หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระราชสิทธิมุนี วิ. » เครื่องขวางกันการปฏิบัติ และแนวทางการแก้ไข
 
เข้าชม : ๒๖๖๖๓ ครั้ง

''เครื่องขวางกันการปฏิบัติ และแนวทางการแก้ไข''
 
พระราชสิทธิมุนี วิ. (2545)


                   การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานเป็นกิจกรรมพิเศษที่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ถือว่า เป็นการพัฒนาจิต ของมนุษย ์ให้สูงขึ้น จนสามารถตัดกิเลสได้อย่างเด็ดขาด แต่การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้น แม้ว่าจะมีผล สูงสุดขนาดนั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าการปฏิบัตินั้นจะราบรื่นไปเสียทุกอย่างเพราะในขณะปฏิบัติอาจจะมีปัญหา อุปสรรคหลายอย่าง เข้ามาเป็นเครื่องขวางกั้น ทำให้การปฏิบัติ แทนที่จะ ดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว แต่กลับเนิ่นช้าได้ การที่เรามีครูบอกพระกัมมัฏฐานที่ดีก็ดี การที่เรามีสถานที่ที่ดีเหมาะแก่การปฏิบัติก็ดี การที่เรามีนักเรียนที่พร้อม ที่จะปฏิบัติตามก็ดี ทั้งหมดนี้เป็นความพร้อมในเบื้องต้นเท่านั้น ใช่ว่าจะทำให้อุปสรรคเครื่องขวางกั้นนั้นเกิดขึ้นไม่ได้อีก อุปสรรคเกิดขึ้นได้เสมอในเวลาปฏิบัติ พระกัมมัฏฐาน เพราะการปฏิบัติเป็นกระบวนการพัฒนาจิตที่มีความละเอียดอ่อน แต่อุปสรรคก็มีไว้สำหรับการแก้ไข หากครูบอกพระกัมมัฏฐานมีความสามารถที่ดี

                    ครูบอกพระกัมมัฏฐานเป็นครูชนิดพิเศษ ลำพังแต่การรู้ทฤษฎี แนวทางปฏิบัติอาจแก้ไขปัญหาได้ไม่ทั้งหมด สิ่งที่สำคัญที่สุด ครูบอกพระกัมมัฏฐาน ที่จะปฏิบัติงาน ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีนั้น จะต้องผ่านการฝึกอบรมหลัก พระกัมมัฏฐานพอสมควร แม้จะไม่ใช่ครูที่มีประสบการณ์ในระดับสูงก็ตาม แต่ก็ควรเป็นครูที่สามารถที่จะแนะนำ เป็นกัลยาณมิตร หรือคอยสอบอารมณ์ผู้ปฏิบัติได้ ให้ผู้ปฏิบัติเกิดศรัทธาในการปฏิบัติ สามารถที่จะปฏิบัติไปได้อย่างไม่มีอุปสรรคอันตราย มีความมั่นใจในการปฏิบัติ ไม่รู้สึกกลัวหรือสงสัยลังเลใจในขณะที่นั่งหลับตาหรือเดินจงกรมอยู่
                    ในเบื้องต้น ขออภิปรายประเด็นที่สำคัญ ๒ ประเด็น คือ
                    ๑. ครูบอกพระกัมมัฏฐาน
                    ๒. วิปัสสนูปกิเลส

                    ๑. ครูบอกพระกัมมัฏฐาน ทุกคนคงไม่ปฏิเสธว่า ครูมีความสำคัญในการสอนทุกวิชา หากปราศจากครูเสียแล้ว สรรพวิชาการคงดำเนินไปไม่ได้ ยกเว้นพระสัพพัญญุตญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ไม่ต้องอาศัยครู ที่ว่า ครูบอกพระกัมมัฏฐานเป็นครูชั้นพิเศษนั้น หมายถึงเป็นครูที่นอกจากจะเป็นครูที่รู้หลักปริยัติ (ภาคทฤษฎี) ต้องเป็นผ ู้ที่ผ่านการฝึกภาคปฏิบัติด้วย นอกจากนี้ ครูบอกพระกัมมัฏฐานต้อง เป็นผู้ที่น่าเคารพเลื่อมใส สามารถที่จะแนะนำพระกัมมัฏฐาน ให้เหมาะกับจริตของผู้เรียนด้วย และสามารถอธิบายได้ว่า พระกัมมัฏฐานมีความสำคัญ มีประโยชน์ต่อวิถีชีวิตของผู้เรียนอย่างไร
                    ตัวอย่าง ๑ ส้มแก้วเป็นคนรักสวย รักงาม
ชอบใช้ชีวิตหรูหรา ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย พระกัมมัฏฐาน ที่เหมาะแก่จริตของส้มแก้ว ควรเป็น อสุภกัมมัฏฐาน และกายคตาสติ
                    ตัวอย่าง ๒ ไหมทองเป็นคนช่างโกรธ มักมีอารมณ์ฉุนเฉียวเสมอ ใครพูดกระทบกระทั่งนิดหน่อยก็มักจะโกรธ มักผูกอาฆาตพยาบาทผูกใจเจ็บเสมอ พระกัมมัฏฐานที่เหมาะแก่จริตของไหมทอง ควรเป็นเมตตาพรหมวิหารและวัณณกสิน
                    ตัวอย่าง ๓ มณีร้อยเป็นคนมักเก็บตัว ไม่ชอบสังคมกับเพื่อนฝูงเศร้าซึม ไม่เบิกบาน มักไม่สนใจบทเรียน พระกัมมัฏฐานที่เหมาะแก่จริต ของมณีร้อย ควรเป็นอานาปานสติ

                    ๒. วิปัสสนูปกิเลส ในการปฏิบัติพระกัมมัฏ- ฐานนั้น มีสิ่งหนึ่ง ที่คนมักจะเข้าใจผิด (ในระดับหนึ่ง) ว่าสิ่งที่เป็นเครื่องขวางกั้นการปฏิบัตินั้น คือ วิปัสสนูปกิเลส (อุปกิเลสแห่งวิปัสสนา) อันที่จริงแล้ว วิปัสสนูปกิเลส เป็นภาวะของผู้ได้พบ ตรุณวิปัสสนาญาณ (วิปัสสนาญาณระดับอ่อน) เกิดขึ้นเฉพาะแก่ผู้ปฏิบัติ (กุลบุตร) ผู้ปฏิบัติชอบ บำเพ็ญภาวนาได้ถูกต้อง ปรารภความเพียร๑ ทั้งในเวลาเจริญสมถ-กัมมัฏฐาน และวิปัสสนากัมมัฏฐาน

                    ดังนั้น ในเวลาอยู่ในห้องปฏิบัติการจริง ผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานจึงไม่ต้องกลัวหรือวิตกกังวลว่า วิปัสสนูปกิเลสจะเกิดขึ้นแก่ตนเอง หรือเป็นอุปสรรคเครื่องขวางกั้นการปฏิบัติ เพราะว่าจะทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความรู้สึกประหม่าวิตกกังวล เกรงว่าวิปัสสนูป-กิเลส เป็นอุปสรรคขวางกั้นการปฏิบัติของตน แท้ที่จริง วิปัสสนูปกิเลสนี้ จะไม่เกิดแก่ พระอริยสาวกผู้บรรลุปฏิเวธธรรมแล้ว จะไม่เกิดแก่ผู้ปฏิบัติผิด และจะไม่เกิดแก่ผู้เกียจคร้านทอดทิ้งพระกัมมัฏฐาน๒ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เกรงกลัวต่อ วิปัสสนูปกิเลส จึงเท่ากับเป็นการสร้างเครื่องขวางกั้นการปฏิบัติโดยไม่จำเป็น ถ้าหากมองอีกแง่มุมหนึ่ง วิปัสสนูปกิเลสก็เป็นความอัศจรรย์ของการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน หรือ เป็นดุจยาชโลมใจให้ผู้ปฏิบัติได้เห็นอานิสงส์ของการฝึกพระกัมมัฏฐานในเบื้องต้นเท่านั้น และว่าโดยสภาวธรรม วิปัสสนูปกิเลสจะเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีจิตสงบระดับหนึ่ง ซึ่งคนที่มีจิตสงบตามธรรมดาทั่วไปจะไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับวิปัสสนูปกิเลสเลย แต่จะเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ที่ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานปรารภความเพียรอย่างยิ่งยวดเท่านั้น

                    วิปัสสนูปกิเลสที่เกิดแก่ผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เช่น เห็นแสงสว่าง เป็นต้น จะถือว่าเป็นอุปสรรคเครื่องขวางกั้นการปฏิบัติก็ต่อเมื่อมีความรู้สึกว่า เพราะแสงสว่างนั้นเอง เราได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล ตัดกิเลสได้อย่างสิ้นเชิงแล้ว หากรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ วิปัสสนาวิถีก็เป็นอันว่าหยุดชะงักไป ไม่เจริญก้าวหน้า เพราะผู้ปฏิบัติได้ละเลย การกำหนดสภาพที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง มัวแต่ไปชื่นชมยินดีพอใจกับวิปัสสนูปกิเลส ที่เกิดขึ้น ยิ่งเราเพลิดเพลินเจริญใจกับวิปัสสนูปกิเลสมากเท่าใด วิปัสสนาวิถีในระดับสูง ก็ยิ่งห่างไกลออกไป การที่วิปัสสนาวิถีห่างไกล ออกไปนั้นแทนที่จะเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ประกาศอานิสงส์วิปัสสนา กลับกลายเป็นการทำลายสาระสำคัญของการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ในระดับสูงขึ้นไป ใช่ ! เราอาจจะพูดปลอบประโลมใจผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานว่า ปฏิบัติได้เท่านี้ก็เป็น บุญญาธิการแล้วหากผู้ปฏิบัติมีความสามารถที่จะเจริญรุ่งเรืองในวิปัสสนาวิถี ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บอกพระกัมมัฏฐานควรแสดงวิปัสสนาญาณวิถีให้ แก่ผู้ปฏิบัติได้ครบถ้วนตามกระบวนความ เพื่อให้สาระสำคัญของ วิปัสสนากัมมัฏฐานได้คงอยู่ค ู่กับพระพุทธศาสนาตามที่พระโบราณาจารย์ทั้งหลาย ได้แสดงมาแล้วโดยพิสดาร



                    วิปัสสนูปกิเลส เป็นสภาพน่าชื่นชม แต่ที่แท้โทษเครื่องเศร้าหมองของวิปัสสนา ซึ่งเกิดแก่ผู้ได้วิปัสสนาญาณอ่อน ๆ ทำให้เข้าใจผิดว่า ตนบรรลุมรรคผลแล้วจึงไม่ดำเนินก้าวหน้าในวิปัสสนาญาณ๓

                    ตามหลักการปฏิบัติวิปัสสนา วิปัสสนูปกิเลสจะเกิดขึ้นในญาณระดับอุทยัพพยญาณอย่างอ่อน (ตรุณ)

                    ๑. โอภาส แสงสว่าง เป็นแสงสว่างที่ผู้ปฏิบัติไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ได้เห็นในขณะที่นั่งหลับตา สำคัญตัวเองผิดว่า ได้บรรลุมรรคผลแล้ว นี่เป็นอุปสรรคใน เบื้องต้น เป็นที่น่าอัศจรรย์ ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ได้พรรณนาไว้ว่า ผู้ปฏิบัติบางท่าน ทำให้ภายในห้องสว่างไสวไปหมดก็มี บางท่านทำให้สว่างไสวไปทั่ววิหารก็มี บางท่านทำให้สว่างไสวไปถึง ๑ คาวุต (๑๐๐ เส้น) ก็มี บางท่านทำให้สว่างไสวไปครึ่งโยชน์ถึง ๓ โยชน์ก็มี บางท่านทำให้สว่างไสวตั้งแต่พื้นดินไปจนถึงพรหมโลกชั้นอกนิษฐะก็มี

                    ๒. ญาณ ได้แก่วิปัสสนาญาณ เป็นญาณที่มีกำลังกล้าแข็งเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติที่อยู่ในสภาวะญาณเช่นนี้ จะมีลักษณะเป็นผู้ช่างตรึกช่างไตร่ตรองรูปธรรม นามธรรม คิดธรรมะเก่ง กล่าวธรรมได้ไพเราะเพราะ พริ้ง เขียนบรรยายธรรมะได้อย่างน่าอัศจรรย์ อยากแสดงธรรมะจนเป็นเหตุให้ลืมการกำหนด เพราะสำคัญว่า ตนเองได้บรรลุวิปัสสนาญาณขั้นสูงสุดแล้ว

                    ๓. ปีติ ได้แก่วิปัสสนาปีติ ทำให้เกิดความอิ่มเอิบทั่วสรรพางค์กาย ภาวะที่จิตดื่มด่ำเช่นนี้เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานเท่านั้น

                    ๓.๑ ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อย ผู้ปฏิบัติมีอาการขนลุกชูชัน น้ำตาไหล

                    ๓.๒ ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ ผู้ปฏิบัติมีอาการรู้สึกวูบวาบแปลบ ๆ เป็นขณะ ๆ ดุจสายฟ้าแลบ

                    ๓.๓ โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นระลอก หรือปีติเป็นพัก ๆ ผู้ปฏิบัติมีความรู้สึกซู่ในกาย เหมือนกับคลื่นซู่ลงมาในกายแล้วหายไป เหมือนคลื่นซัดฝั่งแล้วหายไป แล้วคลื่นลูกใหม่ก็หนุนเนื่องเข้ามาอีกเป็น
ช่วง ๆ

                    ๓.๔ อุพเพคาปีติ หรืออุพเพงคาปีติ ปีติที่โลดลอย ผู้ปฏิบัติมีความรู้สึกใจฟูขึ้นอย่างแรง หรือว่าทำอาการบางอย่างโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น เปล่งอุทานออกมา พูดกับตนเอง บางครั้งแสดงธรรมะให้ตนเองฟัง เป็นต้น บางครั้ ผู้ปฏิบัติก็มีความรู้สึกตัวเบาลอยบนอากาศ แม้ขณะนั่งอยู่บนอาสนะห้องกัมมัฏฐานก็รู้สึกว่า ตัวลอยอยู่เหนืออาสนะ

                    ๓.๕ ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน ผู้ปฏิบัติมีความรู้สึกเย็นกายเย็นใจ ความรู้สึกเย็นนี้แผ่เอิบอาบ ไปทั่วสรรพางค์กาย แววตาสดใสบ่งบอกถึงความสุขผิวพรรณเปล่งปลั่ง

                    ๔. ปัสสัทธิ ได้แก่วิปัสสนาปัสสัทธิ ภาวะที่จิตไม่มีความกระวนกระวาย ไม่มีความหนัก ไม่มีความกระด้าง ควรแก่การงาน เป็นจิตที่มีความสงบระงับ เบา อ่อน แกล้วกล้า ไม่มีอากรเจ็บป่วย ไม่คดโกง เป็นภาวะที่จิตเสวยแต่ความยินดี ซึ่งคนธรรมดาสามัญไม่มีโอกาส สัมผัสสภาวะจิตเช่นนี้ คนผู้ที่มีจิตเป็นปัสสัทธินี้ชื่อว่า อมานุสี (ไม่ใช่ของมนุษย์)

                    ๕. สุข ได้แก่วิปัสสนาสุข เป็นความสุขทางใจ เป็นความสุขที่ผู้ปฏิบัติมีความรู้สึกเป็นสุข เป็นความสุขที่ประณีตมากแผ่ไปทั่วสรรพางค์กาย

                    ๖. อธิโมกข์ ได้แก่ศรัทธา เป็นศรัทธาที่เกิดขึ้นในวิปัสสนาจิตเป็นศรัทธาที่มีความแก่กล้า ผู้ปฏิบัติจะมีความเลื่อมใส ในการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก บางท่านขณะปฏิบัติถึงสภาวะนี้นึกถึงผู้มีอุปการคุณ มี บิดามารดา ครูบาอาจารย์ เป็นต้น อยากให้ท่านเหล่านี้มาเข้าปฏิบัติกับตน ถึงขนาดลงทุนเขียนจดหมายไปเล่าอานิสงส์การปฏิบัติวิปัสสนาให้ท่านผู้มีอุปการคุณฟัง หรือบางท่านอาจมีศรัทธาในอาจารย์ผู้บอกกัมมัฏฐาน มีศรัทธาอยากอุปถัมภ์การปฏิบัติวิปัสสนา เช่น บริจาคเงินสร้างสำนักวิปัสสนา ก็มี

                    ๗. ปัคคาหะ ได้แก่วิริยะ ผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏ-ฐานมีความพากเพียรพยายามดี มีการปรารภความเพียร หนักไม่ย่อหย่อน ประคองอารมณ์วิปัสสนาไว้ได้ดี ผู้ปฏิบัติบางท่าน สามารถปฏิบัติได้ทั้งวันทั้งคืน ไม่ขาดการกำหนดด้วยเกรงว่าพระกัมมัฏฐานจะเป็นไปไม่ติดต่อกัน

                    ๘. อุปัฏฐานะ ได้แก่สติ ผู้ปฏิบัติมีสติตั้งมั่นไม่หวั่นไหวสามารถที่จะนึกถึงหรือ หวลระลึกถึงเรื่องราวในอดีตใด ๆ ก็สามารถจะรู้เรื่องนั้นได้เหมือนกับเป็นคนหูทิพย์ ตาทิพย์

                    ๙. อุเบกขา ได้แก่วิปัสสนูเปกขา และอาวัชชนูเปกขาผู้ปฏิบัติมีความรู้สึกวางเฉย ไม่ยินดียินร้ายในสังขารทั้งปวงเมื่อน้อมนึกถึงการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน จิตใจก็มีความแกล้วกล้าเฉียบคม มีความมั่นใจว่า จะต้องได้บรรลุมรรคผลแน่นอน

                    ๑๐. นิกันติ ได้แก่นิกันติวิปัสสนา เป็นตัณหา มานะ ทิฏฐิ อันละเอียด มีอาการสงบ มีความเยื่อใยในวิปัสสนูปกิเลส มีความรู้สึกว่า วิปัสสนูปกิเลสที่เกิดขึ้นกับตน (ทิฏฐิ) เป็นของน่าชื่นชม (มานะ) และมีความรู้สึกยินดี (ตัณหา)

                    วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ อย่างนี้ ทำให้จิตงงงันและฟุ้งซ่าน (ธัมมุทธัจจะ) เป็นเหตุให้การปฏิบัติวิปัสสนา เศร้าหมอง เพราะที่ไม่เคยประสบพบมาก่อน เมื่อมาประสบพบเข้า ผู้ปฏิบัติก็คิดว่าตนเองบรรลุมรรคผลแล้ว หรือไม่เช่นนั้นก็อาจหลงชื่นชมติดอยู่ในกิเลสเหล่านั้น เพราะกิเลสแต่ละอย่างทำให้รู้สึกสุขกายสุขใจอย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งนี้ ย่อมทำให้ผู้ปฏิบัติไม่ปฏิบติต่อไปตามแนวทางที่ควร เมื่อผู้ปฏิบัติได้รู้สึกตัวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นกิเลส หาใช่ มรรค ผล นิพพาน หรือเป็นของที่น่าชื่นชมยินดีไม่ การที่มัวหลงชื่นชมยินดีอยู่กับกิเลสเหล่านี้เป็นทางที่ผิด ไม่ใช่ทางที่จะ
พึงเดิน ก็จะปลดปล่อยความหลงผิดนั่นเสีย ไม่นิยมยินดีในกิเลสนั้น เกิดความบริสุทิ์ในความคิดขึ้นว่า สภาวะใดเป็นทางที่จะทำให้เกิดปัญญาเห็นธรรม และสภาวะใดไม่ใช่ทางที่จะทำให้เกิดปัญญาเห็นธรรม (มัคคามัคค- ญาณทัสสนวิสุทธิ)

                    ในขณะที่ผู้ปฏิบัติชื่นชมอยู่กับวิปัสสนูปกิเลสนั้น ผู้ปฏิบัติไม่อาจจะเห็นไตรลักษณ์ได้ชัดเจน เพราะมัวแต่หลงชื่นชมวิปัสสนูปกิเลสเหล่านั้นอยู่ ดังนั้น การได้พบครูบอกพระกัมมัฏฐานที่มีประสบการณ์ แก้ไขสภาวะที่เกิดขึ้นให้ได้ โดยบอกให้เจริญสติสัมปชัญญะ หรือกำหนดให้ทันปัจจุบัน ก็จะเป็นวิธีหนึ่ง ที่สามารถผ่านพ้นเครื่องขวางกั้นการปฏิบัติได้

---------------------------------------------------------
อาจารย์ประจำคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย บรรยายที่ สถาบันพัฒนาผู้บริหารทางการศึกษา (วัดไร่ขิง) อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม วันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๖ ชุดวิชาสาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนา วิชา บริหารจิตเจริญปัญญา หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี ๒๕๔๔ ศูนย์พัฒนาหลักสูตร กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
๑ (วิปสฺสนูปกิเลสา) สมฺมาปฏิปนฺนกสฺส ปน ยุตฺตปยุตฺตสฺส อารทฺธวิปสฺสกสฺส กุลปุตฺตสฺส อุปชฺชตฺติเยว. วิสุทธิมรรค ภาค ๓, หน้า ๒๖๗. (ภาษาบาลี)
๒ วิปสฺสนูปกิเลสา หิ ปฏิเวธปฺปตฺตสฺส อริยสาวกสฺส เจว วิปฺปฏิปนฺนปสฺส จ นิกฺขิตฺตกมฺมฏฺŸานสฺส กุสีตปุคฺคลสฺส นุปฺปชฺชนฺติ. วิสุทธิมรรค ภาค ๓. หน้า ๒๖๗. (ภาษาบาลี)
๓ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์, หน้า ๒๗๗.

(ที่มา: -)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕