หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » มงคล เทียนประเทืองชัย
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๔ ครั้ง
แนวคิดเรื่องความยุติธรรมทางสังคมในพุทธปรัชญาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : มงคล เทียนประเทืองชัย ข้อมูลวันที่ : ๐๘/๐๓/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  -
  -
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ  ๑. เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องความยุติธรรมทางสังคมในปรัชญาตะวันตก  ๒. เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องความยุติธรรมทางสังคมในพุทธปรัชญาเถรวาท และ ๓. เพื่อวิเคราะห์และวิพากษ์แนวคิดเรื่องความยุติธรรมทางสังคมในพุทธปรัชญาเถรวาท โดยวิธีวิจัยเอกสารปฐมภูมิ และเอกสารทุติยภูมิ

จากการศึกษาพบว่า ในแนวคิดปรัชญาสังคมของตะวันตกโดยทั่วไป เชื่อว่ามนุษย์ส่วนใหญ่ มีแนวคิดเรื่องความยุติธรรมทางสังคมอยู่จริง แบบสมมติสัจจะ มีลักษณะเป็นนามธรรม แต่เป็นตัวตนในความคิดของความเป็นธรรม เป็นสาระสำคัญประการหนึ่งของสังคม ที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา สถานที่ และความพึงพอใจทั้งส่วนบุคคล และส่วนรวมของมนุษย์ที่มีต่อสรรพสิ่งต่างๆ (เช่น โลกและชีวิต) ที่มนุษย์ถือเอาประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ (ทรัพย์สิน) และด้านคุณค่า (เช่น ความดีและความสุข) เมื่อการเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่ตลอดเวลานี้ เป็นไปตามเหตุผลอย่างสมดุลกันก็จะเกิดความยุติธรรมทางสังคมขึ้น ส่วนจะยุติธรรมมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงที่สมดุลกันมากหรือน้อยนั้น ซึ่งมนุษย์แต่ละคนสามารถรับรู้ผลของความยุติธรรมทางสังคมนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม เมื่อใช้การประเมินคุณค่าทางความเป็นประโยชน์ ความดี และความสุข เป็นเกณฑ์ตัดสินการมีอยู่ พร้อมทั้งการให้เหตุผลว่า ความยุติธรรมทางสังคมนั้น คือ ความพึงพอใจร่วมกันทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวมอย่างสมดุลกันในแต่ละสังคม ในด้านความเสมอภาคกันหรือความเท่าเทียมกันที่เที่ยงตรงหรือเที่ยงธรรม และ/หรือความแตกต่างกันอย่างมีเหตุผลทางศีลธรรม หรือความเสมอภาคกันหรือความเท่าเทียมกันตามความเหมาะสมในด้านต่างๆ เช่น ด้านความจำเป็น ด้านความสามารถ ด้านสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบ และด้านความต้องการ เป็นต้น จากการแบ่งสรรปันส่วนผลจากสรรพสิ่ง (ทรัพย์สินและคุณค่า) ที่เป็นประโยชน์ทั้งด้านการให้รางวัลและการลงโทษ โดยมีกรอบแนวคิดที่สำคัญ ๕ กรอบด้วยกัน คือ ยุติธรรมขั้นตอน ยุติธรรมชดเชย เวรกรรมยุติธรรม ยุติธรรมบูรณะ และกระจายยุติธรรม

ส่วนพุทธปรัชญาเถรวาท มีแนวคิดเรื่องความยุติธรรมทางสังคม ว่าเป็นสิ่งไม่เที่ยงหรือเป็นอนิจจัง (กฎไตรลักษณ์) เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยอยู่ตลอดเวลา (กฎปฏิจจสมุปบาท) ของสรรพสิ่ง (เช่น โลกและชีวิต) ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษย์ ทั้งประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (ทรัพย์สิน) และประโยชน์ทางคุณค่า (เช่น ความดีและความสุข) โดยมีการกระจายประโยชน์เหล่านี้อย่างถูกต้องชอบธรรม ทั้งในด้านความเสมอภาคกันหรือความเท่าเทียมกันที่เที่ยงตรงหรือเที่ยงธรรม และ/หรือความแตกต่างกันอย่างมีเหตุผลทางศีลธรรม หรือความเสมอภาคกันหรือความเท่าเทียมกันตามความเหมาะสมในด้านต่างๆ ครอบคลุมแนวคิดทั้ง ๕ กรอบของปรัชญาตะวันตก ดังจะพบได้ในข้ออ้าง และการให้เหตุผลในหลักธรรมต่างๆ เช่น กฎแห่งกรรม การกระทำที่ปราศจากอคติ ทิศหก ศีลห้า ทศพิธราชธรรม ฯลฯ มีพุทธจริยศาสตร์เป็นเกณฑ์ตัดสิน ว่าดี-ชั่ว ว่าสุข-ทุกข์ (กายและใจ) ว่าถูกต้องชอบธรรม (ธรรมาธิปไตย) มีปัญญารู้สัจธรรม (อริยสัจ ๔) จนอาจถึงบรรลุมรรคผลนิพพาน โดยความยุติธรรมทางสังคมในพุทธปรัชญาเถรวาทนี้ มีอยู่อย่างเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่างเหตุปัจจัยของสรรพสิ่งที่เป็นอสังขตธรรม ที่มีการปรุงแต่ง (สังขตธรรม) และหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป (ขณิกสภาวะ) ตามสังสารวัฏ ถ้าการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงนั้นสมดุลกัน ก็ก่อให้เกิดความยุติธรรมทางสังคมขึ้น ส่วนจะมีความยุติธรรมทางสังคมมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับการสมดุลกันของสรรพสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นว่ามีมากหรือน้อยอย่างไร ความยุติธรรมทางสังคมในพุทธปรัชญาเถรวาทนั้นมีอยู่จริงแบบสมมติบัญญัติ มีลักษณะเป็นนามธรรม เป็นความพึงพอใจร่วมกันอย่างสมดุล สามารถรับรู้ผลได้อย่างเป็นรูปธรรม เมื่อใช้การประเมินคุณค่าของความเป็นประโยชน์ ความดี (กุศลกรรมบถ) และความสุข เป็นเกณฑ์ตัดสินการมีอยู่ พร้อมทั้งการให้เหตุผลสนับสนุนการมีอยู่ว่า ความยุติธรรมทางสังคมเป็นหน้าที่ของบุคคล ของสังคม และของรัฐที่ใช้ระงับข้อพิพาท ขจัดทุกข์ และบำรุง รักษา ส่งเสริม สร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้แก่สมาชิกของสังคม และของรัฐ เพื่อให้บุคคลสามารถทำหน้าที่แห่งตนเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมาย คือ หลุดพ้นความทุกข์ พบความสุข (ทั้งประโยชน์สุขในโลกนี้ และโลกหน้า)

สำหรับผลของการวิเคราะห์ พบว่า ความยุติธรรมทางสังคมในพุทธปรัชญาเถรวาท ที่ตั้งอยู่บนความเปลี่ยนแปลงแบบเชื่อมโยงกันของสรรพสิ่ง อิงอยู่กับความยุติธรรมตามธรรมชาติบางส่วนนั้นเป็นจุดเด่น แต่ก็มีบางประเด็นที่ถูกโต้แย้งว่าการให้เหตุผลเข้าใจยาก เช่น ในเรื่องกฎแห่งกรรม หลักอโหสิกรรม และหลักเมตตาธรรม จากแนวคิดที่ไม่เชื่อเรื่องกรรมและการเกิดใหม่

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕