หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระเทิดศักดิ์ สตฺตินฺธโร
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๐ ครั้ง
การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ชื่อผู้วิจัย : พระเทิดศักดิ์ สตฺตินฺธโร ข้อมูลวันที่ : ๐๙/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร
  ประพันธ์ ศุภษร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

              งานวิจัยเรื่อง “การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” มีวัตถุประสงค์ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาก่อนการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒) เพื่อศึกษาการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในระหว่างการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๓) เพื่อศึกษาผลการเปลี่ยนแปลงการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

              จากการวิจัยพบว่า สภาพการณ์ของพระพุทธศาสนาก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จะขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงให้ความสำคัญต่อการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ในด้านคัมภีร์พระพุทธศาสนา การศึกษาของคณะสงฆ์ การปกครองคณะสงฆ์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาและการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์วัด เพื่อทำให้พระพุทธศาสนามีความมั่นคง

              ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ขึ้นครองราชย์ ประเทศต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากลัทธิจักรวรรดินิยมใหม่ ทำให้พระองค์ต้องเร่งพัฒนาประชาชนในประเทศให้มีความรู้เท่าทัน จากนั้นพระองค์ทรงปฏิรูปประเทศในหลายด้านอย่างกว้าขวาง เช่น ตั้งกระทรวง ทบวง กรม ส่วนในด้านพระพุทธศาสนาพระองค์ทรงทำนุบำรุงหลายด้าน  ๑) ทรงโปรดเกล้าฯให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับอักษรสยาม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงจากการจารลงบนใบลาน มาเป็นการพิมพ์ลงบนกระดาษ อีกทั้งยังจัดทำหนังสือในทางพระพุทธศาสนาขึ้นอีกหลายเล่ม ๒) ทรงส่งเสริมการศึกษาของพระสงฆ์ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหามกุฏราชวิทยาลัยและทรงโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสปรับปรุงหลักสูตรการเรียนพระปริยัติธรรม ๓) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ.๒๔๔๕) ๔) ในด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทรงพระราชทานพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ไปยังวัดในประเทศและมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ๕) ในด้านการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์ ทรงสร้างวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นต้น และทรงปฏิสังขรณ์วัดทั่วประเทศ

              ผลจากการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทำให้พระภิกษุสามเณรได้ศึกษาพระปริยัติธรรมเพิ่มขึ้น และได้ศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง ประชาชนได้ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแพร่หลาย ได้มีมหาเถรสมาคมเกิดขึ้น ส่งผลให้การปกครองคณะสงฆ์เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยทั่วประเทศ และพระพุทธศาสนาเผยแผ่ทั้งในและต่างประเทศ และสืบทอดมาถึงปัจจุบัน

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕