หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » Ven. Wattana Thanacaro
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๓ ครั้ง
ศึกษาการบำเพ็ญบารมีและการบรรลุธรรมของพระพักกุลเถระ
ชื่อผู้วิจัย : Ven. Wattana Thanacaro ข้อมูลวันที่ : ๑๖/๐๘/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชปริยัติเวที (สุชาติ กิตฺติปญฺโญ)
  ชิณญ์ ทรงอมรสิริ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๐๘ มีนาคม ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

             วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ ๑) เพื่อศึกษาการบรรลุธรรมในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาการบำเพ็ญบารมีเพื่อบรรลุธรรมในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และ ๓) เพื่อศึกษาการบำเพ็ญบารมีและการบรรลุธรรมของพระพักกุลเถระ เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร โดยศึกษาข้อมูลจากพระไตรปิฏก อรรถกถา ฎีกา คัมภีร์วิสุทธิมรรค และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องนำมา เรียบเรียง บรรยายเชิงพรรณนาและตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญพบว่า

             การบรรลุธรรม หมายถึง การตรัสรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ได้เข้าถึงมรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑ เป็นพระอริยบุคคลมีพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ตามลำดับ ด้วยการปฏิบัติตามหลักโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ อันเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ธรรมในทางพระพุทธศาสนา และการบรรลุธรรมนั้น มีความแตกต่างกันไปตามบุญบารมีที่เคยสั่งสมมา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น บางท่านบรรลุธรรมด้วยการฟัง บางท่านบรรลุธรรมด้วยการปฏิบัติตามหลักวิปัสสนาญาณ ๙ หรือ ญาณ ๑๖ บางท่านบรรลุธรรมด้วยการเจริญอนุปัสสนาญาณ ๗ บางท่านบรรลุธรรมด้วยโยนิโสมนสิการ คือการพิจารณาตจปัญจกกรรมฐาน บางท่านบรรลุธรรมด้วยการตอบปัญหาจากพระพุทธองค์ ดังนั้นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนาจึงมีหลายระดับที่มีความสามารถแตกต่างกันมากมาย จนทำให้พระพุทธองค์ต้องประทานตำแหน่งต่าง ๆ แก่พระสาวกให้เหมาะสมตามฐานะเป็นผู้เลิศ เรียกว่า “พระอสีติมหาสาวก”

              การบำเพ็ญบารมีเพื่อบรรลุธรรม หมายถึง การสร้างบุญกุศลต่าง ๆ เช่น การบริจาคทาน การรักษาศีล การออกบวชบำเพ็ญตบะจนได้ฌานสมาบัติ เมื่อทำบ่อย ๆ บุญกุศลเหล่านี้จะกลายเป็นบารมี บารมีนั้นมี ๑๐ อย่างคือ ทานบารมี สีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี และบารมีทั้ง ๑๐ อย่างนี้แต่ละอย่างแบ่งออกเป็น ๓ คือ ๑) การให้ทานเป็นปกติทั่วไปเรียกว่า ทานบารมี ๒) การให้อวัยวะเลือดเนื้อเป็นทานแก่ผู้อื่นเรียกว่า ทานอุปบารมี และ ๓) การให้ชีวิตของตัวเองมาเป็นทานเรียกว่า ทานปรมัตถบารมี เป็นต้น และบุญบารมีเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การบรรลุธรรมในอนาคต

             พระพักกุลเถระเคยได้บำเพ็ญบุญกุศลต่าง ๆ มาแล้วในอดีตชาติตลอดจนได้ฌานสมาบัติ ในชาติสุดท้าย อยู่ครองเรือนมานานจนถึงอายุ ๘๐ ปี จึงได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา หลังจากบวชมาแล้วได้ ๗ วัน ในเช้าวันที่ ๘ ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ วิโมกข์ ๘ ต่อมาท่านก็ได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายทางด้าน “ผู้มีอาพาธน้อย” ส่วนแนวทางการบรรลุธรรมของพระพักกุลเถระนั้น ท่านได้เจริญอนุปัสสนา ๗ ได้แก่ การพิจารณาปัญจขันธ์ให้เห็นเป็นของไม่เที่ยง, เป็นทุกข์, เป็นอนัตตา, เห็นความเบื่อหน่าย, เห็นความคลายกำหนัด, เห็นความดับ, และเห็นความสละคืนในสังขารทั้งหลาย, ท่านพิจารณาจนชำนาญทำให้มีญาณเกิดขึ้นแผ่ไปทั่วร่างกาย ในที่สุดก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ท่านชอบอยู่ในป่าเป็นวัตรไม่นอนตลอด ๘๐ ปี เมื่อมีอายุถึง ๑๖๐ ปี ก็ได้ปรินิพพานในท่ามกลางหมู่สงฆ์ นับว่าท่านเป็นผู้มีอายุมากกว่าภิกษุทั้งหมด

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕