หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » สูติรัตน์ พีรยาวิจิตร
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๙ ครั้ง
การศึกษาเชิงวิเคราะห์วรรณกรรมอิงพระพุทธศาสนาเรื่องพระอานนท์พุทธอนุชา : ศึกษาเฉพาะกรณีพระอานนท์กับนางโกกิลา
ชื่อผู้วิจัย : สูติรัตน์ พีรยาวิจิตร ข้อมูลวันที่ : ๑๙/๑๒/๒๐๑๖
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูพิพิจจารุธรรม
  คุณากร คงชนะ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

              วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาวิเคราะห์วรรณกรรมอิงพระพุทธศาสนาเรื่องพระอานนท์พุทธอนุชา  กรณีพระอานนท์กับนางโกกิลา  โดยมีวัตถุประสงค์ของ     การศึกษาวิจัย    ข้อคือ  ๑. ศึกษาลักษณะเนื้อหาและองค์ประกอบของวรรณกรรม  ๒.ศึกษาวิเคราะห์หลักธรรมที่ปรากฏผ่านวรรณกรรมอิงพระพุทธศาสนาเรื่องพระอานนท์          พุทธอนุชา  กรณีพระอานนท์กับนางโกกิลา  ๓. ศึกษาวิเคราะห์คุณค่าที่มีต่อสังคมไทย  ผลการวิจัยพบว่า

              ๑. กรณีพระอานนท์กับนางโกกิลาเป็นวรรณกรรมอิงพระพุทธศาสนาที่แต่งขึ้นในลักษณะความเรียงร้อยแก้วประเภทบันเทิงคดี  เป็นวรรณกรรมที่ผู้ประพันธ์มุ่งให้ความรู้ทางพุทธธรรมแก่ผู้อ่าน  ผู้ประพันธ์ได้อาศัยเรื่องราวของความรักเป็นแกนนำผู้อ่านไปสู่   สัจธรรม กล่าวคือ เป็นเรื่องราวของสตรีผู้หนึ่งซึ่งมีจิตปฏิพัทธ์รักใคร่ในพระอานนท์และเข้ามาบวชเป็นภิกษุณีในพระพุทธศาสนาเพื่อที่จะได้อยู่ใกล้ชิดกับพระอานนท์แต่ท้ายที่สุดความรักก็สิ้นสุดลงด้วยความไม่สมหวังและจากการได้สดับรสแห่งพระสัจธรรมทำให้โกกิลาภิกษุณีได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ขีณาสพในที่สุด  นอกจากผู้ประพันธ์ได้นำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาวางเป็นโครงเรื่องแล้วยังได้สอดแทรกคติธรรมคำสอนทั้งเบื้องต้นและเบื้องสูงไว้ผ่านองค์ประกอบต่าง ๆ ของวรรณกรรม  เป็นต้นว่าการบรรยายและการสนทนาของตัวละครในรูปแบบการบรรยาย  พรรณนา  เทศนา  และอุปมาโวหาร  เพื่อที่จะสื่อความหมายของเรื่องให้เข้าใจง่ายและชัดเจนในลักษณะที่สัมพันธ์กับบทบาท    ของตัวละคร  แนวคิดของเรื่องชี้ให้เห็นถึงความทุกข์ของมนุษย์โดยมีสาเหตุมาจากโมหะหรือความหลงในสิ่งสมมุติทั้งหลาย  ส่วนการปิดเรื่องของวรรณกรรมใช้วิธีปิดเรื่องแบบพลิกความคาดหมาย  โดยโกกิลาได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนาซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสัจธรรมของกฎธรรมชาติแห่งพระไตรลักษณ์ในชีวิตของปุถุชนที่เปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพเหตุและปัจจัยแวดล้อม

               ๒. หลักธรรมที่ปรากฎผ่านวรรณกรรม  ปรากฏมีหลักธรรมใน    ประเด็น คือ   โลกียธรรม  ได้แก่  ความเป็นไปแห่งสังขาร   กิเลสธรรมสามประการ  สิ่งอันเป็นที่รัก        เรื่องบาปและมลทิน   ฐานะที่พึงรู้ด้วยฐานะ  สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน  ความพลัดพรากและไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการเป็นความทุกข์    ว่าด้วยสิ่งอันเป็นที่พึ่ง   ความเสียสละ  เมถุนธรรม   และเรื่องวรรณะและชาติตระกูล  และโลกุตตรธรรม  ได้แก่  ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร              ซึ่งหลักธรรมคำสอนเหล่านี้ผู้อ่านควรพิจารณาและนำไปประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันและนอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นความจริงของชีวิตโดยหลักสัจธรรมที่   องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบแล้วนำมาเปิดเผยแสดงแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย         

              ๓. ด้านคุณค่าของวรรณกรรมที่มีต่อสังคมไทย  ปรากฏคุณค่าใน ๓ ด้านดังนี้

               ๓.๑  คุณค่าทางด้านปัญญา  คือ  การสอนธรรมตามแนวพุทธวิธีที่ผู้ประพันธ์นำมาใช้มีการสอนแบบสนทนา  การสอนโดยใช้สื่อธรรมชาติ  และการสอนแบบตอบปัญหา  รวมทั้งความรู้ทางหลักธรรม  ได้แก่  การสอนให้รู้จักควบคุมจิต  ความรักความร้ายและปรัชญาชีวิตที่แสดงให้เห็นคุณค่าทางปัญญาแก่ผู้อ่าน  ตลอดจนถึงสามารถที่จะนำไปประพฤติปฏิบัติตามความสามารถของแต่ละปัจเจกบุคคล

                     ๓.๒  คุณค่าทางด้านจิตใจ  คือ  คุณค่าวรรณกรรมในฐานะที่เป็นศิลปะ  ได้แก่  การหยั่งรู้จิตใจมนุษย์  การแก้ไขสภาวะที่ไม่เหมาะสมของชีวิตมนุษย์ขัดเกลาจิตใจให้        ผ่องแผ่วและสูงส่ง  และวรรณกรรมในฐานที่ช่วยบรรเทาความท้อแท้และเศร้าโศก                 ที่สื่อความคิดให้ผู้อ่านเกิดความกระจ่างและมีความเข้าใจลึกซึ้งมากขึ้น  ตลอดจนถึง          สร้างความดื่มด่ำและความประทับใจ

                     ๓.๓  คุณค่าทางด้านวรรณศิลป์  ได้สะท้อนให้เห็นคุณค่า ๒ ด้าน  คือ ด้านสุนทรียรส  ที่ผู้ประพันธ์แสดงชั้นเชิงการใช้ความงามแห่งความไพเราะในการบรรยายพฤติกรรมของตัวละครและด้านการใช้อุปมาโวหารที่ผู้ประพันธ์ได้นำมาใช้เพื่อให้กระบวนการใช้ถ้อยคำมีศิลปะก่อให้เกิดอารมณ์  ความรู้สึก  และจินตนาการทำให้ผู้อ่านประทับใจมองเห็นภาพพจน์ตามข้ออุปมา

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕