หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูอุดมวิสารทธรรม (อิสระ วิสารโท)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๑ ครั้ง
การศึกษาคติธรรมในบทเทศนาภาษาพื้นบ้านเขมรจังหวัดสุรินทร์ ของพระครูพิศาลธรรมโกศล (สานนท์ สปญฺโญ)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูอุดมวิสารทธรรม (อิสระ วิสารโท) ข้อมูลวันที่ : ๑๖/๑๒/๒๐๑๖
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูโสภณธรรมาภิมณฑ์
  บรรจง โสดาดี
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

                 การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความเป็นมาของการเทศนาภาษาพื้นบ้านเขมรในจังหวัดสุรินทร์ เพื่อศึกษาคติธรรมที่ปรากฏในเทศนาภาษาพื้นบ้านเขมรในจังหวัดสุรินทร์ตลอดถึงศึกษาแนวทางการประยุกต์คติธรรมที่ปรากฏในบทเทศนาภาษาพื้นบ้านเขมรในจังหวัดสุรินทร์ของพระครูพิศาลธรรมโกศล และเพื่อประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันซึ่งนำเสนอรูปแบบและวิธีการแสดงธรรมเป็นภาษาเขมรถิ่นไทย  ผู้วิจัยได้ศึกษาพระไตรปิฎก  อรรถกถา  เอกสารการวิจัย  และสัมภาษณ์พระที่เคยเทศน์เกี่ยวกับภาษาท้องถิ่น  นำข้อมูลมารวบรวมสรุปวิเคราะห์มูลและอธิบายเชิงพรรณนา  ผลจากการวิจัยพบว่า

            ความเป็นมาของการเทศนาภาษาพื้นบ้านเขมรในจังหวัดสุรินทร์  ภาษาพื้นบ้านเขมรเป็นบ่อเกิดของวรรณกรรมพื้นบ้าน เป็นเรื่องเล่าที่สืบทอดกันมาปากต่อปาก และมีวรรณกรรมที่ได้มีผู้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น วรรณกรรมสมุดข่อย วรรณกรรมใบลานและ ศิลาจารึก ซึ่งมีจำนวนมหาศาล วรรณกรรมเหล่านี้มีหลายประเภท เช่น วรรณกรรมเกี่ยวกับศาสนา ความเชื่อ นิทานประโลมโลก ตำนาน เป็นต้น พระสงฆ์จะนิยมเทศน์เป็นภาษาพื้นบ้านเขมรท้องถิ่น ที่ใช้เป็นภาษาสื่อสารในชุมชน ภาษา คือเสียงหรือกิริยาอาการที่ทำความเข้าใจกันได้ คำพูด ถ้อยคำที่ใช้พูดกัน และหมายรวมถึงตัวอักษรหรือภาษาเขียนที่ใช้แทนภาษาพูด  ภาษาเขมรนับเป็นภาษาเขียนภาษาหนึ่งที่ผู้บวชเรียนในสมัยก่อน (ก่อนพุทธศักราช ๒๕๐๕) ขึ้นไป ต้องเรียนรู้คู่กับภาษาไทย ทั้งนี้เพราะคัมภีร์ใบลานตามวัดเก่าแก่มีบทสวด หรือคำสอนที่เป็นภาษาเขมรเสียส่วนใหญ่  การเทศน์ภาษาพื้นบ้าน คือ การใช้ภาษาที่อยู่ในที่ใดที่หนึ่งซึ่งมีลักษณะทาง  เสียงคำ ประโยค แตกต่างไปจากการเทศน์ภาษามาตรฐาน  แต่ความแตกต่างนี้ไม่มากพอที่จะทำให้กลายไปเป็นอีกภาษาหนึ่ง  เป็นเทคนิคการเทศน์ที่เป็นบุคลาธิษฐานและธัมมาธิษฐาน  อธิบายสิ่งที่เคยฟังแล้วให้เข้าใจแจ่มแจ้ง บอกทางสวรรค์ให้ผู้ที่สนใจศึกษาธรรมะได้ สนองบทบาทกิจการคณะสงฆ์ด้านการปกครอง การเผยแผ่พุทธธรรม และแนวทางการการเผยแผ่พุทธธรรม โดยสอดคล้องกันระหว่างกับหลักพุทธวิธีในการสื่อสาร คือ แจ่มแจ้ง จูงใจ หาญกล้า ร่าเริง

                คติธรรมที่ปรากฏในเทศนาภาษาพื้นบ้านเขมรในจังหวัดสุรินทร์ พระธรรมเทศนา ที่นำเสนอมีความเด่นด้านการใช้ภาษาการอธิบายกระชับ ชัดเจน เข้าใจง่ายได้มีการยกพุทธศาสนสุภาษิต ยกอุทาหรณ์ เล่านิทาน เปรียบเทียบด้วยข้ออุปมาอุปมัย ใช้วิธียกบุคคลเป็นตัวอย่าง ถือว่าเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่น และถือว่าเป็นรูปแบบและแนวทางที่ท่านได้นำเอาออกมาเผยแผ่พุทธธรรมมากที่สุด พุทธธรรมที่นำเสนอเป็นเรื่องง่าย ๆ ใกล้ตัวท่านได้อธิบายเนื้อหาสาระธรรมชัดเจน แจ่มแจ้ง ปราศจากความเคลือบแคลงสงสัย เช่น คุณค่าของความเป็นมนุษย์และส่งเสริมการกระทำที่เป็นประโยชน์สุขแก่มนุษย์ จึงอาจกล่าวได้ว่า พระพุทธองค์ทรงเป็นนักมนุษย์นิยมตามหลักพุทธปรัชญาเถรวาทอย่างแท้จริงพุทธปรัชญาเถรวาท มีลักษณะที่เป็นมนุษย์นิยมที่สำคัญอยู่ ๒ ประการ คือ  พุทธปรัชญาเถรวาทปฏิเสธการยกย่องเทิดทูนสิ่งศักดิ์สิทธิ์   และพุทธปรัชญา ทรรศนะเกี่ยวกับโลกและชีวิตไว้ในกรรมวาทที่มีลักษณะเป็นเหตุเป็นผลอย่างวิทยาศาสตร์ และสัจวาทที่เป็นรากฐานของมนุษย์นิยม

                แนวทางการประยุกต์คติธรรมที่ปรากฏในบทเทศนาภาษาพื้นบ้านเขมรในจังหวัดสุรินทร์ของพระครูพิศาลธรรมโกศล  สามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดผลจริงในชีวิตประจำวัน และนำไปใช้ปรับปรุงแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเองและคนส่วนรวมได้  ซึ่งเนื้อหาพุทธธรรมส่วนใหญ่ท่านจะเน้นเรื่องศีล สมาธิปัญญา ทาน ศีล ภาวนา ความกตัญญูกตเวทิตา ซึ่งเป็นหลักธรรมที่เป็นรากฐานสำคัญของพระพุทธศาสนา เพื่อให้เยาวชน ประชาชนได้นำมาปฏิบัติปรับปรุงแก้ไข ขัดเกลาจิตใจให้ตั้งมั่นอยู่ในจริยธรรม ศีลธรรม คุณธรรมอันดีงาม เรียกได้ว่าท่านเป็นพระสงฆ์ที่ได้แสดงบทบาทเจริญตามรอยบาทพระศาสดาได้อย่างสมบูรณ์เป็นแบบอย่างแห่ความดีงาม ความกตัญญูกตเวทิตา และได้อุทิศชีวิตตน เพื่อชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์ ด้วยความขยัน ซื่อสัตย์ อดทน และเสียสละอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมในการสั่งสอนคนให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ รู้จักการให้ทาน รักษาศีล และการเจริญภาวนา  ตามหลักพุทธธรรมที่แท้จริง

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕