หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » สาระมหาชาติ » สาระมหาชาติ ตอน ป่าหิมพานต์
 
เข้าชม : ๑๐๓๘๘ ครั้ง

''สาระมหาชาติ ตอน ป่าหิมพานต์''
 
กิตติพงศ์ ดารักษ์

ความโดยย่อ

            ตอนป่าหิมพานต์  เป็นการกล่าวถึงปฏิสนธิของพระนางผุสดี   พระเวสสันดร พระชาลี   พระกันหา ไปจนถึงพราหมณ์เมืองกลิงครัฐ ๘ คน มาทูลขอพญาช้างปัจจัยนาคหรือปัจจัยนาเคนทร์จากพระเวสสันดร เป็นเหตุให้ชาวพระนครเชตุดรไม่พอใจ พากันชุมนุมประท้วงและเข้ากราบทูลพระเจ้าสญชัยให้เนรเทศพระเวสสันดรไปอยู่เขาวงกต

 

เรื่องย่อ

            เมื่อผุสดีเทพธิดาจุติจากสวรรค์มาอุบัติที่เมืองมนุษย์ พระนางมีพระสิริโฉมงดงามและได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าสญชัยกษัตริย์ผู้ครองนครเชตุดร แคว้นสีพี  สมดังพรที่ทูลขอต่อพระอินทร์   เมื่อพระนางทรงพระครรภ์ครบ ๑๐ เดือน   วันหนึ่งพระนางผุสดีขอพระราชานุญาตพระเจ้าสญชัย ประพาสพระนคร เมื่อขบวนเสด็จผ่านไปถึงตรอกทางของเหล่าพ่อค้าพระนางเกิดประชวรพระครรภ์ และประสูติพระราชโอรสกลางตรอกนั้น   ด้วยเหตุนี้ พระราชโอรสจึงได้พระนามว่า "เวสสันดร" ในวันที่พระราชโอรสประสูติ พญาช้างตระกูลฉัททันต์ก็ได้ตกลูกช้างเผือกขาวบริสุทธิ์หนึ่งเชือกในโรงช้างต้น   นับเป็นช้างเผือกคู่บารมี  จึงได้ตั้งชื่อว่า "ปัจจัยนาเคนทร์"

                พระราชกุมารเวสสันดร ทรงมีพระนิสสัยบริจาคทานตั้งแต่ทรงพระเยาว์ กล่าวคือ ทรงปลดปิ่นทองคำ และเครื่องประดับอันมีค่าให้แก่นางสนมกำนัลทั่วทุกคนถึง ๙ ครั้ง  เมื่อทรงเจริญชันษาได้ ๙ ปี  ก็ทรงตั้งจิตอธิษฐานว่าจะบริจาคเลือดเนื้อ และดวงหทัยเพื่อมุ่งพระโพธิญาณในกาลข้างหน้าอย่างแน่วแน่    ครั้นได้ชันษา ๑๖ ปี พระองค์ทรงศึกษาสรรพวิทยาจนแตกฉานในศิลปวิทยา ๑๘ แขนง    และเสด็จขึ้นครองราชย์และอภิเษกกับพระนางมัทรี พระราชธิดาของกษัตริย์ราชวงศ์มัททราช    ต่อมาพระเวสสันดรและพระนางมัทรี  มีพระโอรสกับพระธิดาพระนามว่า  "ชาลีกุมาร" หมายถึงห่วงทองบริสุทธิ์ และ "กัณหากุมารี" เพราะพระญาติรับพระองค์ตอนประสูติด้วยหนังหมี   

                ต่อมาไม่นาน  เมืองกลิงครัฐเกิดกลียุค ฝนแล้งผิดฤดูกาลข้าวยากหมากแพงเป็นที่ยากเข็ญทุกข์ร้อนไปทั่วเมือง ชาวนครได้มาชุมนุมร้องทุกข์หน้าพระราชวังกันแน่นขนัด พระเจ้ากลิงคราชจึงทรงถือศีล ๗ วัน เพื่อขอบุญกุศลช่วยให้พ้นจากภัยพิบัติ  และทรงประกอบพิธีขอฝน แต่ฝนก็ยังแล้งหนัก   เหล่าอำมาตย์มนตรีจึงทูลให้ทรงขอช้างเผือกแก้วปัจจัยนาเคนทร์ของพระเวสสันดร  ด้วยว่าพระเวสสันดรกษัตริย์แห่งนครเชตุดรนั้นทรงช้างคู่บารมีไปหนแห่งใด ก็บันดาลให้มีฝนโปรยปรายชุ่มชื้นไปทั่วแคว้น    

                เมื่อเป็นเช่นนั้น  พระเจ้ากลิงคราชจึงส่งพราหมณ์   คน   ไปทูลขอช้างปัจจัยนาเคนทร์จากพระเวสสันดรฝ่ายพระเวสสันดรเมื่อทราบเหตุความเดือดร้อนดังกล่าวแล้วพระองค์จึงประทานช้างปัจจัยนาเคนทร์ให้แก่พราหมณ์เมืองกลิงครัฐ เมื่อชาวนครเชตุดรเห็นช้างพระเวสสันดรต่างก็พากันเข้าล้อม และตะโกนด่าทอจะทำร้ายพราหมณ์ทั้ง ๘ คน แต่พราหมณ์ตวาดตอบว่า    พระเวสสันดรประทานช้างให้พวกตนแล้ว     เมื่อพราหมณ์นำช้างแก้วไปถึงเมือง ฝนฟ้าก็ โปรยปรายลงมาเป็นที่ยินดีแก่ชาวกลิงครัฐเป็นยิ่งนัก 

                แต่ในกรุงเชตุดรนั้นกลับอลหม่าน   มหาชนต่างมาชุมนุม

ที่หน้าพระลานร้องทุกข์ต่อพระเจ้ากรุงสัญชัยว่า     พระเวสสันดร

ยกพญาช้างคู่บ้านเมืองให้คนอื่น ๆ ถือว่าผิดราชประเพณีเกรงว่า

อีกต่อไปภายหน้าอาจยกเมืองให้คนอื่นก็ได้ จึงขอให้ทรงเนรเทศ

พระเวสสันดรออกจากนครเสีย

 

ข้อคิด ตอนป่าหิมพานต์ หรือกัณฑ์หิมพานต์

                .    คนดีเกิดที่ไหนไม่สำคัญ แต่สำคัญอยู่ที่ทำดีหรือเปล่า  
                .   การเสียสละแบ่งปันเป็นหัวใจของการสร้างสรรค์สังคม

                .   การทำดีบางครั้งอาจมีอุปสรรค

                .   ความเห็นแก่ตัว เป็นภัยอันยิ่งใหญ่ของการอยู่ร่วมกัน

                .   การเลือกคู่ครองที่ดีให้ดูมัทรีเป็นแบบอย่าง ไม่หลงระเริงในยามสุข ไม่ละเลยคู่ทุกข์ในยามยาก

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

(ที่มา: คณะครุศาสตร์ มจร)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕