หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระทองคำ ธมฺมานนฺโท (สิงห์ทอง)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๖ ครั้ง
การพัฒนาสังคมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา (การพัฒนาสังคม)
ชื่อผู้วิจัย : พระทองคำ ธมฺมานนฺโท (สิงห์ทอง) ข้อมูลวันที่ : ๐๘/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสม กลฺยาโณ
  โกนิฏฐ์ ศรีทอง
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

 

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิด ทฤษฎีการพัฒนาสังคมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว๒) เพื่อศึกษากระบวนการพัฒนาสังคมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา และ ๓) เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะในการพัฒนาสังคมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

              การวิจัยในครั้งนี้ ผู้วิจัยได้กำหนดรูปแบบวิธีวิจัยเป็นแบบระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยทำการศึกษาแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องมี ๖ ประเด็นศึกษาด้วยกันได้แก่ ๑) แนวคิด ทฤษฎีเกี่ยวกับการพัฒนา๒) แนวคิด ทฤษฎีเกี่ยวกับการพัฒนาสังคม๓) แนวคิด ทฤษฎีเกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง๔) แนวคิด ทฤษฎีเกี่ยวกับหลักทฤษฎีใหม่๕) แนวคิดตามแนวทางพุทธเศรษฐศาสตร์๖) แนวคิดการพัฒนาสังคมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนาในเขตโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริบริเวณพื้นที่วัดมงคลชัยพัฒนา จังหวัดสระบุรี โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interviews) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants)จำนวน ๑๗รูป/คน และใช้การวิเคราะห์ข้อมูลโดยเทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท (Content Analysis Technique)

 

ผลการวิจัยพบว่า

               ๑. แนวคิด ทฤษฎีการพัฒนาสังคมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พบว่าแนวคิด ทฤษฎี การพัฒนาสังคมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นแนวคิดการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

 

๒. กระบวนการพัฒนาสังคมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา พบว่ากระบวนการพัฒนาสังคมของมูลนิธิชัยพัฒนา คือการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับหลักทฤษฎีใหม่ในโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา ในการจัดการทรัพยากร หรือการใช้ประโยชน์จากที่ดินทำกินขนาดเล็กเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดเพื่อให้เพียงพอกับการดำรงชีวิตของเกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีสุขภาพกายสุขภาพจิตดีและมีความพึงพอใจในชีวิตตลอดจนมีชุมชน สังคมที่มั่นคงเข้มแข็ง และส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างโครงการกับวัดเพื่อสืบทอดและเผยแผ่พระพุทธศาสนา อันเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจและศรัทธาของประชาชน ตลอดจนเผยแพร่ความรู้ด้านสังคมและจริยธรรมแก่เยาวชนและประชาชนในชุมชน เพื่อขัดเกลาให้มีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคมเน้นการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมในลักษณะ บ-ว-ร คือ บ้าน วัด และโรงเรียน หรือหน่วยราชการ ซึ่งเป็นจุดเด่นของสังคมไทยในอดีตมาปรับใช้ให้เข้ากับยุคสมัยในปัจจุบันทำให้เกิดการพึ่งพาอาศัยเกื้อกูลกัน และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในที่สุด

๓. ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะในการพัฒนาสังคมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริพบว่าปัญหา อุปสรรค ในการพัฒนาสังคมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลักทฤษฎีใหม่นั้น คือ ประชาชนยังไม่มีความเข้าใจอย่างแท้จริงในหลักปรัชญา จึงไม่สามารถนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปใช้ในการดำรงชีวิตได้ดีเท่าที่ควร และในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ยังประสบกับปัญหาทางด้านภัยธรรมชาติ และปัญหาด้านการขาดแรงงาน เป็นต้น ข้อเสนอแนะจึงควรมีนักวิชาการเกษตรของภาครัฐเข้าไปให้ความรู้ด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและหลักทฤษฎีใหม่ให้มากขึ้น ให้ประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และสามารถแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ได้ ด้วยตนเอง ควรส่งเสริมให้ชุมชน สังคมมีความสามัคคีช่วยเหลือกัน ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ก็จะทำให้ชุมชน สังคมมีความอบอุ่นเข้มแข็ง และยั่งยืน

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕