หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูนิวิฐธรรมานุยุต (เสถียร ถาวโร)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๓ ครั้ง
ศึกษาวิปัสสนาตามแนวของพระครูภาวนานุศาสก์ (แป้น ธมฺมธโร)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูนิวิฐธรรมานุยุต (เสถียร ถาวโร) ข้อมูลวันที่ : ๑๔/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมพาน ชาคโร
  พระอธิการเวียง กิตฺติวณฺโณ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2559
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

          การศึกษาวิจัยเรื่อง ศึกษาวิปัสสนาตามแนวของพระครูภาวนานุศาสนก์ (แป้นธมฺมธโร) มีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) ศึกษาหลักการและวิธีการปฏิบัติวิปัสสนาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) ศึกษารูปแบบและวิธีปฏิบัติวิปัสสนาในประเทศไทย (๓) ศึกษารูปแบบการสอนและวิธีปฏิบัติวิปัสสนาของพระครูภาวนานุศาสก์ (แป้น ธมฺมธโร)

          การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยใช้วิธีการศึกษาข้อมูลจากเอกสาร (Documentary Research) ผลการวิจัยพบว่า

          ๑. หลักในการปฏิบัติวิปัสสนาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท คือแนวทางในการปฏิบัติวิปัสสนาตามหลักสติปัฏฐาน ๔  อันประกอบด้วย (๑) การกำหนดพิจารณาเห็นกายในกาย (๒) การกำหนดพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา (๓) การกำหนดพิจารณาเห็นจิตในจิต และ (๔) การกำหนดพิจารณาเห็นธรรมในธรรม

          วิธีการปฏิบัติวิปัสสนาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท  ได้แก่ การปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีงาม อันเป็นเหตุให้เกิดปัญญาอันบริสุทธิ์ รู้แจ้งในปัจจุบัน รูปนาม ไตรลักษณ์ มรรค ผล นิพพาน อย่างแท้จริง และดับอาสวะกิเลสทุกอย่างให้หมดสิ้นไปจากจิตใจได้อย่างสิ้นเชิง โดยอาศัยธรรม ที่มีอุปการะมากที่เป็นองค์ประกอบของหลักสติปัฏฐาน ๔ คือ วิริยะ ทำให้นักปฏิบัติจดจ่อในรูปนามปัจจุบันด้วยความเพียรทางกายและทางใจ, สติ เป็นเครื่องระลึกรู้ตามการกำหนดรูปนามอย่างต่อเนื่องไม่ขาดช่วง, สมาธิ ทำให้จิตแนบชิดตั้งมั่นอยู่ในสภาวธรรมที่กำหนดรู้ด้วยสติ,  และปัญญา ทำให้หยั่งเห็นลักษณะพิเศษของสภาวธรรมแต่ละอย่างได้ชัดเจน, ธรรม ๔ ประการนี้ จึงเป็นเหมือนกล้องจุลทรรศน์ที่ช่วยให้เหล่าสัตว์รู้เห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง

          ๒. รูปแบบการปฏิบัติวิปัสสนาในประเทศไทย มี ๒ สายใหญ่ๆ คือ สายบริกรรมว่า พุท-โธเป็นรูปแบบการปฏิบัติวิปัสสนาของฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ที่เริ่มต้นด้วยการนั่งสมาธิ เดินจงกรม และการกำหนดอิริยาบถย่อย โดยปฏิบัติตามสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และอีกสายหนึ่ง คือ สายบริกรรมว่า                      พองหนอ - ยุบหนอเป็นรูปแบบการปฏิบัติวิปัสสนาของฝ่ายมหานิกาย โดยปฏิบัติตามแนวของพระโสภณมหาเถระ หรือพระอาจารย์มหาสีสยาดอ (Venerable Mahasi Sayadaw) พระภิกษุชาวพม่าที่ใช้รูปแบบการกำหนดเดินจงกรม ๖ ระยะ, การกำหนดนั่งสมาธิบริกรรม และการกำหนดอิริยาบถต่างๆ ต่อเนื่องทั้งวัน

          ส่วนสำนักวิปัสสนากรรมฐานในประเทศไทยที่โดดเด่น กรณีศึกษาจาก ๕ สำนัก ซึ่งได้แก่ สำนักวิปัสสนาวัดป่าบ้านตาด ใช้องค์บริกรรมว่า พุท-โธ”, สำนักวิปัสสนาวัดธารน้ำไหล                   (สวนโมกขพลาราม) ใช้วิธีกำหนดสติแบบ อานาปานสติ”, สำนักวิปัสสนาวัดอัมพวัน ใช้องค์บริกรรมว่า ยุบหนอ-พองหนอ”, สำนักวิปัสสนาวัดพระธรรมกายใช้องค์บริกรรมว่า สัมมา-อะระหัง”, และศูนย์วิปัสสนาตามแนวทางของอาจารย์สัตยา นารายัน โกเอ็นก้า ไม่ใช้องค์ในการบริกรรมแต่อย่างใด

          ๓. รูปแบบการสอนและวิธีปฏิบัติวิปัสสนาของพระครูภาวนานุศาสก์ (แป้น ธมฺมธโร) มีวิธีการสอนโดยเน้นที่หลักสติปัฏฐาน ๔  คือ กาย เวทนา จิต และ สภาวธรรม

          ส่วนวิธีปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน คือ การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวโดยใช้สติกำหนดอิริยาบถต่างๆ  มีการนั่ง เดิน ยืน นอน และอิริยาบถย่อยต่างๆ  คือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน โดยการกำหนดสติทุกขั้นตอนที่มีการเคลื่อนไหวกาย

 ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕