หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาพุทธิวงศ์ ณฏฺฐฃญฺญู (สุวรรณรัตน์)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๒ ครั้ง
การวิเคราะห์นิพพานในทัศนะของพุทธทาสภิกขุตามแนวคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาพุทธิวงศ์ ณฏฺฐฃญฺญู (สุวรรณรัตน์) ข้อมูลวันที่ : ๐๔/๑๒/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร
  สมิทธิพล เนตรนิมิตร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๓ กันยายน ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

 

ดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “การวิเคราะห์นิพพานในทัศนะของพุทธทาสภิกขุตามแนวคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ ๑) เพื่อศึกษานิพพานในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษานิพพานในทัศนะของพุทธทาสภิกขุ และ ๓) เพื่อวิเคราะห์นิพพานในทัศนะของพุทธทาสภิกขุตามแนวคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงเอกสาร

ผลการวิจัยพบว่า นิพพานตามทัศนะพระพุทธศาสนาเถรวาทหมายถึงภาวะที่จิตหลุดพ้นจากกิเลสโดยประการทั้งปวง โดยภาวะนิพพานเป็นอสังขตธรรมแต่เป็นสิ่งที่มีอยู่และดำรงอยู่ได้เองโดยปราศจากการปรุงแต่งจากสิ่งใด ในพระพุทธศาสนาเถรวาทได้แบ่งนิพพานออกเป็น ๒ ประการคือสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ และอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นอกจากนั้นพระพุทธองค์ยังตรัสอธิบายภาวะที่กิเลสถูกระงับด้วยฌานสมาบัติหรือด้วยปัญญาว่าเป็นสันทิฏฐิกนิพพานบ้าง ทิฏฐธัมมนิพพานบ้าง และตทังคนิพพานบ้าง

นิพพานในทัศนะของท่านพุทธทาสภิกขุหมายถึงภาวะที่จิตใจว่างจากกิเลสคือตัวกู-ของกูไม่เกิดขึ้นมาในขณะนั้นซึ่งเป็นลักษณะของความว่างทางปัญญาไม่ใช่ความว่างทางวัตถุหรือว่างทางจิต ท่านพุทธทาสภิกขุแบ่งนิพพานออกเป็น ๓ ระดับคือตทังคนิพพาน วิกขัมภนนิพพาน และสมุจเฉทนิพพาน ซึ่งสามารถสรุปย่นย่อลงได้เป็นนิพพาน ๒ ระดับ คือตทังคนิพพาน และวิกขัมภนนิพพานจัดเป็นนิพพานชั่วคราว ส่วนสมุจเฉทนิพพานจัดเป็นนิพพานที่แท้ที่สมบูรณ์ซึ่งได้แก่นิพพานธาตุทั้งสอง

 ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์นิพพานในทัศนะของท่านพุทธทาสภิกขุตามแนวคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทจะพบว่า ท่านพุทธทาสภิกขุมิได้อธิบายนิพพานธาตุต่างไปจากคัมภีร์แต่อย่างใด ส่วนตทังคนิพพาน และวิกขัมภนนิพพานที่ท่านพุทธทาสภิกขุนำมาอธิบายก็มิได้ขัดแย้งกับคัมภีร์โดยตรง แต่ท่านนำมาอธิบายโดยอ้อมหรือในความหมายบางแง่บางด้าน จุดมุ่งหมายของท่านในเรื่องนี้ก็เพื่อจะให้พัฒนานำไปสู่การบรรลุถึงนิพพานที่แท้ จึงกล่าวได้ว่าท่านพุทธทาสภิกขุให้ความสนใจนิพพานในความหมายทางจริยศาสตร์ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ในสภาวะที่เป็นปัจจุบัน

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕