หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระวิมาน คมฺภีรปญฺโญ (ตรีกมล)
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๙ ครั้ง
ศึกษาอิทธิพลของตันตระที่มีต่อพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศไทย(๒๕๔๙)
ชื่อผู้วิจัย : พระวิมาน คมฺภีรปญฺโญ (ตรีกมล) ข้อมูลวันที่ : ๒๓/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระปลัดสมชาย กนฺตสีโล
  พระมหาบาง เขมานนฺโท
  ดร.ประยูร แสงใส
วันสำเร็จการศึกษา : เมษายน ๒๕๔๙
 
บทคัดย่อ

                    วัตถุประสงค์หลักของงานวิจัยนี้ เพื่อศึกษากำเนิดและพัฒนาการของตันตระ ประวัติของตันตระ พร้อมทั้งอิทธิพลของตันตระที่มีต่อพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศไทย รวมทั้งการศึกษาวิธีการนำลัทธิตันตระเข้ามาสู่พระพุทธศาสนา ซึ่งทำให้เกิดลัทธิพุทธตันตระขึ้นมา จัดเป็นนิกายหนึ่งในพระพุทธศาสนา และยังสืบค้นถึงร่องรอยแห่งตันตระในพระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนาเถรวาท นอกจากนี้แล้วยังได้แยกแยะลัทธิตันตระออกจากพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม วิทยานิพนธ์นี้เป็นงานวิจัยเชิงเอกสาร ซึ่งศึกษาจากพระไตรปิฎกและอรรถกถา รวมทั้งหนังสือเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยวิทยานิพนธ์เล่มนี้แบ่งออกเป็น ๕ บท ซึ่งมีเนื้อหา ดังนี้


บทที่ ๑ เป็นบทนำ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา วัตถุประสงค์ของการวิจัย นิยามศัพท์ที่ใช้ในการวิจัย ขอบเขตและวิธีการวิจัย และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากงานวิจัย


บทที่ ๒ ประกอบด้วยประวัติความเป็นมาของตันตระ อธิบายความหมายและลักษณะของตันตระ และสืบค้นกำเนิดและพัฒนาการของตันตระ สาขาของตันตระ กำเนิดและพัฒนาการของพุทธตันตระในประเทศต่าง ๆ เช่น อินเดีย ทิเบต จีน ญี่ปุ่น


บทที่ ๓ ศึกษาร่องรอยตันตระที่พบในพระไตรปิฎก ลักษณะของตันตระที่พบในพระไตรปิฎก รูปแบบของพระพุทธมนต์ พุทธปริตต์ เช่น รัตนสูตร อาฏานาฏิยสูตร โพชฌังคปริตต์ อังคุลิมาลปริตต์ เป็นต้น


บทที่ ๔ ศึกษาอิทธิพลของตันตระที่มีต่อพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศไทย ได้ศึกษากำเนิดและอิทธิพลของตันตระที่มีต่อสังคมไทย ท่าทีและจุดยืนของพระพุทธศาสนาเถรวาทที่มีต่อตันตระ


บทที่ ๕ สรุป อภิปรายผลการวิจัย และข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยต่อไป


               ผลจากการวิจัยนี้พบว่า ความเชื่อแบบตันตระในรูปแบบต่างๆ มีเหมือนกันทุกศาสนา คือ ประชาชนสามัญชนของทุกศาสนาจะมีความเชื่อแบบตันตระ ในพระพุทธศาสนาจะเห็นได้ชัดจากตันตระนิกายวัชรยานแบบทิเบต ซึ่งให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับพิธีกรรมและความขลังความศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพุทธตันตระ ซึ่งได้รับความนับถือโดยชาวทิเบต มองโกเลีย ภูฐาน สิกขิม เนปาล และดินแดนแถบเทือกเขาหิมาลัย เช่น ลาดัค และรัฐหิมาจันประเทศ เป็นต้น ที่เป็นพุทธศาสนิกชนของนิกายนี้โดยตรง ถึงแม้ว่าพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศไทย ซึ่งเป็นพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมที่ไม่ให้ความสำคัญกับตันตระ แต่ร่องรอยแห่งตันตระก็ยังมีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นผลมาจากอิทธิพลของตันตระนั่นเอง

 

Download : 254933.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕