หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระสุธีธรรมานุวัตร, ผศ.,ดร » การศึกษาวิเคราะห์องค์ความรู้ทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในคัมภีร์ธรรมวัดสูงเม่น จังหวัดแพร่
 
เข้าชม : ๑๐๒๐๓ ครั้ง

''การศึกษาวิเคราะห์องค์ความรู้ทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในคัมภีร์ธรรมวัดสูงเม่น จังหวัดแพร่''
 
พระสุธีธรรมานุวัตร, ผศ.,ดร. (2556)

 

บทคัดย่อ

 

                 การวิจัยเรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาประวัติ ความเป็นมาของการเก็บรวบรวมคัมภีร์ธรรมวัดสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ๒) เพื่อศึกษาและปริวรรตคัมภีร์ธรรมทางพระพุทธศาสนาในวัดสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ และ ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์องค์ความรู้ทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในคัมภีร์ธรรมวัดสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยในเชิงเอกสารโดยเก็บรวบรวมคัมภีร์ธรรม วรรณกรรม หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องแล้วนำมาปริวรรตและวิเคราะห์เพื่อให้ได้องค์ความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนา ผลการศึกษาพบว่า

                 ประวัติความเป็นมาของการเก็บรวบรวมคัมภีร์ธรรมวัดสูงเม่น พบว่า เป็นวัดที่มีการเก็บรวบรวมคัมภีร์ธรรมใบลานภาษาล้านนามากที่สุด โดยมีคัมภีร์ธรรมมากกว่า  ๘,๘๔๕ ผูก นับเป็นใบลานได้มากกว่า ๘๔,๕๐๐ ใบลาน โดยคัมภีร์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในวัดสูงเม่น คือ คัมภีร์อัตถกถาอุปริปัณณาส ซึ่งรจนาขึ้นในปีจุลศักราช ๙๑๒ (พ.ศ. ๒๐๙๓) หรือมีอายุ ๔๕๘ ปี สำหรับการเก็บรวบรวมคัมภีร์ธรรมดังกล่าวมีสืบเนื่องมาตั้งแต่มีการสร้างวัดสูงเม่นเมื่อเกือบ ๓๐๐ ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยครูบากัญจนอรัญญวาสี (พ.ศ. ๒๓๓๒ - ๒๔๑๒) ที่ท่านได้เก็บรวบรวมคัมภีร์ธรรมจากวัดและสถานที่ต่าง ๆ เช่น เชียงใหม่ ลำพูน แพร่ น่าน หลวงพระบาง พม่า เป็นต้น โดยมีกระบวนการในการเก็บรวมรวมคัมภีร์ที่เป็นเอกลักษณ์ คือ การใช้ประเพณีตากธรรม และความเชื่อท้องถิ่นในการรักษาคัมภีร์ต่าง ๆ เอาไว้ตั้งแต่การเก็บรักษาในระดับคัมภีร์ ตู้พระธรรม ระดับหอไตร และระดับความเชื่อคือการสร้างและถวายคัมภีร์ธรรมเป็นทาน

                 ส่วนปริวรรตและวิเคราะห์องค์ความรู้ที่ปรากฏในคัมภีร์ธรรม เรื่อง คัมภีร์คุยหัตถทีปนีมหาคัณฐี และมูลกัมมัฏฐานภวิรตินั้น พบว่า พระอาจารย์ผู้รจนาคัมภีร์คุยหัตถทีปนีมหาคัณฐี มีความรู้ได้ภาษาบาลีในระดับดี จึงสามารถรจนาคัมภีร์ดังกล่าวได้ ถึงแม้ว่าลักษณะและโครงสร้างของภาษาที่ปรากฏนั้นจะไม่มีความสละสลวยหรือมีแบบแผนการแต่งเท่ากับวรรณกรรมภาษาบาลีในยุคทองของวรรณกรรมล้านนา (พ.ศ.๑๙๘๕-๒๐๖๘) อย่างไรก็ตามก็พบว่า พระอาจารย์ผู้รจนานำความรู้จากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกามาอธิบายได้เป็นอย่างดี โดยองค์ความรู้ที่ปรากฏในคัมภีร์ทั้งสองนั้นพบว่า เป็นความรู้ที่สอดคล้องกับหลักการทางพระพุทธศาสนา เช่น ๑) ความรู้ด้านพุทธประวัติและการสังคายนาในพระพุทธศาสนา๒) องค์ความรู้ด้านหลักธรรมที่สำคัญ เช่น ปฏิจจสมุปบาท อริยสัจ ๔  ๓) องค์ความรู้ด้านอภิธรรมว่าด้วยปฏิสนธิจิต จุติจิต วิถีจิต ปัฏฐาน ๔) องค์ความรู้ด้านหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา เช่น กุศล อกุศล กรรม วิบาก โลกิยฌาน โลกุตตรฌาน รูปภพ อรูปภพ ธาตุ ๔  ขันธ์ ๕ ไตรลักษณ์  อายตนะภายใน ภายนอก เป็นต้น

                 องค์ความรู้ที่ปรากฏในคัมภีร์ธรรมวัดสูงเม่นนั้น เป็นทั้งองค์ความรู้ที่เป็นพุทธแท้ ได้แก่ องค์ความรู้ที่เป็นไปตามแนวคิด หลักการทางพระพุทธศาสนา และองค์ความรู้/ภูมิปัญญาที่ผสมผสานกับความรู้ท้องถิ่น ได้แก่ การอธิบายความรู้ที่ผสมผสานองค์ความรู้ในทางพระพุทธศาสนาและความเชื่อในท้องถิ่นเข้าด้วยกัน โดยมีการอ้างอิงถึงความเชื่อในทางพระพุทธศาสนาและความเชื่อในท้องถิ่นว่า เป็นของโบราณาจารย์ องค์ความรู้เหล่านี้ จึงปรากฏในลักษณะของความรู้ในด้านต่าง ๆ เช่น ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อของท้องถิ่น

 

คำหลัก: วรรณกรรม, องค์ความรู้ทางพระพุทธศาสนาและท้องถิ่น, คัมภีร์ธรรม, การรวบรวมคัมภีร์

 

Abstract

 

                 The research is an analytical study of knowledge on Buddhism in Buddhist Texts at Wat Sungmen in Phrae Province, which there are three objectives, namely, 1) to study of the history of the collection of Buddhist Texts at Wat Sungmen, Sungmen District Phrae Province, 2) to study and changing the Buddhist Texts in Wat Sungmen, and 3) to an analytical study the knowledge on Buddhism in Buddhist Texts at Wat Sungmen in Prhae Province. This is the document study which collected the Buddhist Texts, Literature, concerned historical evidence and bring its analyze the knowledge in Pali Language, Buddhist doctrine and Buddhist understanding. It was found that :-

                 The history of collection of Buddhist Texts at Wat Sungmen found that it is collection the most palm scriptures which are Lanna language in Lanna. There are Buddhist texts more than 8,845 scriptures, which counted more than 84,500 scriptures. The oldest text in Wat Sungmen is the Aṭṭhakathã-uparipaṇṇãsa Text, it is 458 years old which is written in T.E. 912 (2093 B.E.). The collection of the Buddhist Texts was preceded from building the Wat Sungmen for 300 years ago. In especially the period of Kruba Kancana-Araññavãsĩ (2332-2412 B.E.), he had collected the Buddhist Texts from other temples and other places such as Luangphrabang, Chiengmai, Lampun, Myanmar, Phrae etc. An identity of the process of collection of Buddhist Texts is “Taktam Festival” and locality belief for preservation the other Buddhist Texts; it is the preservation for texts, Buddhist cabinet, Texts hall, and the belief which giving Buddhist Texts is donation.

                 Then, the changing and an analysis of the knowledge on Buddhist texts in the Kuyhatthadĩpanĩmahãganṭhĩ and Mũlakammaṭṭhãnabhãvirati Scriptures were found that the monk who wrote the Kuyhatthadĩpanĩmahãganṭhĩ Scripture, he has knowledge well in Pali he could be able to write it. Although the characters and structures of language appearing are not beautiful and it is not same the Pali Literature in the goal age of Lanna literature (1985 – 2068 B.E.). However, it found that the monk who wrote it taking the knowledge from Tipiṭaka, Aṭṭhakathã, tĩkã to explain well. The 0factors of knowledge appearing in two Scriptures were found that it is knowledge correspond to the Buddhist principle as follows:

                 1) Knowledge in the Buddhist history and Buddhist Council

                 2) Knowledge factor in the important Buddhist principles such as Paṭiccasamuppãda (the Dependent Origination), Ariya-sacca (the four Noble Truths) etc.

                 3) Knowledge factor of Abhidhamma which is Paṭisandhicitta (the mind of rebirth), Cuticitta (death-consciousness), Vithĩcitta (process of cognition), and Paṭṭhãna (the book of Causal Relations)        

                 4) Knowledge factor of the important Buddhist principles such as Kusala (Wholesome), Akusala (Unwholesome), Kamma (Action), Vipãka (Result), Lokiyajhãna  (mundane-meditation), Lokuttara-jhãna (supramundane-meditation), Rũpabhava (the Form-Sphere), Arũpabhava (the Formless-Sphere)

                 5) Knowledge factor of the important Buddhist place according to the history of Buddhism such as Buddha’s place, Muccarindara pond, and tradition concerned.

                 6) Knowledge factor of Buddhist vocabularies such as Samantacakkhu and the vocabularies appearing in the Dhammacakkappavattanasutta, Anattalakkhaṇasutta which explain the hard word to easy understand.

                      7) Knowledge factor of the lowest and highest ordination, it give the detail of tradition, giving the five Kammaṭṭhãnana, using the right words, and the duty of preceptor etc.

                      8) Knowledge factor of the perfection of Lord Buddha and his noble disciples, the development of Calm and Insight Meditation etc.

                 The knowledge factors appearing in the Buddhist Texts of Wat Sungmen is the Buddhist knowledge factor namely, the knowledge factor of conception, the principle of Buddhism and knowledge factor or intelligence which mix together with the local wisdom such as the explanation knowledge mixing with the Buddhist knowledge factor and the local belief.  It referred belief of Buddhism and location that is belonging to the old-masters. These factors have appeared in the general knowledge characters such as tradition, festival and local or folk belief.

                 From study above, it found that the Buddhist Texts only Wat Sungmen, Sungmen District Phrae Province has a lot of the Buddhist knowledge factors. It also has the knowledge factor which corresponded with Theravada Buddhist principles and the knowledge factor mixing of Lanna belief. It is the source of Buddhist doctrine, belief, the way of practice, and cultural heritage which continue from the age to age. Although, the time and social circumstance had changed but the knowledge factor inscribing in the scripture could answer the story in the past and the principle should practise following the Buddhism continually.

 

Keyword: Literature, Buddhist Texts, knowledge on Buddhism

 

บทนำ

 

                 วรรณกรรมและโบราณคดี เป็นทรัพยากรวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า ในฐานะที่เป็นส่วนประกอบของระบบวัฒนธรรมในสังคมมนุษย์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญก้าวหน้าทางด้านวัตถุธรรมและนามธรรมที่บรรพบุรุษได้คิดค้นและสร้างสรรค์ขึ้นมา เป็นหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ ที่แสดงถึงเอกลักษณ์และความเป็นมาของชุมชน เป็นสิ่งที่สามารถนำมาจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตและกระบวนการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างองค์ความรู้ การประเมินคุณค่า การฟื้นฟู และการสร้างความรู้ขึ้นมาใหม่เพื่อให้เป็นทุนทางสังคม ที่ก่อให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมที่ให้คุณค่ากับการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของชุมชน ในบรรดาวรรณกรรมและโบราณคดีประเภทต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคมไทยนั้น วรรณกรรมและโบราณคดีทางพระพุทธศาสนา นับว่าเป็นทรัพยากรวัฒนธรรมอีกประเภทหนึ่งที่มีคุณค่าและความสำคัญต่อการสร้างระบบคิด ภูมิปัญญา และรากฐานทางวัฒนธรรมของไทย เพราะมีความเกี่ยวข้องกับทรัพยากรด้านวัตถุอันได้แก่ โบสถ์ เจดีย์ วิหาร คัมภีร์ใบลาน สมุดข่อย ธรรมาสน์ฯลฯ ที่สร้างขึ้นด้วยความวิจิตรงดงามและสติปัญญาอันล้ำเลิศของบุรพาจารย์ และทรัพยากรด้านนามธรรม             อันได้แก่ องค์ความรู้ ภูมิปัญญา คติธรรม ความเชื่อ ฯลฯ  ที่ล้วนมีความหมายและความสำคัญต่อ การเรียนรู้และการดำรงวิถีชีวิตในสังคม

                 สำหรับ

ประเทศไทยนั้น ดินแดนล้านนาหรือภาคเหนือตอนบนของประเทศ พบว่ามีวรรณกรรมและโบราณคดีทางพุทธศาสนาอย่างมากมาย มากกว่าที่พบในภาคอื่น ๆ ของประเทศ โดยกระจัดกระจายอยู่ตามวัดและสถานที่ต่าง ๆ ใน ๘ - ๙ จังหวัดภาคเหนือตอนบน ซึ่งจากการศึกษาสำรวจคัมภีร์และวรรณกรรมล้านนาของสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่สำรวจตั้งแต่ปี พ.. ๒๕๑๖ - ๒๕๒๖ ใน ๕๒๕ วัด ๘ จังหวัดภาคเหนือตอนบนพบว่า มีคัมภีร์วรรณกรรมล้านนาถึง ๔๑๐,๗๗๕ ผูก /ฉบับ และจากการประมาณการของนักวิชาการด้านวรรณกรรมล้านนากล่าวว่า ในล้านนามีวรรณกรรมด้านต่าง ๆ รวมกันไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านผูก/ฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวรรณกรรมทางด้านพระพุทธศาสนา นอกนั้นเป็นวรรณกรรมในด้านอื่น ๆ เช่น นิทานพื้นบ้าน กฎหมายโบราณ ยาสมุนไพร โหราศาสตร์ จริยศาสตร์ ลัทธิพิธีกรรม เป็นต้น

                 สถานที่พบคัมภีร์ธรรมและวรรณกรรมอย่างมากมายนั้น อาจกล่าวได้ว่า วัดสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เป็นวัดที่มีการเก็บรวบรวมคัมภีร์วรรณกรรมพุทธศาสนาในล้านนาที่มีความสมบูรณ์และมีมากที่สุดในแผ่นดินล้านนามีคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น ปัญญาสชาดก มังคลัตถทีปนี (ฉบับวัดสูงเม่น) คัมภีร์อัตถกถาอุปริปัณณาส วิภังคปกรณ์ ปิฎกทั้งสามฯลฯ  มีคัมภีร์รวมกันไม่น้อยกว่า ๘,๘๔๕ ผูก มีใบลานมากกว่า ๘๔,๕๐๐ ใบลาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า วัดสูงเม่น จังหวัดแพร่นั้น เป็นวัดที่มีการเก็บรวบรวมคัมภีร์ธรรม/วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาไว้เป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการศึกษาวิเคราะห์องค์ความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในคัมภีร์ธรรมทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญของวัดสูงม่นให้เป็นที่เข้าใจถึงความเป็นมาทางด้านภาษา ปรัชญา องค์ความรู้ คติธรรม และบริบทที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะวรรณกรรมภาษาบาลีในยุคสมัยที่ล้านนามีความเจริญรุ่งเรือง หลังจากการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๘ ในปี พ.ศ. ๒๐๒๐ ที่เมืองเชียงใหม่ คณะผู้ศึกษาจึงสนใจที่จะศึกษาและนำคัมภีร์ธรรม/วรรณกรรมวัดสูงเม่นมาศึกษา ปริวรรต และวิเคราะห์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนาต่อไป

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

 

                                 เพื่อศึกษาประวัติ ความเป็นมาของการเก็บรวบรวมคัมภีร์ธรรม วรรณกรรมวัดสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เพื่อศึกษาและปริวรรตคัมภีร์ธรรมทางพระพุทธศาสนาของวัดสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ และเพื่อศึกษาวิเคราะห์องค์ความรู้ทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในคัมภีร์ธรรมวัดสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่

 

ผลการวิจัย

 

                 ผลการศึกษาประวัติ ความเป็นมาของการเก็บรวบรวมคัมภีร์ธรรมวัดสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ พบว่า วัดสูงเม่นเป็นวัดที่มีการเก็บรวบรวมคัมภีร์ธรรมใบลานภาษาล้านนามากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งสามารถนำมาจำแนกคัมภีร์เป็นประเภทต่าง ๆ ได้ ๑๘ หมวด  เช่น หมวดพระวินัย หมวดภาษาบาลี หมวดประเพณีพิธีกรรม หมวดตำราสุมนไพร เป็นต้น คัมภีร์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในวัดสูงเม่นเท่าที่จะตรวจสอบได้ คือ คัมภีร์อัตถกถาอุปริปัณณาส  ซึ่งรจนาขึ้นในปีจุลศักราช ๙๑๒ หรือ ปี พ.ศ. ๒๐๙๓ หรือเมื่อประมาณ ๔๕๘ ปีที่ผ่านมา  โดยการเก็บรวบรวมคัมภีร์ธรรมดังกล่าวมีสืบเนื่องมาตั้งแต่มีการสร้างวัดสูงเม่นเมื่อเกือบ ๓๐๐ ปีที่ผ่านมา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยครูบากัญจนอรัญญวาสี (พ.ศ.๒๓๓๒ - ๒๔๑๒) ที่ท่านได้เก็บรวบรวมคัมภีร์ธรรมจากวัดและสถานที่ต่าง ๆ ทั้งที่หลวงพระบาง เชียงใหม่ ลำพูน พม่า แพร่ เป็นต้น โดยมีกระบวนการในการเก็บรวมรวมคัมภีร์ที่เป็นเอกลักษณ์ คือ การใช้ประเพณีตากธรรม ในการรักษาคัมภีร์ต่าง ๆ เอาไว้ ซึ่งสอดคล้องกับวิธีการเก็บรวบรวมคัมภีร์ชาวล้านนาและวัดสูงเม่น ดังนี้

                 ๑) ระดับคัมภีร์ เมื่อพระเถระ นักปราชญ์ได้เขียนธรรม วรรณกรรม หรือเรื่องราวต่าง ๆ ลงในสมุดข่อย ใบลานแล้ว ท่านเหล่านั้นจะใช้เชือกผูกร้อยใบลานเข้าด้วยกันเป็นแต่ละผูก/ฉบับ ตามเนื้อเรื่อง จากนั้นก็มัดด้วยด้ายที่มีสีแดง บางครั้งก็ลงรักปิดทองทับตัวอักษรที่เขียนด้วยเหล็กแหลม นำไม้ที่มีลวดลายสวยงามและขัดแล้วอย่างดีมาประกบหน้า-หลัง แล้วใช้ผ้าห่อคลุมทับ มัดคัมภีร์แต่ละผูก/ฉบับรวมกันเป็นชุดคัมภีร์ บางแห่งทำไม้เล็ก ๆ หรือที่เรียกว่าไม้ปั่นจั๊กหรือ ไม้บัญชัก เพื่อบอกว่า คัมภีร์เรื่องนั้น ว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร มีธรรมกี่ผูก ใครเป็นผู้แต่ง แต่งขึ้นเมื่อไร และใครให้ความอุปถัมภ์ เป็นต้น นับได้ว่า เป็นการจัดระบบข้อมูลอ้างอิงที่ดี ที่แสดงถึงภูมิปัญญาในการรักษาคัมภีร์ของชาวล้านนาได้เป็นอย่างดี 

                 ๒) ระดับตู้พระธรรม เมื่อมีการจารคัมภีร์ ห่อคัมภีร์ต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว พระเถระ นักปราชญ์เหล่านั้น ถือว่า ผลงานที่ท่านได้แต่งขึ้นมีคุณค่าต่อพระพุทธศาสนา สมควรที่จะเก็บรักษาไว้อย่างดี จึงมีการจัดเก็บไว้ในตู้ที่มิดชิดสามารถป้องกันแมลง หนู หรือสภาพภูมิอากาศที่แปรเปลี่ยนได้ ซึ่งเป็นที่มาของการสร้างตู้พระธรรมถวายวัด โดยมีลวดลายที่สวยงามแสดงถึงภูมิปัญญาและศิลปะของชาวล้านนา โดยที่วัดสูงเม่น มีตู้คัมภีร์ธรรมมากกว่า ๑๐ ตู้ และบรรจุคัมภีร์ธรรมมากกว่า ๓๐,๐๐๐ ผูก

                 ๓) ระดับหอพระไตรปิฎก หรือ หอไตร เมื่อมีตู้พระธรรมหลาย ๆ ตู้ พระเถระ นักปราชญ์จึงได้สร้างหอไตรขึ้น เพื่อเป็นที่รวบรวมคัมภีร์ต่าง ๆ ไว้ในที่เดียวกัน และเพื่อประโยชน์ในการค้นคว้าหาความรู้ของอนุชนรุ่นหลัง หอไตรที่มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ของล้านนา เช่น หอไตรวัดพระสิงห์ หอไตรวัดเจดีย์หลวง หอไตรวัดดวงดี จังหวัดเชียงใหม่ และหอไตรวัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน เป็นต้นนั้น ได้สะท้อนถึงวิธีการเก็บรักษาคัมภีร์ของชาวล้านนาได้เป็นอย่างดี ส่วนที่วัดสูงเม่น นั้น ได้มีการสร้างหอไตร โดยมีน้ำล้อมรอบ เพื่อป้องกันปลวก แมลง ที่จะเข้ามากัดทำลายคัมภีร์ที่มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์และความรู้ในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาในการเก็บรักษาคัมภีร์ธรรมเป็นอย่างดี

     ๔) ระดับประเพณีความเชื่อ เพื่อให้วิธีการเก็บรักษาและสืบต่อวรรณกรรม/คัมภีร์ให้ยืนยาว วัดสูงเม่น จังหวัด ได้มีประเพณีการรักษาคัมภีร์ธรรม ที่เรียกว่า  ประเพณีตากธรรม  ซึ่งเป็นกระบวนการรักษาคัมภีร์ผ่านพิธีกรรม ความเชื่อ โดยการนำคัมภีร์ใบลาน ปั๊ปสา  ที่อยู่ในหอไตรหรือในที่ต่าง ๆ ออกมาตากแดด ควบคุมความชื้น เก็บรักษาโดยการห่อผ้า และการเขียนคัมภีร์ชุดใหม่ขึ้นมา โดยประเพณีตากธรรม นั้นมีความเกี่ยวข้องกับการสร้างความรู้ใหม่และการสืบทอดคัมภีร์โบราณ กล่าวคือ ก่อนที่จะมีประเพณีตากธรรมในเดือนสี่เป็ง (วันเพ็ญเดือน ๒) ของทุกปี พระสงฆ์และชาวบ้านจะใช้ความรู้ทางด้านพุทธศาสนาและความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ ที่ตนมีอยู่มาเขียน/บันทึกเรื่องราวของชุมชน ก่อนที่จะนำมาเทศน์และร่วมแห่ฉลองในพิธีตากธรรมดังกล่าว หลังจากนั้นก็ถวายคัมภีร์ธรรมเหล่านั้นให้กับวัด จนกลายเป็น ประเพณีตานธรรม  นอกจากนี้ ก็เป็นการสำรวจคัมภีร์ธรรมที่วัดต่าง ๆ ได้ยืมไปเทศน์ให้ประชาชนได้ฟังในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาว่า ได้ส่งคืนวัดที่มีคัมภีร์มาครบหรือไม่ คัมภีร์ไหนชำรุดหรือไม่อย่างไร  ส่วนประเพณีตานธรรมหรือถวายธรรมนั้น ยังคงมีอยู่และจัดว่าเป็นประเพณีที่ชาวพุทธล้านนาจะต้องประพฤติปฏิบัติและรักษาสืบเนื่องกันมา โดยเฉพาะการถวายธรรมเพื่อเป็นการอุทิศให้กับผู้ที่ล่วงลับในวันเพ็ญเดือน ๑๒ ชาวพุทธล้านนาและวัดสูงเม่นนิยมนำคัมภีร์ธรรมมาถวายวัด ซึ่งแสดงถึงคติธรรม ความเชื่อ และความเป็นชุมชนแห่งชาวพุทธที่มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

                 ผลการศึกษา ปริวรรตคัมภีร์ธรรม และการศึกษาวิเคราะห์องค์ความรู้ที่ปรากฏในคัมภีร์ธรรมวัดสูงเม่น จำนวน ๒ เรื่อง คือ คัมภีร์คุยหัตถทีปนีมหาคัณฐี และมูลกัมมัฏฐานภวิรติ พบว่า วัดสูงเม่นนั้นมีคัมภีร์ธรรมที่จารึกด้วยภาษาบาลีและภาษาล้านนาที่ให้ความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนาอย่างมากมาย แต่เมื่อได้ปริวรรตคัมภีร์ทั้ง ๒ เรื่องออกมาแล้วก็พบว่า  มีองค์ความรู้ที่สามารถสรุปได้ ๒ ประการ คือ

                       ๑) องค์ความรู้ด้านภาษาและวรรณกรรม จากการศึกษาพบว่า องค์ความรู้ด้านภาษานี้ พระอาจารย์ผู้รจนาคัมภีร์คุยหัตถทีปนีมหาคัณฐี มีความรู้ได้ภาษาบาลีในระดับดี จึงสามารถรจนาคัมภีร์ดังกล่าวได้ ถึงแม้ว่าลักษณะและโครงสร้างของภาษาที่ปรากฏนั้นจะไม่มีความสละสลวยหรือมีแบบแผนการแต่งเท่ากับวรรณกรรมภาษาบาลีในยุคทองของวรรณกรรมล้านนา (พ.ศ.๑๙๘๕-๒๐๖๘) ซึ่งเป็นสมัยการสังคายนาครั้งที่ ๘ ในสมัยพระเจ้าติโลกราช พระเจ้ายอดเชียงราย และพระเมืองแก้วแห่งราชวงศ์มังราย ที่ก่อให้เกิดวรรณกรรมพระพุทธศาสนาอย่างมากมายซึ่งวรรณกรรมในยุคนั้นมีความสมบูรณ์ทั้งทางด้านภาษาบาลีและอรรถรสในสาระสำคัญถือว่าเป็นวรรณกรรมชั้นครู อย่างเช่น มังคลัตถทีปนี  จักวาฬทีปนี เวสสันตรทีปนี สังขยาปกาสฎีกา ที่รจนาโดย พระสิริมังคลาจารย์  สิหิงคนิทาน จามเทวีวงศ์ ของท่านพระโพธิรังสี ชินกาลมาลีปกรณ์  วชิรสารัตถสังคหะ ของพระรัตนปัญญาเถระ ปฐมสมโพธิกถา ของพระสุวัณณรังสีเถระ  ซึ่งได้เป็นแบบอย่างของการรจนาวรรณกรรมพุทธศาสนาล้านนาในยุคต่อมา ซึ่งมีมากมายนับหลายร้อยหรือนับพันเรื่อง (รวมถึงคัมภีร์ทั้ง ๒ เรื่อง) และแต่ละเรื่องล้วนมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรมที่ทำให้ทราบถึงประวัติและความเป็นมาของล้านนาและพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี โดยภาษาบาลีที่รจนาในคัมภีร์คุยหัตถทีปนีมหาคัณฐีนั้นเป็นลักษณะของการนำความรู้จากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และเอกสารอื่น เช่น สมันตปาสาทิกา มาประกอบแล้วรจนาขึ้นและอธิบายด้วยความรู้ของผู้เขียน ดังนั้น ภาษาที่ปรากฏจึงมีความสละสลวยแบบภาษาบาลีดั่งเดิมส่วนหนึ่งและเป็นภาษาที่ผู้รจนาแต่งขึ้นส่วนหนึ่งผสมผสานกันไป  อย่างไรก็ดี ลักษณะของภาษาบาลีที่เขียนด้วยภาษาล้านนานั้น มีความแตกต่างจากการเขียนด้วยอักษรไทย ดังนั้น การปริวรรตและการแปลสรุปความจึงมีความแตกต่าง ทำให้บางช่วงของคัมภีร์มีเนื้อหาที่ขาดความต่อเนื่อง แต่โดยสรุปคัมภีร์คุยหัตถทีปนีมหาคัณฐีได้ให้ความรู้เรื่องภาษาและลักษณะการแต่งคัมภีร์ในสมัยล้านนา ถึงแม้คัมภีร์ฉบับนี้จะระบุว่าจารสืบต่อเมืองหลวงพระบางประเทศลาว แต่ในสมัยนั้นดินแดนทั้งสองประเทศก็ไม่มีความแตกต่างยังคงมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมร่วมกัน

                 ส่วนคัมภีร์เรื่องมูลกัมมัฏฐานภวิรติที่มีอายุถึง ๒๗๔ นั้น เป็นการแต่งแบบ นิสสัย หรือ การแปลยกศัพท์ คือ การแต่งแบบยกศัพท์ภาษาบาลีมาตั้งคำหนึ่งแล้วแปลเป็นภาษาล้านนาสลับกันไปจนจบใจความ ดังนั้น องค์ความรู้ด้านภาษาบาลีจึงน้อยกว่าคัมภีร์คุยหัตถทีปนีมหาคัณฐี โดยภาษาและสำนวนที่ใช้เป็นแบบสำนวนของชาวล้านนาที่อธิบายเนื้อหาทางพระพุทธศาสนา การปฏิบัติกัมมัฏฐานด้วยความรู้ ความเชื่อและการปฏิบัติของผู้แต่งที่ต้องการที่อธิบายในเรื่องนั้น โดยนำความรู้มาจากพระไตรปิฎก อรรถกถาและเอกสารอื่น ๆ มาอธิบายซึ่งสะท้อนให้เห็นองค์ความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนาของผู้เขียนเป็นอย่างดี ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า คัมภีร์ทั้งสอง เป็นคัมภีร์ที่สืบต่อเนื่องมาจากความเจริญของอาณาจักรล้านนาและพระพุทธศาสนาที่เข้ามาในอาณาจักรล้านนาจนได้มีการทำสังคายนาครั้งที่ ๘ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักให้พระสงฆ์ในล้านนาและดินแดนใกล้เคียงมีความตื่นตัว มีการเรียนรู้พระไตรปิฎกและภาษาบาลีจนมีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะนับตั้งแต่ในสมัยพระเจ้าติโลกราช พระเจ้ายอดเชียงราย จนถึงสมัยพระเมืองแก้ว รวมเวลา ๘๓ ปี ที่ถือว่า เป็นยุคทองของวรรณกรรมล้านนา

                 ส่วนลักษณะการแต่งของคัมภีร์ทั้งสองนั้น มีลักษณะการแต่งที่เหมือนกับลักษณะการแต่งคัมภีร์หรือวรรณกรรมพระพุทธศาสนาในล้านนาทั่วไป คือ เริ่มต้นที่บทไหว้ครู บูชาพระรัตนตรัย บทนำเพื่อนำผู้อ่านเข้าสู่เนื้อสาระ โดยอาจมีบทชมความรุ่งเรืองของบ้านเมือง และพระพุทธศาสนา บทสาระสำคัญหรือหลักธรรมและเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอ และบทอวสานที่แสดงถึงแรงบันดาลใจของผู้แต่งที่แสดงความปรารถนาเพื่อความสงบสุขของบ้านเมืองและความประสงค์ที่จะสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ถึง ๕,๐๐๐ วัสสา รวมระบุระยะเวลาในการแต่งวรรณกรรม โดยมีการแต่งใน ๒ ลักษณะของชาวล้านนา คือ ๑) แต่งด้วยภาษาบาลีล้วน  เช่น มังคลัตถทีปนี ชินกาลมาลีปกรณ์ รวมทั้งคัมภีร์คุยหัตถทีปนี และ ๒) แต่งแบบ นิสสัย หรือ การแปลยกศัพท์ คือ การแต่งแบบยกศัพท์ภาษาบาลีมาตั้งคำหนึ่งแล้วแปลเป็นภาษาล้านนาสลับกันไปจนจบใจความ ดังเช่น มูลกัมมัฏฐานภวิรติ และ ปัญญาสชาดกฉบับวัดสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เป็นต้น

                       ๒) องค์ความรู้ด้านพระพุทธศาสนา จากเนื้อหาสาระที่ปรากฏในคัมภีร์คุยหัตถทีปนีมหาคัณฐีและคัมภีร์มูลกัมมัฏฐานภวิรติดังกล่าว จะเห็นได้ว่า พระอาจารย์ผู้รจนาคัมภีร์ทั้งสองมีความรู้ในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี โดยเนื้อหาที่ปรากฏในคัมภีร์คุยหัตถทีปนีนั้นประกอบด้วยความรู้ทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญได้แก่

                         (๑) ความรู้ด้านพุทธประวัติและการสังคายนา โดยพระอาจารย์ผู้รจนาคุยหัตถทีปนีมหาคัณฐี ได้กล่าวถึงการทำปฐมสังคายนาที่มีพระมหากัสสปเถระเป็นประธานและพระเถระที่เกี่ยวข้องกับการสังคายนาอย่างถูกต้องตามเนื้อหาที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรกถา พร้อมทั้งสามารถอธิบายเนื้อหาเหล่านั้นได้อย่างชัดเจนตั้งแต่การสังคายนาครั้งที่ ๑ ถึงครั้งที่ ๓ จนถึงการที่พระเจ้าอโศกมหาราชส่งสมณทูตออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนต่าง ๆ

                     (๒) องค์ความรู้ด้านหลักธรรมที่สำคัญ เช่น ปฏิจจสมุปบาท  อิทัปปัจจยตา อริยสัจ ๔  เป็นต้น โดยพระอาจารย์ผู้รจนาคัมภีร์ได้อธิบายเนื้อหาของปฏิจจสมุปบาทได้เป็นอย่างดี สามารถยกศัพท์ที่สำคัญแต่ละศัพท์ เช่น อวิชชา ผัสสะ ชรา มรณะ เป็นต้น มาอธิบายให้เกิดความชัดเจน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้รจนามีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถสืบค้นหาความรู้จากพระไตรปิฎก อรรถกถา และฎีกาแล้วนำมาอธิบายได้เป็นอย่างดี รวมทั้งเพิ่มเติมความคิดเห็นของตนเองในการอธิบายปฏิจจสมุปบาทในลักษณะของวงจรการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป การอาศัยปัจจัยที่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องถึงกันและอาศัยกันเกิดขึ้น

                     (๓) องค์ความรู้ด้านอภิธรรมว่าด้วยปฏิสนธิจิต จุติจิต วิถีจิต ปัฏฐาน เป็นต้น นอกจากความรู้ในพระสูตรแล้ว พระอาจารย์ผู้รจนาคัมภีร์ยังมีความรู้ได้ด้านพระอภิธรรมโดยสามารถอธิบายความรู้ด้านจิต เจตสิกต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี สามารถอธิบายเกี่ยวกับการเกิดของมนุษย์ในปฏิสนธิจิต จุติจิต วิถีความเป็นไปของจิต และปัฏฐานอันเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการสืบต่อของวาระจิต นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการอธิบายหลักการทางพระพุทธศาสนาที่สืบต่อกันมาในแต่ละยุคสมัย

                     (๔) องค์ความรู้ด้านหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา เช่น กุศล อกุศล กรรม วิบาก โลกิยฌาน โลกุตตรฌาน รูปภพ อรูปภพ ธาตุ ๔  ขันธ์ ๕ ไตรลักษณ์ อริสัจ ๔  อายตนะภายใน ภายนอก เป็นต้น โดยสามารถนำมาหลักการเหล่านั้นมาอธิบายต่อเนื่องกันเป็นอย่างดี สะท้อนให้ภูมิความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนาและความสามารถแต่งวรรณกรรมภาษาบาลีได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการอธิบายในหลักของขันธ์ ๕ และไตรลักษณ์นั้นถือว่าเป็นจุดเด่นของคัมภีร์คุยหัตถทีปนีมหาคัณฐี ที่มีการเชื่อมโยงความรู้และวิธีการปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาเข้าด้วย

                        (๕) องค์ความรู้ด้านสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาตามพุทธประวัติ เช่น สถานที่พระพุทธเจ้าประทับหลังจากตรัสรู้ การประทับอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ เช่น สระมุจลินทร์ เป็นต้น และการอธิบายเกี่ยวกับพระดำริในการแสดงธรรมของพระพุทธองค์ การพิจารณาโยนิโสมนสิการ และกระบวนการพิจารณาเวเนยยสัตว์ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความรู้และการแสดงพระธรรมเทศนา 

                        (๖) องค์ความรู้ด้านพระสูตรและคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนาเช่น สมันตจักษุ และศัพท์ที่ปรากฏในธัมมจักกัปปวัตนสูตร อนัตตลักขณสูตร โดยเป็นการอธิบายศัพท์ยากในพระสูตรเหล่านั้น ให้เข้าใจโดยง่ายและเชื่อมโยงเนื้อหาในพระสูตรเข้ากับหลักการที่สำคัญ เช่น หลักอริยสัจ ๔ และกิจในอริยสัจ ๔ เป็นต้น เพื่อให้เห็นแนวทางการปฏิบัติตามธัมมจักกัปปวัตนสูตรและอนัตตลักขณสูตร 

                        (๗) องค์ความรู้ด้านการบรรพชา-อุปสมบท ในตอนท้ายของคัมภีร์พระอาจารย์ผู้รจนายังได้ให้ความรู้และรายละเอียดเกี่ยวกับการบรรพชา- อุปสมบท และเรื่องพิธีกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การให้ปัญจกกัมมัฏฐาน การนุ่งห่มเป็นปริมณฑล การใช้อักขระ ถ้อยคำที่ถูกต้องในการบรรพชา-อุปสมบท และหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์ที่ควรแนะนำศิษย์ เป็นต้น

                        (๘) องค์ความรู้ที่ปรากฏในคัมภีร์มูลกัมมัฏฐานภวิรตินั้น พระอาจารย์ผู้รจนาได้นำหลักการทางพระพุทธศาสนาด้านความทุกข์ในวัฏสงสาร การปฏิบัติเพื่อเจริญจิตภาวนา และนำความรู้และวิธีการปฏิบัติกัมมัฏฐานของตนเองมาอธิบาย โดยยกให้เห็นการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้าและเหล่าพระอริยสาวก การเจริญสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน โดยมีองค์ความรู้ทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญ เช่น การบำเพ็ญบารมีตามหลักพระพุทธศาสนา โทษของการอยู่ในโลกิยวิสัย ทุกข์ของมนุษย์ กฎของไตรลักษณ์ ขันธ์ ๕ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามหลักปฏิจจสมุปบาทและการเจริญจิตภาวนา ซึ่งเป็นการอธิบายความรู้ทั้งสองอย่างแบบกลมกลืน คือ การเน้นการเจริญจิตภาวนาที่สอดคล้องกับการพิจารณาการหมุนรอบของหลักปฏิจจสมุปบาทและการยกไตรลักษณ์มาอธิบายเพิ่มเติม เพื่อให้จิตของผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐานได้ยกจิตของตนเข้าสู่วิปัสสนาและไตรลักษณ์ เป็นต้น

 

 

ข้อเสนอแนะ

 

                      ๑. จากการศึกษาพบว่า วัดสูงเม่นมีกระบวนการจัดเก็บรักษา การรวบรวมคัมภีร์ธรรมหรือวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญอย่างมากมาย โดยใช้กระบวนการเชิงพิธีกรรมที่ทำให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการรักษา ดังนั้น คณะสงฆ์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสมควรสนับสนุนการใช้ความเชื่อ พิธีกรรม และควรการกำหนดให้วัดต่าง ๆ ช่วยกันอนุรักษ์รักษาคัมภีร์ให้คงสภาพเดิมไว้

                 ๒. ควรส่งเสริมให้วัด หรือสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยสงฆ์ ดำเนินการสำรวจคัมภีร์ธรรมตามวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อขึ้นทะเบียนรายชื่อคัมภีร์เอาไว้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการสูญหายและจะได้ทราบถึงคัมภีร์ที่สำคัญของวัดต่าง ๆ ในประเทศไทย

                 ๓. ควรมีการปริวรรตและวิเคราะห์องค์ความรู้ของคัมภีร์ที่มีความสำคัญอย่างเช่น คัมภีร์คุยหัตถทีปนีมหาคัณฐี เป็นต้น เพื่อให้ได้ความรู้ทางพระพุทธศาสนา ภูมิปัญญาและประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น

                 ๔. ควรมีการ ส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษาและประชาชนได้เรียนรู้ภาษาถิ่นและวรรณคดีท้องถิ่นต่าง ๆ  เพื่อที่จะได้นำความรู้ไปศึกษาค้นคว้าวรรณกรรมในท้องถิ่นของตน และนำมาแปลหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชน เพื่อที่จะประยุกต์ใช้กิจกรรมในสังคม

                 ๕. ควรจัดทำโครงการศึกษา ปริวรรต และการวิเคราะห์ เปรียบเทียบ เพื่อนำความรู้จากวรรณกรรมพระพุทธศาสนาออกไปปรับใช้ในศาสตร์ต่าง ๆ เช่น ปรัชญา กฎหมาย จริยศาสตร์ จิตวิทยา  จักรวาลวิทยา และภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ

                 ๖. คณะสงฆ์และองค์กรในท้องถิ่นควรร่วมมือในการอนุรักษ์ และให้ความสำคัญต่อคัมภีร์โบราณในท้องถิ่นของตน เพื่อที่จะนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในกิจกรรม ประเพณีของท้องถิ่น

                 . ควรนำวรรณกรรมที่มีความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรมมาเป็นหนังสือเรียน หรือหลักสูตรในสถาบันการศึกษา ทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติ

 

เอกสารอ้างอิง

 

เดือน  คำดี.  ศาสนศาสตร์.  กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ๒๕๔๑.

พระครูกัญจนอรัญญวาสี.  มูลกัมมัฏฐานรอม ฉบับวัดสูงเม่น.  แพร่: จัดพิมพ์โดยคณะลูกหลานของคุณแม่น้อย เลขะวัฒนาภรณ์, ๒๕๔๗.

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต).  พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์.  พิมพ์ครั้งที่ ๑๐, กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๖.

พระรัตนปัญญาเถระ.  ชินกาลมาลีปกรณ์.  แปลโดย ร...แสง มนวิทูร กรุงเทพมหานคร:

                โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐.

พระสิริมังคลาจารย์ รจนา.  มังคลัตทีปนีทีปนี แปลภาค ๑-๒.  กรุงเทพมหานคร: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๑๘.

พระมหาเถระกัญจนอรัญญวาสี.  คุยหัตถทีปนีมหาคัณฐี.  แพร่: คัมภีร์ธรรมวัดสูงเม่น, ๒๓๗๙.

พระชมพูเถระ.  มูลกัมมัฏฐานภวิรติ.  คัมภีร์ธรรมวัดสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่: ๒๒๘๐.

พรรณเพ็ญ  เครือไทย, บรรณาธิการ.  วรรณกรรมพุทธศาสนาในล้านนา.  เชียงใหม่:

                สุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์, ๒๕๔๐.

เพนธ์  ฮันส์.  ประวัติความเป็นมาของล้านนาไทย.  พิมพ์ครั้งที่ ๒, เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม

                มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๓๒.

มณี  พยอมยงค์.  ประวัติวรรณคดีลานนาไทย.  เชียงใหม่: บริษัทคนเมืองการพิมพ์, ๒๕๓๔.

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่.  ชีวิตและผลงานของพระสิริมังคลาจารย์.  เชียงใหม่: ดาวคอมพิวกราฟิก, ๒๕๔๒.

ยุพิน  เข็มมุกด์.  พระพุทธศาสนาในล้านนาไทยสมัยราชวงศ์มังราย พ.. ๑๘๓๙ - ๒๑๐๑.     กรุงเทพมหานคร: สภาวิจัยแห่งชาติ, ๒๕๒๗.

ลมูล จันทร์หอม.  วรรณกรรมท้องถิ่นล้านนา.  เชียงใหม่: ... สำนักพิมพ์ตรัสวิน, ๒๕๓๘.

วัดสูงเม่น.  ประวัติวัดสูงเม่นและครูบากัญจนอรัญญวาสี.  แพร่: คณะกรรมการวัดสูงเม่น, ๒๕๓๙.

สงวน  โชติสุขรัตน์.  ประเพณีไทยภาคเหนือ.  พระนคร: สำนักพิมพ์โอเดี่ยนสโตร์, ๒๕๑๒.

สมหมาย เปรมจิตต์ และคณะ.  โครงการอนุรักษ์พระคัมภีร์ล้านนา: ปริวรรตและวิเคราะห์เนื้อหา.  เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา, โรงพิมพ์มิ่งเมือง, ๒๕๔๔.

                ,  โครงการปริวรรตพระคัมภีร์ล้านนา: ปริวรรตและแปลพร้อมกับความนำ. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา, ๒๕๔๖.

สรัสวดี  อ๋องสกุล.  ประวัติศาสตร์ล้านนา.  เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๒๙.

สำนักนายกรัฐมนตรี.  ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่.  พระนคร: โรงพิมพ์สำนักนายกรัฐมนตรี, ๒๕๑๔.

สุรพล  ดำริห์กุล.  แผ่นดินล้านนา.  กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, ๒๕๔๕.

เอกวิทย์  ณ ถลาง และคณะ.  ภูมิปัญญาล้านนา.  กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิภูมิปัญญา, ๒๕๔๔.

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕