หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » แม่ชีสุนันทา เรียงแหลม
 
เข้าชม : ๒๐๑๒๙ ครั้ง
อุบายวิธีบรรเทาอกุศลมูลในชีวิตประจำวัน
ชื่อผู้วิจัย : แม่ชีสุนันทา เรียงแหลม ข้อมูลวันที่ : ๐๘/๐๓/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร
  ทรงวิทย์ แก้วศรี
  สมิทธิพล เนตรนิมิตร
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

                  วิทยานิพนธ์เรื่อง “อุบายวิธีบรรเทาอกุศลมูลในชีวิตประจำวัน” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาอกุศลมูลและอุบายวิธีบรรเทาอกุศลมูลตามนัยแห่งพระพุทธศาสนา     (๒) เพื่อวิเคราะห์รูปแบบอุบายวิธีบรรเทาอกุศลมูลในชีวิตประจำวัน (๓) เพื่อสังเคราะห์อุบายวิธีบรรเทาอกุศลมูลในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงเอกสารโดยศึกษาอ้างอิงจากคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาและหนังสือวิชาการของผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ เพื่อนำเสนอหลักธรรมมาประยุกต์ใช้ กับสังคมไทยปัจจุบัน

     ผลการศึกษาวิจัยพบว่า :

     อกุศลมูล หมายถึง รากเหง้าของอกุศล มี ๓ ประการ คือ (๑) โลภะ ความอยากได้ (๒)โทสะ ความคิดประทุษร้าย หรือความโกรธ และ (๓) โมหะ ความหลง  หลักธรรมที่เป็นอุบายวิธีบรรเทาอกุศลมูล ตามพระไตรปิฎกและอรรถกถาฎีกาสรุปได้ว่า หลักธรรมที่เป็นอุบายวิธีบรรเทาโลภะ ความโลภ คือ (๑) การเจริญสมถกัมมัฏฐาน (๒) การให้ทาน (๓) การรักษาศีล (๔) สันโดษ ความยินดีด้วยของของ ตน (๕) ขันติ ความอดทน ส่วนหลักธรรมที่เป็นอุบายวิธีบรรเทาโทสะ หรือความโกรธ คือ (๑) การระลึกถึงพระพุทโธวาท (๒) อภัยทาน การให้อภัยซึ่งกันและกัน (๓) ขันติ ความอดทน (๔) การเจริญเมตตา (๕) การสอนตนเอง (๖) การระลึกถึงโทษของความโกรธ (๗) การระลึกถึงความดีของเขา (๘) ความโกรธทำทุกข์ให้ตนเอง (๙) การพิจารณากัมมัสสกตา (๑๐) การพิจารณาถึงบุพจริยาของพระศาสดา (๑๑) การพิจารณาถึงความที่เคยเกี่ยวข้องกันในสังสารวัฏ (๑๒) การพิจารณาอานิสงส์แห่งเมตตา (๑๓) การใช้วิธีแยกธาตุ (๑๔) กระทำทานสังวิภาค การแบ่งปันทาน  และในส่วนหลักธรรมที่เป็นอุบายวิธีบรรเทาโมหะ ความหลง นั้นได้แก่ (๑) โยนิโสมนสิการ การทำไว้ในใจโดยอุบายที่แยบคาย (๒) การเจริญสติ ซึ่งหมายถึง การเจริญกัมมัฏฐาน ๒ อย่าง ได้แก่        สมถกัมมัฏฐาน และวิปัสสนากัมมัฏฐาน หรือการเจริญสติปัฏฐาน ๔ 

                 เมื่อจะต้องนำหลักการและวิธีการบรรเทาอกุศลมูลมาใช้ในชีวิตประจำวันของบุคคล จึงได้สังเคราะห์อุปกิเลส ๑๖ ซึ่งเป็นตัวทำให้จิตใจเศร้าหมองลงในอกุศลมูล ๓ คือ จำพวกโลภะมีอภิชฌา  วิสมโลภะ จำพวกโทสะ ได้แก่ พยาบาท โกธะ และอุปนาหะ จำพวกโมหะ ได้แก่ มักขะ ปลาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเถยยะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ มทะ และปมาทะ ทั้งนี้ได้ใช้บุญกิริยาวัตถุ ๓ เป็นอุบายวิธีบรรเทาอกุศลมูล ๓ คือ ทาน เป็นเครื่องบรรเทาโลภะ ศีลเป็นเครื่องบรรเทาโทสะ และภาวนา (ปัญญา) เป็นเครื่องบรรเทาโมหะ โดยการคิดแบบโยนิโสมนสิการ แบบเป็นเหตุเป็นผลตามหลักอริยสัจสี่ เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับชีวิตชาวพุทธทั่วไป จึงต้องให้ทราบความหมายของกิเลสแต่ละข้อของอกุศลมูลที่จำแนกตามอุปกิเลส ๑๖ แล้วหาอุบายวิธีบรรเทาไปตามกิเลสข้อ   นั้นๆ สรุปได้ดังนี้

             โลภะ ความโลภ หมายถึง ความอยากได้ ความโลภนั้น ในชั้นอกุศลกรรมบถเป็นอภิชฌา คือความเพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่น และอภิชฌาวิสมโลภะ คือเพ่งเล็งให้มาก ตรงกับคำว่า อติโลภะ หรือโลภะอย่างรุนแรง โลภะนี้จัดอยู่ในชั้นอกุศลมูล ส่วนในชั้นอนุสัย คือกิเลสที่นอนเนื่องในสันดาน จัดเป็นกามราคะ อุบายวิธีกำจัดหรือบรรเทาโลภะต้องใช้ทาน คือการให้ การสงเคราะห์ผู้อื่น เพื่อกำจัดมัจฉริยะ ฝึกอบรมจิตให้เอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตัว ไม่อยากได้สิ่งของ ของผู้อื่น ไม่คิดเพ่งเล็งหรือหาวิธีการเอาสิ่งของผู้อื่น ส่วนการให้อภัยทาน ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปราศจากเวรภัย และเป็นที่รักใคร่สรรเสริญ หลักธรรมที่พึงปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการกำจัดหรือบรรเทาโลภะ ได้แก่สันโดษ ความพอใจในสิ่งที่มี หิริ ความละอายแก่ใจในการที่จะทำบาป จาคะ การเสียสละ และสัมมาอาชีวะ คือการประกอบอาชีพที่ชอบ มีการงดเว้นการค้ามนุษย์ ค้าสัตว์ และค้ายาเสพติดของมึนเมาเป็นต้น

             โทสะ หรือความโกรธ หมายถึง ความคิดประทุษร้าย ความเกลียดชัง ความไม่แช่มชื่น ความขัดเคือง กิเลสตระกูลโทสะ ได้แก่ พยาบาท คิดปองร้าย โกธะ ความโกรธกริ้ว อุปนาหะ การผูกโกรธ คิดจองเวร คิดแก้แค้น กิเลสตระกูลโทสะนี้ต้องแก้ด้วยศีล คือการรักษากายวาจา เพื่อไม่ให้กิเลสเหล่านี้ฟุ้งขึ้นมาไม่ให้ถึงกับลงมือกระทำการใดๆ ซึ่งเป็นไปในประเภทกรรมอันเศร้าหมอง การบรรเทาพยาบาทนั้น เริ่มด้วยการหยุดคิดปองร้ายผู้อื่น แล้วแผ่เมตตาให้คนอื่นที่เราพยาบาทหรือจองเวรเรา การกำจัดกิเลสตระกูลนี้ ต้องรู้จักสาเหตุ คือเริ่มจากอรติ ความไม่พอใจ ปฏิฆะ ความขัดใจ โกธะ ความโกรธ โทสะ ความคิดปองร้าย พยาบาท ความคิดแก้แค้น การบรรเทาควรเริ่มจากการข่มใจ อย่าให้เกิดความไม่พอใจใครๆ การเจริญเมตตาและการเจริญไมตรีจิตจึงเป็นอุบายกำจัดหรือบรรเทาโทสะได้เป็นอย่างดี ส่วนหลักธรรมที่ควรน้อมมาปฏิบัติ ได้แก่เมตตา ความรัก ความปรารถนาดี อยากให้เขามีความสุข กรุณา ความสงสารคิดจะช่วยให้พ้นจากทุกข์ โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาปอกุศล ขันติ ความอดทน อดกลั้น ข่มใจ ไม่ลุแก่อำนาจโกธะหรือโทสะ ทมะ อดทน ข่มใจ และอักโกธะ คือไม่โกรธใครๆ หรือไม่โกรธตอบ ถ้าใจปราศจากโทสะหรือโกธะแล้วย่อมอยู่เป็นสุข ไม่มีเวรภัย เป็นที่น่าคบหาสมาคมของบุคคลทั่วไป

              โมหะ หมายถึง ความหลง ความไม่รู้ ในอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ และทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา หรือเป็นสภาพจิตที่ไม่สามารถรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริงอย่างถูกต้อง กิเลสตระกูลโมหะมีจำนวนมากถึง ๑๒ ตัว คือ มักขะ ความลบหลู่คุณท่าน ต้องแก้ด้วยการกตัญญูรู้คุณผู้อื่น ปลาสะ ความตีเสมอท่าน ต้องแก้ด้วยอปจายนธรรม คือความอ่อนน้อมถ่อมตน อิสสา คือความริษยา ต้องแก้ด้วยการใช้มุทิตา คือฝึกอบรมจิตให้พลอยยินดี เมื่อผู้อื่นได้ดี มัจฉริยะคือความตระหนี่ แก้ด้วยการให้ทาน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การมีส่วนร่วมทำประโยชน์ให้สังคม มายา คือ ความเจ้าเล่ห์หลอกลวง แก้ด้วยความจริงใจ ซื่อสัตย์ ไม่เจ้าเล่ห์ หลุกหลิก สาเถยยะ ความอวดดี แก้ด้วยการอ่อนน้อมถ่อมตัว วางตนให้เหมาะสมแก่กาลเทสะ โดยยึดหลักสัปปุริสธรรม ถัมภะ ความหัวดื้อ แก้ด้วยโสรัจจะ ความเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย สารัมภะ ความแข่งดี แก้ด้วยการพิจารณาให้เห็นโทษของสารัมภะ เพราะทำให้กิเลสตัวอื่นมากขึ้นด้วย ได้แก่ มักขะ ปลาสะ อิสสา มายา สาเถยยะ และอติมานะ และเมื่อห้ามใจตัวเองได้ ความเศร้าหมองแห่งจิตก็จะไม่เกิดขึ้น ในส่วนของมานะและอติมานะ ก็ต้องแก้ด้วยการลดทิฏฐิมานะ ไม่ถือตัว ไม่เอาตัวไปเปรียบเทียบกับคนอื่น หรือยกตนข่มท่านเป็นการดูถูกดูหมิ่นผู้อื่นไป สองประเภทสุดท้าย คือ มทะ ความเมาทั้งกายและใจ ก็ต้องแก้ด้วยความระมัดระวัง มีความรอบคอบไม่ให้เผลอสติ ใช้สติกำกับใจอยู่เสมอ เพราะถ้าเผลอมากๆ จะเป็นขั้น ปมาทะ ความประมาท ได้แก่การอยู่ปราศจากสติ เป็นระดับความหลงที่เกิดขึ้น ต้องใช้อุบายแก้ไขด้วยปัญญา คือการเจริญภาวนา ทั้งสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา ส่วนหลักธรรมที่สนับสนุนที่ควรนำมาประพฤติปฏิบัติได้แก่ วิมังสา ความคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ อุปสมะ ความสงบระงับความฟุ้งซ่าน สติ ความระลึกได้ มีสติอยู่กับตัวตลอดเวลา ปัญญา ความรู้ทั่ว โดยเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการฝึกอบรมภาวนา สมาธิ ความแน่วแน่แห่งจิต โยนิโสมนสิการ การพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนถึงต้นสายปลายเหตุ ธัมมวิจยะ ความคิดใคร่ครวญเลือกเฟ้นธรรม อัปปมาทะ ความไม่ประมาท และประการสุดท้าย พาหุสัจจะ ความได้สดับตรับฟังมาก ทรงจำได้มาก เหล่านี้ล้วนเป็นอุบายบรรเทาโมหะทั้งสิ้น

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕