หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » สุรีย์ ชนะโสภิดานนท์
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๓ ครั้ง
ศึกษาการบริหารจัดการโภคทรัพย์ในพระพุทธศาสนา
ชื่อผู้วิจัย : สุรีย์ ชนะโสภิดานนท์ ข้อมูลวันที่ : ๑๙/๑๒/๒๐๑๖
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาทวี มหาปญฺโญ (ละลง),
  ศศิวรรณ กำลังสินเสริม
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

              การศึกษาวิจัยเรื่อง การศึกษาการบริหารจัดการโภคทรัพย์ในพระพุทธศาสนา มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องโภคทรัพย์ในพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาการบริหารจัดการโภคทรัพย์ในพระพุทธศาสนา และ ๓) เพื่อศึกษาแนวทางการประยุกต์ใช้การบริหารจัดการโภคทรัพย์ตามหลักพระพุทธศาสนาในชีวิตประจำวัน

             จากการศึกษาวิจัย พบว่า โภคทรัพย์ (wealth) ในทางพระพุทธศาสนา คือ ทรัพย์ภายนอก เป็นโลกียทรัพย์ สามารถทำให้เกิดการยึดติด ลุ่มหลง มีความยินดี พอใจ และปลื้มใจ โภคทรัพย์มี ๒ ประเภท คือ ทรัพย์เคลื่อนที่ได้เอง และเป็นทรัพย์ที่เคลื่อนที่เองไม่ได้ หากเป็นวัตถุอาจมีรูปร่างหรือไม่มีรูปร่างก็ได้ แต่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต ด้วยการเลี้ยงตนเอง ครอบครัว มิตรสหาย รวมทั้งการทำพลี ๕ อย่าง และทำบุญได้ นอกจากนี้ ยังเป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จของนักปกครอง และเป็นปัจจัยสนับสนุนในการสร้างอริยทรัพย์ได้อย่างสิ้นกังวล ทำให้มีปัญญาสามารถวางท่าทีต่อโภคทรัพย์ ซึ่งมีโทษอันเกิดจากการแสวงหา การใช้สอย และกฎธรรมชาติที่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ยั่งยืน มนุษย์ต้องตายจากโภคทรัพย์ไปในที่สุด

             การบริหารจัดการโภคทรัพย์ตามหลักทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม ๔ คือ มีความขยัน รู้ออม  คบคนดีเป็นมิตร และใช้จ่ายเหมาะสม ทำให้สามารถสร้างฐานะให้มั่นคงได้อย่างยั่งยืน ถึงพร้อมด้วยลาภ ยศ เกียรติ มีอายุยืน และเป็นที่ยอมรับในสังคม การจัดสรรทรัพย์ที่หามาได้ตามหลักโภควิภาค  โดยแบ่งเป็น ๔ ส่วน เพื่อสร้างวินัยทางการเงิน โดยส่วนที่ ๑ ใช้จ่ายให้เป็นประโยชน์ตามหลักโภคอาทิยะ ๕ และหลักการปิดป้องทิศ ๖ ส่วนที่ ๒ และ ๓ นำไปลงทุนให้ทรัพย์เพิ่มพูนขึ้น และส่วนที่ ๔ เก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็นหรือในคราวฉุกเฉินให้สำเร็จ ด้วยหลักอิทธิบาท ๔ และหลักกุลจิรัฏฐิติธรรม  และนำหลักสังคหวัตถุ ๔ มาใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจคนในสังคม ให้เกิดความสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และร่วมสร้างสรรค์วัฒนธรรมที่ดีงามด้วยวิถีแห่งพุทธ เพื่อให้คนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดี และอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

              แนวทางการประยุกต์ใช้การบริหารจัดการโภคทรัพย์ตามหลักพระพุทธศาสนาในชีวิตประจำวันนั้น จะช่วยอำนวยประโยชน์สุขขั้นต้น ด้วยการแก้ปัญหาความล้มเหลวในการสร้างฐานะ ส่วนการบริหารจัดการทรัพย์ที่หามาได้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถแก้ปัญหาการขาดวินัยทางการเงิน การใช้ทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมจะช่วยแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกันในสังคมได้ ดังนั้น การเข้าใจและเข้าถึงในการวางท่าที่ต่อโภคทรัพย์ด้วยสติและปัญญา จะนำมาซึ่งความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมมีความเข้มแข็ง บ้านเมืองมีความสงบสันติ

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕