หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระพรหมคุณาภรณ์ ปราชญ์พุทธศาสนา » พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาแห่งยุคปัจจุบัน
 
เข้าชม : ๒๐๘๕๑ ครั้ง

''พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาแห่งยุคปัจจุบัน ''
 
คอลัมน์ มงคลข่าวสด

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาแห่งยุคปัจจุบัน ที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างยิ่ง และยอมรับอย่างกว้างขวางจากชาวไทยและชาวโลก ทั้งจากชาวพุทธและผู้ที่นับถือศาสนาอื่น

พระเดชพระคุณท่านเป็นบุคคลตัวอย่าง ที่ดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย มีวัตรปฏิบัติที่อ่อนน้อมถ่อมตน ให้ความสำคัญและความสนใจแก่ผู้ที่เข้าพบโดยไม่เลือกชาติ ศาสนา ผิวพรรณ และเพศ

เป็นพระสงฆ์ที่ทำคุณประโยชน์ต่อวงการพระพุทธศาสนา และสังคมของมวลมนุษย์อย่างหาที่เปรียบได้ยาก ยืนหยัดอยู่บนความถูกต้องแห่งธรรมวินัย ปกป้องภัยพระพุทธศาสนาทั้งภายนอกและภายใน

ปัจจุบันพระพรหมคุณาภรณ์ สิริอายุ 68 พรรษา 45 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน ต.บางระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม และสถานสำนักสงฆ์สายใจธรรม เทือกเขาสำโรงดงยาง ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

อัตโนประวัติ มีนามเดิมว่า ประยุทธ์ อารยางกูร เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2481 ที่ตลาดศรีประจันต์ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายสำราญ และนางชุนกี อารยางกูร เป็นบุตรคนที่ 6 ในจำนวน 9 คน

ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย มีกิจการโรงสีไฟ ตัวท่านได้รับอิทธิพลการดำเนินชีวิตด้วยครรลองคลองธรรมจากบิดามารดามาแต่วัยเยาว์

เริ่มเข้ารับการศึกษาจากโรงเรียนอนุบาลที่ตลาดศรีประจันต์ เรียนประถมศึกษาที่โรงเรียนประชาบาลชัยศรีประชาราษฎร์ เมื่อจบประถมศึกษาแล้วโยมบิดาพาไปจังหวัดพระนคร เพื่อเข้าศึกษาต่อโรงเรียนมัธยมที่โรงเรียนวัดปทุมคงคา แต่พำนักอยู่ที่วัดพระพิเรนทร์

ได้รับทุนเรียนดีของกระทรวงศึกษาธิการเป็นประจำ แต่ด้วยสุขภาพไม่ดี เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้กลับไปบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบ้านกร่าง อ.ศรีประจันต์ โดยมีพระครูเมธีธรรมสาร เป็นพระอุปัชฌาย์

จากนั้นได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม พ.ศ.2496 ได้ย้ายมาอยู่จำพรรษาที่วัดพระพิเรนทร์ สามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก และสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยคขณะเป็นสามเณร เป็นรูปที่ 2 แห่งรัชกาลปัจจุบัน

จึงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์อุปสมบทเป็นพระภิกษุในฐานะนาคหลวง เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2504 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดเบญจมบพิตร ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์

ได้รับฉายานามว่า ปยุตฺโต อันมีความหมายว่า ผู้เชี่ยวชาญวิทยาการ



ภายหลังอุปสมบทได้มุ่งมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม พ.ศ.2505 สำเร็จการศึกษาปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

พ.ศ.2506 สอบได้วิชาชุดครู พ.ม.

พระพรหมคุณาภรณ์ เป็นพระเถระที่ศึกษาดี มีจริยาวัตรงดงาม สมบูรณ์ด้วยศีล มีนิสัยใฝ่รู้เป็นปราชญ์ ขณะเดียวกันเคยดำรงตำแหน่งสำคัญทางการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เป็นรองเลขาธิการมหาวิทยาลัย ขณะที่เป็นเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ด้วย

ท่านได้อุทิศตนให้กับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งด้านการบรรยาย ทางวิชาการ การแสดงพระธรรมเทศนา ตลอดจนงานด้านนิพนธ์ เอกสารวิชาการ และตำราจำนวนมาก ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ

ความใฝ่รู้ ใฝ่ค้นคว้าวิจัย ทำให้พระพรหมคุณาภรณ์ศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก และพระคัมภีร์ชั้นรองอื่นๆ เสมอมา พร้อมทั้งศึกษาค้นคว้าศาสตร์ต่างๆ ทางโลกทั้งมนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์

จนมีความรู้อย่างแตกฉานลึกซึ้ง สามารถแต่งตำรา และบรรยายทั้งหลักพระพุทธศาสนาโดยตรง และพระพุทธศาสนาประยุกต์ กับวิชาการต่างๆ ทางโลกแทบทุกสาขา ดังปรากฏหลักฐานจากการแต่งหนังสือกว่า 312 เรื่อง และการบรรยายนับพันครั้ง

ผลงานเขียนทุกชิ้นจะต้องมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า ทั้งร่างโครงการ หาข้อมูล ดำเนินการ จนกระทั่งงานเสร็จสมบูรณ์ บางชิ้นใช้เวลา 7 วัน บางชิ้นร่วมเดือน สองสามเดือน ปีหนึ่ง หรือมากถึง 3 ปี

โดยเฉพาะหนังสือ "พุทธธรรม" ซึ่งถือเป็นผลงานเพชรน้ำเอก

จากการเตรียมข้อมูลดี ทำให้งานเพียบพร้อมสมบูรณ์และออกมาอย่างต่อเนื่อง มีทั้งหนังสือ ตำรา เทป-ซีดี ร่วม 1,000 เรื่อง

นอกจากงานด้านนิพนธ์แล้ว ยังได้รับการอาราธนาให้เป็นผู้แสดงปาฐกถาในการประชุมนานาชาติขององค์กรระดับโลกหลายครั้งหลายครา

อีกทั้งยังได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติมากมาย อาทิ รางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ พ.ศ.2537 จากยูเนสโก นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเกียรติให้รับรางวัลนี้ ถือเป็นการสร้างเกียรติประวัติ และชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยอย่างมาก

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2512 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระศรีวิสุทธิโมลี พ.ศ.2516 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่พระราชวรมุนี

พ.ศ.2530 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพเวที

พ.ศ.2536 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมปิฎก

พ.ศ.2547 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นพรหม ที่พระพรหมคุณาภรณ์

ตลอดเวลาที่ผ่านมาท่านมีอาการเจ็บป่วยต่างๆ นานามากมายหลายโรค แต่ไม่เป็นผลกระทบด้านจิตใจ ท่านยังคงทำงานทุกอย่างด้วยความตั้งใจและความเพียรอย่างเข้มแข็ง

เพราะความเป็นปราชญ์ทรงภูมิ ท่านจึงมักได้รับนิมนต์ไปเทศน์หรือการแสดงปาฐกถา แต่ทุกวันนี้ต้องงดเสียส่วนใหญ่เพราะสุขภาพอ่อนแอ เนื่องจากสภาพปัญหาทางกายภาพของท่าน อาทิ ปัญหาทางสายตา โรคหัวใจ ความดันโลหิต เป็นต้น

ตลอดระยะกว่า 10 ปีที่ผ่านมาท่านจึงงดรับกิจนิมนต์ แม้แต่ภายในวัดก็ไม่ได้ออกมาร่วมพิธีทั่วไป เว้นแต่ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา หรือในวาระจำเป็นจริงๆ เท่านั้น

นับตั้งแต่ท่านเริ่มอาพาธ โดยเฉลี่ยสามารถเขียนหนังสือได้ถึงเดือนละ 2 เล่ม ส่วนมากเขียนขึ้นจากคำบรรยายที่นำมาถอดเทป เรียบเรียง ตรวจทาน และปรับสำนวนใหม่ เพื่อให้คนอ่านเข้าใจง่าย

ผลงานใหม่ของท่านยังมีออกมาให้เห็นเป็นระยะ อาทิ รัฐศาสตร์แนวพุทธ ตอนจริยธรรมนักการเมือง, หนังสือชุดธรรมะประยุกต์สำหรับคนทำงาน ประกอบด้วย อาทิ นรก-สวรรค์ สำหรับคนรุ่นใหม่, รักนั้นดีแน่ แต่รักแท้ดีกว่า, ทุกข์สำหรับเห็น แต่สุขสำหรับเป็น และงานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ที่ได้มีการแยกหมวดหมู่ไว้อีกมากมาย รวมทั้งหนังสือที่ท่านได้เขียนเป็นภาษาอังกฤษอีกหลายเล่ม

ทั้งนี้ วัดญาณเวศกวันได้มอบหมายให้มูลนิธิพุทธธรรม 87/126 ถนนเทศบาลสงเคราะห์ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. 10900 เป็นผู้ดำเนินการจัดจำหน่าย เพื่อความสะดวกในการติดต่อของญาติโยมทั้งหลาย

ทุกวันนี้ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ยังคงมิได้หยุดนิ่งต่องานวรรณกรรมศาสนาแต่อย่างใด

เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาโดยแท้

************

(ที่มา: ข่าวสด วันที่ 07 มกราคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 16 ฉบับที่ 5883)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕