หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พุทธศาสนาในประเทศไทย » ยุทธศาสตร์การเผยแผ่พุทธศาสนา
 
เข้าชม : ๑๓๔๔๖ ครั้ง

''ยุทธศาสตร์การเผยแผ่พุทธศาสนา''
 
พระเทพโสภณ (2546)

 
 

        ผมได้มีโอกาสมาพูดในการอบรมพระธรรมทูตนี้ทุกปี แต่ละปีก็มีประเด็นที่เป็นข้อคิดหลายเรื่อง แม้จะกำหนดหัวข้อให้พูดเรื่องการเผยแผ่ แต่วันนี้จะถวายความเห็นเรื่องยุทธศาสตร์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
          ในการไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศนั้น ความรู้ความสามารถของเรามีด้วยกันทั้งนั้น แต่ที่ไม่ค่อยบรรลุผลตามที่เราต้องการ คงจะเกี่ยวกับปัญหาเรื่องยุทธศาสตร์ จึงทำให้มีปัญหาและอุปสรรคอื่น ๆ มาก บางท่านเทศน์ดีสอนดี ก็ยังอยู่ไม่ได้ ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะยังมีปัจจัยอะไรหลายอย่าง งานพระธรรมทูตมีความละเอียดอ่อนมาก แถมยังถูกค่อนขอดว่าไปสอนเฉพาะกับคนไทยด้วยกัน เขาเอาเราไปเปรียบเทียบ กับพระธรรมทูตธิเบต ญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งศรีลังกาที่ประสบผลสำเร็จมากกว่าในการเผยแผ่กับชาวต่างประเทศ ในขณะที่เราประสบความสำเร็จกับคนไทย จึงต้องทำให้หันมามอง เหมือนกันว่าเรื่องนี้เป็นเพราะอะไร ก่อนที่เราจะลงไปเผยแผ่จริงๆ เราต้องทำการวิเคราะห์อย่างที่นักวางแผนทั้งหลายทำกันก่อนจะไปลงมือปฏิบัติการจริง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาราชวิทยาลัยก็ทำการวิเคราะห์ชนิดนี้ซึ่งเรียกว่า SWOT Analysis
          ก่อนที่เราจะลงมือปฏิบัติการจริงต้องทำการวิเคราะห์สถานการณ์ ๔ ด้าน คือ SWOT ประกอบด้วย
          ๑. จุดแข็ง (S=Strength)
          ๒. จุดอ่อน (W=Weakness)
          ๓. โอกาส (O=Opportunity)
          ๔. สิ่งคุกคาม (T=Threat)
          ก่อนที่ท่านจะไปทำงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างแดนนั้น ต้องวิเคราะห์ประเด็นทั้งสี่ล่วงหน้าว่าที่ที่ท่านจะไปอยู่มีอะไรรอท่านอยู่เพื่อจะเตรียมตัวได้ถูกต้อง อย่าไปแบบขอตายดาบหน้าเป็นอันขาด รวบรวมข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ทั้งสี่ประเด็นให้ได้แล้วค่อยไปทำงาน ซุนวูกล่าวว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครา (If you know others and know yourself, you will not be defeated in a hundred battles.)”

จุดแข็ง (Strength)
          คำแรกคือจุดแข็ง(Strength) ได้แก่ เวลาที่จะลงไปในพื้นที่ใดต้องหาข้อมูลให้ได้ก่อนว่า พื้นที่นั้นมีอะไรเป็นจุดแข็งที่ทำให้เราน่าจะทำงานก้าวหน้าไปด้วยดี ผมลองวิเคราะห์ดูจากประสบการณ์จากหลายแห่งที่ผมเคยไปทำงานมาเปรียบเทียบดู เช่น ถ้าเราดูจุดแข็งของการเผยแผ่พระธรรมทูตในสหรัฐอเมริกา จุดแข็งก็คือความเข้มแข็งของชุมชนชาวไทย ซึ่งข้อนี้เป็นจุดดี เพราะคนไทยรวมกลุ่มกันสร้างวัดและให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี นี่คือฐานที่มั่น
          จุดดีของคนไทยในต่างประเทศคืออยากบริจาคทรัพย์ทำบุญ เมื่อบริจาคก็ทำให้วัดมีเงินมาก ในยุโรปก็เช่นเดียวกัน แต่ในอินเดียนั้นไม่ใช่คนไทยในอินเดียบริจาค แต่เป็นคนไทยในประเทศไทยไปบริจาคสร้างวัดไทยในอินเดีย เพราะฉะนั้นคนไทยทั้งในและต่างประเทศให้การสนับสนุนเรื่องเงินเป็นอย่างดีในการสร้างวัด
          ส่วนพระลังกาไม่มีจุดแข็งนี้ พระลังกาเคยบ่นให้ฟังเมื่อเวลาไปพบกันที่ต่างประเทศว่า คนลังกาทำบุญนิด ๆ หน่อย ๆ ทั้งที่มีเงินมากเหมือนกัน ท่านบอกว่าคนลังการวยสู้คนไทยไม่ได้ เพราะคนไทยทำธุรกิจร้านอาหารไทยดังไปทั่วโลก ไปที่ไหนก็เจอแต่ร้านอาหารไทย วันหนึ่ง ๆ พระธรรมทูตไทยไปสวดมนต์ฉันเพลที่ร้านอาหารไทย ก็หมดเวลาแล้ว
          จุดแข็งอีกประการหนึ่งของคนไทยในต่างแดนคือชอบเข้าวัด คนไทยที่เมืองไทยไม่ค่อยชอบเข้าวัด แต่คนไทยในต่างประเทศจะเข้าวัดบ่อย อันนี้เป็นจุดดี เมื่อเข้าวัดบ่อย พาลูกหลานมาเรียนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เขาทำกิจกรรมให้วัด เพราะคนไทยเหงาจึงต้องการพบคนไทยและสถานที่ที่เขาจะพบกันคือวัด ทางสถานทูตไทยเมื่ออยากจะประกาศชี้แจงนโยบายอะไรก็ตาม ต้องไปที่วัด ฉะนั้นวัดจึงเป็นศูนย์กลางของชุมชน เหมือนวัดในประเทศไทยสมัยโบราณ


จุดอ่อน (Weakness)
          คำที่สองคือจุดอ่อน (Weakness) ได้แก่เรื่องภาษาและการบริหารจัดการ ภาษาอังกฤษเป็นจุดอ่อนของพระธรรมทูตไทย เราจึงสอนได้แต่เฉพาะคนไทยเท่านั้น เราจำเป็นต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้
          ในปี ๒๕๓๐ ผมเป็นคณบดีผู้ก่อตั้งบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อธิการบดีในยุคนั้น แต่งตั้งผมเป็นคณบดี แต่ไม่มีงบประมาณให้เปิดปริญญาโท ผมเป็นเจ้าไม่มีศาล ไม่มีนิสิตสักรูปเดียว มีโต๊ะทำงานอยู่ตัวหนึ่ง เมื่อถามอธิการบดีว่าทำไมไม่เปิดบัณฑิตวิทยาลัย ท่านบอกว่าไม่มีเงิน หลังจากนั้นผมได้รับนิมนต์ไปชิคาโก ก่อนกลับไทย ผมขอเทศน์กัณฑ์หนึ่งเพื่อระดมทุนไปเปิดปริญญาโทที่เมืองไทย ผมคุยว่าจะผลิตมหาบัณฑิตให้พูดภาษาอังกฤษได้ ญาติโยมชิคาโกชอบไอเดียนี้เพราะที่อเมริกาหาพระไทยพูดอังกฤษเก่งได้น้อย บางคนสงสัยว่าจะทำได้หรือ ผมบอกว่าคงจะทำได้ คือทำให้พระพูดภาษาอังกฤษได้ แต่ไม่ได้บอกว่าพูดได้ดีขนาดไหน
          เมื่อเทศน์จบ ปรากฏว่าผมได้กัณฑ์เทศน์เกือบสองแสนบาท สมัยเมื่อสิบห้าปีที่แล้วเป็นเงินไม่ใช่น้อย ผมนำเงินมาถามอธิการบดีว่าจะอนุญาตให้เปิดปริญญาโทไหม ถ้าอนุญาต ผมจะถวายเงินเข้ามหาวิทยาลัย ถ้าไม่อนุญาต ผมจะนำไปถวายวัดประยูรเพื่อให้เปิดการอบรมพระนักเทศน์ ท่านอธิการบดีตกลงอนุญาต บัณฑิตวิทยาลัยจึงเกิดขึ้นได้เพราะเงินกัณฑ์เทศน์นั้น ซึ่งโยมชิคาโกถวายมาเพื่อผลิตมหาบัณฑิตที่เทศน์เป็นภาษาอังกฤษได้ ทุกวันนี้ มหาจุฬาฯมีหลักสูตรปริญญาโทนานาชาติสอนเป็นภาษาอังกฤษ แต่พระไทยที่ภาษาอังกฤษดีพอที่จะเรียนจบหลักสูตรมีน้อย

การบริหารวัดในต่างประเทศ
          จุดอ่อนในเรื่องนี้อีกข้อหนึ่งก็คือการที่คนไทยเข้าวัดบ่อย ญาติโยม ชอบบริหารจัดการวัดแทนพระ ทำตัวเป็นเหมือนกับเจ้าของวัด แต่กลายเป็นจุดอ่อนเพราะชาวบ้านไม่ค่อยเข้าใจวัฒนธรรมวัด มักคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของวัด เพราะวัดจดทะเบียนในนามของสมาคมหรือองค์กร ตั้งกฎระเบียบไว้ว่าเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร (non-profit organization) การบริหารจัดการอยู่ในรูปคณะกรรมการ พระในบางวัดแทบไม่มีอำนาจเลย มีโยมเก่งๆจัดการให้เสร็จเรียบร้อย เวลาพระไม่ทำตามนโยบายของกรรมการ เขาไม่พอใจ พระก็อยู่ไม่ได้
          จุดแข็งที่คนเข้าวัดมากกลายเป็นจุดอ่อนไปทันที ถ้าพระบริหารจัดการไม่ดี คือมือไม่ถึง ไม่สามารถเรียกศรัทธาญาติโยมได้ เพราะฉะนั้น เมื่อจะไปเป็นพระธรรมทูตต้องให้ครบเครื่อง ถ้าเราไม่ครบเครื่องก็ต้องสามัคคีกันให้ดี ทำงานเป็นทีม
          คนไทยในต่างแดนแข่งขันแย่งกันดำรงตำแหน่งเป็นประธานหรือเป็นกรรมการต่างๆ ก่อให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งหรือขัดแย้งกันเองในระหว่างผู้ที่เข้าวัดด้วยกัน จุดแข็งกลายเป็นจุดอ่อนถ้าบริหารไม่ดี เพราะฉะนั้นความรู้ในเรื่องของการบริหารการจัดการเป็นเรื่องสำคัญมาก ปัญหามีทุกที่ ถ้าแก้ปัญหาไม่ทันจะลุกลาม กลายเป็นจุดทำลายวัดไปได้ ถ้าแก้ปัญหาทันก็กลายเป็นดีไป จะมีคนไทยเข้าวัดมาก และส่งเสริมสนับสนุนให้พระเผยแผ่กับชาวต่างประเทศได้มากขึ้น ในต่างประเทศมีโยมมาช่วยบริหารจัดการวัด พระช่วยทำงานสอนธรรมะ สอนภาษาไทย ทำให้บางวัดเจริญมาก ถ้าทำงานสัมพันธ์กันเป็นทีมจะดีมาก แต่ถ้าไม่เป็นทีมก็ปวดหัวมาก ๆ เพราะโยมก็ยึดเป็นเจ้าของวัดไป เราเป็นพระธรรมทูตเข้าไปอยู่ใหม่ ดีไม่ดีก็อยู่ไม่ได้ ต้องสร้างความเข้าใจสร้างความสัมพันธ์ สร้างระบบบริหารกับเจ้าของพื้นที่ให้ดี แล้วจะกลายเป็นพลังสำคัญในการบริหารวัด

โอกาส (Opportunity)
          ถ้าเราไปอยู่วัดต่างประเทศแล้ว แต่ทำงาน กับชาวต่างประเทศไม่ได้ เพราะภาษาอังกฤษของเราไม่ดี ก็ขลุกอยู่แต่ข้างในวัด เห็นหน้ากันอยู่แค่นั้น สอนคนไทยอยู่คนละมุมสองมุมในวัด งานไม่ก้าวหน้า
          ถ้าท่านไปสอนคนต่างประเทศ ท่านมีโอกาสเยอะมากที่จะทำงานในเชิงรุก ไปทำงานนอกวัด ท่านต้องหาโอกาสนี้ให้เจอ ต้องวางแผนว่าท่านจะไปเผยแผ่กับใคร ถ้าท่านเก่งเรื่องกรรมฐาน บังเอิญวัดนั้นเขามีอาจารย์สอนกรรมฐานอยู่แล้ว ท่านจะไปไม่รอด ท่านต้องไปสอนกรรมฐานแต่ไม่ใช่กับคนไทยในวัด ต้องสอนแก่ชาวต่างประเทศได้ ถ้าภาษาอังกฤษยังใช้ไม่ได้ ต้องจับใครสักคนมาเป็นล่าม หลวงพ่อชาพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่สอนพระฝรั่งได้ เพราะใช้ล่ามแปล
          พระบางรูปอายุมากแล้วจะพัฒนาภาษาอังกฤษให้ดีคงยาก แต่ต้องยอมรับว่าโอกาสยังมี เราต้องเรียนบทเรียนจากทางสายหลวงพ่อชา ซึ่งมีข้อด้อยเหมือนเรา แต่ประสบความสำเร็จ ไปสอนที่ไหนก็ตามเขาจะมีคนไทยมาช่วยหนุนหลังสร้างวัด คนไทยช่วยบริจาคทรัพย์ แต่ในขณะเดียวกันเขาจะบุกเบิกไปยังคนในท้องที่เช่นไปในอังกฤษ จุดแข็งของคนในอังกฤษ คือเป็นคนค่อนข้างอนุรักษ์นิยม (conservative) ชอบเรื่องศาสนา โอกาสดี (Opportunity) คือ คนอังกฤษเป็นผู้สนใจธรรมะ ศาสนาไหนเข้ามา จะรับไว้ก่อนทั้งนั้น นี่เป็นโอกาสดีของพระ
          สังคมอเมริกันชอบลองของใหม่เรียกว่าเป็นนักหาประสบการณ์ อะไรดี ๆ เขาอยากลอง เห็นว่าเป็นสิ่งท้าทาย พลอยเป็นโอกาสดีของเราด้วย คนอเมริกัน เป็นคนละอย่างกับคนอังกฤษที่หัวโบราณ เมื่อสอนกรรมฐาน คนอเมริกัน จะลองดูก่อน เขายังไม่เชื่อหรอก เขาถือเป็นโอกาสที่จะพิสูจน์ และเวลาที่เราไปทำงานที่นั่นถ้าเราไปเจอคนที่กล้ามาพิสูจน์ จะต้องเตรียมการดี ถ้ามีโอกาสเช่นนั้น ผมคิดว่าช่องทางโอกาสนั้นมีมาก ท่านทั้งหลายต้องเตรียมตัวศึกษาหาโอกาสให้พบ

บริหารแบบมืออาชีพ
          ผมจะยกตัวอย่างของมหาจุฬาฯ จุดแข็งของมหาจุฬาฯ คือการเป็นมหาวิทยาลัย เราไม่ใช่แค่วัดหรือสำนักกรรมฐาน แต่เป็นมหาวิทยาลัย (University) เรามีตรงนี้เป็นจุดขาย เพราะฉะนั้นเราจะทำงานเผยแผ่แบบวัดไม่ได้ ความเป็นมหาวิทยาลัยคือความเป็นนักวิชาการ หมายถึงความเป็นมืออาชีพ เราต้องทำงานอย่างมืออาชีพ ผมอยากให้ท่าน ไปดูวิธีทำงานของมหาจุฬาฯ บางที พวกท่านที่ยังมองไม่เห็นคำว่ามืออาชีพว่าต่างจากมวยวัดอย่างไร มืออาชีพ (professional) คือจุดแข็งของมหาวิทยาลัยสงฆ์ คำว่ามืออาชีพคือวิชาการ มีการศึกษามีทีมงานวิจัยหนุนหลัง มีความรู้และการวางแผนล่วงหน้า นี้คือจุดแข็ง
          เรามีจุดแข็งที่มหาเถรสมาคมต้องมอบหมายงานให้เราทำหลายเรื่อง รวมถึงงาน
อบรมพระธรรมทูตด้วย ความเป็นมืออาชีพคือเราจะทำอะไรก็ตามจะต้องมีข้อมูลเพียบพร้อม ไม่ตายดาบหน้า ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมจะไปทำงานอะไรที่ไหนก็ตาม ถ้าไปในนามมหาวิทยาลัยทีมจะต้องหาข้อมูลก่อน ตรวจดูว่ามีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน
          ในทำนองเดียวกัน พิธีปราสาทปริญญาของมหาจุฬาฯ เมื่อเทียบกับงานวัดจะต่างกันมาก เพราะความเป็นระเบียบ มีขั้นตอนพิธีการ มีจุดมุ่งหมายเสมอว่าเราทำเพื่ออะไร ไม่ทำสะเปะสะปะ เพราะฉะนั้นต้องมีขั้นตอนมีวิธีการและการดำเนินงานทุกอย่าง เชื่อมประสานสัมพันธ์อยู่ภายใต้การควบคุม (under control) ไม่ให้มีสิ่งไม่ประสงค์ เกิดขึ้น รู้ที่มาที่ไป ไม่ให้อะไรเกิดขึ้นโดยไม่รู้หรือคุมไม่ได้ ไม่ใช่อยู่ ๆ ใครนึกมาเป็นพิธีกรก็มา จะต้องมีการตกลงกันก่อน มีการตกลงเตรียมการ ว่าใครจะทำอะไร ตรงไหน อย่างไร ทุกขั้นทุกตอน
          เรื่องนี้ถ้าเราทำไม่สะดวกหรือไม่เชี่ยวชาญ เราก็ตั้งคำถามว่าใครจะมาช่วยเรา ต้องมีทีมหนุนหลัง (back up) เพราะถ้ามีจุดอ่อน (Weakness) ก็ต้องถามว่ามีใครมาช่วย ใครมาทำ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าภาษาอังกฤษไม่เก่ง ใครมาช่วยเป็นล่าม ไม่ใช่ว่าภาษาอังกฤษไม่เก่งก็ยังพูดทู่ซี้ไป เขียนอะไรเรื่อยเปื่อยไป ไม่ใช่ครับ ต้องเอาฝรั่งมาช่วยเรา ผมจัดประชุมนานาชาติหลาย ๆ ครั้ง ให้ฝรั่งมาช่วย ใช้คนที่เก่งภาษาอังกฤษมาช่วย มาจัดทำหนังสือ เราจะดูว่าตรงไหนเราทำได้ ตรงไหนเราทำไม่ได้ หาคนจะมาช่วย เพราะฉะนั้น คำว่า “คนมาช่วย” คือโอกาส (Opportunity) ของมหาจุฬาฯต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น ตรงที่ผู้มีศรัทธายินดีมาบริจาค หรือมาช่วยลงแรง ช่วยอย่างไม่มีขอบเขต ไม่มีจำกัด คนศรัทธาพระในเมืองไทยมีจำนวนมหาศาล เรามีโอกาสมหาศาล นี่คือทุนทางสังคม

โอกาสด้านเครือข่าย
          ผมกำลังสร้างเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของมหาจุฬาฯขึ้นมา ตอนนี้ผมทำเว็บไซต์ (website)เชื่อมเครือข่ายข่าวสารข้อมูลของทุกวิทยาเขต ทั้งทำซอฟแวร์ต่าง ๆ ให้มีโครงสร้างพื้นฐานหรือเครือข่ายเชื่อมไปทุกวิทยาเขต เรามีเครือข่ายที่เชื่อมในประเทศ และต่างประเทศ จะใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น เรียนทางไกล ถ่ายทอดตอนผมพูดอยู่ตรงนี้ ต่อไปทุกคนทั่วโลกจะดูได้หมด เป็นการศึกษาทางไกล (Teleconference) แล้วบันทึกไว้ใน server ของเรา ใครเปิดดูก็ได้ เขาเรียกว่าวีดิทัศน์ตามต้องการ (video on demand) อาจารย์สอนวิชาแล้วบันทึก ไว้ใครจะมาเปิดดูเมื่อไรก็ได้ทั่วโลก บางคนบอกว่าผมฝัน ถ้าผมพูดแบบพระทำไม่ได้ เราไม่ใช่มืออาชีพ แต่ผมหาคนมาช่วยทำให้
          ผมใช้เครือข่ายที่สำคัญมากเข้ามาช่วย เป็นเครือข่ายของ ทีเอ หรือเทเลคอมเอเชีย (TA=Telecom Asia) ทุกวันนี้ทีเอมีอินเตอร์เน็ต เขาวางเครือข่ายพื้นฐานไว้หมดแล้วอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เขาปวารณาว่าจะช่วยมหาจุฬาฯ เขาส่งทีมมาดูและวิเคราะห์ให้หมด พาพวกเราไปดูงานที่บริษัทด้วย ขัดข้องตรงไหนให้บอกท่านธนินทร์ เจียรวนนท์ ประธานใหญ่ของซีพี (เจริญโภคภัณฑ์) สั่งตรงมาเอง อันนี้คือโอกาส และไม่ใช่เรื่องนี้เรื่องเดียว พอเราจะประชุมนานาชาติ คนก็เอาเงินมาให้เราทำงาน
          เมื่อปีที่แล้วมหาจุฬาฯจัดประชุมสภาผู้นำศาสนาโลก (World Council of Religious Leaders) ปีหน้าเราจะจัดประชุมผู้นำเยาวชนเพื่อสันติภาพโลก (World Youth Peace Summit) เพราะฉะนั้นโอกาสของมหาจุฬาฯ คือการ สร้างเครือข่ายกระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว คนมาสมัครเรียนมหาจุฬาฯกันมากมาย เรามีจุดอ่อน คือเมื่อคนมาเรียนมาก ไม่มีห้องเรียน ชั้นเรียนเต็มไปหมด เพราะฉะนั้นโอกาสของเราคือต้องไปสร้างมหาวิทยาลัย ในพื้นที่ใหม่เกือบร้อยไร่ ตอนแรกปี ๒๕๔๓ เราตั้งงบประมาณไว้ ๙๐๐ ล้านบาท เศรษฐกิจตกตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ เป็นต้นมา เราจะไปหาเงินที่ไหน เศรษฐกิจก็ไม่ดี แต่ภายในสามปีที่เราทำมา ตอนนี้ได้ ๙๐๐ ล้านบาทแล้ว เราขยายงบเพิ่มเป็น ๑,๒๐๐ ล้านบาท และจะสร้างวัดติดกับมหาวิทยาลัย เราได้เงินบริจาคมากเพราะใช้โอกาสทั้งนั้น ผมไม่ใช่นักก่อสร้าง แต่เราได้เงินมาก เพราะเรารู้จุดแข็ง จุดอ่อน และโอกาส ของเรา

สิ่งคุกคาม (Threat)
          นอกจากสามคำดังกล่าวแล้ว คำที่สี่ที่ต้องนำมาวิเคราะห์ คือ เราต้องรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่คุกคามเรา (Threat) สิ่งที่เป็นภัยคุกคามมหาจุฬาฯ คือต่อไปคนบวชน้อยลง อันนี้เป็นสิ่งคุกคาม คณะสงฆ์ทั่วไปด้วย เราสร้างมหาวิทยาลัยใหญ่โต ปรากฏว่าเด็กจะเรียนในโรงเรียนมากขึ้น เมื่อเด็กเรียนในโรงเรียนมากขึ้น บวชเณรน้อยลง บวชพระน้อยลง ใครจะมาเรียน เพราะมหาจุฬาสร้างที่เรียนไว้เยอะ ถามว่าเรามีแผนเตรียมรับภาวะคุกคามไหม ท่านไปสอนในวัดที่อเมริกา ภาวะคุกคามคืออะไร ท่านมีวัดใหญ่โต มีพร้อมหมดทุกอย่าง ภาวะคุกคามก็คือความเป็นวัดใหญ่โตนั้น สำหรับคนไทยรุ่นพ่อแม่เท่านั้นที่บริจาค รุ่นลูกไม่ยอมเข้าวัด เขาพูดภาษาอังกฤษ เรียนโรงเรียนฝรั่ง เป็นหนุ่มเป็นสาวไม่เข้าวัด วัดที่สร้างใหญ่โต รุ่นพ่อแม่ เมื่อเกษียณแล้วกลับไทย หรือตายจากไป อีก ๑๐ หรือ ๒๐ ปีข้างหน้า ใครเข้าวัด นี้คือสิ่งที่คุกคาม

จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และสิ่งคุกคาม (SWOT)
          เราวิเคราะห์ทุกอย่าง พูดในสิ่งที่ไกลตัวแล้ว คราวนี้ลองมาวิเคราะห์สี่คำที่ใกล้ตัวบ้าง ท่านจะไปเป็นพระธรรมทูต อะไรคือจุดเด่นของท่าน ท่านเก่งด้านไหน เช่น เก่งเรื่องก่อสร้าง ปรากฏว่าไปที่วัดนั้นเขาสร้างหมดแล้ว กลายเป็นว่าจุดแข็งไม่มีประโยชน์
          อะไรคือจุดเด่นของท่าน ท่านสอนกรรมฐาน เทศน์เก่ง บรรยายธรรมคล่อง แต่ภาษาอังกฤษไม่ได้เรื่อง ไปอยู่ที่นั่นปรากฏว่าคนอื่นเขายึดธรรมาสน์หมดแล้ว ท่านไม่มีโอกาสที่จะแสดงธรรม ท่านต้องหาจุดแข็ง ของท่านใหม่ สร้างขึ้นมาให้ได้ ให้สอดคล้องกับโอกาส (Opportunity) โอกาสมีด้วยกันทั้งนั้นแหละ ท่านไปทำงานที่ไหนก็ตาม บางท่านไม่เทศน์ภาษาอังกฤษ ใช้ภาษาลาวหรือภาษาเขมรอย่างเดียว ยังไปรอดได้ เพราะว่าชุมชนชาวลาว ชาวเขมรใหญ่มาก ๆ ในออสเตรเลีย อเมริกาและฝรั่งเศส แค่พูดภาษาของเขาได้ก็สบายแล้ว นี่เป็นจุดแข็งได้ เพราะฉะนั้น เมื่อท่านจะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ท่านต้องมีความสามารถในทางภาษา ผมคาดหวังท่านให้เก่งภาษา จะเป็นภาษาอะไรก็ได้
          ถ้าพระธรรมทูตไปอยู่ในต่างประเทศ สิ่งที่เขาต่อว่ามาก็คือ ให้ไปเทศน์หรือสอนเป็นภาษาอังกฤษบ้าง ท่านก็พอจะทำได้ แต่มักไม่เตรียมพูดเป็นภาษาอังกฤษ พระลังกาสวดมนต์ฉันเพลเสร็จ เขาจะเทศน์ ๑๕ นาทีเป็นภาษาอังกฤษ แต่พระไทยไม่ยอมเทศน์ เสียโอกาสมาก ๆ อ้างว่าพูดอังกฤษไม่ได้ ถ้าพูดไม่ได้ก็ท่องไป ถ้าสอนเด็กพุทธศาสนาวันอาทิตย์เป็นภาษาไทย เขาไม่เข้าใจธรรมะหรอก เด็กไทยในอเมริกาพูดภาษาอังกฤษ ถ้าจะให้ชนะใจเด็กที่โน้น ต้องสอนสองเรื่อง คือสอนพระพุทธศาสนาเป็นภาษาอังกฤษ และสอนให้เด็กพูดภาษาไทย เขียนและอ่านภาษาไทยได้ พ่อแม่เด็กจะชอบใจมาก
          เพราะฉะนั้น ก่อนไปต่างประเทศ ท่านต้องรู้วิธีสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติได้ สอนภาษาไทยผ่านภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ก. ไก่ แบบนี้ใครก็สอนได้ แต่สอนผ่านภาษาอังกฤษ ต้องฝึก เพราะเด็กต่างประเทศไม่รู้ภาษาไทย ถ้าท่านสามารถใช้ภาษาอังกฤษไปสอนภาษาไทยให้เขา เด็กก็สอนภาษาอังกฤษให้เรา เราเตรียมคู่มือการใช้ภาษาอังกฤษสอนภาษาไทยติดมือไป ผมเคยเจอฝรั่งที่พูดไทยได้ ถามว่าเขาเรียนภาษาไทยจากไหน เขาบอกว่าจากหลวงพี่ที่วัดไทยในอเมริกา
          ถ้าภาษาอังกฤษดี ให้ท่านสอนธรรมะเป็นภาษาอังกฤษ ผมสังเกตดูเด็กไทยที่โน้นไม่เข้าใจภาษาไทย ถ้าเราสอนธรรมะเป็นภาษาอังกฤษให้เขา เขาจะเข้าใจเร็วมาก เขาจะซาบซึ้งนับถือเราเร็วขึ้น ผมเคยไปสอนเด็กที่ชิคาโกอยู่หลายเดือนเหมือนกัน เด็กตั้งแต่ ป.๒ ป.๓ ที่โน้นพูดภาษาไทยไม่ค่อยได้ แต่เด็กจะสนใจพระพุทธศาสนามาก ภาษาอังกฤษผมก็ใช่ว่าจะดีถึงขนาดสอนธรรมะเป็นนามธรรมให้เด็กเข้าใจได้ เราไปศึกษาวิธีสอนในโรงเรียนปกติของเด็ก คือเขาแจกอุปกรณ์เยอะ เขาไม่ไปบรรยายกันดุ่ย ๆ ครูสมัยโบราณต่างจากครูสมัยปัจจุบัน ครูสมัยโบราณมีหนังสือให้อ่านแล้วครูอธิบาย เด็กก็จำ แบบที่เราเรียนกันมา สมัยนี้เขาไม่ใช่มีหนังสืออย่างเดียว ยังมีคอมพิวเตอร์ด้วย ครูมีหน้าที่แนะนำให้เด็กอ่านแล้วก็มารายงานหน้าชั้น ให้เด็กถามและตอบปัญหา ให้เด็กอภิปราย เราก็ใช้วิธีการเดียวกันในการสอนธรรมะ
          ท่านสอนเด็กด้วยความรู้ความเข้าใจพระพุทธศาสนาที่ท่านเตรียมการสอนไว้ ได้ตำราที่จะสอนเด็กทั้งหมดก็เอาเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ ไปปริ้นท์แจกแต่ละบทเรียน ให้เด็กอ่าน อภิปราย (discuss)กัน แล้วเราก็ตอบคำถามบ้าง พยายามฟังสำเนียงเด็กให้รู้เรื่องก่อน แล้วก็เยสโน (yes no) ตอบไป เท่านี้เราก็สอนได้แล้ว
          ข้อสำคัญก็คือหาหนังสือสอนเด็กมีภาพการ์ตูน ซึ่งทุกวันนี้หลักสูตร ที่สอนเด็กเป็นภาษาอังกฤษมีเว็บไซต์ต่าง ๆ สำหรับสอนชั้นประถม มัธยมไว้อย่างดีพอสมควร ผมแนะนำว่า จะสอนเด็กนั้น ท่านต้องมีคู่มือมีสื่ออุปกรณ์ พยายามอธิบายเป็นภาษาอังกฤษเด็กจะเข้าใจดี

สอนพระพุทธศาสนาให้ปรับประยุกต์
          วัยรุ่นในต่างประเทศร้องทุกข์ว่าทำไมเวลาพระสอนพระพุทธศาสนา ไม่รู้จักประยุกต์ให้เข้ากับวิถีชีวิตเขา อันนี้เป็นจุดอ่อนของเราอย่างหนึ่ง มหายานปรับตัวเร็วกว่าเรา เราจะมีศาสนพิธีมากซึ่งปรับยาก ถ้าไม่อธิบายไม่ทำความเข้าใจ และไม่วิเคราะห์ให้ดี เราจะได้เฉพาะคนแก่ ๆ เข้าวัดเท่านั้น
เวลาฝ่ายมหายานสอนนั่งกรรมฐาน เขาจะมีเบาะรองนั่ง หรือมีเก้าอี้ เขาไม่ให้นั่งขัดสมาธิบนพื้น เพราะฝรั่งนั่งยาก คนไทยก็เมื่อย ฉะนั้นคนไปโบสถ์ฝรั่ง เขานั่งเก้าอี้กัน มีวัดไทยในต่างประเทศบางวัดไปซื้อโบสถ์คริสต์ก็ยังเก็บเก้าอี้ที่นั่งยาว ๆ เอาไว้ ให้มีการปรับประยุกต์บ้าง
          ข้อสำคัญที่สุดเด็ก ๆ ไปเรียนอยู่ในโรงเรียนคริสต์เขากลับมาบอกพ่อแม่ว่า ศาสนาคริสต์ทันสมัยมาก พระไทยไม่เห็นสอนอะไรที่ใช้ประโยชน์ได้เลย ท่านสอนอริยสัจสี่ ไตรลักษณ์ ทื่อ ๆ แต่ศาสนาคริสต์แพรวพราวมาก ผมสงสัยว่าเขาสอนอย่างไร ผมไปที่โน้น ผมไปเปิดเคเบิลทีวีช่องหนึ่ง มีแต่เรื่องศาสนาคริสต์ ๒๔ ชั่วโมง เวลาบาทหลวงเทศน์ จัดเวทีน้อง ๆ คอนเสิร์ต มีทั้งหางเครื่องร้องเพลง เวลาพูดเขาไม่นั่งอย่างนี้ เขาเดินครับ มีไมค์ติดหน้าอก ทอล์คโชว์ดี ๆ นี่แหละ เดินไปพูดไปถือหนังสือไบเบิลเล่มหนึ่ง
          เวลาบาทหลวงเล่าเรื่องต้องแสดงท่าประกอบด้วย เช่นเล่าถึงความทุกข์ของมนุษย์ ผู้หญิงคนหนึ่งทุกข์ทรมานเหลือเกินอย่างนั้นอย่างนี้ หลวงพ่อพอดีไปเจอเข้าก็ปลอบ ผู้หญิงเล่าความทุกข์ให้หลวงพ่อฟัง หลวงพ่อฟังแล้ว เศร้าจริง ๆ น้ำตาไหลพูดถึงตรงนี้ แล้วน้ำตาบาทหลวงไหลจริง ๆ รักสงสารเธอ เศร้าใจกับชีวิตเธอ เล่าไปร้องไห้ไปด้วย คนเป็นพันในห้องประชุมฟังเงียบสะเทือนใจ ชนะใจคนฟัง การที่เขาสอนอย่างนี้ เราไปศึกษาจุดแข็งของเขาเอามาใช้ ผมไปที่ไปประชุมนานาชาติ ผมจะไปดูวิธีการว่าทำไมคนจึงมาสนใจฟังนักพูดดัง ๆ แม้แต่ศาสนาอื่นผมก็ไปดู

รู้เรารู้เขา
          ฉะนั้น สิ่งที่ผมใช้สอนบางส่วนมาจากการที่ไปดูนักเทศน์ศาสนาอื่นสอนกัน เราก็นำมาประยุกต์ อย่างที่ผมพูดบรรยายและใช้เรื่องเล่าประกอบ บางคนอาจจะนึกว่าผมเอามาจากหลวงตา แพร-เยื่อไม้ แต่ผมไปดูศาสนาอื่นเขาสอน เขามีเรื่องเล่าประกอบทั้งนั้น มีแต่พระไทยเท่านั้นสอนธรรมะแล้ว ยกเรื่องเล่าที่ไม่ค่อยเข้ากับธรรมะ นึกจะเล่าก็เล่า นึกจะจบก็จบ ไม่รู้ว่าสอนให้รู้เรื่องอะไร แต่นักเทศน์ดี ๆ ระดับโลกไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม ผมลองอ่านงานและนำมาวิเคราะห์ พบว่าเขาจะมีเรื่องเล่าประกอบทั้งสิ้น เขาเรียกว่าพูดเป็นบุคลาธิษฐาน
          แม้แต่พระพุทธเจ้ายังทรงเล่านิทานชาดกประกอบ อย่าไปดูถูกเรื่องเล่าประกอบ มีนักเทศน์คนหนึ่งสอนศาสนาฮินดู อยู่ที่ไมซอร์ (Misore) อินเดียใต้ ผมเคยไปนั่งฟัง เขาสอน พูดดีจริง ๆ ฝรั่งมากันเต็มหมด พูดภาษาอังกฤษได้ไพเราะ อลังการจริง ๆ ฝรั่งคลั่งไคล้มาก คนมากันมากมาย ในที่สุดเขาอยู่ไม่ได้คนในท้องที่ไม่พอใจ เอามีดปาใส่เฉียดคอไปนิดเดียว ต้องย้ายออกจากอินเดียไปอยู่อเมริกาเมืองโอเรกอน ซื้อหุบเขาทั้งหุบเขา คนในนั้น เป็นลูกศิษย์เขาหมด มีเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว มีรถโรลส์รอยส์ ๙๙ คัน
          มีอยู่ปีหนึ่งเขาไปเข้าปฏิบัติกัมมัฏฐาน ไม่พูดจากับมนุษย์ทั้งหลาย เก็บตัวเข้าเฝ้าพระเจ้า ให้ลูกศิษย์คุมงาน ปรากฏว่าลูกศิษย์ยักยอกเงินในธนาคารเอาไปหมด สานุศิษย์สองคนผู้หญิงผู้ชายเชิดเงินไปแต่งงานกัน ไม่มีเงินเสียภาษี รัฐเก็บภาษีย้อยหลัง เขาอยู่ในอเมริกาไม่ได้ต้องกลับและมาตายที่อินเดีย เพราะลูกศิษย์เป็นเหตุ นักเทศน์คนนี้ชื่อภควาน ราชนีศ

หาจุดแข็งจุดอ่อนในตัวเองให้พบ
          ผมขอวิเคราะห์จุดแข็ง (Strength) ของผม นั่นคือผมมีความคิดหรือมีไอเดีย (idea) จุดอ่อนคือยากที่จะสื่อสารให้คนตามทัน ถ้าผมพูดปรัชญาของฌอง-ปอล ซาตร์ให้ท่านฟัง ผมว่าไม่ถึงครึ่งชั่วโมงท่านจะหลับกันหมด แต่ถ้าเอาปรัชญานั้นมาผูกแต่งเป็นเรื่องเล่าให้ท่านฟัง ท่านจะฟังรู้เรื่อง ฉะนั้น เรื่องที่ท่านฟังผมพูด ที่จริงผมพูดให้ยากกว่านั้นได้ ขึ้นอยู่กับคนฟัง ผมอยากพูดเรื่องลึก ๆ แต่ปีหนึ่งจะได้พูดสักครั้งหนึ่งเพราะหาคนฟังยาก ส่วนมากก็พูดเรื่องเบา ๆ แต่ปีหนึ่งผมจะพูดเรื่องที่อยากพูดสักครั้ง หรือสองครั้ง เรื่อง“ขอบฟ้าแห่งความรู้” นั่นแหละที่สะใจผม ไอเดียที่ผมพูดแกะออกมาพิมพ์ได้เลย
          ผมค้นพบจุดแข็งในตัวผม ในการเป็นนักเผยแผ่พระพุทธศาสนา ผมมีฐานความคิด แต่ผมมีจุดอ่อนที่เหมือนกับนักคิดทั้งหลาย ในการสื่อให้คนเข้าใจได้ยาก ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ของนักคิด นักคิดทั้งหลายจะคิดเป็นนามธรรม จะคิดได้เร็ว แต่ถ้าให้พูดออกมา คนจะไม่รู้เรื่อง ทำนองเดียวกันกับสิ่งที่เรียกว่าภาษาคนภาษาธรรม ยิ่งผู้บรรลุธรรมถ่ายทอดมาเป็นภาษามนุษย์เราฟังไม่รู้เรื่อง นักคิดทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน เราก็มาดูจุดอ่อนตรงนี้ แล้วไปหาดูคนในวงการเดียวที่คล้ายกับเรา เขาแก้จุดอ่อนนี้อย่างไร ผมไปหาดู และลองใช้วิธีของเขา คนนี้แก้อย่างนี้ได้ผล เราก็แก้จุดอ่อน ในการเผยแผ่ของเราตามนั้น
          เพราะฉะนั้น นักคิดมักจะขาดความพยายามที่จะสื่อความรู้ความคิดที่มีให้คนเข้าใจ การสื่อให้คนรู้เข้าใจเป็นศิลปะ (Art) ศาสตร์คือความรู้ ศิลปะเป็นสิ่งที่ต้องสั่งสมฝึกฝน ผมพบว่าในลักษณะอย่างผม การใช้สื่อช่วยจะทำให้คนฟังตามได้ดีขึ้น เพราะความคิดของผมบางทีเป็นวิชาการที่ยากมาก ถ้าผมไม่เขียนลงแผ่นใสสักแผ่นเดียว คนฟังจะงง ผมถือภาษิตจีนว่า “ภาพหนึ่งภาพมีค่าเท่ากับคำพูดหนึ่งพันคำ” ผมเชื่อตามนั้นและผมก็ทำด้วย แทนที่ผมจะอธิบายเป็นพันคำ ผมฉายภาพให้ท่านดูสักหนึ่งภาพ ท่านก็เข้าใจดี แต่จะใช้วิธีนี้ได้ดีต่อเมื่อเรามีฐานความรู้ความคิดที่ลึก สามารถเอาภาพมาขยายให้ดูง่าย บางคนความคิดตื้นอยู่แล้ว ภาพก็ตื้น มันไม่ช่วยอะไร เราต้องวิเคราะห์ให้ได้ ผมเป็นนักเผยแผ่ ผมต้องวิเคราะห์จุดแข็งจุดเด่นของผม จุดอ่อนผมก็วิเคราะห์อย่างที่ผมพูดว่าสื่อช่วยผม ถ้าผมไม่มีสื่อ คนจะตามความคิดผมยาก เพราะว่าความคิดผมอาจจะเป็นปรัชญา ต้องมีสื่อมาช่วย ผมทดลองใช้แผ่นใสบ้าง Power point บ้าง ประหยัดเวลาดี
          เรื่องที่ ผมอยากจะพูดมีมาก มักจะมาทั้งระบบ ถ้าผมพูดบรรยายไปทั้งระบบอาจถึง ๖ ชั่วโมง คนจึงจะเข้าใจ เพราะฉะนั้น เรื่องยากนี่ ถ้าไม่มีสื่อ คนฟังจะรู้เรื่องภายใน ๖ ชั่วโมง แต่ถ้ามีสื่ออาจจะใช้เวลา ๒ ชั่วโมง ประหยัดเวลาด้วย ผมสามารถที่จะสื่อความคิดได้มากขึ้น เมื่อเช้านี้ ถ้าผมไม่มีพาเวอร์พอยต์ (Power Point) ตอนผมบรรยาย ให้พุทธศาสตรบัณฑิตใหม่ นั้น ผมอาจจะต้องพูดถึง ๔ ชั่วโมง คนถึงจะตามทัน แต่ผมใช้ พาเวอร์พอยต์ประหยัดเวลา เหลือแค่ ๒ ชั่วโมง
          เพราะฉะนั้น เราต้องดูจุดแข็งจุดอ่อนอะไรต่าง ๆ ทีนี้ถ้าไม่มีสื่อ เช่น เทศน์ตามศาลาวัด ขึ้นธรรมาสน์ มัวแต่ไปฉายพาเวอร์พอยต์อยู่ โยมไล่ลงแน่ หาว่าไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง
          ในกรณีที่ไม่มีสื่อ จะทำอย่างไร? ผมใช้วิธีนี้ ถ้าไม่สามารถจะใช้สื่ออื่น ต้องฝึกทักษะ หรือศิลปะอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อเราใช้ภาพช่วยไม่ได้ เราต้องใช้ภาพที่คำพูด เรียกว่าพูดให้เห็นภาพ (Figurative speech) ต้องฝึกความสามารถในการเล่าเรื่อง ใช้คำพูดสั้น ๆ ไม่ต้องมากแต่คนเห็นภาพ เพราะความคิดของเรานั้นเป็นนามธรรม ธรรมะเช่น เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นธรรมาธิษฐาน ถ้าท่านสามารถสื่อออกมาให้เป็นเรื่อง ผูกโครงเรื่อง เล่าเรื่องประกอบ คนเห็นภาพและตามทัน ถ้าท่านไม่มีความสามารถตรงนั้น ท่านต้องใช้สื่อ แต่ก่อนผมก็ใช้แค่เครื่องฉายแผ่นใส (Overhead Projector) ใช้แผ่นใสเท่านั้น เดี๋ยวนี้ต้องใช้พาเวอร์พอยต์ (Power Point) ถ้าผมไม่ใช้สื่ออาจจะต้องพูดนานกว่าจะได้เรื่อง ผมนำสื่อและอุปกรณ์มาใช้เป็นจุดแข็งแก้จุดอ่อน อย่างได้ผลดี

โอกาสเป็นการท้าทาย
          ในการไปพูดที่ไหนครั้งแรก เราไม่ต้องไปหวังว่าจะต้องสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ ต่อให้ท่านเป็นนักพูดที่ดีขนาดไหน ถ้าท่านไปเวทีใหม่ ๆ เป็นครั้งแรก เช่น ท่านไปสอนในต่างประเทศปีแรก ท่านอย่าไปหวังผลร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถือว่าเป็นการเปิดตัว เป็นการสร้างโอกาสและแก้ไขปรับปรุงตัว ข้อสำคัญ คือโอกาสนั้นเป็นการท้าทาย รับงานใหม่ให้มาก งานท้าทายเรา และให้โอกาสเรา ตรงนี้เรียกว่าทำวิกฤตให้เป็นโอกาส ผมจะพาตัวเองเข้าไปหาโอกาสหรือวิกฤตต่าง ๆ เสมอ บางทีถ้าเป็นงานที่ยากและท้าทาย ผมจะรับพูด งานที่ยากสำหรับผม เช่น การประชุมนานาชาติ บางทีสหประชาชาตินิมนต์มาผมก็ไป เคยไปพูดที่อียิปต์ ซึ่งเป็นงานท้าทาย ตอนนั้นมีการประชุม เรื่อง ประชากรและการพัฒนา (Population and Development) ผู้จัดนิมนต์พระไทยไปรูปเดียวจากเมืองไทย อียิปต์เป็นประเทศอิสลาม ไม่ให้พระเข้าประเทศ คนเข้าประชุมประมาณ ๑๔,๐๐๐คน พอหนังสือนิมนต์มา ผมลังเลว่าจะไปดีหรือไม่ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ (Bangkok Post) รายงานว่าตอนนั้นมุสลิมหัวรุนแรงในอียิปต์ประกาศว่าถ้าใครมาประชุมจะยิงให้ตายหมด ทำไมมุสลิมหัวรุนแรงถึงจะยิงคนที่ไปประชุม ได้ความว่า เพราะการประชุมนี้สนับสนุนการคุมกำเนิด
          การคุมกำเนิดขัดกับพระประสงค์ของพระเจ้า พระเจ้าสร้างมนุษย์ แล้วสั่งว่าจงแพร่หลายต่อไป การคุมกำเนิดถือว่าขัดพระประสงค์ในคัมภีร์พันธสัญญาเดิม (Old Testament) ซึ่งอิสลามนับถือมาก เขาจึงแพร่หลายเกิดเอาเกิดเอาในประเทศไทย ส่วนพุทธถือ อพราหมจริยา เวรมณี คุมกำเนิด พูดแบบอิสลามก็คือ ใครมาพูดเรื่องคุมกำเนิดยิงให้ตายหมด ผมจะให้ไปเผยแผ่ที่นั่นก็มีสิทธิ์ถูกยิงตาย ต่อมา มีข่าวว่าตอนนั้นเขาจับพวกหัวรุนแรง ๔๐๐ คนเข้าคุกแล้ว ปลอดภัยดี ผมก็ตกลงไป พอไปถึงอียิปต์ ตำรวจคุ้มกันตั้งแต่สนามบิน นี่คือการใช้วิกฤตเป็นโอกาส

วิเคราะห์ตัวท่านเอง
          ที่ผมพูดมานี้เป็นการใช้ สวอท อนาลิซิส (SWOT Analysis) กับตัวเอง จุดแข็งของท่านอยู่ตรงไหนในการเป็นนักเผยแผ่? จุดอ่อนของท่านอยู่ตรงไหน? ปิดตรงนั้น ผมเล่าแล้วว่าจุดอ่อนของผมอยู่ที่ความคิดเป็นนามธรรมมาก ผมแก้ด้วยการ
          ๑. ใช้สื่อ
          ๒. พูดให้เห็นภาพ
          ๓. ใช้เรื่องเล่าประกอบ
          บางท่านมีจุดอ่อนคนละแบบกับผม อาจไม่ต้องใช้วิธีของผม แต่ท่านต้องหาอุปกรณ์มาช่วย
          ข้อที่ผมใช้มากคือเรื่องโอกาส (Opportunity) เราต้องหาโอกาสพัฒนาตนเองตลอดเวลา ไปพูดในเรื่องที่เราไม่เคยพูดบ้าง เข้าไปในดินแดนที่ท้าทาย ลองดูว่าเราจะสร้างความสามารถใหม่ขึ้นได้หรือไม่ เพราะฉะนั้น ลักษณะบุกเบิกทำให้ผมเผยแผ่ไม่หยุดและก็ไม่ตกยุค บางท่านดังขึ้นมาสักระยะหนึ่งคือดังอยู่ยุคหนึ่ง แต่ก็มีคนอื่นขึ้นมาแทน เรียกว่าล้าสมัยไปเพราะไม่แสวงหาโอกาสที่จะพัฒนาตนเอง ผมต้องแสวงหาความรู้ใหม่ความคิดใหม่และ วิธีการใหม่ตลอดเวลา และรู้ว่าสิ่งที่คุกคาม (Threat) ของเราคืออะไร
          ถ้าท่านไม่ก้าวไปข้างหน้า คนอื่นจะแซงท่านไป ในการเผยแผ่ เช่น คนรุ่นใหม่พูดภาษาอังกฤษดีกว่ารุ่นเรา เขาเรียนเอกอังกฤษ มีสื่อเยอะกว่ารุ่นผมเรียนภาษาอังกฤษ สมัยนี้มีทั้งเทปวีดิทัศน์ คอมพิวเตอร์สอนภาษาอังกฤษ
          รุ่นหลังต้องเก่งภาษาอังกฤษกว่ารุ่นผม ต้องดีกว่า และก็ดีกว่าจริง ๆ ในมหาจุฬาฯ ผมเห็นบางรูป พูดภาษาอังกฤษดีกว่าสมัยผมอายุเท่าเขา นี่คือคลื่นลูกใหม่ เพราะโอกาสในการเรียน เพราะสื่ออุปกรณ์ดีกว่า การเผยแผ่หรือการเทศน์ก็เหมือนกัน เราต้องหาทางพัฒนาบุกเบิกทำงานตลอดไป

ไม่สันโดษในการทำดี
          พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่าไม่ให้สันโดษในการทำความดี ไม่ให้พอใจ กับความสำเร็จครึ่ง ๆ กลางๆ กุสเลสุ ธมฺเมสุ อสนฺตุฏฺฐิตา เมื่อทำอะไรอย่าทำเหยาะแหยะ ต้องทำให้สำเร็จ ให้รู้กันไปข้างหนึ่งว่า ระดับเราหรือจะทำไม่ได้ นั่นคือข้อแรก ไม่สันโดษในกุสลธรรม ข้อที่สอง อปฺปฏิวาณิตา ปธานสฺมึ ไม่ท้อถอยในการบำเพ็ญเพียร อย่ายอมแพ้ง่าย ๆ ไปที่ไหนก็ตาม เราจะมีเวทีใหม่ มีแนวรบใหม่เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศ หรือต่างประเทศ จบหลักสูตรธรรมทูตแล้ว ให้ทำงานอย่าง มีมรรคมีผล ไม่เหยาะแหยะ เอาจริงเอาจัง ในขณะทำงานนั้นพัฒนาตนเองไปด้วย สร้างโอกาสไปด้วย หาจุดอ่อนแล้วแก้ไขให้ได้ และเราจะขึ้นเป็นแชมป์ได้ ไม่ท้อถอยในการบำเพ็ญเพียร และในการทำความดี “ล้มเพราะก้าวไปข้างหน้าดีกว่ายืนเต๊ะท่าอยู่กับที่” หลวงตา แพร-เยื่อไม้พูดไว้นานแล้ว เราจะได้มีโอกาสแก้ไข ปรับปรุงตนเอง และพัฒนาตนเองตลอดเวลา วิเคราะห์ตัวเองให้พบว่า อะไรคือจุดแข็ง แล้วใช้จุดแข็งนั้นเป็นตัวนำ
          ทุกคนมีจุดแข็งจุดอ่อน ถ้าผมวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของนักเผยแผ่ จะมีอยู่สี่ประเด็นที่เอามาใช้วิเคราะห์เสมอก็คือสี่ ส. ผมเอาคำนี้ไปใช้ในระบบการศึกษาของชาติ คือการสอนโรงเรียนทั่วประเทศ ใช้ตรงนี้เป็นจุดวิเคราะห์ ผมเรียกว่า ทฤษฎีสี่ ส. ซึ่งผมใช้อบรมครูทั่วประเทศดังนี้
          ๑. สัททัสสนา (แจ่มแจ้ง) คือพูดให้คนฟังเข้าใจแจ่มแจ้งเหมือนเห็นกับตาตัวเองถ้าจะพูดบรรยายให้ได้ขนาดนี้ นักพูดต้องเข้าใจชัดเจนในเรื่องที่ตนเองจะพูด อย่าพูดในเรื่องที่ตนเองไม่เข้าใจคือท่องไปพูด อย่าพูดในเรื่องที่ตนเองก็ไม่รู้ ตรงนี้แหละที่จะบอกว่าการที่จะเป็นนักเขียนที่ดี ท่านจะต้องอ่านหนังสือหลายร้อยเล่ม การที่จะเป็นนักพูดที่ดี ท่านจะต้องฟังมาหลายร้อยหลายพันชั่วโมง นี่คืองานที่ท้าทายความสามารถของเรา และเราจะต้องพยายามทำให้ได้ นักพูดที่พูดได้แจ่มแจ้งนั้น สามารถที่จะทำให้ผู้ฟังทุกระดับเข้าใจได้ เมื่อคนฟังเทศน์ของพระพุทธเจ้าจบลงแต่ละครั้งจะมีผู้ชมในตอนท้ายว่า “อะภิกกันตัง อภิกกันตัง แจ่มแจ้งนัก พระองค์ผู้เจริญ แจ่มแจ้งนัก พระองค์ผู้เจริญ เทศนาของพระองค์นั้น เหมือนกับหงายของที่คว่ำ จุดประทีปในที่มืด บอกทางแก่คนหลงทาง”
          ๒. สมาทปนา (จูงใจ) ปลุกใจให้อยากรับธรรมไปปฏิบัติ การพูดที่ดีต้องทำให้ผู้ฟังเกิดศรัทธา มีผลในทางเปลี่ยนเจตคติหรือพฤติกรรมของคน การสอนที่ทำให้เกิดศรัทธาเรียกว่า สมาทปนาคือจูงใจให้น้อมรับเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน
          ๓. สมุเตชนา (แกล้วกล้า) บางครั้งผู้ฟังเกิดศรัทธาแต่ไม่นำไปปฏิบัติโดยอ้างว่า ทำไม่ได้รู้ว่าการเลิกเสพสุรานั้นดีแต่ทำได้ยาก โดยมากมักแก้ตัวว่า “ฉันรู้ทั้งหมด แต่ฉันอดไม่ได้” คนฟังทำตามไม่ได้เพราะขาดกำลังใจ ผู้พูดต้องให้กำลังใจด้วยการยกตัวอย่างผู้ประสบความสำเร็จมาประกอบในการพูด
          ๔. สัมปหังสนา (ร่าเริง) ฟังผู้พูดแล้วไม่เครียด มีความสุข สนุกในการฟัง คนพูดมีอารมณ์ขัน ยกนิทานมาประกอบในการพูด ผู้ฟังเกิดความปีติในธรรม “ธัมมะระโส สัพพะระสัง ชินาติ รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง” ฟังธรรมแล้งสบายใจเกิดความสุข
          นักพูดควรจะพูดให้ได้ครบ ๔ ส. ใครทำได้ครบ ๔ ส. ถือว่าเป็นนักพูดชั้นเอก ใครทำได้ ๓ ส. เป็นนักพูดชั้นโท ใครทำได้ ๒ ส. เป็นนักพูดชั้นตรี ใครทำได้ ส. เดียวเป็น มือใหม่หัดพูด เป็นชั้นนวกภูมิ
          ในการเผยแผ่ที่ผ่านมา ผมถามท่านว่าในสี่ข้อนี้ ข้อไหนคือจุดแข็งของท่าน ซึ่งท่านทำได้ดีที่สุด ในสี่ข้อนี้มีข้อไหนที่ท่านทำไม่ได้เป็นจุดอ่อนของท่าน

ทำงานเป็นทีม
          ทุกคนมีจุดอ่อนด้วยกันทั้งนั้น ถ้าเราไม่สามารถจะแก้จุดอ่อนของเราได้เอง ต้องหาคนที่มีจุดแข็งตรงกับจุดอ่อนของเรามาช่วยสนับสนุนเรา สร้างเครือข่าย (Network) ในยุคนี้พระธรรมทูตจะอยู่ลำพังคนเดียวไม่ได้ บินเดี่ยวคงยาก ถ้าท่านจะทำงานให้ประสบความสำเร็จ ท่านต้องเอาทีมมาเสริม ถ้าจุดแข็งไม่มีอยู่ในทีมของเรา ท่านต้องเอาฆราวาสมาช่วย เอาคนมาแปลธรรมเป็นภาษาอังกฤษ ใช้คนที่มีจุดแข็งมาเสริมจุดอ่อนของเรา
          ตรงไหนเป็นจุดอ่อน ให้เอาคนอื่นมาช่วยเสริม ตรงไหนเรามีจุดแข็งเราลุยเราทำ แต่จะมีทีมมาหนุนหลัง (back up) ไม่เว้นแม้แต่งานวิชาการระดับโลก ผมไปบรรยายให้นักเทคนิคการแพทย์ฟัง ผมปาฐกถาที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์เมื่อ ๗ วันที่ผ่านมา พอผมลงมาจากเวที ศาสตราจารย์คนหนึ่งแนะนำตนเองว่าเขาทำการวิจัยเรื่องหนึ่งดังไปทั่วโลก สมาคมแพทย์ในอังกฤษส่งตั๋วเครื่องบินให้เขาบินไปกับครอบครัวเพื่อนำเสนอเรื่องนี้ในที่ประชุม งานชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษไปทั่วโลก
          ผมถามว่าทำวิจัยเรื่องอะไร เขาบอกว่าทำวิจัยเรื่องกลิ่นตัวมนุษย์ ไม่เคยมีใครทำ วิจัยเรื่องกลิ่นตัว เขาบอกว่ากลิ่นตัวทำให้บางคนอยากฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะผู้หญิง เขาวิจัยแล้วพบว่าคนที่มีกลิ่นตัวมีข้อบกพร่องในยีนส์ คือ ดีเอ็นเอบกพร่อง
          ทำไมคนจึงมีกลิ่นตัว เขาบอกว่าในกระแสเลือดเรานี้จะมีสารอาหาร ซึ่งทำให้คนมีกลิ่นตัว สารตัวนี้ถ้าไม่ถูกทำลายจะสร้างกลิ่นตัว ท่านลองฉันทุเรียนไปเยอะ ๆ กลิ่นตัว จะเป็นกลิ่นทุเรียน ไปหมด แสดงว่าสารอาหารสร้างกลิ่นตัว คนปกติจะมีสารอย่างหนึ่งในร่างกาย ที่ออกมาจากตับช่วยกำจัดสารอาหารนั้นไม่ให้มันเข้าไปในกระแสเลือด แต่คนมีกลิ่นตัวเพราะสารตัวนี้บกพร่อง อาหารต่าง ๆ ที่สร้างกลิ่น จึงเข้าไปในกระแสเลือด และปัสสาวะ ๆ กลิ่นตัวก็จะเหม็น ผู้วิจัยคนนี้ไปเที่ยวขอปัสสาวะของคนที่สืบดูว่ามีกลิ่นตัว นำเข้าเครื่องตรวจวัด พบว่ามีจุดบกพร่องในตัวคน ถามว่าจุดบกพร่องนี้เกิดจากอะไร ในที่สุดก็สันนิษฐานว่ามาจากดีเอ็นเอ ซึ่งมีสี่ตัว ถ้าตัวที่สามหายไปก็เกิดบกพร่อง แสดงว่ากลิ่นตัวมาจากการที่ดีเอ็นเอตรงนี้บกพร่อง ต้องใช้ห้องแล็บชั้นเยี่ยมวิเคราะห์ดีเอ็นเอ ในประเทศไทยก็ทำได้ เขาขอความร่วมมือนักวิเคราะห์ในห้องแล็บช่วยวิเคราะห์ดีเอ็นเอเพราะ เขาไม่มีเครื่องมือ ซึ่งต้องใช้เครื่องมือชั้นเยี่ยม ในประเทศไทยก็มีห้องแล็บอยู่แห่งหรือสองแห่ง เขาก็ส่งจดหมายไป ในต่างประเทศมีมหาวิทยาลัยชั้นเยี่ยม เขาส่งจดหมายไปเล่าเรื่องนี้ ขอให้ช่วยวิเคราะห์ดีเอ็นเอตรงนี้ ส่งตัวอย่างไปให้ช่วยวิเคราะห์ด้วย
          เชื่อไหมว่าห้องแล็บในประเทศไทยไม่เคยตอบมาเลย แต่ห้องแล็บในอเมริกาและอังกฤษตอบมาว่าเขาจะวิเคราะห์ให้ฟรีเพื่อความก้าวหน้าในทางวิชาการ เขาใช้เวลาวิเคราะห์อยู่หนึ่งปี เพราะมันซับซ้อนยุ่งยากมาก พอวิเคราะห์เสร็จส่งผลมาให้ โดยไม่เรียกร้องอะไรเลย เขาบอกว่าขอให้คุณทำวิจัยต่อไป ถามว่าทำไมฝรั่งไม่ทำวิจัยเอง ตอบว่าฝรั่งสู้เราไม่ได้อยู่อย่างคือเขาไม่มีตัวอย่างของคนที่มีกลิ่นตัวอยู่ในมือ แต่ศาสตราจารย์คนไทยนี้ได้หาตัวอย่างไว้หมดแล้ว
          นี่คือตัวอย่างว่า นักวิจัยไทยทำงานเรื่องนี้ได้เพราะเขามีตัวอย่างไว้หมด ฝรั่งทำไม่ได้ แต่ฝรั่งมีจิตเอื้ออาทรวิเคราะห์ดีเอ็นเอให้หนึ่งปี ซึ่งถ้าไม่มีการวิเคราะห์ตรงนี้ นักวิจัยไทยไม่มีทางขึ้นระดับอินเตอร์เพราะการวิเคราะห์ดีเอ็นเอเป็นวิชาการสุดยอด ฝรั่งยอมตรงนี้ แต่ถ้าถามว่าได้ผลวิเคราะห์มาจากไหน ตอบว่าจากอเมริกาหรืออังกฤษซึ่งทำให้ฟรี นี่คือการแลกเปลี่ยนข้อมูล ฝรั่งจึงเจริญล้ำหน้า เพราะเขาร่วมกันทำงานเป็นทีม
          ต่อไปนี้ พวกเรามาร่วมกันทำงานอย่างนี้ จะได้เจริญก้าวหน้า ท่านไปเป็นพระธรรมทูตก็เชื่อมกันเป็นเครือข่าย ใครเทศน์เก่งก็นิมนต์มาเทศน์วัดเราบ้าง แบ่งคนอื่นทำงานในสิ่งที่เรามีจุดอ่อน เราจะทำงานเป็นทีมที่สมบูรณ์ เหมือนกับงานวิจัยที่เล่ามานี้
          ขอคุณพระศรีรัตนตรัยจงดลบันดาลให้ทุกท่านจงประสบความสำเร็จ ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรในโลกตะวันตก โลกตะวันออก เป็นที่พึ่งของคนไทยและคนทั่วโลก มีความเจริญงอกงามในร่มธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายิ่ง ๆ ขึ้นไปทุกรูป เทอญ

(ที่มา: บรรยายในการฝึกอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ จัดโดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ณ พุทธมลฑล นครปฐม วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๖ )
 

(ที่มา: -)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕