หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ปัทมา เอี่ยมปิยะ
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๙ ครั้ง
ศึกษาเปรียบเทียบวิธีการแก้ความเครียดในทางพระพุทธศาสนาเถรวาทกับคริสต์ศาสนาโรมันคาทอลิก
ชื่อผู้วิจัย : ปัทมา เอี่ยมปิยะ ข้อมูลวันที่ : ๑๔/๑๒/๒๐๑๔
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ศาสนาเปรียบเทียบ)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสุทิตย์ อาภากโร
  ดร.แสวง นิลนามะ
  ดร.สุวภรณ์ แนวจำปา
วันสำเร็จการศึกษา : ๙ มีนาคม ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

  การศึกษาวิจัยนี้   มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ  คือ  ๑) เพื่อศึกษาวิธีการแก้ความเครียดในทางพระพุทธศาสนาเถรวาท  ๒) เพื่อศึกษาวิธีการแก้ความเครียดในทางคริสต์ศาสนาโรมันคาทอลิก  และ ๓) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบวิธีการแก้ความเครียดในทางพระพุทธศาสนาเถรวาทกับคริสต์ศาสนาโรมันคาทอลิก  โดยเป็นการศึกษาในเชิงเอกสาร  แล้วนำมาวิเคราะห์  สังเคราะห์ เปรียบเทียบในเชิงพรรณนา ดังนี้

ผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์ข้อที่ ๑  พบว่า  ในพุทธศาสนาเถรวาทมีวิธีการแก้ไขปัญหาความเครียด ๒ แนวทางคือ ๑) แก้ไขความเครียดในระยะสั้น เป็นการแก้ไขปัญหาความเครียดเฉพาะหน้า  วิธีนี้เป็นวิธีสำหรับผู้ที่หมกมุ่นในกามารมณ์หรือโลกียวิสัย  เป็นความเครียดที่เกิดจากการละเมิดศีล ๕ หรือในการแสวงหาปัจจัย ๔ และสิ่งเสพบริโภคทั่วไป ๒) แก้ไขความเครียดในระยะยาว วิธีนี้แก้ความเครียดแบบถอนรากจากอกุศลมูล  โดยผู้เครียดต้องรู้ว่าตนกำลังเครียดคือมีพื้นฐานจากอกุศลมูลคือมีสติ  จากนั้นจึงเจริญสมถกัมมัฏฐานเพื่อควบคุมขอบเขตความเครียด  แล้วเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานพิจารณาสภาวะของความเครียด มูลเหตุของความเครียดแล้วละความเครียดนั้นเสีย
ผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์ข้อที่ ๒  พบว่า      ในศาสนาคริสต์มีวิธีการแก้ไขปัญหาความเครียด ๒ แนวทางคือ ๑) แก้ไขความเครียดที่ตัวเองกำลังประสบอยู่ คริสตชนมองว่าความเครียดบางอย่างที่เขาประสบอยู่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่ทรงมอบ(หยิบยื่น)ให้แก่ผู้ที่อ่อนแอทางจิตวิญญาณได้ทดสอบความเข้มแข็ง  จึงควรชำระตนด้วยการเข้าเงียบภาวนาใช้พระวจนะของพระเจ้ากล่อมเกลาจิตใจรวมถึงการสำรวจทบทวนชีวิต  จิตใจ การกระทำของตนเมื่อมีความเครียดความทุกข์ ๒) แก้ความเครียดในระยะยาวที่ฝังลึก ด้วยการยอมรับการช่วยให้รอดจากพระเยซูคริสต์ เป็นการหมดทุกข์โดยสิ้นเชิง เพราะเป็นการเข้าไปสู่อาณาจักรของพระเจ้า มีวิธีการคือการภาวนา  การภาวนาของคริสต์ศาสนาโรมันคาทอลิก เป็นการติดต่อระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า เป็นความสัมพันธ์ที่ยิ่งสนิทอย่างลึกซึ้งของมนุษย์กับพระเจ้า เป็นความสัมพันธ์ที่เป็นชีวิตที่เปรียบดังความสนิทสัมพันธ์ของใจดวงหนึ่งกับอีกดวงหนึ่งซึ่งเปี่ยมด้วยความรักที่มีต่อกัน
ผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์ข้อที่ ๓  พบว่า  เมื่อเปรียบเทียบแล้ว  ทั้งสองศาสนามองความเครียดเป็นสองระดับ และกำหนดวิธีการแก้ไขความเครียดไว้สองวิธีเช่นกัน  แต่แตกต่างกันในแง่ของการเจริญสติภาวนาด้วยการยึดอารมณ์ โดยพุทธศาสนาสอนให้ควบคุมอารมณ์ที่ตนเองประสบอยู่มากำหนดขอบเขตพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงตามสภาวธรรมแล้วปล่อยวางไม่ยึดมั่น ไม่พึ่งพิงสิ่งภายนอกแต่อย่างใด    ในขณะที่คริสต์ศาสนาสอนให้น้อมจิตศรัทธาเข้าเงียบภาวนายอมรับการช่วยให้รอดพ้นจากพระเจ้าและพระเยซูคริสต์เป็นต้น

ดาวน์โหลด 


 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕