การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาโรคตามที่ปรากฎในคัมภีร์พระพุทธศาสนา เพื่อศึกษาพุทธวิธีรักษาโรคตามแนวทางพระพุทธศาสนา และ เพื่อศึกษาแนวคิดของพระสังฆาธิการในเขต ตำบลป่าสังข์ อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด ที่มีต่อการรักษาโรคในพระพุทธศาสนา เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพมีการศึกษาภาคสนาม (Field Work) สัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายแล้วนำมาวิเคราะห์ประกอบวิทยานิพนธ์ให้สมบูรณ์
ผลการวิจัยพบว่าโรคตามที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ในพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงโรคไว้เป็น ๒ ประเภท คือ (๑) โรคทางกาย ได้แก่ โรคที่เกิดขึ้นกับอวัยวะในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายนี้มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลและความไม่สมดุลของธาตุทั้ง ๔ โรคบางอย่างไม่ได้บอกวิธีการรักษาไว้ เช่น โรคลมบ้าหมู โรคหืด แต่โรคบางอย่างบอกชื่อและวิธีการรักษาไว้ ได้แก่ โรคริดสีดวงทวาร โรคท้องร่วง เป็นต้น (๒) โรคทางใจได้แก่ โรคที่ถูกครอบงำด้วยอุปกิเลสอาสวะ คือ ความโลภ ความโกรธ ความเสียใจ และความหลง ที่เกิดจากการพลัดพรากจากของที่รักที่ชอบใจ ความคับแค้นใจ และความเจ็บป่วยทางกายจนทำให้เกิดความทุกข์ทางใจ
ในพระพุทธศาสนามีหลักในการรักษาโรคที่เกิดจากการเจ็บป่วยอยู่ ๒ แนวทาง คือ การรักษาด้วยยาสมุนไพรที่ประกอบด้วย ใบไม้ รากไม้ ผลไม้ ยางไม้ และน้ำฝาด เป็นสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคทางกายนอกจากนี้ก็มีการรักษาด้วยน้ำมูตรเน่า คือ การดื่มน้ำปัสสาวะของตนเองโดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคผอมเหลือง (ดีซ่าน) สามารถรักษาด้วยน้ำปัสสาวะได้ ส่วนการรักษาโรคทางใจ ซึ่งส่วนมากมักจะใช้รักษาผู้ที่มีอาการเศร้าโศกเสียใจอันเนื่องมาจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักการหวาดระแวง มีความวิตกกังวลต้องใช้การรักษาโดยการใช้สมาธิบำบัด หรือธรรมโอสถด้วยการปฏิบัติกรรมฐาน เจริญจิตภาวนาการเดินจงกรม การเดินบิณฑบาตเป็นการออกกำลังกายที่ต้องมีสติในการเดิน เป็นการฝึกการทรงตัวซึ่งจะช่วยทำให้ร่างกายได้กำลังทั้งส่วนท้องส่วนอกและต้นขาเป็นวิธีออกกำลังกายที่ทำให้สุขภาพแข็งแรง
ส่วนพระสังฆาธิการในเขตตำบลป่าสังข์มีแนวคิดต่อการรักษาโรคในทางพระพุทธศาสนาว่าส่วนมากได้คัดเอาเฉพาะการรักษาโรคด้วยวิธีการเดินจงกรมการทำสมาธิและการรักษาด้วยสมุนไพรทำให้ประชาชนในชุมชนมีความเห็นว่าการรักษาแบบพระพุทธศาสนาเป็นการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระทางสังคมจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าการรักษาแบบพุทธศาสนามีผลทำให้คนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและส่งผลทำให้สุขภาพจิตดีด้วย
|