หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระพุทธศาสนา » ความจริงในความเชื่อ
 
เข้าชม : ๑๑๙๙๐ ครั้ง

''ความจริงในความเชื่อ''
 
ผศ.ดร.โสวิทย์ บำรุงภักดิ์ (2547)

 

      ความจริงในความเชื่อ เป็นบทความที่ผู้เขียนต้องการสื่อปรากฏการณ์ทางจิต ซึ่งเป็นปรากฏการณ์โดยทั่วไปภายในจิตของคนทุกคน ที่เกิดขึ้นในขณะพบเห็นสิ่งต่างๆ แล้วเกิดความ รู้ความเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร จากนั้นก็ตัดสินชี้ขาดว่า ผิดหรือถูก ใช่หรือไม่ใช่ หรือเฉย ๆ เหมือน ไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น ความจริงในความเชื่อเป็นความคิดที่เกิด
ขึ้นในขณะที่ผู้เขียนได้อ่านงานระดับ ปริญญาเอก ชื่อเรื่อง “ความจริงของเรื่องเล่าทางศาสนา” ๑ โดยเปิดฉากก็กระชากความคิดที่ว่า ข้อความ หมายถึงความหมายของประโยคโดยทั่วไปในการพูดเกี่ยวกับความจริง เราจะเรียกความ หมายของประโยคว่า “ประพจน์”ซึ่งมีค่าความจริง แต่ในที่นี้จะขอใช้คำว่า “ข้อความ” เพราะว่า การถกเถียงเกี่ยวกับความจริงของประโยคที่มีเนื้อหาในประโยคดังกล่าว ไม่มีค่าความจริง (เชิงอรรถ) นอกจากนี้ ในเนื้อหายังกล่าวถึงการถกเถียง (สื่อสาร-ผู้เขียน) ถูกแบ่งเป็นสองส่วน คือส่วนที่พิจารณา ว่า “ข้อความ”จะมีความหมายเชิงการบรรยายข้อเท็จจริงได้ ก็ต่อเมื่อเราสามารถที่จะแสดงถึงข้อ กรณีที่ข้อความนั้น ๆ จะจริงหรือเท็จได้ ก็อยู่บนพื้นฐานของประสบการณ์เชิงประสาทสัมผัส  กับ ส่วนที่พิจารณาข้อความจากการใช่หรือหน้าที่อื่น ๆ ของมันในสังคม
 
    จากข้อความที่กล่าวมาข้างต้น ประเด็นที่ผู้เขียนสนใจเป็นพิเศษคือ
คำว่า ข้อความ เพราะ การดำเนินชีวิตของคนเราในอดีต ปัจจุบัน หรือแม้แต่ในอนาคตจะเป็นไปด้วยดี สามารถพูดคุย สนทนา ถกเถียง หรือสื่อสารอื่น ๆ ได้ก็เพราะข้อความนี้เอง ข้อความจึงเป็นคำพูดสั้น ๆ กะทัดรัด แต่สามารถอมความหมายได้อย่างมากมาย เมื่อกล่าวตรงนี้เป็นเหตุให้นึกถึงการที่เรารับรู้สิ่งต่าง ๆ จนสามารถสื่อสารต่อกันได้ หากกล่าวในส่วนตรรกะ ตรรกะ เสนอว่าเรารับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ ๒ ทาง ด้วยกัน คือ ทางประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้แก่ การได้เห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การได้ลิ้มรส และ การได้สัมผัสถูกต้อง กับทางพุทธิปัญญาหรือทางสมองโดยตรง๓ หากพิจารณาจากข้อเสนอของ ผู้เขียนงานวิทยานิพนธ์ในส่วนที่หนึ่ง  คือข้อความจะจริงหรือเท็จอยู่บนฐ่านประสาทสัมผัส  ซึ่ง ตรงกับการรับรู้สิ่งต่าง ๆตามความหมายทางตรรกะในส่วนที่หนึ่งเหมือนกันคือทางประสาทสัมผัส แต่การรับรู้สิ่งต่าง ๆ (มิใช่หมายถึงวัตถุสิ่งของแต่รวมถึงสัตว์บุคคลด้วย) โดยประสาทสัมผัส ตาม นัยทางตรรกะเป็นการรับรู้ที่ถูกจำกัดอยู่แค่นี้และเดี๋ยวนี้ ซึ่งเป็นการรับรู้ที่ไม่แน่นอนอะไร มีการ เปลี่ยนแปลงได้เสมอ หรือหากพิจารณาข้อความจากการใช่หรือหน้าที่อื่น ๆของมันในสังคม ก็จะ พบอีกเช่นกันว่าไม่ต่างอะไรกับข้อความที่เกิดจากประสาทสัมผัส เมื่อข้อความขึ้นอยู่กับการรับใช้ สังคมซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับคน แล้วข้อความจะสามารถอมความหมายที่สมบูรณ์ครบถ้วนได้มากน้อย แค่ไหน เพราะข้อความไปเกี่ยวข้องกับคน คนมีการเปลี่ยนแปลงก็เป็นเหตุให้ข้อความเปลี่ยนแปลง คือไม่มีความคงที่ได้เช่นกัน


      ที่กล่าวมาข้างต้นพอสื่อความเข้าใจได้ว่า ข้อความเป็นคำสำคัญที่ก่อให้เกิดความหมาย มากมาย แต่หากพิจารณาให้กว้างออกไปจะพบว่าข้อความที่ก่อให้เกิดความหมายมากมายนั้น อย่า ลืมว่า ข้อความที่ก่อให้เกิดความหมายนั้นย่อมมีที่ไปที่มา ที่ไปที่มาของข้อความในทางตรรกะท่าน หมายถึง คำหรือศัพท์ (words) แต่ในที่นี้ขอใช้คำว่า ศัพท์ เพราะข้อความแต่ละข้อความล่วนมี ส่วนประกอบมาจากศัพท์เป็นสำคัญหากไม่มีศัพท์แล้วข้อความก็เกิดไม่ได้ ดังนั้นผู้เขียนจึงขอมุ่ง ตรงไปยังเรื่อง “ศัพท์และมโนภาพ” (words and concepts) ซึ่งเป็นเรื่องสื่อความเข้าใจทาง ตรรกะได้มากที่สุด  ประเด็นทางความคิดก็คือว่า  ไม่ใช่เฉพาะข้อความเท่านั้นที่สื่อสารให้ทราบ ความหมาย ศัพท์ก็สื่อให้ทราบความหมายได้เช่นกัน หน้าที่ของศัพท์คือใช้เป็นคำแสดงความรู้สึก นึกคิดของคนเรา เพราะการติดต่อกันด้วยพุทธิปัญญา (ทางสมองหรือทางความคิด) ก็ลงเอยด้วย ศัพท์ แม้แต่ความเจริญในการใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ เพื่อแสดงความหมายอะไรก็ลงเอยที่ศัพท์ เพราะ ฉะนั้นศัพท์จึงเป็นนิมิต*  เครื่องแสดง (ความคิดความรู้ หรือความเข้าใจ) ของมนุษย์ที่เห็นได้ ชัดเจนที่สุด จุดมุ่งหมายของศัพท์จริง ๆ อยู่ที่เป็นพาหะนำอะไรสักอย่างหนึ่งในด้านสมองหรือความ รู้สึกนึกคิดไปให้คนอื่นได้ทราบด้วย ศัพท์จึงเป็นพยานในการชี้ให้เห็นความคิดของผู้พูดได้มากที่สุด

     ศัพท์ทั้งหลายไม่เคยแสดงวัตถุประสงค์ออกมาตรง ๆ แต่จะแสดงออกมาโดยอาศัย มโนภาพเท่านั้น ศัพท์กับสิ่งที่เราพูดถึงจะต้องสัมพันธ์กันจึงจะก่อให้เกิดความหมาย เมื่อเกิดความ หมายจึงจะก่อให้เกิดมโนภาพ สิ่งที่เราพูดออกมาจะต้องมีความหมาย เราจึงจะถือว่าเป็นศัพท์ ศัพท์
เมื่อมีความหมายก็หมายถึงสิ่งต่าง ๆ และสิ่งต่าง ๆ ก็ย่อมหมายถึงคุณลักษณะและกิริยาอาการ ของสิ่งเหล่านั้น ยกตัวอย่าง เช่น สุนัข เป็นสัตว์สี่เท้าและชอบเห่าชอบหอน หรือ มนุษย์เป็นสัตว์ สองเท่า มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีใจสูงคือสามารถพัฒนาได้ และเป็นสัตว์มีเหตุผล จากตัวอย่าง ที่ยกมาสามารถสื่อความได้ว่า เมื่อศัพท์และความหมายสัมพันธ์กัน จึงทำให้เกิดมโนภาพ คือสามารถ นึกถึงรูปร่างหรือรูปลักษณะของสุนัขและมนุษย์ได้ อีกนัยหนึ่ง หากกล่าวตามนัยของตรรกะแล้ว ศัพท์ก็คือภาษานั่นเอง ซึ่งเป็นภาษาที่มนุษย์ใช้เป็นสื่อกลาง โดยมีเป้าหมายเพื่อความเข้าใจระหว่าง มนุษย์ด้วยกันเอง

     จากตัวอย่างที่ยกมาประกอบการอธิบายข้างต้น ได้แก่ คำว่า สุนัข กับ มนุษย์ พอเรา ได้ยินหรืออ่านพบเราก็สามารถรู้และเข้าใจได้ทันทีว่า สุนัขเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง(ซึ่งไม่ใช่คน) ที่ชอบ เห่าหอน หรือพอเอ่ยหรืออ่านพบคำว่า มนุษย์ เราก็รู้และเข้าใจได้ทันทีว่า มนุษย์ก็เป็นสัตว์ชนิด หนึ่ง (ซึ่งไม่ใช่สัตว์อย่างสุนัข) แต่เป็นสัตว์ที่สามารถพัฒนาจิตวิญญาณโดยเฉพาะความมีเหตุผลได้ทั้งคำว่า สุนัขเป็นสัตว์ที่ชอบเห่าหอนและมนุษย์เป็นสัตว์ที่สามารถพัฒนาจิตวิญญาณโดยเฉพาะความมีเหตุผลได้ ทั้งสองศัพท์ได้สะท้อนให้เห็น “ความจริงและความเชื่อ” ไปพร้อม ๆ กัน นั่น คือเมื่อเราได้กล่าวถึงความจริงที่ว่า สุนัขเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีสี่เท้าและชอบเห่าชอบหอนหากเลี้ยง แล้วไม่เห่าหอน คุณค่าและความหมายของสุนัขก็ลดลง (ซึ่งเป็นความจริงโดยทั่วไปแต่หากใคร เลี้ยงไว้ประดับบารมี เป็นคนละประเด็นที่กำลังกล่าวถึง) หรือหากกล่าวถึงความจริงที่ว่า มนุษย์ เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีสองเท้า สองแขน ฯลฯ สามารถพูดได้ (ไม่ใช่พูดอย่างนก)ข้อสังเกตก็คือว่า เมื่อเอ่ยหรืออ่านพบคำว่า สุนัขกับมนุษย์ มันสะท้อนทั้งความจริงและความเชื่อไปพร้อม ๆ กัน คือทั้งข้อเท็จจริง (ความจริง) และความเชื่อ (ว่าเป็นจริง) ตรงกัน ดังนั้น ความจริงที่
ปรากฏ (ใน คำพูด เสียงพูด หรือตัวอักษร = ศัพท์) ก็สื่อความเชื่อ (ในคำพูด เสียงพูด หรือตัวอักษร = ศัพท์) นั้นไปพร้อม ๆ กันด้วย คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าในขณะที่ใครสักคนกำลังบอกเราว่า ผมรักคน ก็เป็นเหตุให้คนฟัง (ผู้รับสื่อ) เชื่อได้ทันทีว่า เรามีคน  (หลง) รักแล้ว

     ที่กล่าวมาทั้งหมดผู้เขียนยังไม่ได้บอกเลยว่า ความจริงในความเชื่อเป็นอย่างไร แต่ก็คง พอสื่อสาร (มิใช่การตอบ) ได้ว่า ข้อความซึ่งรวมทั้งคำ ศัพท์ (คำศัพท์) คำพูด เสียงพูด หรือแม้ แต่ตัวอักษร (ทั้งสระและพยัญชนะ) ที่มารวมกันเป็นข้อความ สามารถสะท้อนความจริงในความ
เชื่อได้เป็นอย่างดี หรือข้อความนั่นแหละที่กำลังสะท้อนความจริงที่ปรากฏ (กำลังเกิดขึ้นหรือกำลัง ดำเนินอยู่)  ให้เกิดความเชื่อได้เช่นเดียวกัน  โดยความหมายก็คือว่าเมื่อความจริงปรากฏ  ความ เชื่อก็ปรากฏ ปรากฏขึ้นในขณะที่กล่าวถึงความจริงนั่นแหละ เพื่อเป็นการสื่อความจริงในความ เชื่อได้มากขึ้น ผู้เขียนใคร่ขอยกข้อความสำคัญที่ปรากฏในที่ต่าง ๆ นำเสนอเป็นเชิงความคิดเป็น ลำดับ ดังนี้

     (๑)  ความนิ่งสยบความเคลื่อนไหว
     ในระหว่างการแข่งขันโอลิมปิก ซึ่งเป็นกีฬาของมวลมนุษยชาติจากทั่วโลก ประเทศไทย ก็เป็นประเทศหนึ่งที่ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันในมหกรรมกีฬาครั้งนี้ด้วย  และกีฬาที่เป็นยอดฮิตของ ประเทศไทยเห็นจะไม่มีกีฬาใดเกินการชกมวยสากล เพราะเป็นกีฬาชนิดเดียวที่ไทยหวังหยิบเหรียญทองได้มากที่สุด และก็เป็นไปตามที่คาดหมายไว้ คือได้ ๑ เหรียญทองจากสมจิตร จงจอหอ แต่ใน ระหว่างการแข่งขันชกมวยในหลาย ๆ คู่จะสังเกตเห็นว่า นักมวยที่ชกมีคะแนนนำคู่ต่อสู้มักจะเป็นผู้ชนะมากกว่า ยิ่งคู่ใดที่มีคะแนนนำแล้วยิ่งชกยิ่งดี ดีทั้งการชกออกลีลาสวยงามและดีทั้งคะแนน อีกด้วย โดยที่ผู้บรรยายการชกมวยก็สื่อข้อความให้ผู้ชมทราบว่า นักมวยที่มีคะแนนนำจะมีความมั่นใจมาก สังเกตได้จากอาการนิ่ง การัดรัดกุม ตาจ้องมองคู่ชกอย่างมุ่งมั่น ส่วนคู่ชกจะมีอาการ รุกรี้รุกรน  เดินเข้าหาด้วยหวังจะทำคะแนนเพิ่ม แต่ดูเหมือนว่ายิ่งเดินเข้าหาก็ยิ่งเปิดช่องว่างให้คู่ต่อสู้ชกทำแต้มนำห่างมากขึ้น และอีกหลาย ๆ ข้อความ ซึ่งล้วนแต่สื่อให้ทราบว่าความนิ่งสามารถ สยบความเคลื่อนไหวได้อย่างเด็ดขาด

     ข้อความหรือคำพูดซึ่งเป็นเสียงพูดของผู้บรรยายที่กำลังบรรยายความจริง (ข้อเท็จจริง) ที่กำลังดำเนินไปบนผืนผ้าใบอย่างตื่นเต้นและเร้าใจยิ่ง ขณะที่ผู้ชมกำลังชมการแข่งขันอยู่นั้นก็ทราบ ความจริงตามที่ผู้บรรยายกำลังกล่าวถึง เมื่อทราบว่าความจริงเป็นอย่างนั้นก็พลอยเกิดความเชื่อ
ว่าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ  ความจริงก็คือว่านักมวยผู้มีคะแนนนำจะเป็นฝ่ายชนะ  ยิ่งเพิ่มความเชื่อ อย่างเต็มที่ว่า  สิ่งที่ผู้บรรยายกล่าวถึง (อาจจะไม่ทั้งหมด) เป็นความจริง ดังนั้น บนความจริงที่ ปรากฏจึงแฝงไว้ด้วยความเชื่ออย่างไม่รู้สึกตัว ทั้ง ๆ ที่มหกรรมกีฬาโอลิมปิกจบไปแล้วก็ตาม แต่
คนส่วนมาก (ยืนยันทั่วไป = A) ยังพูดถึงความจริงที่ยืนยันความเชื่อที่ว่า คนเดิน(ชก)เข้าหาจะมี ช่องโหว่มากกว่าคนที่ชกแบบตั้งรับ และก็ยังมีคนบางส่วน (ยืนยันบางส่วน = I) ว่าความจริงไม่ ได้เป็นอย่างนั้น แต่เมื่อคนส่วนมากยืนยันอย่างนั้น ความจริงในความเชื่อจึงเป็นความจริงที่คนส่วน
น้อยจำเป็นต้องยืนยันความจริงตามนั้นด้วย แม้ว่าความเชื่อที่ปรากฏภายในจะไม่เชื่อและยอมรับ ไม่ได้ก็ตาม

     ในประเด็นความนิ่งสยบความเคลื่อนไหวนี้ ได้มีผู้สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาแนวใหม่ ที่ว่าใหม่ก็คือใหม่ทั้งผู้ศึกษาเป็นคนรุ่นใหม่  และใหม่ทั้งวิธีการศึกษา โดยที่ผู้ศึกษาได้นำหลักการ (ที่ตนลงมือปฏิบัติดีแล้ว) ทางพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้กับศาสตร์สมัยใหม่ได้อย่างลงตัว ท่าน ผู้นั้นคือ  ทันตแพทย์สม สุจีรา๕  ได้กล่าวไว้ (หนังสือไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น) อย่างน่า รับฟังว่า

     “ในชีวิตประจำวัน  เราจะเห็นอยู่เสมอ  คนที่จิตนิ่งจะมีเวลามากกว่าคนที่จิตร้อน ยกตัวอย่างเช่น  สมมติว่ามีเวลาเหลือห้านาทีในการถอดชนวนระเบิดเวลา สำหรับคนที่ร้อนรนไม่นิ่ง หัวใจเต้นเร็ว แรงเมแทบอลิซึมสูง เหงื่อออก เวลาห้านาทีของเขาผ่านไปเร็วมากจนกู้ระเบิด ไม่ทันแต่สำหรับคนจิตนิ่ง สุขุม เขาจะทำการกู้ระเบิดได้ ดูเหมือนว่าเวลาห้านาทีช่างยาวนาน เหลือเกินสำหรับการกู้ระเบิด” ซึ่งเรื่องนี้ไอน์สไตน์ก็กล่าวไว้เช่นกันว่า  “วางมือบนเตาร้อนเพียง หนึ่งนาที รู้สึกราวกับนานเป็นชั่วโมง นั่งกับสาวงามนานหนึ่งชั่วโมง กลับรู้สึกเหมือนแค่หนึ่งนาที” (Put your hand on a hot stove for a minute and it seems like an hour. Sit with pretty girl for an hour, and it seems like a minute)

     ความนิ่งสยบความเคลื่อนไหวไม่ใช่มีเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น  สัตว์และสรรพสิ่งล้วน อยู่ใต้กฎเกณฑ์นี้ เราเอาก้อนเนื้อแช่ในตู้เย็นที่มืดสนิท ก้อนเนื้อจะมีอายุยาวนานขึ้น จากสองวัน ภายนอกตู้เย็นกลายเป็นเวลาห้าวันภายในตู้เย็น นั่นเป็นเพราะอัตรากระบวนการทางเคมีของก่อน เนื้อช้าลง ความลับเรื่องเวลาในข้อนี้สัตว์ต่าง ๆ ก็นำมาใช้ในรูปของสัญชาตญาณ เช่น กบจำศีล หรือสิงโตขณะที่กำลังเฝ้าดูเหยื่อ มันจะนิ่งที่สุด  หายใจช้าที่สุด  นั่นก็เพื่อทำให้ช่วงเวลาของมัน ยาวนานกว่าช่วงเวลาของเหยื่อนั่นเอง

     แม้ปัจจุบันสัตว์หลายชนิดก็สามารถเดินไปในโลกอนาคตได้ด้วยวิธีการที่กล่าวมา เช่น ค้างคาวบางกลุ่มสามารถจำศีลห้อยหัวอยู่นิ่ง ๆ ไม่มีอาหาร ไม่เคลื่อนไหวเป็นเวลานาน ๆ เคยมี นักวิจัยวัดอัตราการเต้น
ของหัวใจค้างคาวขณะจำศีล ปรากฏว่าเหลือเพียง ๓ - ๕ ครั้งต่อนาที แต่โดยปกติแล้ว หัวใจค้างคาวจะเต้นประมาณ๑๘๐ - ๒๐๐ ครั้งต่อวินาที มีอัตราการเต้นถึง ๕๐ เท่าทีเดียว ค้างคาวที่จำศีลนั้นจะมีอายุยืนยาวมากกว่า ๒๐ ปี ส่วนค้างคาวปกติจะมีอายุขัย เพียง ๒ ปีเท่านั้น ถ้าเทียบแล้วค้างคาวปกติตายไปถึง ๑๐ รุ่น ค้างคาวตัวที่จำศีลยังไม่เสียชีวิต เลย แต่ค้างคาวไม่มีปัญญาอย่างมนุษย์ มันจึงไม่รู้สึกถึงความแตกต่างภายหลังที่ออกจากการจำศีล

     เพราะฉะนั้น หลักการสำคัญของพระพุทธศาสนาจึงสอนการทำสมาธิ โดยมีเป้าหมาย ชัดเจนว่าต้องการให้จิตนิ่ง การที่จะทำให้จิตนิ่งได้เร็วและมั่นคงที่สุด แนวทางของพระพุทธศาสนา จึงให้กำหนดพิจารณาที่ฐานกาย ที่เรียกว่ากายานุปัสสนาซึ่งเป็นกรรมฐานที่กำหนดเห็นง่ายและ เป็นสิ่งที่มนุษย์สัมผัสได้ง่ายที่สุด กำหนดที่กายเพื่อให้รู้เท่าทันการเคลื่อนไหวของกาย ยุบหนอ พอง หนอ ยืน เดิน นั่ง นอน กายานุปัสสนาจะสร้างขณิกสมาธิจิตและสร้างสติได้ดีกว่าสติปัฏฐานทั้ง สามที่เหลือ ถ้ากายานุปัสสนายังไม่แน่นพอ การจะข้ามไปพิจารณาเวทนา จิต หรือธรรมเป็นเรื่อง ยาก ซึ่งถ้ามองในมุมของเวลาตามทฤษฎีสัมพันธภาพ กายานุปัสสนาก็คือการทำให้จิตนิ่งแล้วจับ ที่การเคลื่อนไหว เวลาของจิตจะเดินช้าลงเมื่อเทียบกับเวลาภายนอก สำหรับผู้ปฏิบัติธรรม ปัญหา ใหญ่ที่เจอบ่อยก็คือเกิดการปวดขาในขณะนั่งขัดสมาธิ การกำหนดที่อาการปวดว่า ปวดหนอ ปวด หนอ ปวดหนอ ถ้าพื้นฐานกายานุปัสสนาแข็งพอ ๑๐ นาทีของเวลาจิตอาจเท่ากับ ๒๐ นาทีของ เวลาภายนอกเลยทีเดียว

     ความจริงในความเชื่ออีกประเด็นหนึ่ง  ก็คือความแก่ชราของผู้สูงวัยเป็นสภาพที่คน ทั้งหลายไม่ต้องการแม้แต่น้อย เพราะพวกเราเชื่อว่าคนสูงวัยไร้ประโยชน์ (การก่อรายได้) แล้ว แต่ สมภาร พรมทา๖ กลับชี้ชวนให้เห็นความแท้จริงว่า หากพิจารณาด้านความงามของวัยแล้วกลับ
พบว่า เป็นวัยแห่งความงดงามเช่นเดียวกับวัยอื่น ๆ ความงดงามในวัยนี้สามารถพิจารณาไปที่ เมื่อแก่เฒ่าลง ความคิดอ่านจะแล่นช้าลง แต่ความสุขุมเยือกเย็นจะเข้ามาแทนที่ ความจริงบางอย่าง ของโลกและชีวิตนั้น จะเป็นที่เข้าใจได้ง่ายขึ้นเมื่อเราแก่ตัวลง จะเห็นว่าในขณะที่กายเริ่มพัฒนา ไปหาความเสื่อมนั้น ส่วนจิตใจกลับพัฒนาสวนทางกับกายคือยิ่งอายุมากขึ้น จิตกลับเข้มแข็งส่อง สว่างมากขึ้น ปัจฉิมวัยจึงเป็นวัยที่สมควรแก่การยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นวัยที่จิตใจของเราได้ พัฒนามาจนถึงขั้นที่ละเอียดประณีตสูงสุด ยิ่งตระหนักรู้ว่ากายกำลังจะแตกดับแล้ว เมื่อผนวก เข้ากับพลังอันแจ่มจ้าของจิต ชีวิตในวัยนี้จึงเอื้อต่อการที่จะปล่อยวางกิเลสอย่างโลก ๆ เอาไว้ แล้ว หันไปหาสิ่งที่สูงส่งดีงามในทางจิตวิญญาณมากกว่าวัยอื่น ๆ จากความเชื่อเดิมที่เชื่อว่าคนผู้สูงวัย
เป็นคนไร้ค่า แต่ความจริงในความเชื่อกลับกลายเป็นว่าคนแก่เป็นผู้ที่มีความแข็งแกร่งด้านจิตใจ ซึ่งเป็นแก่นแท้และเป็นแกนกลางสำคัญแห่งชีวิตของทุกคน

     (๒)  สิ่งที่ปรากฏเป็นมายา
     ความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ปรากฏเป็นมายา มีปรากฏในอรรถกถาธรรมบท ความย่อในเรื่อง มีว่า พระภิกษุรูปหนึ่งผู้เรียนกรรมฐาน  (กรรมฐานที่พิจารณาพยับแดดเป็นอารมณ์) ในสำนัก ของพระศาสดาแล้วคิดว่า จะเจริญกรรมฐานให้มากขึ้น จึงขออนุญาตเข้าป่า แต่ไม่บรรลุธรรม ใด ๆ จึงตั้งใจกลับมายังสำนักของพระศาสดา แต่ในระหว่างทางก็พิจารณาเห็นพยับแดดจึงได้สติ ว่า  พยับแดดนี้มีมากในฤดูร้อนและปรากฏแก่คนทั้งหลายผู้ยืนอยู่ในที่ไกลดุจมีรูปร่าง แต่เมื่อมายืนอยู่ใกล้ ๆ กลับไม่ปรากฏรูปร่างอย่างไรเลย ก็เหมือนอัตภาพร่างกายของมนุษย์เรานี่เองที่เกิด ขึ้นแล้วก็เสื่อมไป และเดินต่อมาอีกพบแม่น้ำอจิรวดีก็เห็นฟองน้ำใหญ่ ที่ถูกกระแสน้ำซัดขึ้นแล้ว ก็แตกไป ฟองแล้วฟองเล่า เลยถือเอาเป็นอารมณ์กรรมฐานว่าร่างกายของคนเราก็เช่นฟองน้ำนี้ เพราะเกิดขึ้นแล้วก็แตกดับไป

     ความจริงในความเชื่อก็คือว่า  คนทั่วไปเมื่อมองไปที่แสงแดดบนท้องถนนหรือตาม ทุ่งนาในหน้าร้อนจะพบพยับแดดเต็มไปหมด ส่วนมากก็รู้และเชื่อแต่เพียงว่านั่นคือพยับแดด ส่วน ความจริงที่แท้จริงกลับไม่รู้และเข้าใจอย่างแจ่มชัด ทั้ง ๆ สิ่งที่ปรากฏแก่เรากำลังสอนเราว่า นั่น
ไม่ใช่ความจริง แต่มันคือมายาหรือภาพลวงตาทั้งสิ้น   ที่คนส่วนมากกลับไม่รู้และไม่เข้าใจในสิ่ง ที่ปรากฏ ที่เชื่อว่าจริงก็เพราะเราเข้าไปยึดถือหรือปรุงแต่งเอาเอง แท้ที่จริงไม่ใช่เฉพาะพยับแดด ที่ไม่ใช่ความจริง แม้แต่วัตถุสิ่งของและสัตว์บุคคลทั้งหลายในความหมายว่าโลกก็ไม่ใช่ความจริง เช่นกัน ประเด็นนี้หากกล่าวตามหลักพุทธปรัชญา๘ มีข้อเสนอว่า เราอาจพูดได้ว่าในแง่หนึ่งโลก ที่ที่มนุษย์รู้จักนั้นถูกสร้างโดยเจตนารมณ์ของมนุษย์ หรือถ้าจะพูดให้เจาะลงไปก็เพราะความอยาก
ของมนุษย์ โลกที่เป็นอยู่ตามสภาวะดั้งเดิมของมัน (ยถาภูตัง) นั้นปุถุชนไม่เคยรู้จักเลย อย่างกรณี ไม่เขาไม่เคยเห็นไม่จริง ๆ เลย เคยเห็นแต่ฟืน เสาไฟ ค้อน หรืออื่น ๆ โลกที่ปุถุชนเห็นเป็นโลก ที่เขาปรุงแต่งแล้ว นี่คือโลกแห่งประสบการณ์ของเขา

     ในการมองสรรพสิ่งโดยเฉพาะโลก โลกในความหมายที่เป็นตัวมนุษย์ มองตามแนวคิด พุทธปรัชญาเรื่อง โลก มนุษย์ และธรรมชาติ ๙ มีคำอธิบายว่า ได้มีนักคิดอินเดียโบราณจำนวน มากสมัยพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น พากันสนใจหาความจริงสุดท้ายเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ มีการตั้ง คำถามว่า“คน” ประกอบเพียงสสารเท่านั้น หรือว่านอกเหนือจากสสารที่อาจจับต้องสัมผัสได้นั้น ยังมีสิ่งเร้นลับอันอื่นที่คอยทำหน้าที่เป็นเสมือนนายบงการกายอีกทีหนึ่ง ต่างฝ่ายต่างพยายามแสวง หาเหตุผลอธิบาย
แต่สุดท้ายก็จบลงที่ประสาทสัมผัส (อันเป็นเครื่องมือธรรมชาติเพียงอย่างเดียว ที่จะทำให้เรารู้อะไรเป็นอะไรในโลกนี้) แต่เมื่อใช้ประสาทสัมผัสตรวจสอบแล้ว เราก็ไม่เคยสัมผัสหรือมองเห็นอะไรอื่นนอกจาก
ร่างกายที่เป็นสสาร เมื่อหาคำตอบในเรื่องนี้ไม่ได้ กาลต่อมาเลยกลาย เป็นปัญหาทางปรัชญาที่เรียกว่า  อภิปรัชญา ซึ่งเป็นปัญหาที่มุ่งทำความเข้าใจ “เนื้อใน”  หรือ “แก่นสาร” ของสิ่งต่าง ๆ ในจักรวาล นอกจากจะพยายามทำความเข้าใจเนื้อในของสิ่งต่าง ๆ แล้ว ปัญหาทางอภิปรัชญายังมุ่งทำความเข้าใจ“ความเป็นไปและสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความเป็นไป” ของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในจักรวาลนี้ด้วย

     จากข้อเสนอที่ว่า “สิ่งที่ปรากฏเป็นมายา” โดยนำพยับแดดมาเป็นตัวอย่างของข้อเสนอ (ไม่อยากให้คิดว่านี้คือปัญหา) และได้พยายามแสวงหาคำตอบจากสองแนวคิดมาตอบ แต่เมื่อฟัง การแสวงหาคำตอบแบบธรรมดาคือการใช้ประสาทสัมผัส และคำตอบแบบใช้ความคิดอธิบายด้วย เหตุผลคือทางอภิปรัชญาแล้ว ดูเหมือนว่าเป็นคำตอบที่เข้าใจได้เป็นอย่างดี แต่บางครั้งอาจจะรู้สึก ว่าความเข้าใจที่ไม่เข้าใจก็เป็นไปได้ เมื่อไม่เข้าใจก็ยากต่อการอธิบายใหผู้อื่นทราบต่อไปด้วย ใน
เรื่องนี้ผู้เขียนขอเชิญท่านมาฟังคำตอบจากผู้ศึกษาพระพุทธศาสนายุคใหม่ เผื่อว่าจะช่วยทำให้ท่าน เข้าใจข้อเสนอดังกล่าวแล้วได้ง่ายขึ้น คำตอบมีว่า๑๐ เนื่องจากประสาทสัมผัสที่เห็นชัดเจนที่สุด และใช้มากที่สุด คือ ตา การมองเห็นของตาจะสัมพันธ์กับแสงเสมอ ที่ใดมืดมิดเราจะมองไม่เห็น อะไรเลย ภาพความจริงที่เรามองเห็นก็คือภาพที่สมองเราแปลความหมายจากแสงที่สะท้อนจาก วัตถุนั้นเข้าตาเรา การที่เราเห็นหน้าตัวเองในกระจก เพราะแสงมากระทบที่ผิวหนัง ทำให้อิเลคตรอน
ของผิวหนังบนใบหน้าเราสั่น เกิดพลังงานที่ใบหน้าเป็นโฟตอนพุ่งไปที่กระจก หลังจากกระจกได้ รับแสงจากใบหน้าเรา อิเลคตรอนในกระจกก็สั่นและสะท้อนโฟตอนกลับไปที่ตาเราอีกที เซลล์ ประสาทตารับแรงกระแทกจากโฟตอนก็จะสั่นอีกครั้ง แล้วส่งสัญญาณการสั่นนั้นไปที่สมองแปล เป็นภาพขึ้นมา จะเห็นได้ว่าพลังงานแสงได้เปลี่ยนเป็นพลังงานกล แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นพลังงาน แสงหลายรอบกลับไปกลับมา มีการเกิดดับ ๆ หลายหน แต่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเราเข้าใจเป็น
ว่า ใบหน้าที่เราเห็นในกระจกคือรูปธรรม แท้จริงแล้วคือแค่การสั่นของพลังงานรูปหนึ่ง แล้วสมอง เราแปลภาพออกมาเป็นภาพมายา

     เรื่องของการสั่นมีปรากฏในพระไตรปิฎก ภาควิชาอภิธรรมกล่าวไว้ว่า จิตของเราเกิดดับ อยู่ตลอดเวลาอย่างรวดเร็ว การที่เรารับรู้รูป รส กลิ่น เสียงนั้นไม่ใช่ของจริง ของจริงคือการเกิดดับของจิต  โดยมีองค์ประกอบของจิตที่ต่างกัน  ทำให้เรารับรู้ภาพ  กลิ่น  เสียงต่าง  ๆ  เกิดขึ้น มากมาย เหมือนกับการแปลภาพของสมองในเวลาฝัน ขณะที่เรานอนหลับ ตาเราได้เห็นภาพ ต่าง ๆ ได้กลิ่น ได้ยินจากการสรรค์สร้างของจิตชัดเจนเหลือเกิน ทั้ง ๆ ที่ไม่มีแสงหรือเสียงจริง ๆ อยู่ในกระบวนการนั้นเลย แต่เพราะคุณสมบัติของแสงร่วมกับประสาทสัมผัสทางตาของเรา ทำให้ เราเห็น
จักรวาลอย่างที่เห็น เห็นดวงจันทร์อย่างที่เห็น แท้จริงแล้วสรรพสิ่งในโลกและจักรวาลเป็น เพียง “พลังงาน” รูปหนึ่ง ถ้าเราไม่ใช้แสงเป็นสื่อในการมอง เรามองภาพจักรวาลด้วยจิตจะพบ ว่า ภาพของจักรวาลเป็นคนละเรื่องกับภาพของจักรวาลในทางดาราศาสตร์ที่ถ่ายภาพมาได้

     ข้อสังเกตต่อคำตอบที่กล่าวมาข้างต้นก็คือว่า หากเราตอบตามแนวคิดทางปรัชญาจะเป็น คำตอบที่ไม่ฟันธงว่าความจริงในความเชื่อคือความเชื่ออย่างไร แต่จะเป็นการตอบด้วยการให้เหตุผล หรืออธิบายด้วยการใช้เหตุผล โดยให้ผู้อ่านได้ใช้ความคิดพิจารณาจาก “ข้อความ” ที่ผู้อธิบายได้ พยายามอธิบายโดยผ่านข้อความต่าง ๆ มากมาย สุดแท้แต่จะสรรหามาอธิบายด้วยมีเป้าหมาย เพื่อความเข้าใจของผู้อ่านเป็นที่ตั้ง ผู้อธิบายมีหน้าที่เพียงใช่ความคิดสื่อผ่านข้อความเท่านั้น ส่วน ผู้อ่านจะเข้าใจมากน้อยแค่ไหนให้เป็นหน้าที่ของผู้อ่าน หากผู้อ่านสงสัยก็เป็นหน้าที่ของผู้อ่านที่จะต้อง ขบคิดต่อไป

     มีคำถามว่าทำไมข้อความจึงมีอิทธิพลต่อความนึกคิดของมนุษย์ ดูเหมือนว่าพวกเรา เข้าใจสิ่งต่าง  ๆ  ได้ก็เพราะข้อความสื่อให้เราทราบ  อย่างเช่นข้อความว่า  ผมรักคุณ  มาจาก คำ (ศัพท์) ๓ คำคือคำว่า ผม รัก และคุณ มารวมกันเข้าเป็นข้อความสั้น ๆ แต่มีความหมายที่ลึก ซึ้ง
จนคนทั้งโลก “หลงใหลได้ปลื้ม” กับข้อความนี้ยิ่งนัก หรือแม้แต่เรื่องเล่าที่ปรากฏในอรรถกถา ธรรมบท เรื่องเล่าในวรรณกรรม หรือเรื่องเล่าสั้น ๆ ทั้งในเชิงสอนใจ นินทา สรรเสริญก็ตาม สุด ท้ายปลายทางแล้ว
ก็เพื่อความเข้าใจของผู้อ่านเป็นที่ตั้ง ซึ่งสามารถสร้างจินตนาการให้ผู้อ่านได้เป็น อย่างดี ในประเด็นนี้ ไฮเดกเกอร์ (นักปรัชญาชาวเยอรมัน) กล่าวว่าเครื่องมือของระบบความคิด ที่ทรงพลังมากที่สุดคือ “ภาษา” โลกสมัยใหม่เป็นโลกที่  “ภาษาเป็นเครื่องมือของความคิด” ซึ่ง พอจะอธิบายได้ว่าในโลกสมัยใหม่ภาษาเป็นสื่อของความคิด ภาษาอยู่ในฐานะตัวแทนหรือตัวกลาง ระหว่างผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ หรือระหว่าง
อัตวิสัยกับภววิสัย๑๑ ดังนั้น คนที่บอกรักจึงอยู่ในฐานะอัตวิสัยส่วนคนที่ถูกบอกรักก็อยู่ในฐานะภววิสัยหรือหากเป็นความรูความคิดก็อยู่ระหว่างผู้รู้ ผู้คิดกับผู้ถูก รู้   ผู้ถูกคิดนั่นเอง

     ความจริงแล้วในการใช้ภาษา เราผู้ใช้มีความมุ่งหวังที่จะเสนอข้อมูลให้ผู้อื่นรับรู้ เรา เข้าใจอะไรบางอย่างเกี่ยวกับโลกหรือความเชื่อที่อยู่ภายในจิต และเราอยากจะใช้ภาษาเพื่อให้ผู้ที่ เราพูดด้วยเกิดความเข้าใจแบบเดียวกับที่เราเข้าใจ  การที่ทำเช่นนี้ได้  ดูเผิน  ๆ  อาจเป็นเรื่อง ปกติธรรมดา ไม่มีอะไรน่าสนใจมากนัก แต่เมื่อเราพิจารณาอย่างละเอียดแล้วพบว่าการที่เราสามารถ ใช้ภาษาติดต่อสื่อสารกันได้นั้นเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ยิ่ง เราอาจใช่ภาษาพูดถึงหรือบรรยายเหตุการณ์ ที่กำลังเกิดขึ้น การที่เราทำเช่นนั้นได้เนื่องจาก “คำ” ที่เราใช้สามารถบ่งถึงสรรพสิ่ง หรือเหตุการณ์ ที่อยู่ภายนอกตัวภาษาได้ ตัวอย่างเช่น เราพูดว่า “นกกำลังบิน” นกในภาษาหรือตัวหนังสือจะต้อง สัมพันธ์กับนกในความคิด จนก่อให้เกิดความเชื่อว่านกกำลังบินอยู่จริง หรือ “กามีสีดำ” จะเป็น จริงก็ต่อเมื่อกามีสีดำจริง  ๆ  เราจะเห็นได้ว่า  ตัวการที่ทำให้ข้อความใดข้อความหนึ่งเป็นจริงได้ ก็คือคำต่าง  ๆ  ในข้อความนั้น  แต่ละคำจะต้องมีความหมายเฉพาะตัว ในทางตรรกะเรียกว่า คำนิเทศ  ซึ่งหมายถึงคำที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของคำต่าง ๆ ในการกำหนดหมายรู้สิ่งต่าง ๆ ในประโยคหรือญัตติ เพื่อให้คำแต่ละคำมีความสัมพันธ์กัน หรือหมายถึงความสัมพันธ์ต่าง ๆ ซึ่ง โยงความคิดหรือคำพูดต่าง ๆ ไปยังสิ่งที่กล่าวถึง จนเราสามารถอธิบายเชื่อมสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง หรือหลาย ๆ สิ่งเข้ากันได้ ดังนั้น เราจึงเห็นนกกำลังบินและกามีสีดำ เหตุผลเพราะว่า หน่วย
คำมารวมกันจนกลายเป็นข้อความ บวกกับมโนภาพของเราถูกสอนมาอย่างนั้นว่า นกเป็นสัตว์ที่ บินได้ เมื่อมีข้อความว่า นกกำลังบิน เราจึงเชื่อว่านกกำลังบินจริง ๆ แต่หากมีข้อความว่า หมูกำลังบิน เราจะไม่มีความเชื่อเลยว่าเป็นจริง เพราะเราไม่เคยเห็นหมูบินนั่นเอง อีกนัยหนึ่ง ที่ไม่ เป็นจริงก็เพราะคำในข้อความไม่มีความสัมพันธ์กันหรือเชื่อมโยงกัน หรือข้อความว่า “กามีสีดำ” ก็ยิ่งก่อความสงสัยมากกว่าข้อความว่า “หมูกำลังบิน” เพราะคำว่า กา ในข้อความว่า “กามีสีดำ” เป็นคำกำกวมว่า หมายถึงอีกา (สัตว์ปีกบินได้และชอบขโมยข้าวของกิน) หรือหมายถึงกาสำหรับ ใส่น้ำกันแน่ เพราะหากพิจารณาตามหลักตรรกะพบว่าคำมีความหมาย ๓ นัย คือ ๑. เอกัตถะหมายถึงคำที่มีความหมายเดียว เช่น วัว  ควาย พ่อ แม่ ฯลฯ  ๒.  ยุคลัตถะ  หมายถึงคำที่มี ความหมายคู่ เช่น กา ตา ฯลฯ ๓. สมานัตถะ หมายถึงคำที่มีความหมายเสมอกัน เช่น คน มนุษย์ สุนัข หมา ฯลฯ ดังนั้น คำว่า กา ในที่นี้จึงมีความหมายเป็นยุคลัตถะคือคำที่มีความหมายคู่ (แต่ ข้อความนี้หมาย
เอากา (อีกา) ซึ่งเป็นสัตวปีกที่บินได้)

     จากรายละเอียดที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นการอธิบายตามแนวคิดทางตรรกะ จึงถือว่าความจริงที่เป็นความเชื่อตามหลักตรรกะนั่นก็คือว่าคำกับคำขยายมีความสัมพันธ์กันหรือเชื่อมโยงกัน จนกลายเป็นข้อความและมีความหมายสมบูรณ์ และเป็นเหตุให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังมีความ เข้าใจตามนั้น หากจะสรุปความจริงในความเชื่อเชิงตรรกะ คงพอเสนอเป็นภาพสัญลักษณ์ได้ว่า ศัพท์ ความหมาย   สิ่งต่าง ๆ มโนภาพ มีความสัมพันธ์กัน ความเข้าใจ (ความเชื่อ) จนกลาย เป็นความจริงในความเชื่อตามที่กล่าวแล้ว แต่บทความนี้ต้องการสื่อความจริงในความเชื่อทาง ศาสนามากกว่าความจริงในความเชื่อทางตรรกะ เพราะความจริงในความเชื่อทางตรรกะเป็น ความรู้ทางประสาทสัมผัส  ซึ่งเป็นความรู้ที่จำกัดคือจำกัดอยู่กับเวลา สถานที่ และบุคคล จึงเป็น ความรู้ที่ไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงได้เสมอ

     ส่วนความจริงในความเชื่อทางศาสนาไม่ได้เกิดทางประสาทสัมผัส  แต่เกิดจากการลงมือประพฤติปฏิบัติด้วยความเพียรพยายามของตนเอง จัดเป็นประสบการณ์ตรง อย่างความนิ่งสยบความเคลื่อนไหว หมายถึงความนิ่งของจิตที่ผ่านการฝึกฝนอบรม (ภาวิตา พหุลีกตา) มาอย่าง
ดีแล้ว ในอรรถกถาธรรมบท จึงมี “ข้อความ” ที่สื่อให้เห็นความนิ่งของจิต โดยเปรียบเหมือน ศิลาล้วน (เอกฆโน) ไม่มีโพรง (อสุสิโร) เป็นแท่งเดียว (เสโล) เมื่อถูกลมแรงขนาดไหนก็ไม่สะเทือน(น สมีรติ) ไม่เอนเอียง (น อิชฺติ) ไม่หวั่นไหว (น สมิชฺติ) ศัพท์ศาสนาเรียกผู้ผ่านการฝึกฝน อบรมมาดีแล้วว่า บัณฑิต แม้ถูกคำนินทาหรือสรรเสริญก็ไม่เอนเอียง (น สมิชฺติ) ไม่หวั่นไหว (น จลติ) ไม่สะเทือน (น กมฺปติ) ด้วยอำนาจความยินร้ายยินดี (น ปฏิฆวเสน) นอกจากนี้ยังมี ข้อความที่แสดงถึงความนิ่งของจิตเพิ่มเติม เช่นข้อความว่า๑๕ ภิกษุควรเป็นผู้คงที่ (ตาทิโน) คงที่ เหมือนแผ่นดินที่ชาวบ้านทิ้งของไม่สะอาด หรือเด็กถ่ายอุจจาระปัสสาวะลงใส่ แผ่นดินก็ไม่เคยยินดียินร้ายกับการกระทำอย่างนั้นเลย  ที่ผู้เขียนยกคำหรือศัพท์ภาษาบาลีกำกับมาด้วย  ก็เพื่อ ต้องการสื่อคำที่ก่อให้เกิดข้อความและเกิดความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันด้วย ประการสำคัญก็เพื่อ ประสงค์ที่จะสื่อว่า การแสวงหาความจริงระหว่างศาสตร์ตะวันตกกับตะวันออกมีความต่างกัน โดย ที่ตะวันตกใช้เหตุผลเชิงตรรกะแสวงหาความจริง ส่วนตะวันออกใช้การลงมือปฏิบัติจนกลายเป็น ประสบการณ์ไปเปลี่ยนแปลงจิต และพัฒนาจิตให้มีความกล้าแกร่ง จนสามารถควบคุมจิตไป กำหนดสิ่ง (อาคันตุการมณ์-อารมณ์ที่จร) ที่มากระทบจิต ให้รู้เท่าทันอารมณ์เหล่านั้น โดยเป็น ผู้มีสติมา  คือมีความระลึกรู้เสมอ และมีสัมปชาโน  คือมีความรู้ตัวทั่วพร้อมเสมอแนบไปกับจิต ดังนั้น  ศาสตร์การต่อสู้ของโลกตะวันออกทุกศาสตร์  จึงเน้นเสมอว่าให้กำหนดจิตไปที่การ เคลื่อนไหว หรือเอาใจไปไว้ที่กำปั้น (ยกตัวอย่างกรณีการชกมวยโอลิมปิก) ขณะที่ใจเย็น จิตจะนิ่ง ปฏิกิริยาเคมีภายในกายจะช้าไปด้วย ทำให้เวลาเดิน
ไปอย่างช้า ๆ เป็นเหตุให้การชกแต่ละครั้ง สามารถทำคะแนนได้อย่างแน่นอน แต่ถ้าใจร้อนรุ่ม หัวใจจะเต้นเร็ว หายใจเร็ว ความดันขึ้น เลือด ลมฉีด ปฏิกิริยาเคมีในร่างกายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเวลาจะผ่านไปเร็วมาก เวลาผ่านไปเร็ว มากเท่าไหร่จิตก็จะกระวนกระวาย และร้อนรุ่มมากขึ้นเท่านั้น จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การชก พลาดเป้าไปอย่างน่าเสียดาย และในที่สุดแห่งการชกก็จะมีแต่ความเสียใจ

     จากเหตุการณ์การชกมวยที่ผ่านมา เป็นเหตุให้ประหลาดใจว่า ทำไม ข้อความ ที่ประกอบ จากคำหรือหน่วยคำต่าง ๆ นั้น จึงมีอิทธิพลต่อความคิดและความเชื่อของคนเราได้อย่างมากมาย ขนาดนี้ เพียงแค่ผู้บรรยาย บรรยายว่า  “โอลิมปิกคราวนี้นักมวยผู้มีคะแนน  (แต้ม) นำจะเป็น ผู้ชนะมากกว่า” เมื่อผู้ฟังได้ฟังก็มีความเชื่อว่าเป็นความจริงตามนั้น  แล้วก็นำคำบรรยายนั้นซึ่ง เป็นข้อความไปพูดต่อจนก่อให้เกิดเป็นความเชื่อและเล่าขานกันถึงทุกวันนี้ สิ่งที่ประหลาดใจสำหรับ ผู้เขียนอีกข้อหนึ่งก็คือว่า ผู้เขียนได้ใช่ข้อความที่ร้อยเรียงมาตั้งแต่เริ่มต้นจวบจนใกล้จบเรื่องนี้ มัน ดำเนินมาได้อย่างไร ทำไมข้อความทั้งยาวและสั้นเหล่านี้ จึงสามารถสื่อความเข้าใจที่มีอยู่ภายใน จิตให้ผู้อื่นทั้งที่เข้าใจตามและไม่เข้าใจตามได้อย่างน่ามหัศจรรย์มาก ข้อความสื่อสารจนทำให้ผู้อ่าน
เข้าใจความจริงตามที่สื่อสารมาตลอด ทั้ง ๆ ที่ข้อความนั้นอาจจะไม่จริงก็ได้ แต่ข้อความ (ภาษา) ได้ทำหน้าที่ของมันคือเป็นดุจพาหะนำความรู้สึกนึกไปสู่ผู้อื่น ด้วยการร้อยเรียงเป็นหนึ่งเดียวกัน จนสามารถเชื่อมความจริงที่เป็นคนละส่วนกับความเชื่อให้ผู้อ่านเชื่อความจริงเหล่านั้นได้อย่าง สนิทใจบ้างไม่สนิทใจบ้าง (ได้แต่หวังว่าจะสนิทใจมากกว่าไม่สนิทใจ)

     มาถึงตรงนี้ผู้เขียนขอสรุปเป็น ๒ ส่วน คือ (๑) ส่วนที่เป็นจริงในเชิงพุทธศาสตร์ทั่วไป ว่า ความจริงในความเชื่อที่เราเชื่อกันนั้นไม่ใช่ความจริงที่แท้จริง แต่เป็นมายาที่หลอกเราว่าเป็น ความจริง ความจริงที่เป็นมายาเป็นความจริงที่เกิดจากประสาทสัมผัสมีตา หู ฯลฯ จึงเป็นความ
จริงที่ไม่แน่นอน ไม่คงที่ และมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ เพราะมันถูกจำกัดอยู่ที่เวลาสถานที่และ บุคคล เมื่อเวลาสถานที่และบุคคลเปลี่ยน ก็เป็นเหตุให้ความจริงเปลี่ยนไปด้วย และ (๒) ส่วนที่ เป็นเชิงพุทธศาสตร์แบบปรมัตถ์ว่า ความจริงในความเชื่อ (ภววิสัย-สิ่งที่ถูกรู้) มีอยู่ได้ก็เพราะมี
ผู้รู้ (อัตวิสัย) แต่ตามหลักของพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ตรัสว่า อัตตาคือตัวตนผู้ทำหน้าที่รู้ นั้น ไม่เคยมีอยู่จริง สรรพสิ่งในโลกเป็นอิทัปปัจจยตา (สิ่งสัมพัทธ์) เมื่อผู้รู้ไม่มีอยู่จริงแล้ว ความ จริงในความรู้จะมีได้อย่างไร  ซึ่งไปสอดคล้องกับแนวคิดของไอน์สไตน์ที่ยืนยันซ้ำพร้อมสูตรทาง วิทยาศาสตร์ว่า “สัมพันธภาพสอนให้เรารู้ถึงความเชื่อมโยงระหว่างความเป็นจริงอันเดียวกัน แต่ มีลักษณะที่รับรู้ได้ต่างกัน”  ดังนั้น  ความจริงในความเชื่อก็ไม่มีอะไรมาก มันเป็นเพียงการเชื่อม โยง (นิเทศ) ระหว่างความจริงที่ปรากฏ (ได้ยินได้ฟังหรือได้อ่าน) กับความเชื่อที่มีอยู่ภายในจิต ของคนแต่ละคนมีความเชื่อมโยงตรงกันเท่านั้นเอง ส่วนใครจะเชื่อมโยงความจริงกับความเชื่อ ให้กลายเป็นความจริงในความเชื่อที่ทรงพลังได้มากน้อยแค่ไหน ก็ขอฝากให้เป็นบทบาทหน้าที่ของ
ท่านผู้อ่านแต่ละท้านได้เชื่อมโยงเองเถิดฯ

 

''ความจริงในความเชื่อ''

(ที่มา: วารสารธรรมทรรศน์)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕