หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » สังคม » การบวชและการประพฤติพรหมจรรย์
 
เข้าชม : ๔๙๙๐๙ ครั้ง

''การบวชและการประพฤติพรหมจรรย์''
 
พระปลัดอุดร อุตฺตรเมธี

การบวชและการประพฤติพรหมจรรย์

โดย พระปลัดอุดร  อุตฺตรเมธี  ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาเขตแพร่

บรรยายพระนวกะ  บวชเฉลิมพระเกียรติครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

ณ วัดพระธาตุช่อแฮพระอารมหลวง  อำเภอเมือง จังหวัดแพร่

วันที่  8 สิงหาคม 2550 เวลา  19.00-21.00 น.

*******************

พระ ผู้ประเสริฐ

พระ เป็นอุดมเพศ แปลว่า เพศที่สูง  บิดามารดา กราบไว้ พระเจ้าอยู่หัว พระราชินีกราบไว้

พระแปลว่าผู้ประเสริฐ

สุปฏิปันโน            เป็นผู้ปฏิบัติดีงาม

อุชุปฏิปันโน              เป็นผู้ปฏิบัติตรง

ญายปฏิปันโน         เป็นผู้ปฏิบัติควร

สามีจิปฏิปันโน            เป็นผู้ปฏิบัติชอบ

เป็นพระมีดีตรงไหน   เป็นพระมีดีตรงที่มีศีล 

ประวัติความเป็นมาของคำว่า "นาค"

            ชายเมื่อมีอายุครบ20ปีบริบูรณ์ จะสามารถอุปสมบท หรือบวช เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เพื่อศึกษาธรรมวินัยนำมาเป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติต่อไปในการออกมาครองเรือนในภายภาคหน้าได้ สำหรับก่อนการบวชเรียนจะมีการไปอยู่วัดเพื่อเตรียมฝึกหัดในการท่องคำขานนาค และฝึกหัดซ้อมเกี่ยวกับวิธีบวช ในช่วงที่มาอยู่วัดนี้ ชาวบ้านจะเรียกผู้เตรียมตัวจะบวชว่า "นาค" หรือ " "พ่อนาค" "

อาจมีหลายๆคนสงสัยว่า ทำไมต้องเรียกผู้จะบวชว่านาค ทำไมไม่เรียกชื่ออื่น ประวัติความเป็นมาของคำว่า ""นาค" อาจทำให้หลายๆคนหายข้องใจได้ ซึ่งประวัติของคำว่า "นาค" มีดังนี้

ในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่ มีพญานาคผู้หนึ่งได้แปลงร่างเป็นมนุษย์เข้ามาบวชเป็นพระภิกษุ อยู่มาวันหนึ่งได้เผลอนอนหลับ ร่างจึงกลับกลายเป็นพญานาคดั่งเดิม ภิกษุอื่นไปพบเข้าก็เกิดความเกรงกลัว เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบจึงเรียกมาตรัสถาม ได้ความว่าเพราะเกิดความศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงปลอมตัวมาบวช พระพุทธองค์ทรงดำริว่าสัตว์ดิรัจฉานไม่อยู่ในฐานะควรจะบวชจึงโปรดให้ปลงเพศบรรพชิตกลับไปเป็นาคดั่งเดิม แต่ภิกษุนั้นมีความอาลัย จึงขอฝากชื่อนาคไว้ในพระพุทธศาสนา ดังนั้นจึงมีคำเรียกขานคนที่ต้องการจะบวชว่า "นาค" สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

(ที่มา:ประเพณี พิธีมงคล และวันสำคัญของไทย)

 

เรื่องการบวช
        เรื่อง การบวช คำนี้ ออกมาจากคำว่า ปัพพัชชา มีคำแปลอย่างหนึ่งว่า  การออก  การออกที่เป็นการบวชหรือปัพพัชชานี้ ในเบื้องต้นก็เป็นการออกทางกาย คือออกจากเคหสถานบ้านเรือน    มาเป็นผู้ไม่มีเรือน เพราะฉะนั้น    จึงมีคำเรียกนักบวชว่า อนาคาริยะ ที่แปลว่า คนไม่มีเรือน คนไม่มีบ้าน  เพราะว่าได้ออกจากบ้านเรือนมาแล้ว  เมื่อออกมาเป็นอนาคาริยะ คือคนไม่มีบ้าน คนไม่มีเรือน ดั่งนี้แล้ว จึงต้องมีความเป็นอยู่เกี่ยวพันกับ นิสสัย ๔ ของบรรพชิตคือผู้บวช
 
คำว่านิสสัยนั้นก็มีอยู่ ๒ อย่าง

นิสสัยที่เป็นภายนอก ได้แก่ปัจจัยเป็นเครื่องอาศัยซึ่งนับว่าจำต้องอาศัยขาดไม่ได้

นิสสัยที่เป็นภายใน ได้แก่นิสสัยจิตใจ ก็หมายถึงพื้นแพของจิตใจ

นิสสัยภายนอก คือปัจจัยเครื่องอาศัยที่จำเป็นสำหรับผู้บวช ก็คือเที่ยวบิณฑบาต นุ่งห่มผ้าบังสุกุล  อยู่โคนต้นไม้ ใช้ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า ดังที่ได้บอกกันเมื่ออุปสมบทเสร็จใหม่ นั้นแล้ว.
      
ทำไมจึงต้องบอกนิสสัย ๔ นี้ ก็เพราะว่าเมื่อออกจากบ้านจากเรือน มาเป็น  อนาคาริยะ คือคนไม่มีบ้านไม่มีเรือน จะทำอย่างไร ครอบครัวก็ไม่มี ก็ต้องเที่ยวขอเขา คือเที่ยวบิณฑบาต ผ้านุ่งห่มจะได้ที่ไหน ก็ต้องเที่ยวเก็บเอาผ้าที่เขาทิ้ง เขาไม่ต้องการ มาทำเป็นผ้านุ่งห่มสำหรับตน ที่อยู่อาศัยจะอยู่ที่ไหน บ้านก็ไม่มี โดยที่สุดก็ต้องอยู่ตามโคนไม้ เมื่อเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้น จะได้หยูกยาที่ไหน เมื่ออยู่ตามโคนไม้ ก็ตองเก็บเอาผลไม้ที่เป็นยา มาทำเป็นยากันแก้ไข้ตามมีตามได้ เพราะฉะนั้น นิสสัย ๔ นี้ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นจริง ๆ สำหรับผู้ที่บวช ตามความหมายดั้งเดิมนั้น คือว่าออกมาเป็นคนไม่มีบ้านไม่มีเรือน ก็ต้องอาศัยนิสสัย ๔ นี้เท่านั้น แต่ต่อมาเมื่อนักบวชได้มาเกี่ยวข้องกับชาวบ้านชาวเมือง ในฐานะที่มาเที่ยวสั่งสอนอบรมเขา มาเป็นบุญเขต คือนาบุญของเขา เมื่อเขามีศรัทธาเขาก็สร้างวัดให้อยู่ ก็กลายมาเป็นนักบวชที่อยู่วัด เมื่อมาอยู่วัดเข้า ชาวบ้านชาวเมืองศรัทธามากขึ้น เขาก็มาบำรุงด้วยอติเรกลาภต่าง ๆ จนมากมายด้วยกำลังศรัทธาของเขา ดังที่ปรากฏอยู่นี้ เพราะฉะนั้น ในบัดนี้มักมักจะลืมเลือนไปถึงความหมายเดิมของการบวช ลืมเลือนนิสสัย ๔ ของการบวช ชักให้ประมาท ลืมความเป็นนักบวชคือความเป็นผู้ออกดังกล่าวของตน แล้วก็ประพฤติตนไม่สมควร ก็กลายเป็นก่อบาป ก่ออกุศลขึ้น ฉะนั้นจึงควรที่จะระลึกถึงความหมายของการบวช ระลึกถึงนิสสัย ๔ ของการบวชที่มีความหมายเกี่ยวพันกันดังกล่าวมานั้น แล้วก็ไม่ประมาทตั้งใจบวชปฏิบัติพระธรรมวินัยตามกำลังสามารถ.
      
ทำไมเขาจึงบำรุงด้วยอติเรกลาภต่าง ๆ มากมาย ?  ก็เพราะเขามุ่งจะให้ผู้บวชเป็นสมณะที่ดี จะไม่มีสัปปายะคือความสะดวกสบายใจการที่จะเรียนปฏิบัติ เพราะฉะนั้น จึงควรทำสติคือความระลึก สัมปชัญญะความรู้ตัวอยู่เสมอ ว่าเขายิ่งบำรุงเท่าไร ก็จำเป็นที่จะต้องยิ่งทำความดีให้มากขึ้นเท่านั้น เพราะเขามุ่งเช่นนั้นเขาจึงทำนุบำรุง เมื่อมีสติเช่นนี้แล้วก็จะได้เกิดความไม่ประมาท.
      
ตามที่กล่าวมานี้ เป็นการออกบวชทางกาย และยังต้องมีลัทธิวิธีในการบวช        ดังออกบวชเป็นภิกษุ เป็นสามเณร ก็จะต้องปฏิบัติพิธีการบวช เมื่อบวชแล้วก็จำเป็นที่จะต้องรักษาปฏิบัติในสิกขาตามหน้าที่ของผู้บวช ในการนี้ จำเป็นที่จะต้องมีการบออกบวชอีกอย่างหนึ่ง คือการออกบวชทางใจ ได้แก่ การปฏิบัติทางใจ ให้เกิดความสงบระงับตามพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า.
 
การออกบวชทางจิตใจเป็นข้อสำคัญ ถ้าจิตใจไม่ออก ดังเช่นจิตใจยังฟุ้งซ่านไปในเรื่องของโลก ในเรื่องของบ้านที่ได้ออกมาแล้ว หรือในทางใดทางหนึ่งในภายนอก ก็จะพาให้ร่างกระสับกระส่ายไปด้วย ไม่สามารถจะปฏิบัติในสิกขาของผู้บวชได้ เพราะฉะนั้น การบวชที่สมบูรณ์ก็จำเป็นที่จะออกบวชทางจิตใจอีกส่วนหนึ่ง.
      
อนึ่ง บวชทำไม ?  ปัญหานี้ ตอบตามทางพิจารณาดูตามประวัติของพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้านั้น เมื่อทรงเป็นพระโพธิสัตว์ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นพระราชกุมาร ก็ทรงมีความบริบูรณ์พูนสุขทุกประการ แต่ได้ทรงปรารภถึง ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ที่มีครอบงำสัตว์โลกทุกถ้วนหน้า จึงทรงประสงค์จะพบโมกขธรรมคือธรรมะเป็นเครื่องพ้นจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย เมื่อได้ทรงประสบพบเห็นสมณะคือนักบวช ก็ทรงเลื่อมใสในการบวช ทรงเห็นว่าจะเป็นทางแสวงหาโมกขธรรมคือธรรมะเป็นเครื่องพ้นจากความทุกข์ดังกล่าวนั้นได้ จึงได้เสด็จออกบวช เพราะฉะนั้น จุดมุ่งหมายแห่งการบวชของพระพุทธเจ้า จึงได้มุ่งโมกขธรรม ธรรมะเป็นเครื่องพ้นจากความทุกข์ของโลก คือ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย พร้อมทั้งความเกิด ผู้ที่บวชตามพระพุทธเจ้าในชั้นแรก ก็มีความมุ่งเช่นนี้ ดังเช่นพระสาวกในครั้งพุทธกาลรูปหนึ่ง ชื่อว่า พระรัฏฐปาละ ท่านเป็นลูกเศรษฐี แต่ก็ได้สละทรัพยสมบัติออกบวชปฏิบัติจนเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง วันหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินของแคว้นนั้น พระนามว่าพระเจ้าโกรัพยะ ได้ถามท่านว่า ท่านบวชทำไม ? เพราะคนโดยมากนั้น บวชกันเพราะเหตุว่า มีความเสื่อมเพราะชราบ้าง มีความเสื่อมเพราะความป่วยไข้บ้าง มีความเสื่อมเพราะทรัพยสมบัติบ้าง มีความเสื่อมญาติบ้าง แต่ว่าท่านรัฏฐปาละเป็นผู้ที่ยังไม่มีความเสื่อมใด ๆ ดั่งกล่าวนั้น ไฉนท่านจึงออกบวช ท่านก็ตอบว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัส ธัมมุเทส ไว้ ๔ ข้อ คือ
        - 
โลกอันชราย่อมนำเข้าไป ไม่ยั่งยืน
        -
โลกไม่มีอะไรต้านทานจากความเจ็บป่วย ไม่เป็นใหญ่
       -
โลกไม่ใช่ของ ๆ ตน เพราะทุก ๆ คนจำต้องละสิ่งทั้งปวงไป ด้วยอำนาจของความตาย และ
       -
โลกพร่องอยู่ ไม่มีอิ่ม เป็นทาสของตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก
ท่านได้ปรารภธัมมุเทส คือการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ ประการนี้ จึงได้ออกบวช.

       แต่ว่าการบวชนั้น ก็มิได้มีผู้มุ่งผลอย่างสูงดั่งกล่าวนี้เสมอไป ดังในมิลินทปัญหา พระเจ้ามิลินท์ ได้ถาม พระนาคเสน ว่า ประโยชน์สูงสุดของการบวชคืออะไร ?       พระนาคเสนท่านก็ตอบว่า ประโยชน์สูงสุดของการบวชนั้น คือพระนิพพาน คือความดับ เพราะไม่ยึดมั่นอะไร ๆ ทั้งหมด แต่คนก็มิใช่บวชเพื่อประโยชน์นี้ทั้งหมด บางคนบวชเพราะหลีกหนีราชภัยบ้าง หนีโจรภัยบ้าง ปฏิบัติตามพระราชประสงค์หรือความประสงค์ของผู้มีอำนาจบ้าง ต้องการจะพ้นหนี้สินบ้าง ต้องการความเป็นใหญ่บ้าง ต้องการที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างสะดวกสบายบ้าง เพราะกลัวภัยต่าง ๆ บ้าง        พระเจ้ามิลินท์ก็ถามว่า พระนาคเสนเล่า เมื่อบวชมุ่งประโยชน์อย่างนี้หรือ หรือมุ่งอย่างไร    พระนาคเสนก็ตอบว่า เมื่อท่านบวชนั้น ท่านยังเป็นหนุ่ม ก็ไม่ได้คิดจะมุ่งประโยชน์อย่างนี้ แต่ว่าท่านคิดว่า พระสมณะศักยบุตรเหล่านี้ เป็นบัณฑิตคือผู้ฉลาด จักสามารถยังเราให้ศึกษาได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงได้บวชเพื่อศึกษา ครั้นท่านได้ศึกษาแล้ว ท่านจึงได้เป็นประโยชน์ของการบวช เพราะฉะนั้น ก็เป็นอันว่าท่านบวชก็ด้วยมุ่งประโยชน์เช่นนั้นเหมือนกัน พระนาคเสนทานตอบพระเจ้ามิลินท์ดั่งนี้
      
อย่างที่ ๑ เรียกว่า บวชได้กิ่งใบของพรหมจรรย์ คือบวชแล้วก็มุ่งแต่จะได้ลาภ ได้สักการะ ได้สรรเสริญ เมื่อได้ก็พอใจเพียงเท่านั้น
      
อย่างที่ ๒ เรียกว่า บวชได้กะเทาะเปลือกของพรหมจรรย์ คือก็ไม่ได้มุ่งจะได้ลาภสักการะและสรรเสริญทีเดียว แต่ก็ปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วย และก็พอใจเพียงว่า จะปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์เท่านั้น
      
อย่างที่ ๓ เรียกว่า บวชได้เปลือกของพรหมจรรย์ คือเมื่อปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้แล้ว ก็ปฏิบัติในสมาธิให้บริบูรณ์ด้วย และก็พอใจเพียงสมาธิเท่านั้น
      
อย่างที่ ๔ เรียกว่า บวชได้กระพี้ของพรหมจรรย์ คือเมื่อปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ให้บริบูรณ์แล้ว ก็ปฏิบัติต่อไปจนเกิดญาณทัสสนะคือความรู้ความเห็นธรรมะขึ้นด้วย และก็พอใจเพียงที่รู้ที่เห็นเท่านั้น
      
อย่างที่ ๕ เรียกว่า บวชได้แก่นของพรหมจรรย์ คือว่าได้ปฏิบัติสืบขึ้นไปจนได้วิมุตติ คือความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์บางส่วนหรือสิ้นเชิง ตามสามารถของการปฏิบัติ
      
อย่างที่ ๕ นี้ จึงจะชื่อว่าได้บรรลุแก่นของการบวช หรือว่าบวชได้แก่นของพรหมจรรย์
      
การบวชได้อะไรบ้างตามชั้น ๆ นี้ อันที่จริงเมื่อได้บวชตั้งใจปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ขึ้นมา ก็ชื่อว่าเป็นการบวชดีได้ แต่ยังมีกิจที่จะต้องทำให้สูงขึ้นไปกว่านั้นอีกก็ต้องทำต่อไป ไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น การบวช จะได้ประโยชน์ของการบวชตั้งแต่ต้นขั้นต่ำดั่งที่กล่าวมานี้ ก็ต้องอาศัยการบวชใจประกอบอีกส่วนหนึ่ง เมื่อบวชพร้อมกายทั้งใจแล้ว ก็จะเป็นการบุญเป็นการกุศลอย่างสูง เป็นบุญก็คือเป็นเครื่องชำระความชั่ว เป็นกุศลก็คือเป็นกิจของคนฉลาดชำระความชั่วของเราเอง และเราเองก็เป็นผู้ฉลาดขึ้นเอง เป็นความฉลาดบริสุทธิ์ 
    

การบวชคืออะไร ?     (พุทธทาสภิกขุ)

เมื่อมีปัญหาขึ้นมาว่า การบวช คืออะไร ? ดังนี้แล้ว ทางที่ดีที่สุดควรจะถือเอาใจความตัวพยัญชนะคำว่า “บวช“ นั่นเอง คำว่า “บวช“ เป็นภาษาไทย ซึ่งถอดรูปมาจากคำในภาษาบาลีว่า ปพฺพชฺชา
           
คำว่า “ปพฺพชฺชา“ นี้ มีรากศัพท์ คือ ป + วช : ป แปลว่า ทั่วหรือสิ้นเชิง
           
วช แปลว่า ไป หรือเว้น
           
คำว่า ป + วช จึงแปลว่า ไปโดยสิ้นเชิง หรือ เว้นโดยสิ้นเชิง
           
ที่ว่า “ไปโดยสิ้นเชิง“ นั้นหมายถึง ไปจากความเป็นฆราวาส คือ จากการครองเรือนไปสู่ความเป็นบรรพชิต คือ ผู้ไม่ครองเรือนโดยสิ้นเชิง โวหารที่สูงไปกว่านั้น ท่านเรียกว่า ไปจากโลกโดยสิ้นเชิง ซึ่งหมายความว่า ละเสียจากวิสัยที่ชาวโลกเขามีกัน เป็นกันโดยสิ้นเชิง นั่นเอง
          
คำว่า "ไปจากความเป็นฆราาส" นี้หมายความว่า  ไปจากบ้านเรือน  ซึ่งหมายถึง
            การสละความมีทรัพย์สมบัติ
           
การสละวงศ์ญาติทั้งหลาย
           
การเลิกละการนุ่งห่มอย่างฆราวาส
           
เลิกละการกินอยู่อย่างฆราวาส
           
เลิกละการใช้สอยอย่างฆราวาส
           
เลิกละอาการกิริยาวาจาอย่างฆราวาส
           
เลิกละความรู้สึกนึกคิดอย่างฆราวาสสิ้นเชิง

ดังนี้  จึงจะเรียกว่า  ไปหมดจากความเป็นฆราวาส  โดยสิ้นเชิง  หรือไปจากโลกโดยสิ้นเชิง
            โดยสรุปแล้ว ฉันอยู่ด้วยการระลึกถึงพระพุทธภาษิตของพระพุทธองค์ ซึ่งเราถือว่าเป็นพระพุทธบิดา อันได้ตรัสไว้ว่า “ พวกเธอ จงฉันบิณฑบาตสักว่าเหมือนกับน้ำมันสำหรับหยอดเพลาเกวียนหรือเหมือนกับมารดาบิดาซึ่งหลงทางกลางทะเลทราย ต้องจำใจกินเนื้อบุตรของตน ที่ตายแล้วในกลางทะเลทราย   เพื่อประทังชีวิตของตนเองฉันนั้น “กิริยาดังกล่าวนี้ คือ การเลิกละจากการกินอยู่อย่างฆราวาสโดยสิ้นเชิง
            ที่ว่า “ ป+ วช “ หรือเป็นภาษาบาลีอย่างเต็มรูปว่า "ปพฺพชฺชา" นั่นเอง นี้คือความหมายของคำว่า “ บวช “ ในส่วนที่ว่า “ ไปหมด “ คือไปหมดจากความเป็นผู้ครองเรือนหรือเพศฆราวาสนั่นเอง
            ส่วนความหมายของคำว่า “ บวช “ ที่ว่า “ เว้นหมด “ นั้น อธิบายว่าเมื่อบวชเป็นบรรพชิตแล้ว จักต้องเว้นสิ่งซึ่งควรเว้น ตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้อย่างไรนั้นโดยสิ้นเชิง

เครื่องมือของคนบวช คืออะไร
         ผู้บวชหรือผู้บวชแล้วก็ตาม ย่อมจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องมือสำหรับใช้ เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ในการบวช และเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้ได้รับอันตรายจากการบวช ดังที่พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า
       “
การบวชที่รับเอาไปไม่ถูกทาง ย่อมทำอันตรายแก่ผู้บวชเหมือนใบหญ้าที่มีคม เมื่อจับดึงไม่ถูกทาง ย่อมบาดมือผู้จับดึงได้ฉันใดก็ฉันนั้น “ ดังนี้
      ในอันดับแรกที่สุด ผู้บวชจะต้องมีความรู้สึกและรับรู้ไว้ว่า ผ้าเหลือง หรือที่เรียกกันว่า “ ผ้ากาสาวพัสตร์ “ นั้น ท่านถือกันว่าเป็น ธงชัยของพระอรหันต์  ซึ่งเรียกโดยภาษาบาลีว่า “ อรหตฺตธโช “ ซึ่งตามตัวหนังสือก็แปลว่า “ ธงชัยของพระอรหันต์ “ อยู่แล้ว
             
ข้อนี้หมายความว่า ผ้าย้อมฝาดสีหม่นนี้ เป็นเครื่องหมายอันศักดิ์สิทธิ์ของผู้มีความบริสุทธิ์และประเสริฐ ตั้งอยู่ในฐานะเป็นปูชยนียบุคคล ทั้งของเทวดาและมนุษย์ แม้ที่สุดแต่สัตว์เดรัจฉาน ท่านก็กล่าวว่าย่อมรู้สึกว่า ผ้ากาสายะนั้นเป็นเครื่องหมายของพระอรหันต์ ผู้ไม่เป็นข้าศึกแก่ตน
           
ความข้อนี้ก็เป็นหลักที่พระพุทธองค์ตรัสยืนยันไว้ในที่หลายแห่ง  เช่น บาลีว่า “ อนิกฺกสาโว กาสาวํ “ ดังนี้ เป็นอาทิ ซึ่งมีใจความดังที่กล่าวแล้ว
             
เพราะฉะนั้น ในขณะที่จะให้ผู้เข้ามาบวชห่มผ้ากาสายะในวันนั้น ท่านจึงมีระเบียบกล่าวสอน ตจปัญจกกัมมัฏฐาน เพื่อฟอกจิตใจบุคคลผู้ที่กำลังจะห่มผ้ากาสายะนั้น ให้อยู่ในสภาพที่พอเหมาะสมแก่การ ที่จะห่มผ้ากาสายะในเบื้องต้นเสียก่อน
             
ตจปัญจกกัมมัฏฐาน นี้ เป็นกัมมัฏฐานในประเภท อสุภกัมมัฏฐาน คือการพิจารณาให้เห็นความจริงของสิ่งเท็จเทียมที่ฆราวาสผู้นั้นเคยลุ่มหลงมาแต่ก่อนนั้นเสียก่อน จนกระทั่งมีจิตใจสลดสังเวชในความที่ตนเคยลุ่มหลงเห็นโทษของความลุ่มหลงแห่งเพศฆราวาส มีจิตใจสูงคือ สะอาด สว่าง และสงบขึ้นตามส่วน จนพอจะกล่าวได้ว่าสูงกว่าระดับจิตใจของฆราวาสแล้ว ท่านจึงได้ให้ห่มผ้ากาสายะนั้น

 

สรุปความ

         ผู้ที่บวชที่ประสงค์จะได้รับผลแห่งการบวช จักต้องระลึกหรือสำนึกถึงความที่ตนจะต้องรับผิดชอบในความล้มเหลว หรือ ความประสบผลสำเร็จในการบวชของตนด้วยตนเอง เพราะตนขอบวชด้วยความสมัครใจของตนเอง
       
เพื่อเป็นเครื่องเตือนตนไม่ให้เป็นผู้เสียหายในการปฏิญาณตน จักต้องระลึกถึงข้อที่ได้ทำพิธีขอบวชของตนในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ ในโอกาสอันศักดิ์สิทธิ์ ในท่ามกลางหมู่คณะที่ประชุมกันในนามของพระรัตนตรัย
       
ตนจะต้องมีหิริและโอตตัปปะ ในการที่จะรักษาเกียรติยศของตนตามที่ได้ปฏิญาณในการบวชของตนไว้อย่างไร เป็นผู้สำนึกในลักษณะของการบวชอันแท้จริง กล่าวคือ การไปหมดจากเรือน จากการกินอยู่นุ่งห่ม การใช้สอย การทำ การพูด และความรู้สึกคิดนึกอย่างฆราวาสโดยสิ้นเชิง และเป็นผู้เว้นหมดจากสิ่งที่ควรเว้นควรละ ตามธรรมตามวินัยในพระศาสนานี้
       
ทำการบวชของตน ให้เป็นการบวชที่บริสุทธิ์และถูกต้อง ไม่นำมาซึ่งอันตรายแก่ตน เพราะการบวชของตน มีพระรัตนตรัย ซึ่งมีใจความสำคัญรวมอยู่ที่ความสะอาด สว่าง สงบ เป็นวัตถุที่ตั้งอาศัย เป็นการบวชที่นำมาซึ่งผลอันจะพึงได้แก่ตน แก่ผู้มีบุญคุณของตน ตลอดถึงผลที่จะพึงได้แก่พระศาสนา
       
ความเป็นอย่างนี้ ย่อมสำเร็จประโยชน์ได้ถึงที่สุด เพราะตนมีอาวุธอันประเสริฐของบุคคลผู้บวชแล้ว กล่าวคือ กัมมัฏฐาน อันเป็นประธาน มีอสุภกัมมัฏฐานเป็นต้น และประกอบด้วยกัมมัฏฐานอันเเป็นบริวาร มีการพิจารณา พิจารณาจตุปัจจัยเครื่องอาศัยทั้ง 4 อย่างของบรรพชิต แล้วบริโภค สำเร็จประโยชน์ได้อย่างบริสุทธิ์ นับว่าเป็นอาวุธและเป็นทั้งเครื่องป้องกัน ในการบำบัดอันตราย อันจะพึงเกิดขึ้นแก่บรรพชาของตน จนกระทำให้ตนมีสิทธิอันชอบธรรม ที่จะรับทักษิณาทานและการกราบไหว้บูชา ทั้งของเทวดาและมนุษย์
       
รู้จักถือเอาประโยชน์อันสูงสุด ซึ่งเป็นความมุ่งหมายอันแท้จริงแห่งการบวช กล่าวคือความเร็วไวในการบรรลุมรรคผลและโอกาสที่ตนสามารถบำเพ็ญประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่นได้กว้างขวางไพศาลสูงสุด อย่างไม่มีขอบเขต
       
สมกับพระบาลีที่ว่า “ อปิ รชฺเชน ตํ วรํ “ ซึ่งมีใจความว่า “ บรรพชานั้นเป็นสิ่งประเสริฐกว่าการเป็นจักรพรรดิ์ “ ดังนี้โดยไม่ต้องสงสัยเลย

               
ขอให้เราทั้งหลาย ผู้บวชเป็นสมณะศากยบุตร ในพระพุทธศาสนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงได้รักษาเกียรติแห่งความเป็นสมณะศากยปุตติยะไว้ให้ได้ โดยการทำตนให้ประสบผลแห่งการบวช โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาแล้วนั้น ทุกประการ


 การบวชคืออะไร

        1.เป็นการค้นหาอะไร ที่มันดีกว่าอยู่บ้านเรือน

2.ให้เป็นการทดลองอยู่อย่างไม่มีทรัพย์สมบัติ อยู่อย่างต่ำต้อย พระเณรรูปไหนที่จะบวชเพียงเดือนเดียว ก็ขอขอให้ถือเป็นโอกาสทดลองว่า จะมีชีวิตอยู่อย่างต่ำต้อย ไม่ต้องมีสมบัติเลย

3.ทดลองการบังคับตัว บังคับจิต บังคับความรู้สึก บังคับ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ

4.ทดลองสละทรัพย์สมบัติ ของรัก ของพอใจ ทดลองไปทุกสิ่งทุกอย่างที่ควรทดลอง

5.ประโยชน์ต่อตัวผู้บวช ได้เรียนรู้ธรรมะ ได้ปฏิบัติจริงได้ผลจริงๆ และได้รับสิ่งใหม่ที่ดีที่สุด คือเรื่องของพระธรรม ที่ทำให้บุคคลนั้นพ้นจากความทุกข์

6.ประโยชน์ต่อญาติผู้บวช ญาติพี่น้องทั้งบิดามารดา จะได้ใกล้ชิดพระศาสนามีความปิติยินดีในธรรมและศาสนามากขึ้น เรียกว่า เป็นญาติทางศาสนานั้นเอง ประโยชน์ทั้งหลายต่อสัตว์ทั้งหลาย ที่เวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร และทั้งประโยชน์ต่อพระศาสนาเนื่องจากผู้บวช จะเป็นผู้เผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่บุคคลทั่วไป และยั่งเป็นผู้สืบอายุพระศาสนาไว้ ให้คงอยู่คู่ลูกหลานคนไทยสืบไป

ในเมื่อบวชได้เพียงหนึ่งเดือน มันก็จะเป็นการบวชที่มีอานิสงค์มหาศาล อย่างที่ท่านอาจารย์แต่กาลก่อนท่านพูดไว้เป็นอุปมา เพื่อการคำนวณเพราะว่าไม่อาจจะพูดเป็นอย่างอื่น คือท่านพูดว่า ให้เอาฟ้าทั้งหมดนี้เป็นเหมือนแผ่นกระดาษ แล้วภูเขาพระสุเมรุเป็นเหมือนปากกาหรือพู่กัน ให้เอาแผ่นดินเป็นเหมือนกับหมึก เอาน้ำในมหาสมุทรเป็นน้ำละลายหมึก แล้วเขียนกันให้เป็นท้องฟ้า มันก็ไม่หมดอานิสงค์ของการบวช ท่านไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร ก็เลยพูดไว้เป็นอุปมาอย่างนั้น ว่าการบวช ถ้าบวชกันจริงมันมีอานิสงค์มากกว่านั้น

คุณสมบัติการบรรพชาอุปสมบท

 

สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ก็ถือว่ามีส่วนสำคัญในการคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมจะมาอยู่ในสมณเพศ การหละหลวมในการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่จะมาบวชให้คนทั่วไปเขากราบไหว้ นับถือ มีส่วนทำให้สถาบันศาสนาสั่นคลอน ดังจะเห็นได้จากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นว่า คนเคยต้องโทษจำคุกในคดีอาญามาบวชเป็นพระแล้วก็นอกจากจะไม่อยู่ในศีลแล้วยังก่อคดีอุกฉกรรจ์อีกจนได้

ผู้ที่จะบวชเป็นสามเณรหรือพระได้ต้องมีคุณสมบัติดังนี้

๑.เป็นสุภาพชนที่มีความประพฤติดีประพฤติชอบ ไม่มีความประพฤติเสียหาย เช่นติดสุราหรือยาเสพติดให้โทษเป็นต้น และไม่เป็นคนจรจัด

๒.มีความรู้อ่านและเขียนหนังสือไทยได้

๓.ไม่เป็นผู้มีทิฏฐิวิบัติ

๔.ไม่เป็นคนล้มละลาย หรือมีหนี้สินผูกพัน

๕.เป็นผู้ปราศจากบรรพชาโทษ และมีร่างกายสมบูรณ์ อาจบำเพ็ญสมณกิจได้ ไม่เป็นคนชราไร้ความสามารถหรือทุพพลภาพ หรือพิกลพิการ

๖.มีสมณบริขารครบถ้วนและถูกต้องตามพระวินัย

๗.เป็นผู้สามารถกล่าวคำขอบรรพชาอุปสมบทได้ด้วยตนเอง และถูกต้องไม่วิบัติ

ต่อไปนี้เป็นลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้จะบวชได้แก่

๑.เป็นคนทำความผิด หลบหนีอาญาแผ่นดิน

๒.เป็นคนหลบหนีราชการ

๓.เป็นคนต้องหาในคดีอาญา

๔.เป็นคนเคยถูกตัดสินจำคุกฐานเป็นผู้ร้ายสำคัญ

๕.เป็นคนถูกห้ามอุปสมบทเด็ดขาดทางพระศาสนา

๖.เป็นคนมีโรคติดต่ออันน่ารังเกียจ เช่นวัณโรคในระยะอันตราย

๗.เป็นคนมีอวัยวะพิการจนไม่สามารถปฏิบัติกิจพระศาสนาได้

สิ่งต่างๆ ข้างต้นจะมีเขียนถามไว้ในใบสมัครขอบวชซึ่งต้องไปเขียนที่วัดนั้นๆ

 

 

 

เครื่องอัฏฐบริขาร

อัฏฐบริขารซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดเสียมิได้ มีความหมายว่า บริขาร ๘ แบ่งเป็นผ้า ๕ อย่างคือ สบง ๑ ประคตเอว ๑ จีวร ๑ สังฆาฏิ ๑ ผ้ากรองน้ำ ๑

และเหล็ก ๓ อย่างคือ บาตร ๑ มีดโกน ๑ เข็มเย็บผ้า ๑

ศีลของสามเณรและพระ

สามเณรต้องถือศีล ๑๐ ข้ออันได้แก่

๑.เว้นจากการฆ่าสัตว์ทั้งมนุษย์และเดรัจฉาน

๒.เว้นจากการลักทรัพย์

๓.เว้นจากการเสพเมถุน

๔.เว้นจากการพูดเท็จ

๕.เว้นจากการดื่มสุราและเมรัย

๖.เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล (หลังเที่ยงวันไปแล้ว)

๗.เว้นจากการฟ้อนรำขับร้องและการบรรเลง ตลอดถึงการดูการฟังสิ่งเหล่านั้น

๘.เว้นจากการทัดทรงตกแต่งประดับร่างกาย การใช้ดอกไม้ของหอมเครื่องประเทืองผิวต่างๆ

๙.เว้นจากการนอนที่นอนสูงใหญ่และยัดนุ่นสำลีอันมีลายวิจิตร (เว้นจากการนั่งนอนเหนือเตียงตั่งที่มีเท้าสูงเกินประมาณ)

๑๐.เว้นจากการรับเงินทอง

อาบัติ หรืออาปัตติ  ตามภาษาบาลี มีความหมายว่า  การต้อง   พูดให้กระชับอีกนิด คือ แปดเปื้อนความผิด ความชั่ว 

            คำว่าอาบัติ  มีอยู่ด้วยกัน 7 ประการคือ

            1.ปาราชิก

            2.สังฆาทิเสล

            3.ถุลลัจจัย

            4.ปาจิตตีย์

            5.ปาฏิเทสนียะ

            6.ทุกกฎ

            7.ทุพภาสิต

ปาราชิก แปลได้ 3 นัย

            1.เป็นคุณสมบัติของอาบัติ แปลว่า ยังผู้ต้องให้พ่าย

            2.เป็นคุณบทของบุคคล แปลว่า ผู้พ่าย

            3.เป็นคุณบทของสิกขาบท แปลว่า ปรับอาบัติปาราชิก

หญิงมนุษย์  เดรัจฉานตัวเมีย    เสพทางทวารหนัก ทวารเบา  ช่องปาก

ชายมนุษย์  เดรัจฉานตัวผู้  ทวารหนัก  ช่องปาก

นิทานต้นบัญญัติ   พระสุทิน

สังฆาทิเสส   แปลว่า ความละเมิดมีสงฆ์ในเบื้องต้นและกรรมที่เหลือ  ภิกษุต้องอาบัตินี้ต้องอยู่กรรม  โดยการอยู่ปริวาส  เช่นภิกษุพยายามให้อสุจิเคลื่อนออกจากฐาน แม้ชั่วแมลงวันกินอิ่ม  พร้อมทั้งความกำหนดและเจนา เป็นสังฆาทิเสส

นิทานต้นบัญญัติ พระเสยยกะ

อนิยต    วิติกกมะ (โทษละเมิด)ไม่แน่

            อาจจะเป็นอาบัติใดอาบัติหนึ่งในอาบัติ ปาราชิก  สังฆาทิเสส  ปาจิตตีย์  2 สิกขาบท

เช่น ภิกษุนั่งในที่ลับตากับหญิง 2 ต่อสอง คำว่าที่ลับคือ

            ลับตา  อาจเสพเมถุนได้

            ลับหู  พูดจาเกี้ยวพาราสีมาตุคามได้

นิทานต้นบัญญัติ  พระอุทยี

พระภิกษุต้องถือศีล ๒๒๗ ข้ออันได้แก่

ศีล ๒๒๗ ข้อที่เป็นวินัยของสงฆ์ ทำผิดถือว่าเป็นอาบัติ สามารถแบ่งออกได้เป็นลำดับขั้น ตั้งแต่ขั้นรุนแรงจนกระทั่งเบาที่สุดได้ดังนี้ ได้แก่

ปาราชิก มี ๔ ข้อ

สังฆาทิเสส มี ๑๓ ข้อ

อนิยต มี ๒ ข้อ (อาบัติที่ไม่แน่ว่าจะปรับข้อไหน)

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ ข้อ (อาบัติที่ต้องสละสิ่งของว่าด้วยเรื่องจีวร ไหม บาตร อย่างละ ๑๐ข้อ)

ปาจิตตีย์ มี ๙๒ ข้อ (ว่าด้วยอาบัติที่ไม่ต้องสละสิ่งของ)

ปาฏิเทสนียะ มี ๔ ข้อ (ว่าด้วยอาบัติที่พึงแสดงคืน)

เสขิยะ (ข้อที่ภิกษุพึงศึกษาเรื่องมารยาท) แบ่งเป็น

สารูปมี ๒๖ ข้อ (ความเหมาะสมในการเป็นสมณะ)

โภชนปฏิสังยุตต์ มี ๓๐ ข้อ (ว่าด้วยการฉันอาหาร)

ธัมมเทสนาปฏิสังยุตต์ มี ๑๖ ข้อ (ว่าด้วยการแสดงธรรม)

ปกิณสถะ มี ๓ ข้อ (เบ็ดเตล็ด)

อธิกรณสมถะ มี ๗ ข้อ (ธรรมสำหรับระงับอธิกรณ์)

รวมทั้งหมดแล้ว ๒๒๗ ข้อ ผิดข้อใดข้อหนึ่งถือว่าต้องอาบัติ การแสดงอาบัติสามารถกล่าวกับพระภิฏษุรูปอื่นเพื่อเป็นการแสดงตนต่อความผิดได้ แต่ถ้าถึงขั้นปาราชิกก็ต้องสึกอย่างเดียว

คำถามทั้ง 13 ข้อนั้น มีดังนี้
            1.กุฎฐัง เธอเป็นโรคเรื่อนหรือไม่
 
           2.คัณโฑ เธอเป็นโรคฝี (ในระยะที่น่าเกลียด-บริเวณที่เห็นชัด)หรือไม่
            3.กิลาโส เธอเป็นโรคกลากหรือไม่ (โรคเรื้อนชนิดแห้ง?)
       
4.โสโส เธอเป็นโรควัณโรคหรือไม่
            5.อปมาโร เธอเป็นโรคลมบ้าหมู(ลมชัก)หรือไม่
             6.มนุสโสสิ เธอเป็นมนุษย์แน่นะ
             7.ปุริโสสิ เธอเป็นผู้ชายแน่นะ

             8.ภุชิสโสสิ เธอเป็นไทแก่ตัวเองแน่นะ
 
           9.อะนะโณสิ เธอไม่เป็นหนี้ใครแน่นะ
            10.นะสิ ราชะภะโฏ เธอไม่เป็นข้าราชการแน่นะ
            11.อนุญญาโตสิ มาตาปิตูหิ มารดาบิดาอนุญาตแล้วแน่นะ
 
           12.ปะริปุณณะวีสติวัสโสสิ อายุครบ 20 ปีจริงนะ

             13.ปะริปุณณันเต ปัตตะจีวะรัง มีบาตร-จีวรครบแน่นะ
บทกิจวัตรเมื่อเป็นพระ

๑.ลงอุโบสถ (ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น)

๒.บิณฑบาตรเลี้ยงชีพ

๓.สวดมนต์ไหว้พระ

๔.กวาดอาวาสวิหารลานพระเจดีย์

๕.รักษาผ้าครอง

๖.อยู่ปริวาสกรรม

๗.โกนผม ปลงหนวด ตัดเล็บ

๘.ศึกษาสิกขาบทและปฏิบัติพระอาจารย์

๙.เทศนาบัติ

๑๐.พิจารณาปัจจเวกขณะทั้ง ๔ เป็นต้น

 

เพศฆราวาส (คนธรรมดา) - เพศบรรพชิต (นักบวช)
ขอเปรียบเทียบให้เห็นเป็นรูปธรรมง่าย ๆ
เพศบรรพชิตหรือนักบวชนั้น  เปรียบเหมือนกับว่าเราขับรถไปบนถนนที่ราบเรียบ  ย่อมไปถึงจุดหมายปลายทางได้รวดเร็ว
เพศฆราวาสหรือคนธรรมดานั้น  เปรียบเหมือนกับว่าเราขับรถไปบนถนนที่ขุกขระ มีลุ่มมีบ่อ  ย่อมไปถึงจุดหมายปลายทาง  ด้วยความล้าช้า  และเมื่อเทียบกับไปถนนที่ราบเรียบแล้วย่อมใช้ระยะเวลามากกว่าหลายเท่า
    ถนนไปดำเนินไปสู่มรรคผลนิพพานของเพศบรรพชิตหรือนักบวชนั้นราบเรียบก็จริง
แต่ใช่ว่าจะเป็นถนนที่ราบเรียบให้กับทุกคนที่เข้ามาสู่ถนนนี้ไม่
ถนนสายนี้จะราบเรียบสำหรับให้ผู้ปฏิบัติเดินทางเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานจริง   คือมีความตั้งใจจริง  ซื่อสัตย์ต่อธรรมจริง ๆ
แต่ถนนสายนี้ราบเรียบนี้ย่อมเป็นถนนที่ขุกขระมีลุ่มมีบ่อ  สำหรับผู้ที่บวชเข้ามาแล้วไม่ปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน
"
ภิกษุทั้งหลาย !
พรหมจรรย์นี้เราประพฤติมิใช่เพื่อหลอกลวงคน
มิใช่เพื่อให้คนทั้งหลายมานับถือ 
มิใช่เพื่ออานิสงส์ลาภสักการะและความสรรเสริญ 
มิใช่จุดมุ่งหมายเพื่อเป็นเจ้าลัทธิและแก้ลัทธิอย่างนั้นอย่างนี้ 
มิใช่เพื่อให้ใครรู้จักตัวว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ 
ที่แท้พรหมจรรย์นี้เราประพฤติเพื่อสังวระ  คือความสำรวม 
เพื่อปหานะ  คือความละ
เพื่อวิราคะ  คือความคลายกำหนัดยินดี
และเพื่อนิโรธะ  คือความดับทุกข์"

ส่วนถนนอันเป็นหนทางดำเนินไปสู่มรรคผลนิพพานแห่งเพศฆราวาสหรือคนธรรมดาที่อยู่ครองเรือนนั้น  ย่อมมีความขุกขระเป็นลุ่มเป็นบ่ออันเป็นอุปสรรคขัดขวางอยู่ทุกขณะ ย่อมมีสิ่งที่ยั่วยวนกวนกิเลสอยู่เสมอ  ทำให้จิตกระเพื้อมอยู่ในเวลา  หาเวลาที่จิตได้ยาก  แต่แม้ว่าจะเป็นหนทางที่ขุกขระมีอุปสรรคมากมาย
สักปานใด  ก็ยังมีผู้ที่พยายามเดินไปสู่จุดหมายปลายทางอยู่  แต่ต้องใช้ความพยายามมากกว่าเพศบรรพชิต และก็น้อยคนด้วยที่จะไปถึงจุดหมายปลายทางได้ 
การเดินทางแบบเพศบรรพชิตหรือนักบวชนั้นแม้จะเดินทางไปบนถนนที่ราบเรียบก็จริง  แต่ถ้าประมาทเมื่อใด   นั้นหมายถึงภัยอันตรายย่อมเกิดขึ้นได้ทุกขณะ  ผู้ใดที่เข้ามาแล้วถ้าประมาทแล้วย่อมได้รับโทษอย่างมหัน
เมื่อเปรียบเทียบกับโทษทางเพศฆราวาสแล้วย่อมเทียบกันไม่ได้ เหมือนว่า หนึ่งเท่าของฆราวาส เท่ากับ  ร้อยเท่า พันเท่า ของบรรพชิต 
เหมือนเราขับรถไปบนหนทางที่ราบเรียบย่อมประมาทว่าคงไม่อันตรายใด แต่นั้นหมายถึงเรากำลังท้าทายกับ  อันตรายอย่างยิ่ง  เพราะความประมาทของเราเอง  จะเห็นได้ว่าบนถนนที่ราบเรียบนั้นจะอุบัติเหตุมากกว่าถนน  ที่ขุกขระ มีลุ่มมีบ่อ  เพราะคนส่วนมากประมาท  ส่วนถนนที่มีลุ่มมีบ่อนั้น  เราจะขับรถไปอย่างระมัดระวัง มอง
ซ้ายบ้าง มองขวาบ้าง มองหน้ามองหลังบ้าง อย่างรอบคอบเพราะกลัวจะตกลุ่ม  จึงทำให้เราขับรถไปด้วยความ  ระมัดระวังมาก อุบัติเหตุก็ย่อมไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นได้น้อยมาก    เพศฆราวาสหรือคนธรรมดานั้น  ถ้ามีความตั้งใจปฏิบัติธรรมจริง ๆ แล้ว  ก็ย่อมระมัดระวังสิ่งที่เข้ายั่วยุกิเลสทั้งน้อย  และใหญ่อยู่เสมอ สร้างความไม่ประมาทให้เกิดขึ้นกับจิต  และก็ปฏิบัติธรรมไปด้วยความไม่ประมาท  สร้างขวัญกำลังใจ
ให้เกิดขึ้นกับตัวเอง  ไม่น้อยเนื้อต่ำใจว่าตัวเองไม่มีโอกาสได้บวชอย่างเค้า  หรือได้ออกไปปฏิบัติอย่างเค้า    คอยเตือนจิตเตือนใจของตัวเองให้ปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอ  ถ้าได้ปฏิบัติด้วยวิธีที่ถูกต้องแล้ว  ไม่ต้องไปคาดหวังว่าจะ
ได้บรรลุมรรคผลนิพพานหรือไม่

 

พฺรหฺมจริยญฺจ

ความประพฤติที่ประเสริฐ

พระพุทธจจนะ  “คนโง่ไม่หาทรัพย์ไว้ในวัยหนุ่มสาว และไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ย่อมซบเซาดั่งนกกะเรียนแก่ ซึ่งยืนจับเจ่าอยู่ในโคลนที่หมดปลาแล้ว  เมื่อคนโง่ไม่รู้จักรักษาทรัยพ์มรดกไว้ในวัยหนุ่มสาว และไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ต้องลงนอนถอนใจใหญ่ถึงทรัพย์มรดกเหมือนลูกธนูที่เขายิงไป  ตกลงเป็นเหยื่อของปลวกอยู่ในที่ตกนั้นเอง”

พรหมจรรย์เป็นคู่มืออบรมผู้บำเพ็ญ ให้เป็นคนดีหรือเป็นแก้วคนนั้น ท่านแสดงไว้ในมังคลัตถทีปนี 11 ประการ คือ

            1.ทาน  เจตนาตั้งถือทานเป็นจริยวัตร

            2.เวยยาจัจจะ  ความมีใจเผื่อแผ่ช่วยเหลือในกิจการของคนอื่น ซึ่งเป็นบุญเป็นกุศลบ้าง เป็นประโยชน์บ้าง

            3.เบญจศีล  การรักษาศีล 5

            4.อัปปมัญญา   เจตนาตั้งลง เจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ในบุคคลและสัตว์ไม่จำกัด  โดยคิดแผ่ไม่เฉพาะเจาะจง ไม่โกรธ ไม่ผูกโกรธ ไม่พยาบาท ไม่ด่าแช่ง ไม่เบียดเบียนใคร ๆ

            5.เมถุนวิรัติ  เจตนาตั้งลงงดเว้นจากการเสพเมถุน อันนับเนื่องในกามสุขัลลิกานุโยค เป็นเป็นกรรมเลวทรามชั่วช้า

            6.สทารสันโดษ   การที่สามีไม่นอกใจไปมีภรรยาอื่น หรือภรรยานอกใจไปมีสามีอื่น  พอใจชื่นชมในคู่ครองของตนเอง

            7.วิริยะ  เป็นธรรมะที่ให้ละความเกียจคร้าน พยุงใจให้มีความเพียรแรงกล้า

            8.องค์อุโบสถ

            9.อริยมรรค  มีองค์ 8

            10.ศาสนา   คนรู้หลักปรัชญาอย่างลึกซึ้งย่อมมีใจมั่นอยู่ในศาสนา แต่ผู้รู้หลักปรัชญาเพียงเล็กน้อย มักจะมีใจโน้มเอียงไปสู่การไม่มีศาสนา

 เล่าเรื่องปิปผลิมาณพ ชาวเมืองราชคฤห์ และนางภัททกาปิลานี



 

 

พระไทยต้องเสิรมใยเหล็ก  (ภัยของพระ)

1.อูมิภยํ   ภัยเกิดจากคลื่น

2. กุมภีลภยํ     ภัยเกิดจากจระเข้

3.อาวฏฺฏํภยํ  ภัยเกิดจากน้ำวน

4.สุสุภาภยํ     ภัยจากปลาร้าย (ปลาฉลาม)

1.อูมิภยํ   ภัยเกิดจากคลื่น   ไม่อดทนต่อคำสั่งสอนของพระอุปัชฌาย์ สอนไม่ได้ ไม่พอใจ บวชเพื่อเรียนเขียนอ่าน ไม่ใช่เพื่อสบาย

ถามตัวเอง  บวชแล้วได้ประโยชน์อะไร ได้กำไร หรือขาดทุน

            บวชแล้วให้รีบสึก   ศึกษาเล่าเรียน

            มีเมียให้รีบเลิก         เลิกเที่ยวเตร่

บวชแล้วอย่าอยู่เฉย ๆ ต้องหมั่นศึกษาปัญญาใส่ตัว นำมาปฏิบัติ  บวชทั้งทีอย่าบวชแต่กายต้องบวชที่ใจด้วย   บวชเพียงกายกิเลสจะเกิด ต้องบวชที่ใจจะตัดกิเสลได้

2. กุมภีลภยํ     ภัยเกิดจากจระเข้    เป็นคนเห็นแก่กิน เห็นแก่ได้  ไม่รู้จักประมาณ ขาดโภชเนมัตตัญญุตา

 3.อาวฏฺฏํภยํ  ภัยเกิดจากน้ำวน     เพลิดเพลินในกามคุณ  รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส  น้ำหอม รักสวย รักงาม

4.สุสุภาภยํ     ภัยจากปลาร้าย (ปลาฉลาม)  หลงใหลในมาตุคาม เกลือกกลั้วผู้หญิง

เป็นพระพึงระวัง สองสิ่ง คือ สตรี กับสตางค์

 

ศีล4  ปาริสุทธิศีล 4 (ครูบาศรีวิชัย)

1.ปาติโมกขสังวรสีล                สำรวมในพระปาติโมกข์

2.อินทรียสังวรสีล                    สำรวมในอินทรีย์

3.อาชีวปาริสุทธิสีล                  สำรวมใน

4.ปัจจยปัจจเวกขณสีล            สำรวมใน

 

 

อานิสงส์ของการบวช คืออะไร ?
       เมื่อกล่าวถึงผลหรืออานิสงส์ของการบวชแล้วผู้บวชควรจะทำในใจถึงผลของการบวชให้กว้างออกไปเป็น3 ประการ เป็นอย่างน้อย อานิสงส์ของการบวชนั้นย่อมมีมากมายกว้างขวางเหลือที่จะกล่าวให้ครบถ้วนเป็นรายละเอียดได้แต่เราอาจจะประมวลเข้าด้วยกัน แล้วจำแนกออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 3 ประเภท กล่าวคือ

           
อานิสงส์ที่จะพึงได้แก่ ตัวผู้บวชเอง
           
อานิสงส์ที่จะพึงได้แก่ ผู้อื่น มีมารดา บิดาที่เป็นประธาน
           
อานิสงส์ที่จะพึงได้แก่ พระศาสนา
          เราจะต้องบวชจริง ศึกษาเล่าเรียนจริง ประพฤติปฏิบัติจริงให้ได้รับผลของพรหมจรรย์นี้จริง แล้วพยายามสั่งสอนผู้อื่นต่อกันไปจริง จึงจะเป็นการสืบอายุพระศาสนาเป็นเครื่องบูชาตอบแทนพระคุณของพระองค์ได้จริง

อานิสงส์การบวช  เรื่องจาก มหินทกุมาร

-บวชสามเณรมีอานิสงส์  4 กัป  เป็นพระภิกษุ มีอานิสงส์  8 กัป

เอาลูกคนอื่นมาบวช    เป็นสามเณรมีอานิสงส์ 2 กัป  เป็นพระภิกษุมีอานิสงส์ 4 กัป

ผัว เมีย บวช                 เป็นสามเณรมีอานิสงส์  8 กัป  เป็นพระภิกษุมีอานิสงส์ 16 กัป

ผู้มีศรัทธาบวชตนเอง  เป็นสามเณรมีอานิสงส์ 16 กัป  เป็นพระภิกษุมีอานิสงส์ 18 กั

 

อุปมาว่า กัปหนึ่ง ดั่งหินก้อนหนึ่ง สูงพันวา  กว้างพันวา  ร้อยปีทิพย์ไหน เทวดาเอาผ้าทิพย์มากวาด และตี เมื่อใดหินก้อนนั้นค่อมไปเปียงแผ่นดินเลี่ยนเกลี้ยง ดังหน้าก๋องใจเมื่อใดดังอั้น  จึ่งได้ชื่อว่ากัปหนึ่งแล

 

สรุป  การบวชอยู่ที่เราฝึกหัดชุบย้อม กาย วาจา ใจ ให้มีระเบียบ เรียบร้อยดีงาม คนที่บวชแล้ว เป็นคนสุก  เป็นบัณฑิต 

คนที่บวชแล้วเป็นบัณฑิต  อาราธนาศีล กราบพระไหว้พระ เป็น ถวายสังฆทานได้

บวชแล้วมีระเบียบวินัยในตัวเอง  กายจาใจ   การพูดเป็น

โบราณท่านสอนว่า จะดูสมบัติผู้ดี ดูที่พระ  พระฝึกหัดกายวาจา และใจดีแล้ว



(ที่มา: อ้างอิงจาก พุทธทาสภิกขุ,)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕