หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » Phra Soravit Aphipanyo (Duangchai) » การอุดมศึกษา : การศึกษาเพื่อประชาชน (HIGHER EDUCATION : EDUCATION FOR PEOPLE)
 
เข้าชม : ๑๒๔๘๑ ครั้ง

''การอุดมศึกษา : การศึกษาเพื่อประชาชน (HIGHER EDUCATION : EDUCATION FOR PEOPLE)''
 
พระสรวิชญ์ อภิปญฺโญ,ดร. (2558)

           การศึกษาระดับสูงของคณะสงฆ์ในกลุ่มประเทศอาเซียนต้องยอมรับแล้วว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษาระดับสูงของคณะสงฆ์ในกลุ่มประเทศอาเซียน เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นด้านการจัดการศึกษาและความเป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธทั่วโลก (การจัดประชุมชาวพุทธนานาชาติเนื่องในวันวิสาขบูชาโลก) มหาวิทยาลัยมุ่งเน้นการศึกษาและบูรณาการหลักธรรมทางพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่ เพื่อพัฒนาจิตใจและสังคมโลก ให้เป็นสังคมอุดมธรรม ด้วยความมุ่งมั่นของผู้บริหารที่มีความเป็นผู้นำเชิงกลยุทธ์จึงทำให้มหาวิทยาลัยเป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นของพระสงฆ์ ประชาชน ทั้งในและต่างประเทศ มหาวิทยาลัย มีวิทยาเขตอยู่ ๑๐ แห่ง วิทยาลัยสงฆ์ ๑๒ แห่ง ห้องเรียนอีก ๕ แห่ง        มีหน่วยวิทยาบริการ ๑๒ แห่ง นอกจากนี้ยังมีการจัดการศึกษาในต่างประเทศอีก ๕ แห่ง ปัจจุบันมีผู้จำการศึกษาระดับปริญญาเอกแล้วจำนวน ๑๑ รุ่น  ปริญญาโท ๒๕ รุ่น ปริญญาโทหลักสูตรนานาชาติ ๑๓ รุ่น ปริญญาตรี ๖๐ รุ่น[๑] การจัดการศึกษาเป็นไปเพื่อพัฒนาคนให้มีคุณลักษณะตามที่สังคมต้องการ พัฒนาคนเพื่อให้คนเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้าของสังคมต่อไป ดังนั้น การจัดการศึกษาที่ตอบสนองความจำเป็นและต้องการของสังคมจึงเป็นหน้าที่หลักของมหาวิทยาลัย ซึ่งการก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ ๒๑ เป็นยุคที่มีความซับซ้อนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การจัดการศึกษาต้องปรับเปลี่ยน เพื่อให้การผลิตบัณฑิตเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ  บทความนี้ ผู้เขียนต้องการนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการอุดมศึกษาที่จัดโดยมหาวิทยาลัยในอุดมคติ เป็นการจัดการศึกษาเพื่อประชาชนทุกกลุ่ม ไม่เลือกชนชั้น วรรณะหรือแม้แต่ความไม่เท่าเทียมกันด้านฐานะทางเศรษฐกิจ “เงินตรา”

 

การอุดมศึกษา: มหาวิทยาลัยในอุดมคติ

          การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนามนุษย์ให้เกิดความเจริญงอกงามและไม่มีแบ่งแยก สถานะ ทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม การจัดการศึกษาต้องเป็นไปอย่างเท่าเทียม  มีคนจำนวนหลายล้านคน ทั่วประเทศไทยและทั่วโลก ต้องการที่จะศึกษาระดับอุดมศึกษาแต่ติดปัญหาเรื่อง “การเงิน” ไม่สามารถจ่ายค่าเล่าเรียนได้ จึงทำให้ขาดโอกาสในการพัฒนาตนเองระดับสูงขึ้น ขณะที่คนกลุ่มหนึ่งในสังคมไทย ต้องอาศัยการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการศึกษา อย่างเช่น พระมหามงคลกานต์ ฐิตธมฺโม,ดร. อาจารย์ประจำคณะพุทธศาสตร์ อาศัยการศึกษาของคณะสงฆ์จนสามารถเรียนสำเร็จการศึกษาได้รับใบปริญญา ๑๕ ใบ ท่านเกิดจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย จึงหันเหชีวิตมาศึกษาตามระบบคณะสงฆ์ ด้วยสังคมสิ่งแวดล้อมทางสงฆ์ทำให้ท่านได้รับการขัดเกลาทางสังคมสงฆ์ การฝึกฝนอบรม การเรียนรู้ศาสตร์วิชาการสมัยใหม่ควบคู่กับการศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาทำให้ท่านไม่เคยยอมแพ้ต่อปัญหาและอุปสรรคที่เข้ามาในชีวิต ท่านพยายามตามหาความฝันจนสามารถศึกษาสำเร็จตามเป้าหมายของชีวิตและอุทิศตนเพื่องานพระพุทธศาสนา สังคม และประเทศชาติ อีกท่านหนึ่ง “พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร.” ท่านเป็นผู้ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ใฝ่คิดวิเคราะห์สถานการณ์และมักจะได้องค์ความรู้ใหม่ๆ แนวทางใหม่ๆ ในการพัฒนาชุมชน สังคมอันเกิดจากการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ ทำการวิจัย คิดวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางสังคมจนได้แนวทางนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม (หมู่บ้านช่อสะอาด) ที่สำคัญท่านได้ทำงาน เก็บประสบการณ์และองค์ความรู้จากการทำงานร่วมกับบุคคลหลายฝ่ายจนเกิดเครื่องข่ายการทำงานระดับประเทศและระดับโลก สิ่งที่ทำให้ท่านประสบความสำเร็จในการทำงาน เป็นเพราะการทำงานอย่างมุ่งมั่นและตั้งใจเพื่อประโยชน์ของคนส่วนรวม ตามบทบาทหน้าที่ของพระสงฆ์ ตามพุทธโอวาทที่ตรงตรัสว่า “จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชน สุขาย โลกานุกมฺปาย แปลความว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก"  เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ที่ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลประชาชนด้วยการชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตและการแก้ไขปัญหาสังคม

          การที่ทั้งสองประสบความสำเร็จด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา และได้ทำประโยชน์ให้กับพระพุทธศาสนา มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนสงฆ์และสังคมไทย เป็นไปตามอัตลักษณ์ของบัณฑิตของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย คือบัณฑิตต้องมีปฏิปทาน่าเลื่อมใส ใฝ่รู้ ใฝ่คิด เป็นผู้นำด้านจิตใจและปัญญา มีความสามารถ แก้ปัญหา มีศรัทธาอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา เสียสละเพื่อส่วนรวม รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของสังคม มีโลกทัศน์กว้างไกล มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองให้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมและ“มีศรัทธาอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา” 

          การศึกษาระดับอุดมศึกษาของคณะสงฆ์เป็นการจัดการศึกษาเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ค่าใช้จ่ายในการศึกษาก็ไม่แพง บางครั้งยังได้รับการสนับสนุนจากอุบาสกอุบาสิกา และ คณะสงฆ์ภายในวัดอีกด้วย  ซึ่งถ้าเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐหรือเอกชน คนที่เรียนได้ต้องมีเงินทุนพอสมควรถึงจะมีโอกาสเข้ารับการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้ นี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยสำหรับผู้ที่มีโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาอุดมศึกษา ยังมีผู้คนอีกจำนวนหลายล้านคนในสังคมไทยที่ยังขาดโอกาสในการศึกษาระดับนี้ เนื่องจากชาดแคลนทุนทรัพย์ในการศึกษา ทั้งๆ ที่เหตุผลด้านการเงิน ไม่ควรจะเป็นกำแพงกั้นให้คนไม่สามารถเข้าถึงการจัดการศึกษาระดับนี้ สิ่งที่ทำให้เกิดกำแพงกั้นคนไม่ให้เข้าถึงระดับการศึกษาที่สูงขึ้น เรื่องแรก คือ “เงิน”

   

เป็นความจริงที่มหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชนทุกวันนี้ ค่าใช้จ่ายเรื่องการลงทุนด้านการศึกษาแพงขึ้น อาจเป็นเพราะค่าครองชีพสูงทำให้สิ่งของอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอนสูงขึ้นทำให้มหาวิทยาลัยต้องบริหารจัดการด้าน งบลงทุน ภาระจึงตกไปถึงผู้ที่สนใจศึกษาแต่ขาดเงินหรือค่าใช้จ่ายเพื่อการนี้ นี้เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ทั้งๆ ที่การศึกษาเป็นเรื่องของคนทุกคนในสังคมแต่กลับเป็นว่า การศึกษาอุดมศึกษาเป็นไปเพื่อคนกลุ่มเดียว ที่มีฐานะทางการเงินดีซึ่งเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยเท่านั้นในสังคมเรา นอกจากเรื่องเงินแล้ว เรื่องที่มีผลต่อการได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมและมีเสรีภาพในการเรียนรู้ก็คือ “วัฒนธรรม”

 

ประชาชนในบ้างประเทศ ผู้ที่ต้องการศึกษาระดับสูงบางพื้นที่ยังมีค่านิยมเกี่ยวกับผู้หญิง ต้องทำหน้าที่เป็นแม่บ้านเท่านั้น การศึกษาและการทำงานเป็นหน้าที่ของผู้ชาย ซึ่งวัฒนธรรมเช่นนี้ เป็นการกีดกันทางการศึกษาเราจะเห็นได้ในบางพื้นที่ของโลก เช่น ประเทศกลุ่มทวีปแอฟริกา ยังมีบางชนเผ่าหรือกลุ่มคนมีความเชื่อทางวัฒนธรรมแบบนี้อยู่ แม้แต่ในสังคมไทย ค่านิยมเกี่ยวกับการศึกษาในพื้นที่ที่ห่างไกลจากสังคมเมือง ยังคงมีความเชื่อว่า ผู้หญิงควรทำหน้าที่เป็นแม่บ้าน ดูแลครอบครัวอย่างเดียว ส่วนการศึกษาและการทำงานหาเลี้ยงครอบครัวเป็นเรื่องของผู้ชาย ค่านิยมแบบนี้ทำให้ผู้หญิงขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับสูง ซึ่งหากได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นพลวัตของสังคมปัจจุบันจะพบว่า อีกไม่เกิน สิบปีข้างหน้า คนจำนวนมากกว่า หนึ่งล้านคนจะขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษา เพราะว่า เขาเหล่านั้นไม่มีเงินทุนพอที่จะใช้จ่ายเพื่อการศึกษา การศึกษาจะเป็นไปเพื่อคนกลุ่มเดียวและเป็นกลุ่มเล็กๆ ในสังคม จะต้องมีการทดสอบ มีการบอกแหล่งทุน หรือที่มาของเงินในการเป็นค่าใช้จ่ายที่สนับสนุนการศึกษา นี้เป็นเหตุผลว่า ทำไม คนอีกหลายล้านคนจะไม่มีโอกาสเข้าถึงการบริการด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นเรื่องของ “เงิน”

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่า “มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน” เราสามารถทำได้จริง ไม่มีขีดจำกัดสำหรับผู้เรียน ไม่มีการเสียค่าเทอม (หรืออาจจะมีบ้างเล็กน้อยเป็นค่าบริหารจัดการ) และผู้ศึกษามีสิทธิได้รับปริญญาบัตรที่มีศักดิ์และสิทธิ์แห่งปริญญาทุกประการ เป็นการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนามนุษย์ เพื่อให้มนุษย์ได้พัฒนาตนเอง นำไปสู่การพัฒนาสังคมอุดมสุข เป็นการศึกษาสำหรับทุกคน แต่มีข้อแม้ว่าต้องสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและสามารถติดต่อกับมหาวิทยาลัยได้ เมื่อจบการศึกษาแล้วสามารถมีงานทำและสังคมต้องการ มีทั้งความรู้ ความสามารถและความประพฤติที่ดี มีการพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ ทำงานร่วมกับคนอื่นได้และมีจรรยาบรรณทางวิชาชีพ เมื่อพูดถึงผู้ที่จบการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้แล้ว เพื่อนร่วมงานและนายจ้างหรือผู้บังคับบัญชาก็มีความเชื่อมั่นได้ในความรู้ความสามารถและความประพฤติด้านคุณธรรมศีลธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพได้.

 

มหาวิทยาลัยในอุดมคติ: การศึกษาเพื่อประชาชน

สำหรับมหาวิทยาลัยในอุดมคติของผู้เขียนนั้น สถาบันแห่งนี้ไม่ต้องการมองหาสิ่งตอบแทนที่จะได้จากผู้เรียน แต่มองว่า ผู้ที่จบไปแล้วมีบทบาทสนองกิจการงานคณะสงฆ์ มีงานทำและมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตอย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงคุณภาพการศึกษาที่เราได้ผลิตบัณฑิตออกไป

           มหาวิทยาลัยของเรามีต้นทุนทางสังคม ทุกคนในประเทศมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ เราไม่ต้องการหารายได้จากผู้เรียนขณะเดียวกันก็เป็นมหาวิทยาลัยที่จ่ายค่าเล่าเรียนที่ถูกที่สุดในโลก       เราไม่มีความกังวลเรื่องอุปกรณ์หรืออาคารสถานที่เพื่อใช้ในการเรียนการสอนมากมาย เราไม่ต้องการให้นิสิตต้องเสียค่าใช้จ่ายในการศึกษามาก ไม่ต้องซื้อหนังสือมากมาย ไม่ต้องจ่ายค่าเอกสารประกอบการเรียน (ช่วยโลกลดความร้อน) เราไม่ต้องการให้นิสิตของเราต้องไปซื้อหนังสือมากมาย เรามีห้องสมุด มีเอกสารงานวิชาการผ่านระบบออนไลน์ ผู้เรียนสามารถศึกษาได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่จำกัดกาล ทุกรายวิชาที่มีอยู่ในหลักสูตรการจัดการศึกษาเราจะถ่ายโอนข้อมูลขึ้นระบบอินเทอร์เน็ตทั้งหมด ขณะเดียวกัน เรามีนโยบายเชิญชวนขอความร่วมมือจากผู้บริหารคณาจารย์ต่างคณะและผู้เชียวจากภายนอกเขามาสอนและนำกิจกรรมเพื่อเป็นการพัฒนานิสิตโดยการทำงานเป็นลักษณะความร่วมกันทางวิชาการ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น. ผู้เชียวชาญและนักวิชาการจากสถาบันเหล่านี้จะเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายพัฒนานิสิต โดยเฉพาะวิธีการเรียนการสอนเน้นให้นิสิตได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้สอนและเพื่อนร่วมชั้นเรียน กิจกรรมในชั้นเรียนมุ่งให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็น ทัศนคติและวิธีคิดและให้ข้อเสนอแนะระหว่างเพื่อนร่วมห้อง เราไม่ต้องการให้ผู้เรียนมารับความรู้จากผู้สอน ผู้สอนเป็นเพียงพี่เลี้ยง (โค้ชชิง) และพิจารณาให้คะแนนเท่านั้นเรามีความเชื่อว่า “คะแนนมิใช่ที่สุดของการเรียนรู้”  กระบวนการเรียนรู้ วิธีการนำเสนอและการส่งต่อความรู้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของการเรียนรู้ เราไม่ต้องการให้ผู้เรียนนั่งอยู่ข้างหลังห้องเรียน เพียงเพื่อรอเวลาหมดชั่วโมงในรายวิชาเท่านั้น แต่เรามุ่งที่จะกระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ตั้งแต่ต้นจนสิ้นสุดการเรียนในแต่ละรายวิชาหรือจนกว่าจะจบการศึกษาตามหลักสูตรโดยเฉพาะการนำความรู้และประสบการณ์ไปใช้ในการทำงานและการดำเนินชีวิต  ท้ายที่สุดแล้ว เราเชื่อว่าการเรียนรู้แบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน”Peer to – Peer learning จะเป็นวิถีแห่งการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยื่น

 

รูปแบบการเรียนรู้ : มหาวิทยาลัยในอุดมคติ

เราใช้รูปแบบการเรียนรู้และหลักสูตรเป็นเอกภาพทั่วทุกหน่วยการจัดการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อคุณภาพของการจัดการศึกษาและคุณภาพของบัณฑิต โดยมีการกำกับดูแลและเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยอย่างสม่ำเสมอ  เพื่อให้ผู้บริหารหน่วยการจัดการศึกษามีความสัมพันธ์กันและแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาหลักสูตร การพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาที่ทันสมัยโดยใช้การวิจัยเป็นฐาน (R2R= ทำงานประจำให้เป็นงานวิจัย, ทำงานวิจัยให้อยู่ในงานประจำ) ในการพัฒนาด้านการบริหารจัดการ การจัดการเรียนการสอน ตลอดถึงการพัฒนาบุคลกรให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ สามารถทำวิจัยจากงานประจำเพื่อพัฒนาตนเองและงานที่รับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยที่มีตำแหน่งทางวิชาการเป็นศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ หรือ มีประสบการณ์ด้านการบริหาร การจัดการเรียนรู้ที่ดี ท่านเหล่านั้นต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสอนและจัดกิจกรรมเรียนรู้ให้กับนิสิตร่วมกับอาจารย์สอนประจำรายวิชาด้วย

          ประเด็นสำคัญของการจัดการศึกษาเพื่อประชาชนของเราก็คือ เราไม่ต้องการให้ผู้เรียนต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก หรือ มีความกังวลเรื่อง “เงิน” มากเกินไป  รูปแบบของการจัดการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยในอุดมคติทุกๆ สัปดาห์ นักเรียนทุกคนจะต้องร่วมอภิปรายในชั้นเรียนและต้องให้ความเห็นกับการอภิปรายของคนอื่นๆ ด้วยวิธีนี้ เราได้เปิดความคิดของนิสิต พวกเขาพัฒนาความคิดในเชิงบวก ต่อความเป็นพหุวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาและศาสตร์วิชาการสมัยใหม่การเรียนรู้แบบนี้นิสิตจะต้องทำแบบทดสอบ ส่งการบ้าน และนำเสนอ  ซึ่งจะถูกตรวจประเมินโดยเพื่อนๆ ในชั้นเรียน และได้รับการดูแล การจัดกระบวนการเรียนรู้จากอาจารย์ผู้สอน ให้เกรดผลการเรียนรู้ตลอดจนหัวข้อหรือประเด็นที่จะต้องเรียนต่อในสัปดาห์ต่อไป ตอนท้ายของการเรียนรู้นิสิตต้องทำแบบทดสอบเพื่อประเมินผลการจัดการเรียนรู้ เพื่อส่งต่อเรียนในรายวิชาต่อไป การจัดการศึกษาแบบนี้ เป็นการเปิดโลกสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษาสำหรับนิสิตหรือผู้สนใจศึกษาทุกคน ทั้งภิกษุ สามเณร และประชาชนทั่วไป ทุกกลุ่มอายุสามารถเรียนรู้ได้ โดยไม่มีเงินหรือวัฒนธรรมเป็นกำแพงกั้นการเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษา “การศึกษาอุดมศึกษาเพื่อประชาชน”

 

 

บทสรุป (Conclusion)

          การอุดมศึกษา ต้องเป็นการจัดการศึกษาเพื่อประชาชน ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการศึกษาได้โดยไม่มีเหตุผลด้านการเงินหรือวัฒนธรรม เป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษาโดยไม่มีกำแพงกั้นด้วยระบบค่าใช้จ่ายที่แพงและรูปแบบการเรียนรู้ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก       การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อการพัฒนาคนให้มีคุณลักษณะตามที่สังคมต้องการ พัฒนาคนเพื่อให้คนเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้าของสังคมต่อไป

 

 

 

ประวัติผู้เขียน

ชื่อ-นามสกุล : พระสรวิชญ์ อภิปญฺโญ (ดวงชัย), ดร.

ประวัติทางการศึกษา : Ph.D. in Psychology

การทำงาน : อาจารย์สอนและนักวิจัย

ผลงานทางวิชาการที่ยอมรับ : งานวิจัยทางจิตวิทยา,พฤติกรรมศาสตร์,พระพุทธศาสนา,การท่องเที่ยว

ตำแหน่งหน้าที่  :    อาจารย์ประจำ

การทำงานปัจจุบัน : ภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว คณะครุศาสตร์

                       มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย


 

(ที่มา: พระสรวิชญ์ อภิปญฺโญ,ดร.)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕