หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » เกี่ยวกับการศึกษา » การสอนยึดเด็กเป็นศูนย์กลางตามแนวพุทธศาสตร์
 
เข้าชม : ๒๑๙๐๘ ครั้ง

''การสอนยึดเด็กเป็นศูนย์กลางตามแนวพุทธศาสตร์''
 
พระมหาลิขิต คำหงษา (2550)

การสอนนั้นมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน นับว่าการสอนนั้น ได้มีการวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการมาเรื่อยๆ  เป็นลำดับตามพัฒนาการของการศึกษาของแต่ละสมัย  โดยเฉพาะการสอนในสมัยโบราณนั้น  มนุษย์มีการเรียนรู้จากผู้ใหญ่  จากพ่อแม่   ตลอดถึงการเรียนจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัวเรา มนุษย์ได้รับความรู้ทั้งทางตรงและทางอ้อม

            การสอนนั้น  ช่วยให้มนุษย์รู้จักการพัฒนาตัวเอง ปรับปรุงตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมให้ได้  และสามารถที่จะทำให้มนุษย์รู้จักปรับสิ่งแวดลอมให้เหมาะสมกับตัวเองด้วย  ลักษณะการเรียนรู้ในสมัยก่อนนั้น  ใช้วิธีการเรียนรู้ คือ เอาผิดเป็นครู  ทดลองทำดูถ้าทำผิดก็ไม่เอาเป็นตัวอย่างกับสิ่งนั้นๆ  อีกต่อไป  จนในที่สุดก็จะทำถูกเอง  เป็นการสอนแบบง่ายๆ ไม่มีความซับซ้อนอะไรมากนัก  ครูผู้สอนนั้นไม่ต้องคิดอะไรมากด้วย

            การสอนนับว่ามีบทบาทสำคัญมากและมีความสำคัญต่อการศึกษา  เพราะว่าการสอนนั้นเป็นเครื่องมือทีจะส่งเสริมให้ผู้เรียนรักการเรียน  โดยเฉพาะพวกเด็กๆ  นั้น  จะมีการตั้งใจเรียน ถ้าการสอนมีรูปแบบที่ดีๆ  การที่เด็กเกิดการเรียนรู้โดยเกิดจากการสอนของครู จะเป็นการส่งเสริมให้เด็กมีความพร้อมที่จะสามารถมุ่งไปสู่จุดหมายปลายทาง คือ ความสำเร็จ ในชีวิต และเขาสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และมีคุณค่า

 

ความหมายของการสอน 

             [1]Carter v. Good  ได้ให้ความหมายที่เกี่ยวกับการสอนไว้ใน  Dictionary of Educatiion เป็น     นัย คือ

๑.     การสอน หมายถึง  การกระทำอันเป็นการอบรมสั่งสอนนักเรียนตามสถานศึกษาทั่วๆ ไป

๒.    การสอน  หมายถึง การจัดสภาพการณ์  สถานการณ์  หรือกิจกรรมเพื่อช่วยให้นักเรียน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเกิดการเรียนรู้โดยง่าย 

 

ท่านพุทธทาสภิกขุ  ได้ให้ความหมายของการสอนว่า การสอน คือ การนำทางวิญญาณ[2]

            พระพุทธศาสนาถือกำเนิดที่ประเทศอินเดีย  เมื่อประมาณ  ๒๕๐๐  กว่าปีมาแล้ว โดยถือกำเนิดจากผู้ที่สืบเชื้อสายจากชนชาติอารยัน คือ เจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งคำว่า “สิทธัตถะ”  ที่แปลว่า ผู้ประสบผลสำเร็จทุกอย่าง  ต่อมาเจ้าชายสิทธัตถะ ได้เสด็จออกผนวชที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา หลังจากการเสด็จออกผนวช พระองค์ก็พยายามทำทุกวิถีทาง ที่จะพ้นทุกข์ให้ได้ สุดท้ายพระองค์ได้ตรัสรู้ด้วยอริยสัจ ๔  ได้แก่  ทุกข์  สมุทัย  นิโรธ มรรค 

            หลักจากพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระองค์ทรงเสวยวิมุตติสุข[3] และใคร่ครวญอยู่เนื่องๆ  อยู่นานถึง ๗ สัปดาห์ด้วยกัน  พระองค์จึงตัดสินพระทัยในการที่จะนำหลักธรรม ที่พระองค์ได้ตรัสรู้นำไปโปรดเวไนยสัตว์ ให้เห็นรู้จริงตามพระองค์ ตามความสามารถที่เรียนรู้ของแต่ละบุคคล  หรือที่เรียกว่า “ ดอกบัว  ๔ เหล่า”  นั่นเอง  พระองค์ทรงมีพระปรีชาที่จะนำหลักธรรมไปเผยแผ่แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย

            การที่พระองค์มีพระปรีชาสามารถมากมายอย่างนี้   พระองค์จึงได้รับขนานพระนามถวายจากนักปราชญ์ทั้งหลาย   [4]พุทธศาสนิกชนนิยมกล่าวเรียกพระองค์เสมอ คือ คำว่า “ พระบรมศาสดา”    หรือ พระบรมครู  ซึ่งแปลว่า  พระศาสดาผู้ยอดเยี่ยม  หรือ ผู้เป็นยอดแห่งครู  ในภาษาบาลีก็มีบทพุทธคุณถวายพระเกียรติว่า   [5]สตฺถา  เทวมนุสฺสานํ  แปลว่า  พระศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  และยังมีคำเสริมเพื่อที่ยกย่องพระองค์อีกว่า  [6]อนุตฺตโร  ปุริสทมฺมสารถิ  แปลว่า  เป็นสารถีฝึกคนได้ไม่มีใครยิ่งกว่า  ซึ่งพระนามเหล่านี้ เป็นเครื่องบอกถึงความหมายที่ยิ่งใหญ่และมีความหมายอยู่ในตัวว่า ไม่ว่าจะเป็นนักปราชญ์และพุทธศาสนิกชนทั้งหลายควรที่จะเคารพบูชายกย่องสรรเสริญ  เทิดทูนบูชาพระองค์  ในฐานะที่พระองค์เป็นนักการสอนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งหาที่เปรียบมิได้  พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถอย่างยอดเยี่ยมในการอบรมสั่งสอน ที่จะทำให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้ในสิ่งที่พระองค์ทรงสอนได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน  และในที่สุดแห่งการเรียนรู้ทุกสิ่งทั้งหลายทั้งมวล  ก็สามารถประสบผลสำเร็จในชีวิต สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมแต่ละสถานที่ได้อย่างมีความสุขทั้งกายและใจ ถือได้ว่าพระองค์มีหลักการสอนที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก

 

หลักการสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

            พระพุทธเจ้าพระองค์จะมีหลักการเผยแผ่ศาสนาของพระองค์  ซึ่งพระองค์นั้นไม่เคยทรงตรัสไว้หรือแสดงไว้ในที่ไหนๆ ว่า  พระองค์จะมีหลักการสอนมากมายหลายประการ แต่พระองค์ได้ทรงทำ หรือได้ทรงแสดงตัวอย่างให้ผู้ที่ฟังนำไปปฏิบัติจับหลักเองจากปฏิปทาของพระองค์ นักปราชญ์ทั้งหลายได้รวบรวมเอาไว้ที่ปรากฏในหนังสือหลายๆ เล่ม  เช่น  [7]พระองค์ทรงยึดหลักการสอนทั่วไปของพระองค์ดังต่อไปนี้

            ประการที่ ๑     เกี่ยวกับเนื้อหาหรือเรื่องที่จะสอน  ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องที่จะสอนนี้ พระองค์จะมีหลักการสอนสาวกของพระองค์ ด้วยวิธีการต่างๆ  กันแล้ว  แต่ทว่า  ผู้ที่จะรับหลักธรรมนั้น จะมีสติปัญญามากน้อยหรือเหมาะสมกับเนื้อหาที่จะถ่ายทอดให้หรือไม่นั้น ถ้าพระองค์เห็นว่า ผู้ที่จะรับหลักธรรมนั้น ๆ เหมาะสม พระองค์ก็จะแสดงหลักธรรมให้ผู้นั้นฟัง ซึ่งเกี่ยวกับเนื้อหาหรือเรื่องที่จะสอนนั้น   พระองค์ทรงยึดหลักดังต่อไปนี้

๑.     สอนจากสิ่งที่รู้เห็น เข้าใจง่ายหรือรู้อยู่แล้ว  ไปยังสิ่งที่รู้เห็นเข้าใจยาก  หรือยังไม่รู้ไม่

เห็น ไม่เข้าใจ  เช่น อริยสัจทรงเริ่มสอนจากความทุกข์  ความเดือดร้อน เพราะความทุกข์ ใครๆ ก็รู้และเคยประสพมา จากนั้นจึงนำไปหาสาเหตุ  ซึ่งใครๆ รู้ได้ยาก เพราะลึกซึ้ง เมื่อรู้สาเหตุของทุกข์แล้ว ก็ทรงสอนทางปฏิบัติเพื่อขจัดทุกข์หรือแก้ไขมิให้ทุกข์เกิดต่อไป

๒.    สอนเนื้อเรื่องให้ยากขึ้นตามลำดับขั้น  และต่อเนื่องเป็นลำดับไป          ดังที่เรียกว่า

อนุพพิกถา อันหมายถึง  พระธรรมเทศนาที่แสดงเนื้อหาความลุ่มลึกลงไปโดยลำดับ เพื่อขัดเกลาอัธยาศัยของผู้ฟังให้ประณีตยิ่งขึ้นไปเป็นขั้นๆ  จนพร้อมที่จะทำความเข้าใจในหลักธรรมอันลึกซึ้งต่อไป

๓.    ถ้าสิ่งที่สอนเป็นสิ่งที่แสดงได้พึงสอนด้วยของจริง  ให้ผู้เรียนได้ดู ได้เห็น ได้ฟัง อัน

เป็นประสบการณ์ตรง เช่น  สอนพระนันทะซึ่งเป็นพุทธอนุชาที่คิดถึงคู่รัก คนงามมีนามว่า ชนบทกัลยาณี  โดยการทรงพาไปชมนางฟ้า  นางอัปสร เทพธิดา ให้เห็นด้วยตา เรื่องอาจารย์ทิศาปาโมกข์ให้หมออาชีวกทดสอบตัวเอง เรื่อง นามสิทธิชาดก หรืออย่างที่ให้พระภิกษุเพ่งดูความเปลี่ยนแปลงของดอกบัว เป็นต้น

๔.    สอนตรงเนื้อเรื่อง  ตรงเนื้อหา คุมอยู่ในเรื่อง มีจุดแน่นอน ไม่วกวน ไม่

ไขว้เขว ไม่ออกนอกเรื่อง โดยไม่มีอะไรเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับเนื้อหา

๕.    สอนมีเหตุผล ตรองตามเห็นจริงได้ดี

๖.     สอนเท่าที่จำเป็นพอดีเพื่อให้เกิดความเข้าใจให้การเรียนรู้ได้ผลดี ไม่ใช่สอนอย่างตนรู้

สึกหรือสอนโดยแสดงให้เห็นว่าผู้สอนมีความรู้มาก

๗.    สอนสิ่งที่มีความหมายซึ่งผู้เรียนรู้และเข้าใจได้ดี เป็นประโยชน์แก่ผู้เรียนมากที่สุด 

เพราะพระพุทธองค์ทรงพระเมตตตา หวังประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ

ประการที่ ๒    เกี่ยวกับตัวผู้เรียน  ผู้เรียนถือว่ามีส่วนสำคัญที่จะให้การจัดการสอนประสบ

ผลสำเร็จ  ฉะนั้น  พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถจะทำให้ผู้เรียนรู้แจ่มเจ้งในเนื้อเรื่องหรือเนื้อหาที่พระองค์ทรงสอน  โดยที่พระองค์มีหลักการและวิธีการดังต่อไปนี้

๑.     ทรงรู้  ทรงคำนึงถึง  และทรงสอนให้เหมาะสมตามความแตกต่างระหว่างบุคคลและ

ทรงรู้ระดับความสามารถและความพร้อมของบุคคล  เช่น ยกตัวอย่าง ดอกบัว ๔ เหล่า

มาเปรียบเทียบกับบุคคล มี ๔  ประเภท  เป็นต้น

๒.    ปรับปรุงวิธีสอนให้เหมาะสมกับบุคคล แม้จะสอนในเรื่องหรือหัวข้อเดียวกัน แต่ต่าง

บุคคลผู้เรียน  อาจจะต้องใช้วิธีสอนที่แตกต่างกัน

๓.    คำนึงถึงความพร้อมเป็นสำคัญ  ตลอดถึงความสุกงาม  ความมีอินทรีย์แก่กล้า ของผู้

เรียนแต่ละคนเป็นรายๆ  ไปว่าในแต่ละคราวหรือเมื่อถึงเวลานั้น ผู้เรียนควรจะได้เรียนรู้อะไร  และจะเรียนได้แค่ไหน  มากน้อยเพียงไร  หรือว่าสิ่งที่ต้องการให้ผู้เรียนรู้นั้น ควรให้เขาเรียนรู้ได้หรือยัง เช่น  พระองค์ทรงรอคอยความพร้อมของราหุล จนถึงได้ทรงชักชนช่วยให้เธอในการกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไป  ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จไปบิณฑบาตแสวยเสร็จแล้ว จึงตรัสสอนกพระราหุลให้โดยเสด็จไปพักผ่อนกลางวันในป่าอันธวัน  เมื่อถึงโคนต้นไม้แห่งหนึ่งได้ประทับนั่งและทรงสอนธรรมด้วยวิธีสอนทนา วันนั้นเองพระราหุล ก็ได้บรรลุอรหัตผล

๔.    สอนโดยให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง  ซึ่งเป็นการช่วยให้เกิดความรู้ ความเข้าใจได้

ดียิ่งขึ้น  เกิดความชำนาญ แม่นยำ  และได้ผลจริง  เช่น ทรงสอนพระจูฬปันถกผู้โง่เขลาปัญญา  ด้วยการให้นำผ้าขาวมาแล้วลูบคลำ  จนปรากฎความสกปรกที่ผ้าขาวนั้น  อันเปรียบด้วยกิเลสเครื่องเศร้าหมอง เมื่อกิเลสท่วมทับจิต  จิตเกิดความเศร้าหมองย่อมไม่ควรแก่การบรรลุธรรม  ผ้าขาวเปรอะเปื้อนด้วยเหงื่อไคล  ย่อมไม่ควรที่จะขายได้ราคา

๕.    สอนโดยให้ผู้สอนกับผู้เรียนมีบทบาทร่วมกันในบทเรียน  เพื่อแสวงหาความจริงขั้นสุด

ท้าย  ให้มีการแสดงความคิดเห็นโต้ตอบได้อย่างเสรี  อันเป็นการใช้อิสรภาพและเสรีภาพในทางความคิดและวิชาการ

๖.     พระองค์เอาใจใส่บุคคลที่ควรได้รับความสนใจพิเศษ  หรือผู้มีศรัทธา

อย่างแท้จริง  เป็นรายๆ  ไปตามสมควรแก่กาลเวลาและสถานที่ตลอดถึงเหตุการณ์  เช่น มีชาวนาคนหนึ่งตั้งใจว่า  จะไปฟังธรรมของพระศาสดาในเวลากลางคืน บังเอิญวัวเขาหายจึงตามวัวจนได้รับกลับคืนมา  และรีบกลับบ้าน เพื่อที่จะไปฟังธรรมเทศนาของพระองค์  กว่าจะมาถึงวัดก็สายมาแล้วแต่คิดในใจอยู่ว่าแม้ได้ฟังธรรมตอนท้ายๆ ก็ยังดี  เมื่อไปถึงวัดปรากฏว่า พระพุทธเจ้ายังประทับนิ่งอยู่ยังไม่ได้ทรงแสดงธรรมเลย  และพระองค์ยังรับสั่งให้จัดอาหารใช้ชาวนาคนนั้นรับประทานให้จนอิ่มสบายแล้ว  จึงทรงเริ่มแสดงพระธรรมเทศนา

๗.    พระองค์ทรงช่วยเหลือเอาพระทัยต่อคนที่มีปัญญาน้อยด้วยเชาว์ปัญญา  มีปัญหาใน

ชีวิต เช่น  ช่วยเหลือพระจูฬปันถกผู้โง่เขลาถูกพี่ชาย  คือ พระมหาปันถกด่าขับไล่ให้สึกจากบรรพชิต  สุดท้ายด้วยความช่วยเหลือของพระพุทธเจ้าพระจูฬปันถกก็บรรลุเป็นพระอรหันต์

ประการที่     เกี่ยวกับวิธีสอนการสอนของครูผู้สอนจะประสบผลสำเร็จได้นั้น  จะต้องมี

วิธีสอนที่ดี  และนำวิธีการสอนหลายๆ  วิธีมาประกอบกันเพื่อที่จะทำให้การสอนประสบผลสำเร็จได้ พระพุทธเจ้า  พระองค์เองก็ทรงใช้วีธีการสอนหลายอย่างมาประกอบกัน เพื่อที่จะทำให้การสอนของพระองค์ประสบผลสำเร็จ  วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า  คือ

๑.     พระองค์มีการเริ่มต้นที่ดีมีส่วนช่วยให้การเรียนการสอนประสบผลสำเร็จ ได้ดี เพราะ

จะดึงดูดใจของผู้เรียนได้ดี  แล้วจึงนำเข้าสู่เนื้อหา

๒.    พระองค์สร้างบรรยากาศในการสอนให้ปรอดโปร่ง  และให้เกียรติผู้เรียน เช่นพระองค์

สอนพราหมณ์ ชื่อว่า  โสณทัณฑะ  กับคณะที่เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

๓.    พระองค์สองมุ่งให้เกิดความรู้ ความเข้าใจสิ่งที่สอนเป็นสำคัญ มิให้กระทบตนข่มผู้อ่น

พระองค์ไม่มุ่งที่จะยกตนไปมุ่งเสียดสีผู้อื่น

๔.    พระองค์สอนโดยเคารพ  คือ ทรงต้งใจสอนจริงๆ  ทำจริงๆ  มองเห็นคุณค่าของการ

เรียนการสอนเป็นสำคัญ  เช่น  พุทธจริยาที่ว่า  “ ภิกษุท้งหลาย  ถ้าแม้ตถาคตจะแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตย่องแสดงธรรมโดยเคารพไม่แสดงธรรมโดยไม่เคารพ ถ้าแม้จะแสดงธรรมแก่ ภิกษุณี  อุปาสก  แก่อุปาสิกา และปุถุชน  แม้กระทั้งแก่คนเฒ่าคนแก่และคนยากจนขอทานก็ย่อมแสดงโดยเคารพ หาได้แสดงโดยขาดความเคารพไม่

   จะเห็นได้ว่า  พระพุทธเจ้านั้น  พระองค์มีความหลากหลายของวิธีสอนที่จะทำให้การเรียนการสอนของพระองค์นั้นประสบผลสำเร็จ กล่าวคือ  เกิดผลดีทั้งฝ่ายพระองค์เองและตัวผ้เรียนก็จะได้นำความรู้ที่ได้ใปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันและอยู่ในสังคมได้

            ความสำเร็จของกระบวนการเรียนการสอนนี้ ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้สอนนั้นมีถ่วงท่าลีลาการสอนแบบไหนบ้าง  ที่จะทำให้การสอนของตนเองประสบผลสำเร็จ พระพุทธเจ้าน้น พระองค์มีมีรูปแบบของพุทธลีลาการสอนเฉพาะพระองค์เอง จึงทำให้การสอนของพระองค์ถึงจุดมุ่งหมายทีได้ตั้งไว้

            ดังนั้น จึงมีรูปแบบพุทธลีลาการสอนของพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างของครูผู้สอนทั่วๆ ไป

 

รูปแบบลีลาการสอนของพระพุทธเจ้า

            การสอนของพระพุทธเจ้าแต่ละครั้ง  พระองค์ได้ดำเนินการสอนจนสามารถทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้กับสิ่งที่พระองค์ทรงยกขึ้นสอนได้ตามจุดมุ่งหมายทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะว่าพระองค์มีความหลากหลายของรูปแบบลีลาการสอนของพระองค์  ซึ่งลีลาการสอนของพระองค์ที่ท่านนักปราชญ์หลายท่านได้กล่าวไว้  ดังต่อไปนี้

            ข้อที่ ๑  พระองค์ทรงชี้ทางแสดงอย่างละเอียดละออแจ่มแจ้งชัดเจน

            ข้อที่ ๒  พระองค์ชักชวนเชิญชวนให้ผู้ฟังโดยบอกว่า สิ่งนี้ดี สิ่งนี้สมควรทำ สิ่งนี้ไม่ดี สมควรไม่กระทำ เชิญชวนให้ผู้ฟังให้ถือปฏิบัติ บอกให้ยึด  บอกให้เอาไป ซึ่งเรียกอย่างง่ายๆ ว่า เป็นการหยิบยื่นให้

            ข้อที่ ๓  พระองค์กระต้นให้เกิดเตชะ  (เดช)  ภาษาสมัยใหม่ว่า “ไฟ” พระองค์ทรงจุดประกายให้เกิดความกล้าหาญ ให้เกิดความอึกเหิมคิดจะต่อสู้กับสิ่งทั้งหลายทั้งปวง

            ข้อที่ ๔  พระองค์ให้เกิดความรื่นเริงบันเทิงใจ  อันที่จะเกิดจากหลักการสอนทั้ง ๓  ข้อ ข้างต้น  กล่าว คือ  หลักธรรมคำสอนที่พระองค์ ทรงชี้แจง  แสดงอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน  พร้อมทั้งชักชวนเชิญชวน  อันเป็นแรงกระต้นให้เกิดความกล้าหาญ และกล้าแสดงออก  ซึ่งที่ไม่เข้าใจแจ่มแจ้งวันนี้จะได้เข้าใจอย่างชัดเจน  กำจัดความเคลือบแคลงสงสัยไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไป  พร้อมทั้งกำจัดความเห็นผิด [8](มิจฉาทิฏฐิ) ทำให้ความเห็นตรง จิตใจผ่องใสอย่างรื่นเริงบันเทิงใจ

            [9]อาจผูกเป็นคำสั้นๆ ว่า    “แจ่มแจ้ง  จูงใจ  หาญกล้า ร่าเริง  หรือชี้ชัด  เชิญชวน  คึกคัก และเบิกบาน”

 

            จากหลักการของกระบวนการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ( Child centered) นั้น  พระพุทธศาสนานั้นมีหลักการและวิธีสอนแบบนี้มานานแล้ว ตั้งแต่อดีตโดยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นแบบฉบับของการสอนรูปแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลางนี้  เพราะว่า หลักการสอนพร้อมทั้งวิธีการสอนของพระพุทธเจ้าก็มีความสมบูรณ์ตรงตามหลักปรัชญาการศึกษาในยุคการปฏิรูปการศึกษาสมัยใหม่ที่ว่า “เก่ง  ดี  และมีสุข”  ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบกับความหมายของคำว่า  นักเรียนเป็นศูนย์กลางในยุคปฏิรูปการศึกษาในสมัยปัจจุบันก็คือ คำว่า  “ ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง”  หมายถึง  ผู้เรียนเป็นคนสำคัญที่สุด ในการจัดการเรียนการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง คือ การให้ผู้เรียนมีบทบาทในการเรียนรู้โดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้มากที่สุด  มีการบันทึกข้อมูลและดึงข้อมูลออกมาใช้  วิธีการเรียนรู้มีผลต่อการจำ  การลืม และถ่ายโอนความรู้  แรงจูงใจระหว่างเรียนรู้มีความสำคัญต่อการชี้นำความสนใจมีอิทธิพลต่อกระบวนการจัดข้อมูล  และส่งผลโดยตรงต่อรูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียนมากที่สุด

            ดังนั้น  [10]การที่ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ดีหรือไม่นั้น จึงขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการ เป็นต้นว่า

๑.     ความพร้อมของบุคคล  ซึ่งเป็นเรื่องของการบรรลุวุฒิภาวะ และมีแรงจูงใจในการเรียน

รู้นั้นๆ

๒.    ทัศนคติ  ผู้เรียนควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีทัศนคติในทางบวกมากกว่าทัศนคติในทางลบ

ต่อสิ่งที่จะเรียน  เพราะการที่มีความรู้สึกไม่ชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วย่อมทำให้การเรียนรู้ของเราไม่ดีเท่าที่ควรได้ง่าย

๓.    การฝึกหัด  ย่อมเป็นสิ่งที่แน่นอนว่า  ในการเรียนรู้ใดๆ  ก็ตาม ถ้ามีการเรียนรู้โดยการ

ฝึกหัด หมั่นทบทวนบ่อยครั้งย่อมทำให้ผู้เรียนจดจำสิ่งนั้นๆ  ได้น่าน

๔.    การได้รับรางวัลและการลงโทษ  ย่อมมีผลต่อการเรียนรู้ทั้งสิ้น  ในบางครั้งการได้รับ

รางวัลย่อมทำให้พฤติกรรมครั้งนั้นคงอยู่   ในขณะเดียวกันเมื่อผ้เรียนรู้ถูกลงโทษย่อมจะเรียนรู้ในการหลีกหนีจากสถานการณ์ที่จะก่อให้เกิดการถูกลงโทษได้

๕.    การรู้ผลของการเรียน  เมื่อผู้เรียนรู้ผลของการเรียน ย่อมทำให้ผู้เรียนมีกำลังใจเรียนรู้

เพิ่มมากขึ้น  เพราะทำให้ผู้เรียนมีโอกาสปรับตัวต่อการเรียน ในสถานการณ์ต่างๆ  เพิ่มมากขึ้น
               การจัดกระบวนการเรียนการสอนตามแนวพุทธศาสตร์ในรูปแบบ     
Child

Cenered นั้นถือได้ว่า พระพุทธเจ้าเป็นแบบฉบับริเริ่มมาตั้งแต่อดีตกาลแล้ว          และผู้เรียน คือ ([11]สาวก)  ที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้จากพระพุทธเจ้านั้น มีแต่ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้ก็เพราะว่า  พระพุทธเจ้ามีทั้งหลักการสอนที่เต็มรูปแบบ มีวิธีสอนที่หลากหลาย มีพุทธลีลาในการสอนแต่ละที่สอน และยังมีรูปแบบการถ่ายทอดความรู้อย่างสมบูรณ์ จึงทำให้การสอนของพระองค์นั้น ถึงจุดมุ่งหมายที่พระองค์ได้ตั้งไว้ทุกประการ

เอกสารอ้างอิง

            บุญมี แท่นแก้ว.  ปรัชญาฝ่ายบุรพทิศ.  กรุงเทพฯ :  โอเดียนสโตร์,  ๒๕๔๕

            พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). พุทธวิธีในการสอน. กรุงเทพฯ :  สหธัมมิก,  ๒๕๔๑

            พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. กรุงเทพฯ :

                               มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,  ๒๕๒๗

            อบรม  สินภิบาล และกุลชลี  องค์ศิริพร  ประสบการณ์วิชาชีพภาคปฏิบัติ. กรุงเทพฯ :

                               โอเดียนสโตร์,  ๒๕๒๔

            อารี  พันธ์มณี.  จิตวิทยาการเรียนการสอน.  กรุงเทพฯ : เลิฟ  แอนด์  ลิพ เพรส จำกัด,

                                ๒๕๔๐

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 



     [1]   อบรม  สินภิบาล และกุลชลี องค์ศิริพร. ประสบการณ์วิชาชีพครูภาคปฏิบัติ, (กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์. ๒๕๒๔). หน้า ๒๐

     [2] วิญญาณ  คือ ความรู้แจ้งอารมณ์,จิต ความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายในและภายนอกมากระทบกัน เช่น รู้อารมณ์ในเวลาเมื่อรูปมากระทบตา เป็นต้น ได้การเห็น  การได้ยิน เป็นอาทิ

 

     [3]  วิมุตติสุข  คือ สุขเกิดแต่ความหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะและปวงทุกข์ พระพุทธเจ้าภายหลังการตรัสรู้แล้วใหม่ๆ ได้เสวยวิมุตติสุข ๗ สัปดาห์ ตามลำดับ คือ  สัปดาห์ที่ ๑  ประทับภายใต้ร่มไม้มหาโพธิ์  สัปดาห์ที่ ๒  เสด็จประทับยืนด้านอีสาน  ทรงจ้องดูต้นมหาโพธิ์ ไม่กระพริบพระเนตร สัปดาห์ที่ ๓  ทรงเนรมิตที่จงกรมขึ้นระหว่างกลางแห่งต้นมหาโพธิ์และอนิมิสเจดีย์ เสด็จจงกรมตลอด ๗ วัน สัปดาห์ที่ ๔  ประทับนั่งขัดบัลลังก์พิจารณาพระอภิธรรมปิฎก ณ เรือนแก้วที่เทวดานิมิตในทิศพายัพ สัปดาห์ที่ ๕  ประทับใต้ร่มไทร  สัปดาห์ที่ ๖  ประทับใต้ต้นไม้จิก ชื่อว่า มุจจลินท์ สัปดาห์ที่ ๗ ประทับใต้ต้นไม้เกต ชื่อว่า ราชายตนะ

     [4] พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). พุทธวิธีในการสอน. (กรุงเทพฯ : สหธัมมิก, ๒๕๔๑)  หน้า ๑

 

     [5]  อ่านว่า สัตถา  เทวะมนุสานัง

    [6] อ่านว่า  อนุตตะโร  ปริสะทัมมะสารถิ

      [7]  บุญมี  แท่นแก้ว. ปรัชญาฝ่ายบุรพทิศ.( กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์. ๒๕๔๕) หน้า ๙๔-๙๖

        [8]  มิจฉาทิฏฐิ  คือ ความเห็นผิด  ความเห็นผิดที่ผิดจากทำนองคลองธรรม เช่น  ทำดีได้ชั่ว  ทำชั่วได้ดี  มารดาบิดาไม่มี เป็นต้น  และความเห็นที่ไม่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ (พจนานุกรม) เขียน มิฉฉาทิฐิ)

 

       [9] พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). พุทธวิธีในการสอน. (กรุงเทพฯ : สหธัมมิก, ๒๕๔๑) หน้า  ๔๕

 

[10] อารี พันธ์มณี. จิตวิทยาการเรียนการสอน. (กรุงเทพฯ : เลิฟ แอนด์ ลิพ เพรส จำกัด, ๒๕๔๐)   หน้า ๙๔ – ๙๕

 

[11] สาวก  คือ ผู้ฟัง,ผู้ฟังคำสอน,ศิษย์

(ที่มา: วิทยาลัยสงฆ์เลย)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕