หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส รศ.,ดร. ๒ » พระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่: ตัวแบบวิธีวิทยาว่าด้วยพุทธบูรณาการและพุทธสหวิทยาการ
 
เข้าชม : ๔๖๕๓๔ ครั้ง

'' พระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่: ตัวแบบวิธีวิทยาว่าด้วยพุทธบูรณาการและพุทธสหวิทยาการ''
 
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร. (2557)

 

 

 

ความนำ

 

         พระธรรมโกศาจารย์[๑] (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า “ประเด็นที่การศึกษาด้านพระพุทธศาสนาขยายตัวออกไปในหลายประเทศ  จึงให้ชาวพุทธทั่วโลกได้หันมาสนใจและศึกษาพระพุทธศาสนา จึงเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะได้มองไปข้างหน้าว่า เราจะก้าวต่อไปในทิศทางไหน และจะกำหนดแนวทางการศึกษาพระพุทธศาสนาให้เป็นไปอย่างไร จึงจะสมสมัย และสอดรับกับความต้องการของกลุ่มคนเหล่านั้น”[๒]  

         ในขณะเดียวกัน ตัวแปรภายในที่มุ่งเน้นให้มหาวิทยาลัยได้ตระหนักรู้ถึงอัตลักษณ์ (Identity) ตัวเองว่า “เมื่อประมวลจากจากพระราชปณิธานของสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ ๕ ผู้ทรงสถาปนาให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง ซึ่งพระไตรปิฎกหมายถึงพระพุทธศาสนา และวิชาชั้นสูง หมายถึงศาสตร์สมัยใหม่ที่ศึกษากันในระดับอุดมศึกษา จึงทำให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้จัดสถานะของตัวเองให้เป็นแหล่งเรียนรู้พระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่ภายใต้วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยว่า จัดการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ พัฒนาจิตใจและสังคม”[๓]

          ตัวแปรทั้งภายใน และภายนอกดังกล่าว  จึงทำให้มหาวิทยาลัยได้กำหนดจุดยืน (Positioning) ของตัวเองโดยการจัดให้มีการศึกษาในระดับปริญญาโทในรายวิชา “พระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่” และการศึกษาระดับปริญญาเอกในวิชา “พระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่” ทั้งสองวิชาได้กำหนดให้ใช้ภาษาอังกฤษว่า “Buddhism and Modern Sciences”  ซึ่งทั้งสองวิชานั้นได้กำหนดขอบขอบเขตการศึกษาเอาไว้ในลักษณะที่คล้ายคลึงกันว่า “ศึกษาและสัมมนาในประเด็นพระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่ โดยศึกษาแบบบูรณาการ หรือแบบสหวิทยาการ ให้ครอบคลุมทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษย์ศาสตร์ โดยให้ผู้เรียนรู้ได้ประยุกต์วิทยาการสมัยใหม่มาอธิบายคำสอนทางพระพุทธศาสนา หรือนำหลักการทางพระพุทธศาสนาไปประยุกต์และตอบปัญหาทางวิทยาการ และสังคมสมัยใหม่”[๔]

         คำถามมีว่า จากนโนบายในการจัดการศึกษาจนนำไปสู่การศึกษาและพัฒนารายวิชาเพื่อบังคับให้มีการศึกษาและเรียนรู้ให้สอดรับกับวิสัยทัศน์ขอมหาวิทยาลัยนั้น  คณาจารย์และนิสิตควรจะมีท่าทีต่อการศึกษาและพัฒนาโดยใช้วิชาดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการสร้างองค์ความรู้อย่างไร?  เพราะจากประสบการณ์ในการบรรยายวิชานี้ทั้งระดับปริญญาโท และปริญญาเอกมากว่า ๑๐ ปี  คณาจารย์และนิสิตจำนวนมาก  ขาดความเข้าใจต่อแนวทางในการศึกษา และวิจัยประเด็นพระพุทธศาสนากับวิทยาการหรือศาสตร์สมัยใหม่ ทั้งในแง่ของการเรียนรู้ในรายวิชา และการทำวิทยานิพนธ์เพื่อจบการศึกษา ฉะนั้น บทความเรื่องนี้ จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะสร้างตัวแบบที่ว่าด้วยการศึกษา และวิจัยภายใต้กรอบของคำว่า “พุทธบูรณาการ” และ “พุทธสหวิทยาการ”   ซึ่งการสร้างตัวแบบพุทธบูรณาการนั้น ผู้เขียนจะถอดบทเรียนจากหนังสือเรื่อง “วิธีบูรณาการพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่” ของพระพรหมบัณฑิต, ศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  ในขณะที่ตัวแบบพุทธสหวิทยาการนั้น ผู้เขียนได้สร้างขึ้นมาจากการถอดองค์ความรู้ที่ได้ศึกษาจากวิทยาการหรือศาสตร์ต่างๆ

 

ความหมายและขอบเขตของวิทยาการสมัยใหม่

         วิทยาการ (Sciences)  หมายถึง ความรู้แขนงต่างๆ เช่น ปัจจุบันวิทยาการต่างๆ ก้าวหน้าไปมาก, บางทีใช้ว่า ศิลปวิทยาการ[๕]  ซึ่งคำนี้มีนัยที่สอดรับกับคำว่า “ศาสตร์” ที่หมายถึง ความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริง และกฎที่จัดไว้อย่างเป็นระบบ  ซึ่งหมายถึง ระบบวิชาความรู้, มักใช้ประกอบหลังคำอื่น เช่น วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์[๖] พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ได้อธิบายความหมายเอาไว้ค่อนข้างจะรับกันในบางประเด็นว่า “ศาสตร์ หมายถึง “ระบบการแสวงหาความรู้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และระบบวิชาความรู้ที่ได้จากวิธีการเช่นนั้น (A system of acquiring knowledge based on scientific method) นั่นคือ ศาสตร์จะต้องมีวิธีการแสวงหาความรู้ ซึ่งใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ และได้องค์ความรู้มาจากวิธีการนั้น[๗]

       ถึงกระนั้น นักวิชาการต่างประเทศบางท่านให้ความหมายว่า “ศาสตร์ (Science) หมายถึงความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริง และกฎที่จัดไว้อย่างเป็นระบบ หรืออีกนัยหนึ่งหมายถึงสาขาวิชา หรือสาขาความรู้ต่างๆ หรือเป็นกระบวนการที่เป็นกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้ได้มาซึ่งความรู้” ศาสตร์ หรือสาขาวิชาความรู้ต่างๆ นั้น อาจแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ คือ ศาสตร์บริสุทธิ์ (Pure Science)  ที่มุ่งศึกษาปรากฏการณ์ ในธรรมชาติเพื่อให้เกิดความรู้ และศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) ที่ศึกษาปรากฏการณ์ในธรรมชาติเช่นเดียวกัน แต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำความรู้ที่ได้รับมาตอบสนองความต้องการและประโยชน์ของมนุษย์เป็นสำคัญ

         จากคำจำกัดความดังกล่าวข้างต้น  วิทยาการ หรือ “ศาสตร์” (Science) มีความหมายโดยแบ่งออกเป็น ๓ ลักษณะใหญ่ คือ  (๑) หมายถึงข้อเท็จจริง หรือกฎที่จัดไว้อย่างเป็นระบบ (๒) หมายถึง สาขาวิชา หรือสาขาความรู้ต่างๆ เช่น เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา เกษตรศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ (๓) หมายถึง กระบวนการ และกิจกรรมที่ทำให้ได้ความรู้ที่สามารถทดสอบได้[๘]   และเมื่อกล่าวถึงศาสตร์ต่างๆ ในความหมายที่ ๒ นั้น มีนัยที่สอดรับกับศาสตร์ต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าได้เคยศึกษาเมื่อครั้งที่พระองค์เป็นดำรงสถานะเป็นสิทธัตถะกุมาร กล่าวคือ ไตรเพทศาสตร์ สรีรศาสตร์ สังขยาศาสตร์ (คณิตศาสตร์) สมาธิศาสตร์ นิสิตศาสตร์ วิเสสิกศาสตร์ (วิชาจัดการ) โชติยศาสตร์ (ทำนายเหตุการณ์ทั่วไป) คันธัพพศาสตร์ (ฟ้อนรำและดนตรี) ติกิจฉศาสตร์ (แพทย์ศาสตร์)      ปุรณศาสตร์ (โบราณคดี) ศาสนศาสตร์ โหราศาสตร์ มายาศาสตร์ เหตุศาสตร์ วันตุศาสตร์ (วิชาคิด) ยุทธศาสตร์ (วิชารบ) ฉันทศาสตร์ และลักษณะศาสตร์ (วิชาดูลักษณะคน)

         กรอบในการศึกษาครั้งนี้  ผู้เขียนมุ่งเน้นไปที่แง่มุมของคำว่าวิทยาการ หรือศาสตร์ที่สอดรับกับของราชบัณฑิตยสถาน และทอมดิเก และแบรดฮาร์ทที่มุ่งเน้นสาขาวิชา และตัวความรู้ วิทยาการ หรือศาสตร์สมัยใหม่ (Modern Sciences)  เช่น สังคมศาสตร์ (Social Science) รัฐศาสตร์ (Political Science) เศรษฐศาสตร์ (Economical Science) ซึ่งสาขาต่างๆ เหล่านั้น จะอยู่ภายใต้ศาสตร์หลักทั้ง ๓ มิติ คือ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ 

 

คุณค่าและความสัมพันธ์ของพระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่

         เมื่ออธิบายตามกรอบของ “ปฏิจจสมุปบาท” ซึ่งย้ำเน้นถึงการอาศัยกันและกันของสรรพสิ่งจึงสามารถดำรงอยู่รอดได้อย่างมีศักยภาพ และเอื้อต่อการสร้างคุณค่าและชีวิตและสรรพสิ่งนั้น วิทยาการสมัยใหม่จำเป็นต้องอาศัยพระพุทธศาสนา และพระพุทธศาสนาจำเป็นต้องอาศัยวิทยาการสมัยใหม่มาเป็นฐานในการอธิบาย และเป็นสื่อในการนำเสนอให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งวิถีชีวิตมากยิ่งขึ้น ดังที่ไอน์สไตน์ย้ำว่า “วิทยาศาสตร์ที่ไม่มีศาสนาย่อมพิกลพิการ ส่วนศาสนาที่ไม่มีวิทยาศาสตร์”[๙]  วิทยาการสมัยใหม่มีจุดเน้นสำคัญในการแสวงหาความจริง อีกทั้งเป็นเครื่องมือที่ทำให้มนุษย์ฉลาดที่จะเอาตัวเองให้รอด ดังนั้น วิทยาการสมัยใหม่นอกเหนือจากการแสวงหาความจริงแล้ว ยังนำไปสู่การใช้ความรู้เพื่อแสวงหาโลกธรรม และนำความรู้ไปเป็นเครื่องมือเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตัวเอง  ในขณะที่พระพุทธศาสนามีจุดเด่นที่เน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ว่าอะไรควร หรือไม่ควร โดยมีจุดเน้นเพื่อสร้างฉลาดด้านจิตใจเพื่อพัฒนาชีวิตตัวเอง บุคคลอื่น และสิ่งอื่นในสังคมรู้ ตื่น และเบิกบานมากยิ่งขึ้น  ฐานคิดสำคัญของศาสนาคือ ศีลธรรม  ด้วยเหตุนี้ เมื่อกล่าวถึงคุณค่าและความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่แล้ว จะพบว่าแง่มุมที่น่าสนใจในมิติดังต่อไปนี้

            (๑) ร่วมมือขยายขอบฟ้าแห่งความรู้    ในขณะที่มนุษย์ และสังคมเผชิญหน้าประเด็นปัญหา ทางวิชาการ หรือวิกฤติการณ์ต่างๆ  วิทยาการ หรือศาสตร์ต่างๆ มิสามารถที่จะผลักให้ให้เป็นภาระของศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งรับมือ หรือตอบโจทย์แต่เพียงลำพัง  ด้วยเหตุนี้ พระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่สาขาต่างๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมคิดค้น และออกแบบเครื่องมือเครื่องมือโดยการบูรณาการ และสร้างชุดความรู้ หรือเครื่องมือแบบสหวิทยาการ เพื่อนำจุดเด่นของวิทยาการต่างๆ มาเป็นฐานรองรับ โดยการสร้างแบบจำลอง อธิบายและตีความให้สอดรับกับประเด็นปัญหา และวิกฤติการณ์ต่างๆ บนสถานการณ์ที่เป็นจริง และเอื้อต่อสถานการณ์มากยิ่งขึ้น

        นอกจากนี้ พระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่สามารถร่วมมือกันเพื่อสร้างความรู้ที่การนำสิ่งที่แยกกันมารวมเข้าเป็นอันเดียวกันจนเกิดองค์รวม (The whole)[๑๐] โดยการนำแนวคิด และเนื้อหาจากสาขาวิชามาบูรณาการโดยไม่เน้นการเรียงลำดับเนื้อหา แต่เน้นการเชื่อมโยงเนื้อหา[๑๑] จุดเด่นในประเด็นนี้คือการทำงานร่วมกับในเชิงบูรณาการแบบสหวิทยาการอยู่ที่การเชื่อมโยงสาขาวิชาต่างๆ เข้าด้วยกันอันเป็นกรทำงานร่วมกันแบบส่วนรวม (Holistic Approach) ซึ่งเราสามารถประเมินได้จากการเปิดพื้นที่ของการค้นพบในวิทยาการ และศาสตร์การเรียนรู้ใหม่ๆ เช่น พุทธเศรษฐศาสตร์  รัฐศาสตร์แนวพุทธ  สังคมวิทยาเชิงพุทธศาสนา และพุทธสันติวิธี

           (๒) การเป็นสะพานเชื่อมสมานระหว่างกันและกัน  หากเป้าหมายของศาสนาอยู่ที่การปลดปล่อยมนุษย์ออกจากพันธนาการแห่งตัณหาอุปาทาน (Bondage of Egocentric cravings)  มนุษย์มักจะมีความยึดมั่นในตัวเอง (อัตตวาทุปาทาน) และความคิดของตัวเอง (ทิฏฐุปาทาน) ว่า ตัวเอง หรือความคิดของตัวเองสำคัญที่สุด จีงทำให้ไม่สามารถเรียนรู้ และเข้าใจผู้อื่นในสังคม แต่ในความเป็นจริงมนุษย์เปรียบประดุจเศษเสี้ยวธุลีดิ้นในจักรวาล ไอนสไตน์มองว่าฐานสำคัญประการหนึ่งในการที่จะทำให้มุษย์ค้นหลุดรอดจากพันธนาการ คือ การคิดแบบมีเหตุผล ซึ่งเขาได้พิสูจน์ทราบจากวิถีชีวิตการทำงานของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ เขาจึงมองเห็นแนวทางในการที่จะใช้เหตุผลเป็นตัวแปรในการเชื่อมสมานมนุษย์ไปสู่การพัฒนาคุณค่าภายในตามหลักของศาสนา โดยเขาชี้ว่า [๑๒] “ถ้าเป้าหมายหนึ่งของศาสนาอยู่ที่การปลดปล่อยมนุษยชาติให้เป็นอิสระมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้จากตัณหาและภยาคติที่มีรากฐานอยู่บนอัตตา การคิดแบบมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ สามารถช่วยศาสนาให้บรรลุเป้าหมายนั้นได้อีกทางหนึ่ง”  คุณค่าของคิดแบบมีเหตุผลของวิทยาศาสตร์ถือว่าเป็นสะพานเชื่อมโยงไปสู่หลักการที่ปรากฏในเกสปุตติสูตรที่มุ่งเน้นการใช้ปัญญาคิดวิเคราะห์เหตุผลอย่างรอบด้านแล้วจึงตัดสินใจเชื่อ และนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากตัณหา มานะ และทิฐิ

            (๓) วิทยาการสมัยใหม่เสริมสร้างความฉลาด พระพุทธศาสนาหยิบยื่นความสงบ   วิทยาการสมัยใหม่พัฒนาศักยภาพของมนุษย์ให้มีความฉลาดในการแสวงหาความอยู่รอดทางร่างกาย แต่ไม่สามารถทำให้มนุษย์เกิดความสุขสงบทางจิตใจ กล่าวคือ มุ่งเน้นพัฒนาทักษะให้เกิดความชำนาญ และเชี่ยวชาญในการแสวงหาสิ่งเสพเพื่อสนองตอบต่อความอยากรู้อยากเห็น และอยากมีอยากเป็นของตัวมนุษย์เอง แต่พระพุทธศาสนาจะทำให้มนุษย์เข้าใจความรู้สึก และความต้องการของตัวเองว่า ไม่สามารถแสวงหาหาสิ่งต่างๆ มาปรนเปรอเพื่อสนองตอบต่อความอยากของตัวเองได้ดังที่ซาร์ต นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสได้อธิบายว่า “มนุษย์เป็นความปรารถนาที่ไร้ความสำราญ” (Man is a useful passion) เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ “มนุษย์คือความขาดหาย ความบกพร่อง หรือช่องวาง” ซึ่งสอดรับกับหลักการทางพระพุทธศาสนาที่เน้นว่า “แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาย่อมไม่มี” การเข้าใจธรรมชาติของจิตใจในลักษณะเช่นนี้ จะทำให้มนุษย์แสวงหาหาวัตถุ และสิ่งเสพในฐานะเป็นสิ่งจำเป็น (Necessity) มายิ่งขึ้น มากกว่าการใช้กายของตัวเองไปมุ่งเน้นแสวงหาคุณค่าเทียมจากสิ่งเสพต่างๆ ที่เข้ามายั่วยวนและหลอกล่อจิตใจของมนุษย์

          (๔) การเชื่อมประสานพลังแห่งศรัทธา กรุณาและปัญญา  ในขณะที่จุดเด่นของวิทยาการหรือศาสตร์สมัยใหม่มุ่งเน้นไปที่การแสวงหาปัญญาอันเกิดจากการพัฒนาความรู้ และแสวงหาความจริง แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือวัฒนธรรมแห่งความเชื่อมั่นในการกระทำอันเกิดจากฐานของศีลธรรม จึงทำให้ปัญญาขาดมิติแห่งศรัทธาที่เชื่อมั่นอยู่ในคุณธรรมความดี จากตัวแปรดังกล่าวจึงทำให้พระพุทธศาสนาได้เข้าไปปิดจุดอ่อนกล่าว จึงได้นำ “ศรัทธา” ไปเติมเต็มให้แก่ “ปัญญา” เพื่อให้พลังอันเกิดจากการคิดหาเหตุผลมีความนุ่มนวล (Soft Power) ปัญญาที่ขาดศรัทธาจะทำให้เป็นปัญญาที่ขาดความสุขุมลุ่มลึก บุ่มบ่าม และขาดความเฉียวใจ และยั้งคิดอย่างรอบด้าน  ในขณะเดียวกัน  ปัญญาอันเกิดจากการศึกษาเรียนรู้และคิดหาเหตุผลตามกรอบของวิทยาการสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ หรือมิติแห่งการรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ หากขาดมิติแห่งความกรุณาย่อมทำให้มนุษย์เอารัดเอาเปรียบ แก่งแย่ง และแข็งขันซึ่งกันและกัน มุ่งหวังความอยู่รอดของตัวเองโดยไม่ได้ใส่ใจต่อความสุขหรือความทุกข์ของเพื่อนร่วมโลก

          (๕) วิทยาการสมัยใหม่เน้นศึกษาโลกภายนอก พระพุทธศาสนามุ่งศึกษาโลกภายใน  พระพุทธเจ้าทรงศึกษาวิทยาการ หรือศาสตร์ต่างๆ ทั้ง ๑๘ ศาสตร์ แต่พบความจริงว่า ศาสตร์เหล่านั้นเป็นการเรียนรู้ เพื่อให้เข้าใจโลกภายนอกได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น  อีกทั้งพระองค์ได้ทรงใช้ศาสตร์เหล่านั้นเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตที่สัมพันธ์กับโลกภายนอก ถึงกระนั้น การเรียนรู้ศาสตร์ภายนอกเป็นประดุจคำถามปลายเปิด ที่ไม่สามารถแสวงหาจุดบรรจบ และสนองตอบต่อความอยู่รอด และความสว่างไสวทางจิตใจและปัญญา จึงทำให้พระองค์ตระหนักรู้ว่า การที่จะทำให้ชีวิตค้นพลค้นพบจุดจบอย่างแท้จริงนั้น คือ การศึกษาเพื่อให้เข้าใจโลกภายใน ซึ่งเครื่องมือที่พระองค์ทรงคุณพบคือ “ไตรสิกขา”  กล่าวคือ ศีล สมาธิ และปัญญา การศึกษา หรือ “สิกขา” ตามกรอบพระพุทธศาสนาเป็นการตระหนักรู้และเห็นความทุกข์ สาเหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และหนทางแห่งการดับทุกข์ด้วยจิตใจของตัวเอง ฉะนั้น ปริญญาที่พระองค์ได้รับมิใช่ปริญญาตามที่ชาวโลกยึดถือ หากแต่เป็นการปริญญาคือความรู้รอบตามกรอบของอริยสัจ ๔ และมีโยนิโสมนสิการเป็นอาภรณ์ประดับสติปัญญาของผู้เรียน

           (๖) วิทยาการสมัยใหม่มุ่งความจริง พระพุทธศาสนามุ่งศีลธรรม        สัจธรรมที่มนุษย์แสวงหามี ๓ อย่าง คือ ความจริง (Truth) ความดี (Goodness) ความงาม (Beauty) และความสุข (Happiness) วิทยาการสมัยใหม่ในประเด็นที่เกี่ยวข้องวิทยาศาสตร์นั้น เป็นศาสตร์มุ่งแสวงหาความความจริง และพิสูจน์ความจริง ในขณะที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสตร์ที่มุ่งเน้นในการแสวงหาความดี ความงาม และความสุขให้แก่มนุษย์ในเชิงปัจเจก และสังคมโดยรวม  ในขณะเดียวกัน หากมอง “ความจริง” ในมิติของวิทยาศาสตร์ และพระพุทธศาสนานั้น  มีจุดร่วมที่สำคัญประการหนึ่งคือ “ความจริงตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ”  พระพุทธศาสนามีจุดยืนที่ชัดเจนว่า ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะถือกำเนิดหรือไม่ก็ตาม ความจริงตามธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่ปรากฏและมีอยู่แล้ว พระองค์เป็นเพียงผู้เข้าถึงกฎเกณฑ์ธรรมชาติ และนำกฎเกณฑ์ดังกล่าวมานำเสนอแก่มนุษยชาติ

       ในขณะที่วิทยาศาสตร์พยายามแสวงหาเครื่องมือเพื่อเข้าถึงความจริง และเปิดเผยความจริงตามกระบวนการและขั้นตอนของวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม จุดที่เป็นข้อกังวลซึ่งวิทยาศาสตร์ไม่สามารถตอบโจทย์ได้คือ วิทยาศาสตร์สนใจเฉพาะการค้นหาและเปิดเผยความจริง แต่ไม่ได้มุ่งแสวงหาความดี พระพุทธศาสนาจึงมีความจำเป็นที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มให้ศาสตร์หรือวิทยาการทั้งหลายสมบูรณ์ทั้งมิติภายนอก และมิติภายใน แสวงหาคุณค่าภายนอกและภายใน พัฒนาทั้งจิตภาพสมบูรณ์คู่กับการพัฒนาด้านกายภาพ ไอน์สไตน์เข้าใจถึงข้อกังวลในลักษณะเช่นนี้อย่างแจ่มชัด เขาจึงพยายามจะออกไปนำเสนอแนวทางเพื่อปิดช่องโหว่ดังกล่าวว่า “วิทยาศาสตร์ควรมุ่งแสวงหา และพิสูจน์ความจริง ส่วนศาสนา ส่วนศาสนาควรมุ่งแสวงหาความดี และศึกษาเรื่องศีลธรรม[๑๓]  การนำเสนอเช่นนี้ดูประหนึ่งจะมุ่งหวังที่จะเสนอว่า พระพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ หรือวิทยาการต่างๆ ควรนำเสนอจุดเด่นที่มีคุณค่าของตัวเองแก่มนุษย์และสังคม  โดยเข้าข้ามพรมแดนไปผูกขาดความจริง หรือปิดช่องทางมิให้ศาสตร์อื่นๆ ได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มศักยภาพ

       จากแนวทางดังกล่าว นับว่าเป็นการมอบหมายภาระหน้าที่ทางด้านศีลธรรมให้แก่ศาสนา หรือพระพุทธศาสนา เพื่อให้ศาสนาได้เข้ามาช่วยวางกรอบ และกำกับมิให้ศาสตร์ต่างๆ ได้ดำเนินการพัฒนามนุษย์ไปในทิศทางของตัวเอง โดยมิได้สนใจที่จะนำศาสตร์อื่นๆ มาร่วมบูรณาการแบบสหวิทยาการ เพื่อให้องค์ความรู้ หรือชุดความรู้ และกิจกรรมมีความหลากหลาย และเอื้อต่อการพัฒนามนุษย์ และสังคมให้สามารถเข้าถึงความจริง ความดี ความงามและความสุขได้อย่างมีภูมิคุ้มกันและยั่งยืนต่อไป

            (๗) ความอยู่รอดระหว่างพระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่  การที่พระพุทธศาสนาซึ่งมาจากองค์ประกอบต่อไปนี้ คือ พระศาสดา ศาสนธรรม ศาสนบุคคล ศาสนพิธี และศาสนสถาน จะสามารถดำรงสถานะในฐานะเป็นที่พึ่งตามกรอบของรัตนตรัย คือ “พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์”  ได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่ง จะต้องพัฒนาประยุกต์ธรรมให้ร่วมสมัย และสอดรับกับความต้องการมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา และตีความหลักธรรมให้เอื้อต่อการตอบคำถามทางวิชาการที่ไปสัมพันธ์กับวิทยาการ หรือศาสตร์ต่างๆ เข้ามาท้าทายต่อพระพุทธศาสนา ดังที่พระธรรมโกศาจารย์[๑๔]ได้เสนอว่า “ธรรมะเกี่ยวข้องกับทุกกิจกรรมของชีวิต ธรรมจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่อย่างใด ผู้ที่นำธรรมไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประยำวันสม่ำเสมอย่อมจะเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา ประโยชน์นั่นแหละจะรักษาพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่กับสังคมไทยตลอดไป และประโยชน์นั่นแหละจะรักษาวิชาพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่หลักสูตรการศึกษาของประเทศไทยตลอดกาล”

       จะเห็นว่า  คำตอบที่วิทยาการ หรือศาสตร์ต่างๆ รวมไปถึงกลุ่มคนที่ได้ศึกษาและปฏิบัติตามกรอบพระพุทธศาสนาอย่างสอดรับกับวิถีชีวิต และนำไปสู่การอธิบายได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลในเชิงวิทยาศาสตร์ อีกทั้งสัมพันธ์กับวิถีทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ย่อมก่อให้เกิดคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นองค์กร  อีกทั้งจะทำให้พระพุทธศาสนาได้กลายเป็นวิถีชีวิต และลมหายใจของสังคมในมิติต่างๆ มากยิ่งขึ้น   และเมื่อนั้น สังคมจึงจะสามารถตอบได้ว่า “เพราะเหตุใด? สังคมจึงจำเป็นต้องมีพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นศูนย์รวมใจของชุมชน สังคม การเมือง ประเทศชาติ และสังคมโลกต่อไป”

         ในขณะที่วิทยาการสมัยใหม่ไม่สามารถที่จะหลีกหนีการตั้งคำถามต่อกลุ่มคนในสังคมเช่นเดียวกัน วิทยาศาสตร์ หรือวิทยาการอื่นๆ ที่ไม่ยอมรับคุณค่าทางพระพุทธศาสนาจะทำให้ละเลยมิติทางศีลธรรมนำผู้ศึกษาและเรียนรู้ไปสู่การเอารัดเอาเปรียบและหากลยุทธ์ในการทำลายซึ่งกันและกัน  และการมุ่งสนใจเฉพาะประเด็นเรื่องการพัฒนาปัญญาที่ขาดมิติของความเมตตาและกรุณาที่มนุษย์ควรแสดงออกซึ่งความเคารพ และให้เกียรติซึ่งกันและกัน  ประเด็นนี้พระธรรมโกศาจารย์ได้ย้ำว่า “ถ้าวิทยาศาสตร์ละทิ้งศาสนาก็จะขาดศีลธรรม เมื่อขาดศีลธรรมก็เท่ากับขาดทิศทาง วิทยาศาสตร์หรือศาสตร์อื่นๆที่ขาดทิศทางย่อมจะจับจดและไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางเช่นเดียวกับคนง่อยเปลี้ยเสียขาที่ไปไหนไม่ได้ไกล ส่วนศาสนาที่ไม่สนใจความจริงทางวิทยาศาสตร์ก็เหมือนคนตาบอด เพราจะมีศรัทธามืดบอดต่ออำนาจเหนือธรรม และหลงงมงายอยู่ในไสยศาสตร์”[๑๕]

 

พุทธบูรณาการ: วิธีบูรณาการพระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่ 

       คำว่า “บูรณาการ” เป็นศัพท์บัญญัติทางการศึกษา เดิมใช้คำว่า “บูรณาการรวมหน่วย” เป็นคำบัญญัติให้ตรงกับคำว่า “Integration” ในภาษาอังกฤษ หมายความว่า การรวมหน่วยที่แยกๆ กันเข้าเป็นหน่วยเดียวกัน เช่น หลักสูตรแบบบูรณาการรวมหน่วย[๑๖] ปัจจุบันใช้เพียงคำว่า “บูรณาการ” หมายความว่า การประสานเนื้อหา หลักการ กิจกรรม การฝึก ฯลฯ เข้าเป็นหน่วยเดียวกัน  เช่น การสอนภาษาแบบบูรณาการ ทำให้นักเรียนได้รับความรู้ด้านทักษะต่างๆ ทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน ผสมผสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในวิชาเดียวกัน ไม่แยกออกจากกันเป็นหลายวิชาดังแต่ก่อน[๑๗]

         ในขณะที่พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)[๑๘] ให้คำนิยามคำว่า “บูรณาการ” (Integration) ค่อนข้างจะสอดรับกับราชบัณฑิตยสถานว่า “หมายถึง การนำสิ่งที่แยกกันมารวมเข้าเป็นอันเดียวกันจนเกิดองค์รวม (The whole)  โดยท่านได้ยกประเด็นพระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์มาอธิบายเพิ่มเติมว่า “ถ้าศรัทธาในพระพุทธศาสนากับปัญญาในทางวิทยาศาสตร์เป็นไปในทางเดียวกันคือส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกันก็จะก่อให้เกิดองค์รวมที่สมบูรณ์ องค์รวมนี่แหละคือบูรณาการ  และเนื่องจากวิทยาศาสตร์ครอบคลุมไปถึงศาสตร์สมัยใหม่ ที่อาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์สร้างระบบความรู้ขึ้นมา เช่น ครุศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ เราจึงสามารถบูรณาการพระพุทธศาสนาเข้ากับศาสตร์สมัยใหม่ด้วย 

         ประเด็นที่น่าสนใจคือ ท่านได้ยืนยันว่า “พระพุทธศาสนายังเป็นศาสนาแห่งการบูรณาการที่มีคำสอนครอบคลุมทั้งกฎธรรมชาติฝ่ายรูปธรรม และนามธรรม กฎทุกกฎรวมกันอยู่ภายใต้กฎธรรมนิยาม”  และจากตัวแปรดังกล่าวนี้ จึงทำให้ปรัชญาการศึกษาในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนศึกษาพระพุทธศาสนาแบบบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ การบูรณาการพระพุทธศาสนากับศาสตรสมัยใหม่ช่วยทำให้คนเรามีดวงตา ๒ ข้างบริบูรณ์ ดวงตาข้างหนึ่งคือ พระพุทธศาสนา ดวงตาอีกข้างคือศาสตร์สมัยใหม่ ใครที่ไม่รู้ทั้งพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่เปรียบได้กับคนตาบอด (อันธจักขุ) ใครที่รู้แต่ศาสตร์สมัยใหม่อย่างเดียว จัดเป็นคนตาเดียว (เอกจักขุ) ส่วนใครที่รู้ทั้งพระพุทธศาสนาและศาสตร์สมัยใหม่ จัดเป็นคนสองตา (ทวิจักขุ) นั่นคือมีความรู้แบบบูรณาการพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่

         ถึงกระนั้น ท่านได้พยายามที่จะแยกแยะประเด็นที่เป็นปัญหาระหว่างการบูรณาการกับการเปรียบเทียบว่า “การศึกษาแบบบูรณาการพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่ไม่ใช่การเปรียบเทียบ เพราะการศึกษาเปรียบเทียบเป็นเพียงวางสิ่งที่เราศึกษาไว้คู่ขนาดโดยที่ไม่มีวันบรรจบกัน เช่น เราศึกษาศาสนาเปรียบเทียบโดยไม่คิดรวมศาสนาที่เราศึกษาเข้าด้วยกันแต่อย่างใด แต่การศึกษาแบบบูรณาการเป็นการนำสิ่งที่เราศึกษามาปรับแต่งผสมผสานกันจนก่อให้เกิดองค์รวมที่สมบูรณ์ ในการ  บูรณาการพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่ จึงต้องมีการปรับองค์ความรู้ทั้งสองสายให้เชื่อมโยงเข้าหากัน

         จากแนวทางดังกล่าว ท่านจึงวิธีการในการบูรณาการพระพุทธศาสนากับวิทยาการหรือศาสตร์สมัยใหม่ว่า วิธีการศึกษาแบบบูรณาการพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่จึงทำได้ ๒ วิธี คือ

         วิธีที่ ๑ พุทธวิทยา (Buddhology) หมายถึง การปรับศาสตร์เข้าหาพระพุทธศาสนา คือ ใช้พระพุทธศาสนาเป็นตัวตั้ง และนำศาสตร์สมัยใหม่มาอธิบายเสริมพระพุทธศาสนา วิธีนี้ใช้องค์ความรู้ในศาสตร์สมัยใหม่มาอธิบายสนับสนุนพระพุทธศาสนาให้ดูทันสมัย และมีเหตุผลเป็นที่ยอมรับได้ง่ายขึ้น

         วิธีที่ ๒ ธรรมวิทยา (Dhammology) หมายถึง การปรับพระพุทธศาสนาเข้าหาศาสตร์ คือ ใช้ศาสตร์สมัยใหม่เป็นตัวตั้ง และนำหลักศีลธรรมในพระพุทธศาสนาเพิ่มเติมเข้าไปในเนื้อหาของศาสตร์สมัยใหม่ ทังนี้ เพราะศาสตร์สมัยใหม่มุ่งแสวงหาความจริงโดยไม่สนใจเรื่องศีลธรรม การนำหลักศีลธรรมในพระพุทธศาสนาเติมเต็มให้กับศาสตร์เหล่านั้น ย่อมจะช่วยให้เกิดองค์รวมที่สมบูรณ์

         ท่านได้ขยายความคำว่า “ประยุกต์” หมายถึง ปรับใช้ประโยชน์ ดังนั้น วิธีบูรณาการแบบนี้จึงเป็นการศึกษาแบบธรรมประยุกต์ ซึ่งหมายถึงการปรับใช้ธรรมให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ โดยอาศัยศาสตร์สมัยใหม่เป็นสะพาน วิธีการนอกจากจะทำให้ธรรมอกาลิโกคือไม่ล้าสมัย เพราะสามารถปรับเข้ากับวิถีแห่งชีวิตของทุกคนทุกยุคทุกสมัย แล้วยังจะเป็นการช่วยนำศีลธรรมกลับมาสู่โลกนี้อีกด้วย

“ธรรมประยุกต์จะเกิดให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิต เนื่องจากธรรมเกี่ยวข้องกับทุกกิจกรรมของชีวิต ธรรมจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่อย่างใด ผู้ที่นำธรรมไปประยุกต์ใช้ในชีวิตอย่างสม่ำเสมอย่อมเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา ประโยชน์นั่นแหละจะทำให้รักษาพระพุทธศาสนาอยู่คู่กับสังคมตลอดไป พระพุทธศาสนาจะอยู่รอดในสังคมใด ก็ต้องปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงในสังคมนั้น ในทำนองเดียวกัน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจะอยู่รอดในสังคมโลกด้วยการปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกด้วยการสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการด้านพระพุทธศาสนา ความเป็นเลิศนี้จะเกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีการบูรณาการพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่ การดำเนินการในลักษณะนี้ย่อมถือว่าสอดรับกับปรัชญามหาวิทยาลัยที่ว่า จัดการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ พัฒนาจิตใจและสังคม”[๑๙]

         จากแนวทางการนำเสนอแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับวิธีการในการประยุกต์ของพระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) นั้น สามารถสร้างแผนภูมิเพื่อให้อธิบายให้เห็นถึงการเชื่อมโยงวิธีการ กระบวนการ และเป้าหมายในการประยุกต์บูรณาการดังนี้

 

 

 

         จากแผนภูมิดังกล่าวนั้น วิธีการสร้างตัวแบบในการบูรณาการเช่นนี้จัดได้ว่าเป็น “พระพรหมบัณฑิตวิธี” หรือใช้ภาษาอังกฤษว่า “Brahmapundit’s Method”   คุณค่าและผลประโยชน์ที่จะได้รับตามมาจากวิธีวิทยาทั้งสองนั้น คือ จะทำให้วงวิชาการ นักคิด และนักปฏิบัติทั้งหลายได้คำตอบที่สอดรับกับสมัย ได้แนวทางในการแก้ไขที่เป็นประโยชน์ และได้ทางเลือกในแนวคิด และการปฏิบัติที่ควรจะเป็นต่อสถานการณ์ต่างๆ  ดังรายละเอียดด้านล่าง คือ

            (๑) วิธีการบูรณาการแบบพุทธวิทยา (Buddhology)  ซึ่งเริ่มต้นจากการกำหนดหรือแสวงหาประเด็น (Issues) และปัญหา (Problems) ทางวิชาการ หรืองานวิจัยที่มีการถกเถียง หรือแสวงหาทางออกที่ควรจะเป็นต่อประเด็นต่างๆ ที่มนุษย์ ชุมชน หรือสังคมสนใจ หลังจากนั้น จึงนำพระพุทธศาสนามาเป็นฐานในการอธิบาย ขั้นตอนต่อไปจึงเข้าสู่กระบวนการของการนำวิทยาการ หรือศาสตร์สมัยใหม่มาอธิบายเสริม โดยมีเจตนารมณ์เพื่ออธิบายสนับสนุนให้พระพุทธศาสนาทันสมัย มีเหตุผล และสอดรับกับวิถีความเป็นไปของชีวิตและสังคมมากยิ่งขึ้น  ซึ่งวิธีการเช่นนี้ มิได้เจตนาที่จะก่อให้เกิดสัทธรรมปฏิบัติ หรือทำให้พระพุทธศาสนาสูญเสียจุดยืนของตัวเอง ดังจะเห็นได้จากแผนภูมิดังต่อไปนี้

            (๒) วิธีการบูรณาการแบบธรรมวิทยา (Dhammology) วิธีการนี้มีจุดเริ่มต้นเช่นเดียวกันกับวิธีการของ (๑) การบูรณาการจะเริ่มต้นจากการกำหนดหรือแสวงหาประเด็น (Issues) และปัญหา (Problems) ทางวิชาการ หรืองานวิจัยที่มีการถกเถียง หรือแสวงหาทางออกที่ควรจะเป็นต่อประเด็นต่างๆ ที่มนุษย์ ชุมชน หรือสังคมสนใจ ขั้นตอนต่อไปคือการนำวิทยาการหรือศาสตร์สมัยใหม่มาเป็นตัวตั้ง แต่จุดเด่นในวิธีการที่ ๒ คือ การนำหลักธรรมะในพระพุทธศาสนาตามที่ปรากฏในพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรมมาเป็นฐานในการประยุกต์ใช้ ตีความ อธิบาย วิเคราะห์ บูรณาการ และสังเคราะห์ออกเป็นชุดอธิบาย ชุดความคิด หรือชุดความรู้ต่างๆ ดังจะเห็นได้จากแผนภูมิดังต่อไปนี้

         รูปแบบที่เหมาะสมต่อการใช้งานในสถานการณ์ต่างๆ (๒) เอื้อต่อการพัฒนาวิธีคิด และการดำเนินชีวิตของกลุ่มคนต่างๆ ที่มุ่งหวังที่จะได้มุมมองและแนวทางไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติ (๓) ตอบสนองครอบครัว ชุมชน และสังคมเพื่อแก้โจทย์ในการปฏิบัติ แก้ไขวิกฤติการณ์ และเสริมสร้างชีวิตและสังคมให้เกิดสันติสุข (๔) เกื้อกูล และเสริมสร้างสันติสุขทั้งมิติการเยียวยา และช่วยเหลือโลกให้เกิดสันติสุข และสิ่งแวดล้อมได้รับการดูแลเอาใจใส่มากยิ่งขึ้น

         ข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่งในการศึกษาตามกรอบของการบูรณาการนั้น นิสิต และอาจารย์ทั่วไปมักจะเกิดความสับสน และบางครั้งเกิดข้อถกเถียงว่า หากศึกษาภายใต้กรอบของวิชาพระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่  มักจะมีมุมมองที่แตกต่างกันระหว่างอาจารย์กับอาจารย์ หรือแม้กระทั่งอาจารย์กับนิสิตในประเด็นของการ “จัดวาง” แนวคิดและทฤษฏีที่ว่าด้วยวิทยาการสมัยใหม่ในสาขาต่างๆ  บางครั้งได้รับการจัดวางในบทที่ ๒ และบางครั้งให้มีการนำหลักการทางพระพุทธศาสนามาไว้ในบทที่ ๒ แล้วนำแนวคิดและทฤษฏีวิทยาการสมัยใหม่ไปอยู่ในบทที่ ๓

         คำถามมีว่า “ข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ควรได้รับการอธิบายอย่างไร? จึงจะสอดรับกับความเป็นจริงในการศึกษาในประเด็นที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่” คำตอบนั้นชัดเจนภายใต้กรอบของ “พระพรหมบัณฑิตวิธี” หรือ “Brahmapundit’s Method”   กล่าวคือ (๑) หากเป็นการศึกษาตามวิธีบูรณาการแบบพุทธวิทยา (Buddhology) พระพุทธศาสนาต้องเป็นฐาน หรือเป็นหลัก แล้วนำวิทยาการสมัยใหม่มาสนับสนุนหรืออธิบายเสริมเพื่อให้มิติทางพระพุทธศาสนาง่ายต่อการทำความเข้าใจ และสมสมัยมากยิ่งขึ้นนั้น บทที่ ๒ จึงควรเป็นหลักการตามที่ปรากฏในพระพุทธศาสนา และบทที่ ๓ เป็นแนวคิดและทฤษฏีของวิทยาการสมัยใหม่  (๒) หากเป็นการศึกษาตามวิธีการบูรณาการแบบธรรมวิทยา (Dhammology) นั้น บทที่ ๒ ควรเป็นแนวคิดและทฤษฏีของวิทยาการสมัยใหม่ โดยศึกษาอย่างรอบด้านอันจะเอื้อต่อการนำแนวคิดดังกล่าวเป็นกรอบในการดึงองค์ความรู้จากพระพุทธศาสนามา ซึ่งเป็นบทที่ ๓ เป็นฐานในการอธิบายเสริม ประยุกต์ใช้ ตีความ วิเคราะห์ บูรณาการ และสังเคราะห์ เพื่อให้องค์ความรู้ของตะวันตกมีความสมบูรณ์และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และบทที่ ๔  เป็นการบูรณาการ และนำไปออกแบบเป็นรูปแบบ หรือชุดความรู้เพื่อตอบประเด็น หรือปัญหาการวิจัยต่อไป

 

พุทธสหวิทยาการ: วิธีศึกษาสหวิทยาการระหว่างพระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่

         สหวิทยาการ (Interdisciplinary) หมายถึง แนวคิดเกี่ยวกับเนื้อหา ความรู้ การจัดหลักสูตรที่นำเอาวิธีการ และเนื้อหาจากศาสตร์ต่างๆ มากกว่า ๑ สาขามาประยุกต์เข้าด้วยกัน เพื่อมุ่งศึกษาเกี่ยวกับเรื่องราว ประเด็น ปัญหา หัวข้อ หรือประสบการณ์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง[๒๐]  ในขณะที่นักวิชาการรัฐศาสตร์บางท่านมองว่า “สหวิทยาการมิได้หมายถึง “นัก” อะไรสักคนที่ต้องรอบรู้ทุกอย่างจนแตกฉาน สหวิทยาการมิได้หมายถึง “นัก” หลายๆ คนมานั่งล้อมวงพิเคราะห์ วิจารณ์ประเด็นปัญหาการเมืองเรื่องใดเรื่องหนึ่งร่วมกัน สหวิทยาการ หมายถึง การที่นัก “สังคมศาสตร์” และท่านเข้าใจถึงความสลับซับซ้อนของประเด็นปัญหาทางสังคมการเมืองอันประกอบด้วยมิติต่างๆ ที่หลากหลาย รวมถึงเข้าใจถึงข้อจำกัดแห่งแขนงวิชาของตนเองพร้อมกันไปด้วย ดังนั้น สหวิทยาการจึงมิได้หมายถึงตัววิชาที่ใช้ในการศึกษา หากหมายถึง ทัศนคติ (Attitude)  หรือสภาวะจิต (State of Mind) ของผู้ศึกษาต่อประเด็นปัญหาของมนุษย์ในสังคมการเมือง[๒๑]

         แนวคิดแบบสหวิทยาการ มีลักษณะตรงกันข้ามกับแนวคิดที่แบ่งเนื้อหาความรู้ออกเป็นสาขาวิชา คือ ไม่เน้นการเรียงลำดับเนื้อหา แต่เน้นการเชื่อมโยงเนื้อหา ลอตัน ได้กล่าวถึงจุดอ่อนของการเรียนรู้แบบเดิมว่า แต่ละสาขาวิชาจะถามคำถามคนละอย่าง นั่นคือ มุ่งสนใจ หรือแสวงหาคำตอบในเรื่องที่แตกต่างกันไป แต่ละสาขามีกรอบอ้างอิง และถ้อยคำที่ใช้แตกต่างกัน[๒๒] ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกระบวนการ และผลลัพธ์ที่เป็นลักษณะเฉพาะของสาขาด้วย ซึ่งแรงจูงใจที่ให้มีการแยกแบ่งแยกเป็นสาขาวิชานั้น ส่วนหนึ่งมาจากแนวคิดที่ว่า การแยกเป็นสาขาช่วยให้การเรียนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะโครงสร้างความรู้ในแต่ละสาขาช่วยเอื้อต่อการเรียนรู้ในสาขานั้น[๒๓] และการตัดสินใจของผู้เรียนที่แบ่งความรู้ออกเป็นสาขา อาจอ้างอิงกลับไปถึงสมัยอริสโตเติ้ล ซึ่งเขาเชื่อว่าความรู้ควรแบ่งออกเป็น ๓ ด้าน หรือสาขา คือ ด้านการผลิต ด้านทฤษฏี และด้านปฏิบัติ”[๒๔] 

         มิทส์ (Meeth) [๒๕] กล่าวว่า จุดเน้นของสหวิทยาการอยู่ที่การเชื่อมโยงสาขาวิชาต่างๆ เข้าด้วยกัน สหวิทยาการเป็นแนวคิดที่เน้นส่วนรวม (Holistic Approach) ซึ่งเป็นแนวคิดดั้งเดิมของตะวันตกที่รับมาจากแนวคิดเชิงอุดมคติของเพลโตที่ว่า ความมีเอกภาพนั้นดีที่สุดในทุกสิ่งทุกอย่าง สหวิทยากรเป็นแนวคิดใหม่ที่นำเอาหัวข้อ เรื่อง หรือปัญหาที่ได้จากประสบการณ์ในชีวิตของคนเรามาเป็นจุดเน้นในการเรียนการสอน  และผลลัพธ์ที่เป็นลักษณะเฉพาะของสาขาด้วย

         ตัวแบบที่สำคัญประการหนึ่งในการศึกษาแบบสหวิทยาการนั้นราวิทซ์ และพินน์ จึงชี้ให้เห็นถึงลักษณะการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ต้องมุ่งให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจอย่างชัดเจน และครอบคลุมในเรื่องของประวัติศาสตร์ และในขณะเดียวกันก็ต้องโยงไปถึงวิชาอื่นๆ ด้วย

     “... แม้ว่าการจดจำวันที่ ข้อเท็จจริง หรือการระบุเรื่องราวของสงคราม ตลอดจนตัวผู้นำทางการเมืองได้ จะเป็นสิ่งจำเป็นในแง่ของประวัติศาสตร์ แต่วิชาประวัติศาสตร์ก็ควรครอบคลุมถึงความเป็นมาของแนวคิด พัฒนาการด้านวัฒนธรรม ความเคลื่อนไหวของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ตอดจนวิวัฒนาการของวัฒนธรรมต่างๆ ความเปลี่ยนแปลงในด้านความสัมพันธ์ของกลุ่มบุคคลต่างเชื้อชาติศาสนา รวมทั้งความเชื่อต่างๆ...[๒๖]

        จากเหตุผล และความจำเป็นในลักษณะดังกล่าว จึงนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบสหวิทยาการ  เพื่อตอบโจทย์ใน ๒ ประเด็นใหญ่ คือ

         (๑) ความสัมพันธ์ของหลักสูตรกับชีวิตจริง จากการศึกษาพบว่า ผู้เรียนส่วนใหญ่พบว่า วิชาต่างๆ ที่จัดให้มีการศึกษาและเรียนรู้ไม่สอดรับกับชีวิตจริงนอกห้องเรียน และมิได้สัมพันธ์กับการนำองค์ความรู้ไปใช้กับชีวิตจริงในแต่ละวัน  อีกทั้งขอบเขตของรายวิชาทำให้ผู้เรียนไม่มีโอกาสแสวงหาความรู้อย่างลึกซึ้งในวิชาใดวิชาหนึ่ง

          (๒) ปฏิกิริยาตอบสนองของสังคมต่อการจัดหลักสูตรแบบแยกย่อย บัดนี้เป็นที่ตระหนักว่า เราไม่สามารถสอนคนให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และคาดหวังด้วยว่าเขาจะสามารถทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับหลายๆ ด้านได้อย่างดี โดยพื้นฐานแล้ว โลกเราเป็นสังคมที่เน้นความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน แต่ขณะนี้สถานการณ์กำลังหมุนเปลี่ยนไปสู่จุดสมดุลยิ่งขึ้น เพื่อที่จะทำให้ดึงเอาความรู้จากหลายสาขาวิชามาใช้ให้เหมาะสมกับสาขาเฉพาะของเราได้ แนวโน้มใหม่ของการเรียนรู้ในตามแนวทางของสหวิทยาการจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถบูรณาการยุทธวิธีต่างๆ ที่ได้จากการศึกษาเล่าเรียนทั้งหมด แล้วนำไปใช้ในชีวิตจริงของเขาได้

         จากแง่มุม และคำอธิบายเกี่ยวกับการพัฒนา และต่อยอดองค์ความรู้แบบสหวิทยาการข้างต้นนั้น ทำให้เราพบว่า ตัวแปรสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่สามารถพัฒนา ขยายขอบเขต และต่อยอดองค์ความรู้ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น คือ การศึกษาและเรียนรู้ภายใต้ที่เรียกว่า   “พุทธสหวิทยาการ” ซึ่งหมายถึง “การนำเอาหลักการของเนื้อหา และวิธีการเกี่ยวกับการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาไปวิเคราะห์ อธิบาย ตีความ ประยุกต์ บูรณาการ และสังเคราะห์ร่วมกับวิทยาการหรือศาสตร์อื่นๆ มากกว่า ๒ สาขา เพื่อศึกษาประเด็น ปัญหาการวิจัย และวิกฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ได้คำตอบ หรือทางเลือกในการจัดการกับสภาพปัญหาอย่างรอบด้าน และสมสมัยมากยิ่งขึ้น”

         การศึกษาและเรียนรู้แบบ “พุทธสหวิทยาการ” จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนา และทำงานควบคู่เพื่อกับวิทยาการและศาสตร์สมัยใหม่สาขาต่างๆ ที่ครอบคลุมทั้งมิติของวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ เพื่อเป็นการปิดช่องโหว่ในการออกแบบเครื่องมือสำหรับต่อปัญหา หรือจัดการกับวิกฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปิดช่องมิให้เกิดช่องวางในการแสวงหาความรู้อย่างสมบูรณ์และเป็นระบบ ดังที่ไลออนเนล เอลวิน นักปรัชญาชาวอังกฤษ ได้กล่าวอุปมาอุปมัยเพื่อให้เห็นถึงแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นต่อการเรียนรู้แบบสหวิทยาการอย่างไม่ถูกต้องว่า  “เมื่อเราออกไปเดินเล่นข้างนอก เราจะไม่มีวันเห็นดอกไม้อยู่ได้เพียงชนิดเดียวเป็นระยะเวลา ๔๕ นาที แล้วอีก ๔๕ นาทีถัดไปก็พบเห็นแต่สัตว์เพียงชนิดเดียว”[๒๗] 

         จากการตั้งข้อสังเกตของไลออนเนล เอลวินทำให้เราพบประเด็นที่สอดรับกับหลักการ “ปฏิจจสมุปบาท”  ที่ว่า วิทยาการหรือศาสตร์ต่างๆ ต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกัน และสอดรับกับหลักการ “อิทัปปัจจยตา”  ไม่มีวิทยาการ หรือศาสตร์สมัยใดที่จะสามารถดำรงตนอยู่เพียงลำพังโดยมิได้เข้าไปเชื่อมโยงกับวิทยาการหรือศาสตร์อื่นๆ ได้ การศึกษาแบบพุทธสหวิทยาการจะเป็นการเชื่อมโยงพระพุทธศาสนาเข้ากับสาขาวิชาต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อให้เห็นภาพรวม (Holistic Approach) ในทุกมิติตามความมุ่งหมายของเพลโตที่ว่า “ความมีเอกภาพนั้นดีที่สุดในทุกสิ่งทุกอย่าง” และเป็นการปิดช่องโหว่ที่อริสโตเติลได้พยายามแบ่งแยกความรู้ออกเป็น ๓ ด้าน หรือสาขา คือ ด้านการผลิต ด้านทฤษฏี และด้านปฏิบัติ   ดังนั้น  เราจึงสามารถอธิบายการศึกษาแบบ “พุทธสหวิทยาการ” ภายใต้แผนภูมิดังนี้

  

 

 

         จากแผนภูมิดังกล่าว ทำให้พบประเด็นการศึกษาแบบ “พุทธสหวิทยาการ” ที่เป็นการศึกษาโดยนำเอาวิธีการ และเนื้อหาจากวิทยาการศาสตร์ต่างๆ มากกว่า ๑ สาขา ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธศาสนากับวิทยาการ หรือศาสตร์ต่างๆ ที่ประกอบด้วย ๓ ศาสตร์หลัก คือ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์มาประยุกต์เข้าด้วยกัน เพื่อมุ่งศึกษาเกี่ยวกับเรื่องราว ประเด็น ปัญหา หัวข้อ หรือประสบการณ์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยมีกระบวนการและขั้นตอนในการศึกษาดังนี้

         (๑) การเลือกหัวข้อที่เป็นศูนย์กลางของการศึกษา ผู้ศึกษาต้องเริ่มต้นด้วยการเลือกหัวข้อ เหตุการณ์ หรือประเด็นที่มีความสำคัญ ซึ่งเป็นปัญหาทางการวิจัย หรือเป็นวิกฤติการณ์ต่างๆ ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาเพื่อแสวงหาคำตอบ อันจะเอื้อต่อการนำไปเป็นแบบจำลองใช้งาน หรือประยุกต์ใช้ให้สอดรับกับสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิต ชุมชน องค์กร และสังคม

         (๒) การกำหนดกรอบทำงานร่วมกันระหว่างพระพุทธศาสนาและวิทยาการ หรือศาสตร์สมัยใหม่สาขาต่างๆ แบบเป็นเอกภาพ  โดยกระบวนการในการศึกษาจะเป็นการถอดจุดเด่นทั้งเป็นทั้งแนวคิด (Concept) เนื้อหา (Content) บริบทต่างๆ (Context) หลักปฏิบัติ (Practical) วิธีการ (Means) และเครื่องมือ (Tools) ของพระพุทธศาสนาและวิทยาการต่างๆ มาเป็นแนวทางในการแสวงหาคำตอบ อีกทั้งสร้างทางเลือกออกเป็นฉากทัศน์ (Scenario) ต่างๆ ให้สอดรับกับสถานการณ์และความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละสภาพปัญหาและวิกฤติการณ์

         (๓) การจัดกลุ่มชุดข้อมูลของแต่ละชุดนั้นจำเป็นต้องใช้กระบวนการวิเคราะห์ฉากทัศน์ (Scenario Analysis) ให้สอดรับกับการใช้งานจริงในแต่ละบริบท กล่าวคือ การจัดแบ่งผลผลิต (Outcome) แต่ละชุดให้สอดรับกับความมุ่งหวังที่ผู้ศึกษาคาดหวังจะได้รับใน ๓ ประเด็นใหญ่ ๑) การนำชุดความรู้ไปใช้ให้สอดรับกับประเด็นของการพัฒนาคุณค่าภายในของมนุษย์ หรือเอื้อต่อการพัฒนากาย พฤติกรรม จิต และปัญญาเพื่อให้การดำรงชีวิตมีความสุขมากยิ่งขึ้น ๒) การนำชุดความรู้ไปใช้กับการพัฒนาสังคม ทั้งในมิติของการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม เพื่อให้กลุ่มชนต่างๆ ในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขมากยิ่งขึ้น ๓) การนำชุดความรู้ไปพัฒนาแง่มุมทางวิทยาศาสตร์ ทั้งมิติของฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ และชีววิทยาอันเป็นการดูแลรักษาโลกที่มนุษย์อยู่อาศัยด้วย

         จากวิธีการศึกษาแบบสหวิทยาการระหว่างพระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่ดังที่เป็นการศึกษาโดยนำเอาวิธีการ เครื่องมือ แนวคิด บริบทและเนื้อหาจากพระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่ที่ประกอบด้วยวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์มาประยุกต์เข้าด้วยกัน เพื่อมุ่งศึกษาเกี่ยวกับเรื่องราว ประเด็น ปัญหา หัวข้อ หรือประสบการณ์เรื่องใดเรื่องหนึ่งดังที่กล่าวข้างต้นนั้น  สามารถนำไปออกแบบเป็น “รูปแบบเชิงมโนทัศน์ของการเรียนรู้แบบสหวิทยาการระหว่างพระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่” ได้ดังต่อไป

  

 

         จากผังมโนทัศน์เกี่ยวกับ “รูปแบบเชิงมโนทัศน์ของการเรียนรู้แบบสหวิทยาการระหว่างพระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่” ข้างบนนั้น ถือได้ว่าเป็น “ตัวแบบ”  ที่ผู้เขียนได้ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้เป็นกรอบในการศึกษารูปแบบ “พุทธสหวิทยาการ” ซึ่งเป็นการศึกษาพระพุทธศาสนาทางเลือกอีกรูปแบบหนึ่ง นอกเหนือจากวิธีการศึกษาแบบ “พุทธบูรณาการ” ดังที่พระพรหมบัณฑิตที่ได้นำเสนอไว้ในข้างต้น เพื่อเป็นกรอบในการบูรณาการพระพุทธศาสนากับวิทยาการ หรือศาสตร์สมัยใหม่สาขาต่างๆ ทั้งในมิติของวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์

         ดังที่ได้กล่าวในเบื้องต้นแล้วว่า “การกำหนดประเด็น ปัญหา และสถานการณ์” เป็นตัวแปรสำคัญ ในการใช้การศึกษาแบบพุทธสหวิทยาการเป็นกรอบการศึกษาเพื่อสร้างทางเลือกในการจัดการ แก้ไข และหาคำตอบใหม่ๆ  ซึ่งตัวแบบจำลองที่นำเสนอนั้น ผู้เขียนได้ใช้คำว่า “ปัญญา” เป็นแนวทางในการศึกษา เพราะมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ใช้คำนี้เป็น “พุทธศาสนสุภาษิตประจำมหาวิทยาลัย”  ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต” ซึ่งแปลว่า “ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก”  ดังนั้น การที่จะทำให้ผู้เรียนได้เข้าใจปัญญาในมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยวิทยาการต่างๆ เข้ามาช่วยศึกษา และวิเคราะห์  ผลดีของการนำวิทยาการต่างๆ มาทำงานร่วมกันแบบ “พุทธสหวิทยาการ” จะทำให้เราได้เห็นคุณค่าของปัญญาทั้งมิติที่เป็นรูปธรรม และเป็นนามธรรม อีกทั้งทำให้เรียนรู้และเข้าใจมิติในการพัฒนาปัญญาตั้งแต่ระดับฐานราก หรือระดับโลกิยะไปจนถึงความเติบโตของปัญญาในระดับโลกุตระ จะเห็นว่าการศึกษาในมิติของวิทยาการสมัยใหม่จะทำให้เราเข้าใจปัญญาเชิงรูปธรรมในแง่ของการวัดค่าได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในขณะที่พระพุทธศาสนาทำให้เราได้เห็นถึงคุณค่าภายในของปัญญาในมิติของการคิดแบบอริยสัจ และโยนโสมนสิการ

 

บทส่งท้าย

         จากการศึกษาในเบื้องต้นนั้น ผู้เขียนได้นำเสนอแง่มุมเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำว่า “วิทยาการ หรือศาสตร์สมัยใหม่” หมายถึง ความรู้ สาขาวิชา หรือสาขาความรู้ต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ ๓ ศาสตร์ใหญ่ คือ (๑) วิทยาศาสตร์ (Natural Science) มุ่งศึกษาปรากฏการณ์ธรรมชาติ ในส่วนที่เกี่ยวกับสรรพสิ่งต่างๆ เช่น  ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ และดาราศาสตร์ (๒) สังคมศาสตร์ (Social Science) มุ่งศึกษาพฤติกรรมระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ หรือปรากฏการณ์เกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ เช่น สังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และ (๓) มนุษย์ศาสตร์ (Humanities Science) ศึกษาปรากฏการณ์ของมนุษย์ในส่วนที่เป็นปัจเจกบุคคล ในเรื่องของคุณค่า ความงาม ความสุนทรียะ การใช้เหตุผล เช่น ภาษา วรรณกรรม ศิลปะ และดนตรี

         รูปแบบในการศึกษาพระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่ (Buddhism and Modern Sciences) นั้น ใช้วิธีการศึกษาใน ๒ รูปแบบ คือ แบบบูรณาการ และแบบสหวิทยาการดังที่ปรากฏในขอบเขตของการศึกษาวิชานี้  ดังกระนั้น การที่จะทำให้เข้าใจวิธีการศึกษาทั้ง ๒ แบบได้อย่างชัดเจนและครอบคลุม ผู้เขียนจึงดำเนินการศึกษา ๒ รูปแบบดังกล่าวจากนักคิดสำคัญที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ และออกแบบเพิ่มเติมอีก ๑ ชุดวิธี ดังนี้

         (๑) ใช้วิธีการแบบพุทธบูรณาการ ตามวิธีการของพระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) หรือเรียกภาษาอังกฤษว่า “Brahmapundit’s Method”  โดยมีวิธีการในการศึกษา ๒ วิธีย่อย คือ  ๑) วิธีการบูรณาการแบบพุทธวิทยา (Buddhology)  เป็นการพระพุทธศาสนามาเป็นฐานในการอธิบาย แล้วนำวิทยาการ หรือศาสตร์สมัยใหม่มาอธิบายเสริม โดยมีเจตนารมณ์เพื่ออธิบายสนับสนุนให้พระพุทธศาสนาทันสมัย และสมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น  ๒) วิธีการบูรณาการแบบธรรมวิทยา (Dhammology) โดยการนำวิทยาการหรือศาสตร์สมัยใหม่มาเป็นตัวตั้ง แล้วนำหลักธรรมะในพระพุทธศาสนามาเป็นฐานในการประยุกต์ใช้ ตีความ อธิบาย วิเคราะห์ บูรณาการ และสังเคราะห์ออกเป็นชุดอธิบาย ชุดความคิด หรือชุดความรู้ต่างๆ

          (๒) ใช้วิธีการศึกษาแบบพุทธสหวิทยาการ  ผู้เขียนได้ออกแบบ “พุทธสหวิทยาการ” ซึ่งเป็นการศึกษาโดยนำเอาวิธีการ และเนื้อหาจากวิทยาการศาสตร์ต่างๆ มากกว่า ๑ สาขา ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธศาสนากับวิทยาการ หรือศาสตร์ต่างๆ ที่ประกอบด้วย ๓ ศาสตร์หลัก คือ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์มาประยุกต์เข้าด้วยกัน เพื่อมุ่งศึกษาเกี่ยวกับเรื่องราว ประเด็น ปัญหา หัวข้อ หรือประสบการณ์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง  โดยได้นำเสนอตัวแบบการศึกษาว่าด้วย “รูปแบบเชิงมโนทัศน์ของการเรียนรู้แบบสหวิทยาการระหว่างพระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่” ซึ่งเป็นการแสวงหา และกำหนดประเด็น ปัญหา และเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นมา แล้วนำองค์ความรู้ที่เป็นจุดเด่นของวิทยาการหรือศาสตร์ต่างๆ มาเป็นเครื่องมือในการหาคำตอบ และสร้างฉากทัศน์ (Scenario) ใหม่ๆ เพื่อให้สอดรับกับการตอบคำถาม หรือจัดการกับวิกฤติการณ์ต่างๆ ที่มนุษย์และโลกกำลังเผชิญหน้าอยู่

         ถึงกระนั้น คำว่า “วิทยาการหรือศาสตร์” สอดรับกับคำว่า “โลก” ในพระพุทธศาสนาอย่างมีนัยสำคัญ  พระพุทธเจ้าได้ทรงได้รับการยกย่องในบทพุทธคุณ  ว่า “โลกวิทู” (Knower of the Worlds)  ซึ่งหมายความว่า “พระองค์ทรงเป็นผู้รู้แจ้งโลก”  การรู้แจ้งโลกของพระองค์นั้นหมายถึง ทรงรู้แจ้งสภาวะอันเป็นคติธรรมดาแห่งโลกคือสังขารทั้งหลาย ทรงหยั่งทราบอัธยาศัยสันดานแห่งสัตว์โลกทั้งปวง ผ็เป็นไปตามอำนาจแห่งคติธรรมดาโดยท่องแท้  เป็นเหตุให้พระองค์เป็นอิสระ พ้นจากการครอบงำแห่งคติธรรมดานั้น และทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์ทั้งหลายผู้ยังมาอยู่ในกระแสโลกได้

          จะเห็นว่า การรู้แจ้งโลกของพระองค์เป็นการรู้แจ้งโลกทั้งภายในและภายนอก โดยเริ่มต้นพระองค์ทรงเรียนรู้และเข้าใจทั้ง ๑๘ ศาสตร์  และหลังจากนั้น พระองค์ทรงเรียนรู้และเข้าใจ “พุทธศาสตร์”  การเรียนรู้และเข้าใจทั้งวิทยาการ หรือศาสตร์ทั้ง ๒ ประเด็นนั้น ส่งผลให้พระองค์ได้ทรงได้รับการเรียกขานว่า “โลกวิทู” อันเป็นรู้เรียนรู้แจ้งโลกทั้ง ๓ คือ (๑)  โอกาสโลก โลกอันกำหนดด้วยโอกาส โลกอันมีในอวกาศ หรือจักรวาล (๒)  สัตว์โลก โลกคือหมู่สัตว์  และ (๓) สังขารโลก    โลกคือสังขาร อันได้แก่สภาวธรรมทั้งปวงที่มีการปรุงแต่งตามเหตุปัจจัย  และหากจะนำโลกทั้ง ๓ นี้ไปเปรียบเทียบกับวิทยาการหรือศาสตร์ที่เป็นหลักทั้ง ๓ นั้น จะพบว่า โอกาสโลกเปรียบได้กับวิทยาศาสตร์ที่เน้นศึกษาธรรมชาติ โลก และจักรวาล สัตว์โลกเปรียบได้กับสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับมนุษย์ซึ่งจะต้องพึ่งพาอาศัยและอยู่ร่วมกันในฐานะเป็นสัตว์สังคม (Social Animal) สังขารโลกเปรียบได้กับมนุษยศาสตร์ที่เน้นคุณค่าภายในที่สัมพันธ์กับการตัดสินคุณค่าที่ว่าด้วยความดี ความงาม และความสุข

          ดังนั้น กรอบในการศึกษาวิทยาการ หรือศาสตร์สมัยใหม่ในสาขาอื่นๆ นั้น ควรจะต้องกำหนดเป็นกรอบให้สอดรับกับวิทยาการสมัยใหม่ดังนี้

          (๑) วิทยาศาสตร์ หรือโอกาสโลก  จะเป็นการศึกษาเกี่ยวกับประเด็นมิติทางธรรมชาติ ซึ่งประเด็นที่จะนำเสนอในครั้งนี้ประกอบด้วยพระพุทธศาสนากับจักรวาลวิทยา พระพุทธศาสนากับประเด็นราหูอมจันทร์ และพระอาทิตย์  พระพุทธศาสนากับสิ่งแวดล้อมโลก  และพระพุทธศาสนากับการจัดการทรัพยากรน้ำ

          (๒) สังคมศาสตร์ หรือสัตว์โลก จะเป็นการศึกษาเกี่ยวกับแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่อาศัยอยู่ร่วมกันในสังคมมนุษย์ที่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน ซึ่งประเด็นที่จะนำเสนอประกอบด้วยพระพุทธศาสนากับสันติภาพ พระพุทธศาสนากับอภัยทาน อภัยโทษ  และนิรโทษกรรม พระพุทธศาสนากับเศรษฐศาสตร์  พระพุทธศาสนากับเศรษฐศาสตร์การเมือง  พระพุทธศาสนากับการสื่อสารทางการเมือง  พระพุทธศาสนากับรัฐประศาสนศาสตร์ และพระพุทธศาสนากับสตรี

          (๓) มนุษยศาสตร์ หรือสังขารโลก จะเป็นการศึกษาเกี่ยวกับคุณค่าภายในที่สัมพันธ์กับการตัดสินคุณค่าที่ว่าด้วยความดี ความงาม และความสุข ซึ่งประเด็นที่จะนำเสนอประกอบด้วยพระพุทธศาสนากับการฆ่าตัวตาย พระพุทธศาสนากับศิลปกรรม และพระพุทธศาสนากับสุขภาวะแบบองค์รวม

          การศึกษาพระพุทธศาสนากับวิทยาการ หรือศาสตร์สมัยดังกล่าวนั้น  มิได้มีนัยที่มุ่งเน้นไปที่ประเด็นที่เป็น “แนวคิด” (Concept) ของแต่ละวิทยาการ หรือศาสตร์เท่านั้น  หากแต่ควรจะครอบคลุมและเกี่ยวข้องกับแนวคิด (Concept) วิธีการ (Means) ปัญหา (Problems) สถานการณ์ (Situations) บทเรียน (Lesson Learned) กรณีศึกษา (Case Studies) และเครื่องมือ (Tools) ตามที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาและวิทยาการสมัยใหม่ต่างๆ   ฉะนั้น การศึกษาวิชาพระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่ควรมุ่งเน้นให้ผู้ศึกษาได้ตัวแบบเพื่อที่จะได้เข้าใจและเรียนรู้แง่มุมต่างๆ อย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลต่อการนำไปสร้างฉากทัศน์ (Scenario) ที่เอื้อต่อการเปิดพื้นที่ขอบความรู้ และสร้างคุณค่าต่อการพัฒนาชีวิต ครอบครัว ชุมชน และสังคมให้มีภูมิคุ้มกันและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขต่อไป.


[๑] ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นพระราชาคณะชั้นพรหมที่ “พระพรหมบัณฑิต”

[๒] พระธรรมโกศาจารย์, วิธีบูรณาการพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๓), น. ๓๔.

[๓] อ้างแล้ว, น. ๓๕.

[๔] คู่มือการศึกษาหลักสูตรระดับปริญญาเอก หลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง ๒๕๕๑) (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, มปป.), น. ๕๔.

[๕] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, ๒๕๔๖), น, ๑๐๗๕.

[๖] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒, อ้างแล้ว, น. ๑๑๐๐

[๗] พระธรรมโกศาจารย์, (ประยูร ธมฺมจิตฺโต), วิธีบูรณาการพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่ (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๓), น. ๓๕.

[๘] รัตนะ บัวสนธ์, ปรัชญาวิจัย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๒), น. ๒๔.

[๙] Science without religion is lame, religion without science is blind” อ้างใน พระธรรมโกศาจารย์, วิธีบูรณาการพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่, อ้างแล้ว, น. ๔๘.

[๑๐] พระธรรมโกศาจารย์, อ้างแล้ว, น. ๔๙.

[๑๑] L.R. Meeth, ‘Interdisciplinary Studies: Integration of Knowledge and Experience,” Change 10, 1978: 6-9.

[๑๒] If it is one of the goals of religion to liberate mankind as far as possible from the bondage of egocentric cravings, desires and fears. Scientific reasoning can aid religion yet another sense.” อ้างใน พระธรรมโกศาจารย์, วิธีบูรณาการพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่, อ้างแล้ว, น. ๔๓.

[๑๓] For science can only ascertain what is, but not what should be religion, on the other hand, deals only with evaluation of human thought and action.” พระธรรมโกศาจารย์, วิธีบูรณาการพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่, อ้างแล้ว, น. ๔๑.

[๑๔] อ้างแล้ว, น. ๓๒.

[๑๕] อ้างแล้ว, น. ๔๘.

[๑๖] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, ๒๕๔๖), น. ๖๓๔.

[๑๗] กาญจนา นาคสกุล, คลังความรู้ ใน www.royin.go.th2th/knowledge/detail.pnp?ID=56  เข้าถึงเมื่อ ๔ มีนาคม ๒๕๕๗.

[๑๘] พระธรรมโกศาจารย์, วิธีบูรณาการพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่, อ้างแล้ว, น. ๔๙.

[๑๙] พระธรรมโกศาจารย์, วิธีบูรณาการพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่, อ้างแล้ว, น. ๕๙.

[๒๐] Heidi Hayes Jacobs, Interdisciplinary Curriculum: Design Implementation (New York: Association for Supervision and Curriculum Development, 1989), p.12-13.

[๒๑] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, การเมืองของมนุษย์: รัฐศาสตร์ทวนกระแส (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดอกหญ้า ๒๕๒๘), น. ๑๑.

[๒๒] D.Lawton, Class, Culture, and Curriculum (Boston: Routledge and Kegan Palul, 1975).

[๒๓] J. Bruner, Toward a Theory of Instruction (Cambridge: Belknap Press, 1975).

[๒๔] P.H. Hirst and P.S. Peters, The Curriculum,”  In Conflicting Conceptions of Curriculum, Edited by E. Eisner and E. Valllance (Berkeley: Mccutchen, 1074).

[๒๕] L.R. Meeth, ‘Interdisciplinary Studies: Integration of Knowledge and Experience,” Change 10, 1978: 6-9.

[๒๖] D. Ravithch and C.Finn, “Humanities: A Truly Challenging Course of Study,” In  the Great School Debate, Edited by B. Gross and R. Gross (New York: Simon and Schuster, 1985),  p.206.

[๒๗] L. Elvin, The Place of Common Sense in Educational Thought  (London: Unwin Educational Books, 1977).

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕