังพบว่า นิสิตที่มีความคาดหวังจากเพื่อนต่ำก็มีแน้วโน้มว่าจะไม่ลาสิกเช่นกัน  ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า เพื่อน มีความสำคัญต่อการตัดสินใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งของบุคคล โดยเพราะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเลือกแนวทางในการดำเนินชีวิต หากเพื่อนได้คาดหวังกับนิสิตมากก็มีแนวโน้มว่านิสิตจะเลือกแนวทางในการดำเนินชีวิตตามวิถีทางหรือเป้าหมายของชีวิตของตนเองได้ ซึ่งจากข้อคำถามเกี่ยวกับเพื่อน พบว่า เพื่อนได้คาดหวังต่อนิสิตให้เป็นแบบอย่างด้านการศึกษาและสร้างชื่อเสียงให้กับเพื่อนร่วมรุ่น และคาดหวังให้นิสินเป็นบุคคลตัวอย่างในการดำเนินชีวิตอยู่ในระดับมาก สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าความคาดหวังจากเพื่อนย่อมมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกแนวทางการดำเนินชีวิตของนิสิต 

ขณะเดียวกันความคาดหวังจากเจ้าอาวาสหรืออาจารย์ จากครอบครัว จากผู้ให้ความอุปถัมภ์ และจากสถาบันการศึกษาเดิมของนิสิตไม่มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจของนิสิตแต่อย่างใด ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า บุคคลหรือองค์กรดังกล่าว ไม่ได้มีความใกล้ชิดเหมือนกันเพื่อนของนิสิต ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงบริบทของการดำรงชีวิตของนิสิตแล้วจะเห็นได้ว่า นิสิตที่เป็นพระสงฆ์เมื่อเข้ามาบวชแล้วได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนพระสงฆ์ด้วยกันเองมากที่สุด โดยเฉพาะด้านการศึกษา ซึ่งนิสิตที่เป็นพระสงฆ์เมื่อเข้ามาสู่การจัดการศึกษาที่เป็นระบบสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดความกระตือรือร้นในการแสวงหาความรู้และเกิดการวางแผนหรือเป้าหมายของชีวิตก็คือกลุ่มเพื่อนนั้นเอง ด้วยเหตุนี้ ปัจจัยด้านเจ้าอาวาสหรืออาจารย์ ครอบครัว ผู้ให้ความอุปถัมภ์ และสถาบันการศึกษาเดิมจึงไม่มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจลาสิกขาของนิสิตแต่อย่างใด

นอกจากปัจจัยด้านความคาดหวังจากบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้ว การศึกษาครั้งนี้ยังพบว่า ปัจจัยส่วนบุคคลของนิสิตยังมีความสัมพันธ์กับเป้าหมายชีวิตด้วย ได้แก่ อายุ พรรษา สถานภาพก่อนบวช ตำแหน่งทางคณะสงฆ์ สมณศักดิ์ ซีงจากปัจจัยดังกล่าว ทำให้เห็นภาพรวมของการกำหนดทิศทางหรือการตัดสินใจของนิสิต โดยนิสิตที่มีอายุ และพรรษามากจะมีเปอร์เซ็นในการลาสิกขาน้อย นิสิตที่มีสถานภาพก่อนบวชเป็นคฤหัสถ์มากก่อนจะมีแนวโน้มไม่ลาสิกขา และเมื่อเข้ามาบวชแล้วหากมีตำแหน่งทางคณะสงฆ์เป็นพระสังฆาธิการและมีสมณศักดิ์เป็นเปรียญธรรมก็จะมีเป้าหมายบวชต่อเพื่อพระพุทธศาสนา

จากข้อค้นพบดังกล่าว ทำให้ผู้ศึกษาได้ทราบว่า นิสิตที่เป็นพระสงฆ์และกำลังศึกษาอยู่ในหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งถือว่าเป็นการศึกษาระดับสูงหากเปรียบเทียบกับระดับการศึกษาของพระสงฆ์โดยภาพรวมทั้งประเทศ การที่นิสิตมีแนวโน้มในการตัดสินใจไม่ลาสิกขาและขณะเดียวกันก็มีความต้องการที่จะปฏิบัติงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและมีความประสงค์ที่จะทำงานด้านการปกครองคณะสงฆ์มากที่สุด นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้พระพุทธศาสนาเกิดมั่นคงถาวรและเจริญรุ่งเรืองในอนาคต โดยจากผลการศึกษาทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าอีก 3-5 ปี ต่อจากนี้ไป คณะสงฆ์ไทยจะมีบุคคลลากรที่มีความรู้ความสามารถทั้งทางโลกและทางธรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาแห่งชีวิตของผู้เคารพและศรัทธาในสังคมต่อไป

 

ข้อเสนอแนะ

1.ข้อเสนอแนะสำหรับการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์

การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจลาสิกขาของนิสิต หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อกิจการพระพุทธศาสนาและสังคม ผู้ศึกษาจึงมีข้อเสนอแนะเพื่อนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ ดังนี้

1.1จากการศึกษาพบว่า นิสิตมีการตัดสินใจไม่ลาสิกขามากที่สุดและมีความต้องการปฏิบัติงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและด้านการปกครองคณะสงฆ์มากที่สุด คณะสงฆ์ควรมีนโยบายหรือมีแผนการบริหารอัตรากำลังบุคคลกรทางพระพุทธศาสนาด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยการจัดหาหรือประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พระสงฆ์ที่มีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมได้แสดงศักยภาพด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและการปกครองคณะสงฆ์ได้อย่างเต็มความสามารถ เช่น การจัดโครงการธรรมสัญจร การเผยแผ่ธรรมด้วยกิจกรรมตามกลุ่มเป้าหมาย  การเผยแผ่ธรรมทางสื่อสารมวลชน เป็นต้น

1.2ด้านการปกครองคณะสงฆ์ จากการศึกษาพบว่า นิสิตมีความต้องการที่จะปฏิบัติหน้าที่ด้านการปกครองคณะสงฆ์รองลงมาจากการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ฉะนั้นเพื่อให้เกิดการถ่ายโอนหรือรองรับการเข้าสู่ตำแหน่งด้านการปกครองคณะสงฆ์  มหาเถรสมาคม หรือ เจ้าคณะพระสังฆาธิการระดับสูงจำเป็นต้องมีแผนการฝึกอบรมเตรียมพระสงฆ์ที่จะไปดำรงตำแหน่งระดับสูงในคณะสงฆ์ตั้งแต่ระดับเจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะจังหวัด จนถึงระดับสูงสุดของการปกครองคณะสงฆ์ เพื่อความพร้อมในการเป็นผู้บริหารคณะสงฆ์ให้มีประสิทธิภาพทุกด้าน เช่น การจัดทำหลักสูตรเตรียมพระสังฆาธิการเพื่อรองรับหรือถ่ายโอนตำแหน่งหน้าที่ด้านการปกครองคณะสงฆ์ให้กับพระสงฆ์รุ่นใหม่ต่อไป

1.3จากการศึกษาพบว่า ความคาดหวังจากเพื่อน เป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจลาสิกขาหรือไม่ลาสิกขาของนิสิต จากผลการศึกษาดังกล่าว คณะสงฆ์ควรจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มเพื่อนพระสงฆ์ ตั้งแต่ระดับวัด จนถึงระดับสูงสุด โดยการจัดตั้งกลุ่มพระสงฆ์และสร้างเครื่องข่ายพระสงฆ์ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละส่วน เช่น เครือข่ายพระนักเผยแผ่พระพุทธศาสนา เครือข่ายพระสังฆาธิการระดับต่างๆ เป็นต้น ซึ่งแต่ละกลุ่มต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมกันปฏิบัติกิจกรรมเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และการปกครองคณะสงฆ์ รวมถึงด้านการช่วยเหลือประชาชนในรูปแบบต่างๆ

1.4มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ควรมีการวางแผนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับสูงมากยิ่งขึ้นเนื่องจากในแต่ละปีมีนิสิตจบการศึกษาระดับมหาบัณฑิตเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหลักสูตรเกี่ยวกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและหลักสูตรที่ส่งเสริมการบริหารกิจการคณะสงฆ์เพื่อเป็นการต่อยอดความรู้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาและการปกครองคณะสงฆ์ โดยเฉพาะหลักสูตรที่เป็นอัตลักษณ์ของหน่วยงาน เช่น หลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิปัสสนาภาวนา พระพุทธศาสนา การจัดการเชิงพุทธ เป็นต้น

 

2.     ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป

จากการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจลาสิกขาของนิสิต หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อาจยังมีข้อมูลบางเรื่องที่ยังไม่สมบูรณ์ หรืออาจมีข้อผิดพลาดอยู่บ้าง ดังนั้นหากมีผู้ต้องการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจลาสิกขาของนิสิต หรือประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อไป ผู้ศึกษามีข้อเสนอแนะ ดังนี้

2.1จากการศึกษาครั้งนี้ พื้นที่ในการเก็บรวบรวมข้อมูลยังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านเวลา ดังนั้น หากจะมีการศึกษาครั้งต่อไปควร ความศึกษากับกลุ่มประชากรให้ครบคลุมทุกสาขาวิชาที่เรียนและทุกส่วนงานของมหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาระดับพุทธศาสตรมหาบัณฑิต

2.2การศึกษาครั้งนี้ ข้อมูลด้านตัวแปรที่ใช้ศึกษาความสัมพันธ์กับการตัดสินใจลาสิกขาของนิสิต ได้แก่ ความคาดหวังจากเพื่อน ซึ่งยังได้ข้อมูลที่ไม่ละเอียดพอ หากต้องการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้อีก ควรเพิ่มปัจจัยต่างๆ เช่น แรงสนับสนุนทางสังคม ความยึดมั่นผูกพันต่อองค์กรสงฆ์ เป็นต้น เข้ามาศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น

2.3การศึกษาครั้งนี้ ได้ศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจลาสิกขาของนิสิต หากจะมีผู้ศึกษาเกี่ยวกับความคาดหวังจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง ควรศึกษากับบุคคลที่มีความคาดหวังกับนิสิตโดยตรงซึ่งอาจจะจัดเป็นกลุ่มๆ ตามบทบาทและหน้าที่ เพื่อดูบทบาทของกลุ่มบุคคลดังกล่าวเกี่ยวกับความคาดหวังที่มีต่อนิสิต เช่น ศึกษาความคาดหวังของเจ้าอาวาสที่มีต่อศิษย์ในการปกครอง เป็นต้น

กิตติกรรมประกาศ

            ผู้วิจัยขออนุโทนา คณาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขา การวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้เมตานุเคราะห์ประสิทธิประสาทวิชาความรู้เกี่ยวกับการวิจัยและชี้แนะแนวทางการดำเนินการวิจัย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการวิจัยเป็นอย่างมาก ขอขอบคุณ พระครูปลัดมารุต วรมงฺคโล,ผศ.คณบดีคณะครุศาสตร์และอาจารย์พิธพิบูลย์ กาญจนพิพิธ   ห้วหน้าภาควิชาปริยัติธรรมและจริยศึกษา คณะครุศาสตร์ ที่ได้เปิดโอกาสส่งเสริมสนับสนุนให้ทำการวิจัยเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ตลอดจนขอขอบคุณคณะกรรมการดำเนินการจัดทำภาคนิพนธ์ของ กองวิชาการ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่ได้พิจารณาให้ผลการวิจัยครั้งนี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งนี้

 

เอกสารอ้างอิง

กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. ข้อมูลพื้นฐานด้านการศาสนา.  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2540.

ฝ่ายวิจัยและประเมินผล กองแผนงาน กรมการศาสนา.  การศึกษาผลงานวิจัยของกรมการศาสนา ปีงบประมาณ 2535-2542. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2542.

พระเทพโสภณ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต).  พระพุทธศาสนาในประเทศไทยสมัยปัจจุบัน.  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2547.

พระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตฺโต).  ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะศาสนาประจำชาติ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สหธรรมิก, 2540.

__________.  ต้องฟื้นฟูวัด ให้ชนบทพัฒนาสังคมไทยจึงจะก้าวหน้าได้มั่นคง.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2546.

พระธรรมปีฎก, (.. ปยุตโต) พุทธธรรม. มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,  กรุงเทพมหานคร,  2538.

พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. 9 ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548

พระเทพโสภณ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต), พระพุทธศาสนาในประเทศไทยสมัยปัจจุบัน, (กรุงเทพฯ :               โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2547), หน้า 21.

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.  พระพุทธศาสนาในประเทศไทย.  กรุงเทพฯ :  โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2547.

พระมหานราธิป แก้วประสิทธิ์. ปัจจัยทางจิตวิทยาและสังคมที่มีอิทธิพลต่อความตั้งใจอุปสมบทเป็นภิกษุของสามเณรในเขตภาคกลาง.วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาจิตวิทยาชุมชน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2544.

พระมหาสหัส  ฐิตสาโรและคณะ   :  แนวโน้มของจำนวนพระภิกษุสามเณรในทศวรรษหน้าของสังคมไทย สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2547

ปรีชา บุญรอด, แนวโน้มการลาสิกขาของพระสงฆ์ : ศึกษาเฉพาะกรณี พระเปรียญและพระนิสิต/นักศึกษามหาวิทยาลัยวิทยานิพนธ์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2537

ทินพันธุ์  นาคะตะ.  พระพุทธศาสนากับสังคมไทย.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์, 2529.

สนง.คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ,  บทบาทที่พึ่งประสงค์ของวัดและพระสงฆ์กับการพัฒนาสังคมไทย.  พิมพ์ครั้งที่ 1 ,  โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,  กรุงเทพฯ ,  2542 .

(ที่มา: บทความวิจัย)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕