หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสมชัย รตนญาโณ (พงษ์กิ่ง)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๑ ครั้ง
การศึกษาแนวคิดทางการเมืองในพุทธปรัชญาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระสมชัย รตนญาโณ (พงษ์กิ่ง) ข้อมูลวันที่ : ๑๐/๐๙/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูสังวราภิรักษ์ พธ.บ., M.A., Ph.D. (Buddhist Study)
  พระยุทธนา อธิจิตฺโต พธ.บ., M.A., Ph.D. (Philosophy)
  ผศ.ดร. สุรพงษ์ คงสัตย์ ป.ธ.๔, พธ.บ., M.A., ปร.ด. (วัฒนธรรมศาสตร์)
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

 

การศึกษาแนวคิดทางการเมืองในพุทธปรัชญาเถรวาท มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดทางการเมืองในพุทธปรัชญาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาแนวคิดทางการเมืองของไทยปัจจุบัน (๓) เพื่อวิเคราะห์แนวคิดทางการเมืองในพุทธปรัชญาเถรวาทเพื่อส่งเสริมการปกครองของไทยปัจจุบัน

ผลการวิจัยพบว่า แนวคิดทางการเมืองในพุทธปรัชญาเถรวาท หมายถึง หลักการหรือกระบวนการหรือปรัชญาการปกครองทางพุทธปรัชญาเถรวาท ที่นำมาส่งเสริมการปกครองของไทยเพื่อทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและทำให้เกิดสันติในกลุ่มคน ตลอดทั้งวิธีการอันเป็นอุดมการณ์การบริหารจัดการด้านการปกครอง ซึ่งเกิดจากแนวร่วมของประชาชนโดยมีหลักธรรมทางพระพุธศาสนาผสมผสานเพื่อเกิดความยุติธรรมภายในสังคม แนวคิดทางการเมืองในพุทธปรัชญาเถรวาท เป็นแนวทางแห่งทางสายกลาง ไม่อยู่ในระบบโลกาธิปไตย และ อัตตาธิปไตย ซึ่งอยู่เหนือทั้งสองระบบนี้ เรียกว่ามนุษย์นิยมธรรมาธิปไตย จะปกครองบริหารบ้านเมืองโดยระบอบใดก็ตามถ้าประกอบด้วยธรรม ระบอบการปกครองนั้นถือว่าถูกต้องเพราะเกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นอย่างเป็นธรรม

แนวคิดทางการเมืองของไทยปัจจุบัน หมายถึง ประเทศไทยมีรูปแบบรัฐเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา หรือที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเรียกรวมกันว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นฉบับที่ ๑๘ ส่วนปัญหาที่มีความขัดแย้งในปัจจุบันนี้ สืบเนื่องจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เพราะเห็นว่ารัฐบาลมีการทุจริตอย่างมากในการบริหารประเทศ มีการแทรกแซงองค์กรต่างๆ เป็นเผด็จการในระบอบรัฐสภา หมิ่นเหม่ต่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์

การวิเคราะห์แนวคิดทางการเมืองในพุทธปรัชญาเถรวาทเพื่อส่งเสริมการปกครองของไทยปัจจุบัน หมายถึง การเสนอแนะแนวคิด นำระบบการปกครองแบบธรรมาธิปไตยมาเสริมสร้างประยุกต์ใช้ในการปกครองของไทย ซึ่งเป็นการยึดหลักการเหตุผล แห่งความถูกต้อง และความดีงาม ความเป็นระเบียบ ตามกฎเกณฑ์กติกาที่ชอบธรรม แห่งหลักการทางการเมือง และการบริหารปกครองบ้านเมืองเพื่อความสงบสันติ และมีหลักธรรมที่ส่งเสริมการเมืองการปกครอง คือ ทศพิธราชธรรม ๑๐ ราชสังคหวัตถุ ๔ จักรวรรดิวัตร ๑๒ อปริหานิยธรรม ๗ สัปปุริสธรรม ๗ พรหมวิหาร ๔ อคติ ๔ รวมกระทั้งพระมหากษัตริย์ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ผู้ปกครอง ผู้นำประเทศ ผู้บริหารและหัวหน้าองค์กรทั้งหลาย ควรศึกษาแนวทางการนำหลักธรรมทางพุทธปรัชญาเถรวาท ไปปรับใช้และส่งเสริมเข้ากับการเมืองการปกครองการบริหารประเทศและประชาชน เพื่อให้เกิดความสันติสุขของคนในชาติและความสามัคคี ดั่งที่หลวงพ่อพุทธทาส กล่าวว่า ธรรมะกับการเมืองเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้ เพราะธรรมะเป็นของพุทธบริษัทโดยตรง ถ้าการเมืองยังเกี่ยวกับธรรมะการเมืองก็ต้องเกี่ยวกับพุทธบริษัทมากเท่านั้น ธรรมะกับการเมืองเป็นสิ่งแยกกันไม่ได้ แยกกันเมื่อไร การเมืองก็กลายเป็นเรื่องการทำลายประเทศและโลกขึ้นมาทันที

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕