หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาพิทักษ์ สุเมโธ (ทองเหลือง)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๓ ครั้ง
การศึกษาเชิงวิเคราะห์เรื่องสุวรรณสามชาดก(๒๕๔๙)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาพิทักษ์ สุเมโธ (ทองเหลือง) ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร
  ดร.โกวิทย์ พิมพวง
  นาย รังษี สุทนต์
วันสำเร็จการศึกษา : ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๙
 
บทคัดย่อ

     วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความหมายและความเป็นมา หลักธรรมใน
สุวรรณสามชาดก และอิทธิพลของสุวรรณสามชาดกที่มีต่อสังคมไทย
ในด้านความหมายและความเป็นมานั้น จากการศึกษาพบว่า สุวรรณสามชาดก
เป็นเรื่องราวที่ยกขึ้นมาตรัสเพื่อเป็นเครื่องยืนยันความกตัญญูกตเวทีของภิกษุว่า เป็นเรื่องที่ควร
ยกย่องสรรเสริญเพราะพระพุทธองค์ก็เคยได้ปฏิบัติมาในอดีตชาติ โดยเนื้อหาสาระมุ่งเน้นใน
เรื่องของการมีเมตตาต่อสรรพสัตว์ และความกตัญญูกตเวทีของสุวรรณสามกุมารที่มีต่อบิดา
มารดาผู้ตาบอดทั้งสอง อีกทั้งยังเป็นชาดกที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมีเป็นสำคัญ ใน
สมัยที่เสวยพระชาติเป็นสุวรรณสามโพธิสัตว์
ในด้านหลักธรรม มีทั้งหลักธรรมเชิงปัจเจกบุคคลและเชิงสังคม หลักธรรมเชิง
ปัจเจกบุคคล ได้แก่ หลักกฎแห่งกรรม ที่ไม่มีใครหลีกหนีพ้นได้ ย่อมได้เสวยผลกรรมตามที่
กระทำนั้น วิธีให้ผลกรรมนั้นอาจไม่เหมือนในชาติก่อนแต่ผลสรุปของกรรมนั้นเหมือนกัน และ
ที่สำคัญคือความประมาทในชาติปัจจุบันที่เป็นช่องโหว่ให้กรรมได้เผล็ดผล และหลักสัจจ
ธรรม ที่เป็นหลักความจริงช่วยให้คนตายฟื้นคืนชีพได้ และยังสามารถใช้เป็นพลังป้องกันช่วย
ให้ตนเองรอดพ้นจากอันตรายต่าง ๆ ได้
ส่วนหลักธรรมเชิงสังคม ได้แก่ หลักเมตตาธรรม ที่ทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกัน
อย่างปกติสุขเพราะไม่เบียดเบียนกันและกัน แม้จะรายล้อมด้วยอันตรายต่าง ๆ นานา แต่ก็
สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยอำนาจเมตตาธรรม หลักกตัญญูกตเวที เป็นหลักธรรมที่ช่วยเหลือ
เกื้อกูลกันในยามตกทุกข์ได้ยาก โดยเฉพาะการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณในยามแก่เฒ่าหรือช่วยเหลือตนเองไม่ได้ และหลักทศพิธราชธรรมเป็นหลักธรรมช่วยให้บ้านเมืองอยู่
เย็นเป็นสุขที่นักปกครองต่างยึดถือปฏิบัติมาช้านาน
ในด้านอิทธิพลต่อสังคมไทย จากการศึกษาพบว่า ในด้านจิตรกรรมมีทั้งที่ปรากฏ
อยู่บนฝาผนังถ้ำโบสถ์ วิหาร ทั้งในและต่างประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา และปรากฏอยู่บน
สมุดไทย และหนังสือไทย ตอนที่นิยมวาดเขียนนั้นเป็นตอนที่สุวรรณสามกุมารถูกยิง แต่
ทิศทางของลูกศรส่วนมากไม่ตรงกับอรรถกถาชาดก ในด้านประติมากรรม ตัวอย่างที่พบ
ปรากฏอยู่บนใบเสมาภาพตามวัดต่าง ๆ ทางภาคอีสาน ในด้านวรรณกรรม ในปัจจุบันมีหนังสือ
ทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรองที่แต่งอิงอาศัยเรื่องนี้ และในด้านการศึกษาในปัจจุบันปรากฏอยู่
ในหนังสือเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ โดยนิยมแทรกคติธรรมไว้ท้ายเรื่อง

Download : 254910.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕