หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » คชาภรณ์ คำสอนทา
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๖ ครั้ง
การศึกษากระบวนการและขั้นตอนการระงับอธิกรณ์ ในพระพุทธศาสนาเถรวาท (สาขาวิชาสันติศึกษา)
ชื่อผู้วิจัย : คชาภรณ์ คำสอนทา ข้อมูลวันที่ : ๓๐/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส
  อดุลย์ ขันทอง
  -
วันสำเร็จการศึกษา : มีนาคม 2558
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษากระบวนการและขั้นตอน   การระงับอธิกรณ์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษากระบวนการและขั้นตอนการระงับอธิกรณ์ในคณะสงฆ์ไทย (๓) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบกระบวนการและขั้นตอนการระงับอธิกรณ์        ในคัมภีร์พระพุทธศาสนากับกฎมหาเถรสมาคม

         ผลการศึกษาพบว่า ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงแบ่งปัญหาออกไป        ๒ ประเภท คือ  (๑) ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องศีลาจารวัตร การประพฤติปฏิบัติที่แตกต่างกัน  (๒) ปัญหาเกี่ยวกับกิจของสงฆ์ ที่ต้องกระทำตามหน้าที่ให้เสร็จ และเครื่องมือที่พระพุทธเจ้าทรงออกแบบ       คืออธิกรณสมถ ๗ เป็นเครื่องมือที่แยกวิธีการออกจากปัญหา โดยมีจุดมุ่งหมาย (๑) เพื่อรักษา      หลักพระธรรมวินัย (๒) เพื่อให้สงฆ์ใช้เป็นเครื่องมือดำเนินการกับผู้ประพฤติละเมิดพระธรรมวินัย         (๓) เพื่อความปรองดองในหมู่สงฆ์ แต่ละเครื่องมือประสานสอดคล้องซึ่งกันและกันมีทั้งวิธีการและเป้าหมายรวมอยู่ด้วยกัน สำหรับกระบวนการและขั้นตอนการระงับอธิกรณ์ในคณะสงฆ์ไทย         ตามกฎมหาเถรสมาคมได้นำแนวคิดกระบวนการทางกฎหมายของราชอาณาจักรมาช่วยส่งเสริมสนับสนุนฝ่ายพุทธจักรให้เข้มแข็งด้วยพยายามที่จะทำให้การแก้ปัญหาใกล้เคียงกับทางพระวินัย    มากที่สุดแต่ยังอิงหลักการในทางกฎหมายเป็นหลักซึ่งยังไม่สอดคล้องกับคัมภีร์พระพุทธศาสนา

         ผลการเปรียบเทียบกระบวนการและขั้นตอนการระงับอธิกรณ์ระหว่างคัมภีร์พระพุทธศาสนากับกฎมหาเถรสมาคม พบว่า มีจุดมุ่งหมายในการกำหนดแนวทางในการระงับอธิกรณ์ที่แตกต่างกัน โดยคัมภีร์พระพุทธศาสนามีแนวคิดในเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการระงับอธิกรณ์ด้วยวิธีการแยกปัญหา แยกเครื่องมือ แยกประเภทบุคคล แต่ละเครื่องมือประสานสอดคล้องซึ่งกันและกันมีทั้งวิธีการและเป้าหมายรวมอยู่ด้วยกัน ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีการจัดการความขัดแย้ง          ในแนวทางการป้องกัน (Prevention) การเปลี่ยนผ่าน (Transformation) การแก้ไข (Resolution) และการฟื้นฟู (Restoration) แต่กระบวนการขั้นตอนและวิธีการระงับอธิกรณของคณะสงฆ์ไทย ได้รับวิวัฒนาการมาจากกฎหมายของราชอาณาจักรทำให้มุ่งเน้นหลักการลงโทษตามกฎหมายที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งตามหลักพระวินัยเท่านั้น  ที่ยังมุ่งเน้นการรักษาหลักพระธรรมวินัย และการสร้าง    ความสมานฉันท์ในหมู่สงฆ์ ตามจุดมุ่งหมายที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แต่ดั้งเดิม

         ดังนั้น ในการดำเนินการระงับอธิกรณ์ของคณะสงฆ์ไทยคณะสงฆ์ควรมีการพัฒนาความรู้        ความเข้าใจและพัฒนาองค์ความรู้ให้ประสานสอดคล้องกันในเรื่องแนวทางวิธีการประยุกต์ใช้เครื่องมือโดยเฉพาะกฎมหาเถรสมาคมให้สอดคล้องกับพระธรรมวินัยเพื่อใช้ในการระงับอธิกรณ์อย่างเป็นรูปธรรม สามารถเข้าใจและนำไปใช้ได้อย่างจริงจัง ควบคู่กับการเผยแพร่ความรู้ในการปกครองดูแล   พระนวกะที่พรรษายังไม่พ้น ๕ จะต้องปกครองดูแลให้ได้รับการศึกษาพระธรรมวินัย และประพฤติปฏิบัติอยู่ในสัมมาปฏิบัติ อันจะก่อให้เกิดความสงบสุขในสังคมสงฆ์และสังคมภายนอกได้ต่อไป

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕