หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาเกรียงไกร กิตฺติเมธี (พินยารัก)
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๕ ครั้ง
พุทธจริยศาสตร์กับการบริโภคปัจจัย ๔
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาเกรียงไกร กิตฺติเมธี (พินยารัก) ข้อมูลวันที่ : ๑๐/๐๙/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระเมธีสุตาภรณ์,ป.ธ. ๙, พธ.บ.,M.A., Ph.D. (Buddhist Study)
  พระสวาท ธมฺมรโส พธ.บ., ,M.A.(I.P.R), Ph.D. (Philosophy)
  ผศ.ดร. สุรพงษ์ คงสัตย์,พธ.บ., M.A.,ปร.ด. (วัฒนธรรมศาสตร์)
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

                      วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นการวิจัยเอกสารซึ่งมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาพุทธจริยศาสตร์ในการบริโภคปัจจัย ๔  เพื่อศึกษาการบริโภคปัจจัย ๔ ของคนไทยกลุ่มบริโภคนิยม และเพื่อศึกษาวิเคราะห์ การบริโภคปัจจัย ๔ ของคนไทยตามพุทธจริยศาสตร์ ผลการศึกษาพบว่า

     พุทธจริยศาสตร์กับการบริโภคปัจจัย๔ในความหมายของพุทธจริยศาสตร์หมายถึงการบริโภคด้วยปัญญา ประกอบด้วยเหตุผลให้รู้ถึงคุณค่าที่แท้จริงเป็นความประพฤติของมนุษย์และการดำรงชีวิตอยู่ด้วยหลักเกณฑ์ทางจริยธรรม  การบริโภคปัจจัย    ทรรศนะของพุทธจริยศาสตร์บริโภคเพื่ออุดหนุนชีวิต มิใช่จุดม่งหมายของชีวิต ความหมายของการบริโภคเชิงพุทธจริยศาสตร์ไม่ได้บริโภคเพื่อสนองความต้องการหรือเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีทรรศนะสนับสนุนการบริโภคเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุด อันเป็นเหตุจะทำให้มนุษย์มีศักยภาพที่สมบูรณ์  ทำให้ชีวิตมีความดีงามยิ่งขึ้น   ทำให้มนุษย์มีความสามารถในการดำรงชีพที่ดีงามได้พุทธจริยศาสตร์ซึ่งมีลักษณะเป็นสมบูรณ์นิยม กล่าวคือเป็นหลักความประพฤติที่มีลักษณะที่แน่นอนตายตัวไม่มีการเปลี่ยนแปลงหากกล่าวถึงการบริโภคปัจจัยตามทรรศนะพุทธจริยศาสตร์แบ่งได้ ๒ ประเภท คือ การบริโภคของบรรพชิต กับการบริโภคของคฤหัสถ์ โดยอยู่ภายใต้หลักการบริโภคตามหลักพุทธจริยศาสตร์ที่เกี่ยวกับการบริโภคปัจจัย  ๔คือ การบริโภคตามหลักปุริสธรรม  หลักโยนิโสมนสิการ  หลักมัชฌิมาปฎิปทา และหลักสันโดษ เพราะสาเหตุในการบริโภคปัจจัยมาจากความต้องการพื้นฐานของมนุษย์และเริ่มมีการบริโภคด้วยตัณหา ทำให้คุณค่าของการบริโภคมีลักษณะ ๒ ประการ คือ คุณค่าแท้กับคุณค่าเทียม โดยมีจุดมุ่งหมายของการบริโภคปัจจัย ๔ คือ เพื่อการดำรงอยู่แห่งชีวิตและพัฒนาชีวิตของมนุษย์ให้มีความสมบูรณ์อย่างยั่งยืนมิใช่บริโภคเพื่อสนองความอยากหรือเพื่อประดับหรือสร้างความสวยงามให้กับร่างกายแต่อย่างใด

     การบริโภคปัจจัย ๔ ของคนไทยกลุ่มบริโภคนิยม อยู่ที่ค่านิยมที่มาจากผู้อื่นและความเชื่อของตนเอง จึงได้พยายามที่จะศึกษาและนำมาปฏิบัติใช้ในชีวิต อันได้แก่ อาหาร  เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค  เพราะคนไทยส่วนใหญ่มีแนวคิดเกี่ยวกับบริโภคนิยมในด้านวัตถุมากกว่าด้านจิตใจ เพราะเชื่อว่าวัตถุสิ่งของจะนำความสุข  ความเจริญมาสู่ตน ครอบครัว และการมีเกียรติยศในสังคม อันเป็นเหตุทำให้แนวคิดนี้กลายเป็นวัฒนธรรมการบริโภคในกลุ่มบริโภคนิยมที่คนไทยได้นำมาเลียนแบบ ซึ่งรู้คุณค่าของการบริโภคนิยม แต่ไม่สามารถที่จะลด ละ เลิกบริโภคนิยมที่เกินความจำเป็นได้  ดังนั้นจึงส่งผลให้จุดมุ่งหมายที่จะดำเนินชีวิตแบบพอเพียงและเรียบง่ายลดลงไป

                        พุทธจริยศาสตร์วิเคราะห์บริโภคนิยมของคนไทยสาเหตุสำคัญการบริโภคนิยมของคนไทยตามทรรศนะพุทธจริยศาสตร์เห็นว่าเกิดจากคุณค่าบริโภคนิยมที่สนองความต้องการและความพึงพอใจสูงสุด การบริโภคกลุ่มบริโภคนิยมของคนไทยทำให้เกิดปัญหาทางจริยธรรมคือ  ปัญหาครอบครัว ปัญหาการศึกษา  ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคมและวัฒนธรรม พุทธจริยศาสตร์ในฐานะเหตุผลผู้สนับสนุน  มีทรรศนะให้ดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย และอยู่ด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน สนับสนุนการบริโภคด้วยปัญญา พุทธจริยศาสตร์มีทรรศนะเกี่ยวกับการบริโภคนิยมว่าเป็นเพียงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สนองความต้องการเท่านั้น   สำหรับเหตุผลในฐานะผู้คัดค้านกล่าวคือ  คัดค้านการแสวงหาปัจจัย ๔ โดยมิชอบและเกินความจำเป็นโดยมิได้คำนึงถึงจริยธรรมในการบริโภคที่ดี ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาทางจริยธรรมและปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย และทำให้ศักยภาพในการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ลดน้อยลง  ดังนั้น  การศึกษาพุทธจริยศาสตร์กับการบริโภคปัจจัย ๔ ของคนไทย จะเป็นประโยชน์มาก หากทราบถึงหลักพุทธจริยศาสตร์ในการบริโภคปัจจัย ๔ สามารถทำให้การบริโภคเข้าถึงจิตใจและอาจจะลด  ละ เลิกการบริโภคปัจจัย ๔ ที่เกินขอบเขตและเกินความจำเป็นนั้นก็อาจจะเป็นไปได้ในที่สุด

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕