หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระนที สิริปญฺโญ (บัวงาม)
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๔ ครั้ง
การบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลในโรงเรียนพระปริยัติธรรม สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จังหวัดขอนแก่น(สาขาวิชาการบริหารการศึกษา)
ชื่อผู้วิจัย : พระนที สิริปญฺโญ (บัวงาม) ข้อมูลวันที่ : ๐๓/๐๔/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ธีระศักดิ์ บึงมุม
  สังวาลย์ เพียยุระ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาวิเคราะห์และเปรียบเทียบการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลในโรงเรียนพระปริยัติธรรม จำแนกตามสถานภาพ วุฒิการศึกษา ขนาดสถานศึกษา และศึกษาแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลในโรงเรียนพระปริยัติธรรม สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จังหวัดขอนแก่น กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน จำนวน ๑๓๘ รูป/คน แยกเป็นผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน ๓๑ รูป/คน และครูผู้สอนจำนวน ๑๐๗ รูป/คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม แบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) ตามวิธีการของลิเคิอร์ท (Likert) ซึ่งมี ๕ ระดับ จำนวน ๔๙ ข้อ การวิจัยครั้งนี้มีค่าอำนาจจำแนก ตั้งแต่ .๒๑๑ - .๕๒๕ นำแบบสอบถามข้อที่มีค่าอำนาจจำแนกตามเกณฑ์ที่ใช้ได้ไปหาค่าความเชื่อมั่นเป็นรายด้านและโดยภาพรวมตามวิธีการของครอนบาค (Cronbach) เพื่อหาค่าสัมประสิทธิ์อัลฟ่า (Alpha - Coeffcient) โดยใช้เกณฑ์ตั้งแต่ .๗๐ ขึ้นไป การวิจัยครั้งนี้มีค่าเท่ากับ .๗๑๐ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสมมุติฐานด้วยการทดสอบค่าที (t – test แบบ Independent Samples) และการทดสอบความแปรปรวนทางเดียว (F – test ANOVA)

ผลการวิจัย พบว่า

๑) การบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลในโรงเรียนพระปริยัติธรรม โดยภาพรวมและรายด้านมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมากโดยด้านที่มีการปฏิบัติสูงสุด คือ ด้านหลักความคุ้มค่า รองลงมาคือด้านหลักความโปร่งใสและด้านหลักความรับผิดชอบตามลำดับ ส่วนด้านที่มีการปฏิบัติต่ำสุดคือด้านหลักนิติธรรม

๒) ผลการเปรียบเทียบการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลในโรงเรียนพระปริยัติธรรม สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จังหวัดขอนแก่น จำแนกตามตำแหน่งหน้าที่โดยภาพรวมมีการปฏิบัติไม่แตกต่างกัน ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน ด้านหลักความคุ้มค่ามีการปฏิบัติแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕ ส่วนด้านอื่นไม่แตกต่างกัน เมื่อจำแนกตามวุฒิการศึกษา โดยภาพรวมมีการปฏิบัติไม่แตกต่างกัน ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน ด้านความโปร่งใสมีการปฏิบัติแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕ ส่วนด้านอื่นไม่แตกต่างกัน และเมื่อจำแนกตามขนาดสถานศึกษา โดยภาพรวมมีการปฏิบัติไม่แตกต่างกัน ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ 

๓) แนวทางส่งเสริมและพัฒนาการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลที่สำคัญ คือ (๑) ด้านนิติธรรม สถานศึกษาควรส่งเสริมการเรียนรู้นิติธรรมประพฤติตนให้อยู่ในกรอบกฎหมาย จารีต ประเพณี และพระธรรมวินัย นำกฎหมายว่าด้วยพนักงานข้าราชการ หรือศาสนการมาปรับใช้ในสถานศึกษา (๒) ด้านคุณธรรม การบริหารจัดการสถานศึกษาจะต้องยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม และเป็นตัวอย่างที่ดีต่อสังคม มีความซื่อสัตย์จริงใจขยันอดทนต่อหน้าที่และหลักธรรมาภิบาลควรปลูกฝังคุณธรรมพื้นฐาน ๘ ประการ คือ ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย สุขภาพ สะอาด สามัคคี มีน้ำใจ (๓) ด้านความโปร่งใส รายงานการประเมินตนเอง รายงานต่าง ๆ ของสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องเป็นความจริง ทุกขั้นตอนต้องยึดหลักความโปร่งใสตรวจสอบได้ (๔) ด้านการมีส่วนร่วม สถานศึกษาควรเปิดโอกาสให้ชุมชนและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม และเสนอความคิดเห็นในการตัดสินใจในปัญหาต่าง ๆ (๕) ด้านความรับผิดชอบ สถานศึกษาควรมีความตระหนักในสิทธิหน้าที่การงานการอาพาธของตนเองและผู้อื่น (๖) ด้านความคุ้มค่า สถานศึกษาควรเห็นคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่และพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕