หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » สุวรรณี เจริญธุระยนต์
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๕ ครั้ง
การเลี้ยงดูบุตรีตามแนวทางพระพุทธศาสนา
ชื่อผู้วิจัย : สุวรรณี เจริญธุระยนต์ ข้อมูลวันที่ : ๐๙/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร
  -
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ                                            

การศึกษาวิจัยเรื่อง การเลี้ยงดูบุตรีตามแนวทางพระพุทธศาสนา มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นแก่บุตรีในสังคมไทยปัจจุบัน ๒) เพื่อศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ใช้ในการอบรมสั่งสอนบุตรี ๓) เพื่อศึกษาวิธีประยุกต์หลักธรรมมาใช้ในการอบรมสั่งสอนบุตรี

ผลการวิจัยพบว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความเจริญอย่างรวดเร็ว พัฒนาการของระบบดิจิตอลได้ส่งผลให้รูปแบบการดำเนินชีวิตเปลี่ยนไป เทคโนโลยีเข้ามาเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต ตลอดจนนโยบายของรัฐที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดหย่อน ส่งผลกระทบต่อเยาวชน โดยเฉพาะบุตรี นำไปสู่ประเด็นปัญหาใหญ่ ๆ มากมาย โดยเฉพาะประเด็น การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ได้กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ

ครอบครัวมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการป้องกันปัญหานี้ การนำหลักธรรมการพัฒนาตนเองตามแนวทางพระพุทธศาสนา ผ่านบทบาทหน้าที่ของมารดา ในฐานะแบบอย่างที่ดีของบุตรี เป็นครูคนแรกที่เป็นผู้จุดประกายการเรียนรู้ ฝึกฝนให้รู้จักคิดพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ที่บุตรีต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนับตั้งแต่เยาว์วัย โดยการบูรณาการเข้าในชีวิตประจำวัน

หลักไตรสิกขาเป็นระบบการศึกษาของพระพุทธศาสนาที่มุ่งพัฒนาพร้อมกันไปทั้ง ๓ ด้าน คือ ด้านความประพฤติ (ศีล) ด้านจิตใจ (สมาธิ) และด้านปัญญา เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นหลักที่สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตได้ เพื่อความดับทุกข์ นำไปสู่ความสุขและอิสรภาพอย่างแท้จริง ในขั้นสูงสุดคือการบรรลุหรือเข้าถึงจุดหมายสูงสุดคือ พระนิพพาน หรือความหลุดพ้น ถือว่าเป็นระบบการปฏิบัติธรรมที่ครบถ้วนสมบูรณ์ สะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ในด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม และการทำให้ชีวิตอยู่ได้อย่างดีและมีความสุข มุ่งให้เห็นลำดับกระบวนการปฏิบัติหรือใช้งานจริง หลักธรรมทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าทรงสอนตลอดชีวิตล้วนรวมลงในไตรสิกขา

ศีลมีสาระสำคัญอยู่ที่เจตนา สมาธิ ในขั้นตอนการดำเนินชีวิตท่านเน้นความสำคัญของสติในฐานะอัปปมาทธรรม ส่วนปัญญา ในเบื้องต้นต้องประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของระบบการศึกษาตามหลักพระพุทธศาสนา โดยอาศัยปัจจัยสร้างเสริม ๒ อย่าง คือ ปรโตโฆสะ จากแหล่งที่ดีทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร และโยนิโสมนสิการ

ไตรสิกขาจึงเป็นระบบการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการที่ต้องอาศัยความสัมพันธ์ทั้งจากภายนอกและภายใน ที่ใช้ฝึกคนในฐานะมนุษย์ผู้หนึ่ง ที่อยู่ในสังคม เป็นสมาชิกของสังคมให้พัฒนาการดำเนินชีวิตได้อย่างมีดุลยภาพ

ผลที่ได้จากการฝึกปฏิบัติคือพฤติกรรมการแสดงออกทั้งทางกาย วาจา ที่เป็นผลของการพัฒนาตนในการดำเนินชีวิตด้วยสติและปัญญา รู้จักประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น และประโยชน์สังคม ไม่เป็นผู้ก่อให้เกิดปัญหา ที่สำคัญเป็นชีวิตที่ดีงาม และถูกต้อง

การพัฒนาครอบครัว อาศัยหลักทิศ ๖ ซึ่งแสดงหน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อกัน หลักคหบดีสุขเพื่อความอยู่ดีมีสุข หลักฆราวาสธรรมเพื่อการครองชีวิตร่วมกันของสามีภรรยา

การอยู่ร่วมกันในสังคม นอกจากต้องมีศีล ๕ แล้ว หลักพรหมวิหาร และสังคหวัตถุช่วยยึดเหนี่ยวให้อยู่ร่วมกันด้วยดี สำหรับบุคคลเมื่อมุ่งหวังผลสำเร็จในชีวิต พึงเตรียมความพร้อมตามหลักจักร ๔ แล้วมุ่งปฏิบัติตามหลักอิทธิบาท เมื่อพัฒนาชีวิตให้ถึงจุดหมายได้ประโยชน์ทั้ง ๓ ขั้นคือ ประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์เบื้องหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง และพึงปฏิบัติให้สำเร็จครบ ๓ ด้าน คือ ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น และประโยชน์ทั้งสองฝ่าย


 ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕