หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาพงษ์ศักดิ์ รตนญาโณ (ทองละมุล)
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๕ ครั้ง
การบริหารจัดการโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ของคณะสงฆ์อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี (สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาพงษ์ศักดิ์ รตนญาโณ (ทองละมุล) ข้อมูลวันที่ : ๑๘/๐๓/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ประเสริฐ ธิลาว
  พระมหากฤษฎา กิตฺติโสภโณ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ ๑. เพื่อศึกษาการบริหารจัดการโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ของคณะสงฆ์อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ๒. เพื่อศึกษาเปรียบเทียบความคิดเห็นของพระสงฆ์ที่มีต่อการบริหารจัดการโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ของคณะสงฆ์อำเภอบางปลาม้า
จังหวัดสุพรรณบุรี โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล
และ ๓. เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารจัดการโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ของคณะสงฆ์อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

ระเบียบวิธีวิจัยเป็นแบบผสานวิธี ระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณ เป็นการสำรวจด้วยแบบสอบถามซึ่งมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ ๐.๗๒๕ กับกลุ่มตัวอย่าง คือ พระสงฆ์อำเภอบางปลาม้า จำนวน ๒๕๑ รูป ทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้คือ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าเอฟ ด้วยวิธีวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และงานวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ให้ข้อมูลสำคัญจำนวน ๑๐ รูป/คน โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาเชิงพรรณนา สรุปเป็นความเรียง และตารางความถี่

 

ผลการวิจัยพบว่า

๑. พระสงฆ์มีความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕
ของคณะสงฆ์อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี
โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก ( =๓.๖๗,
S.D. =๐.๖๑๗) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน คือ ด้านการจัดองค์กร
ด้านการวางแผน ด้านการกำกับดูแล ด้านการอำนวยการ และด้านงานบุคลากร ตามลำดับ

             ๒. ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นของพระสงฆ์ต่อการบริหารจัดการโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ของคณะสงฆ์อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี โดยจำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล คือ อายุ พรรษา ระดับการศึกษาแผนกธรรม ระดับการศึกษาแผนกบาลี ระดับการศึกษาทางโลก และตำแหน่งหน้าที่ปัจจุบัน พบว่า พระสงฆ์มีอายุ ระดับการศึกษาแผนกธรรม ระดับการศึกษาแผนกบาลี
ระดับการศึกษาทางโลก และตำแหน่งหน้าที่ปัจจุบัน
ต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ของคณะสงฆ์อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี แตกต่างกัน
อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ จึงยอมรับสมมติฐานการวิจัย ส่วนพระสงฆ์ที่มีพรรษาต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ของคณะสงฆ์อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ไม่แตกต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐานการวิจัย

๓. ปัญหาและอุปสรรคต่อการบริหารจัดการโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ของคณะสงฆ์อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี พบว่า คณะสงฆ์อำเภอบางปลาม้าขาดความเข้าใจในเรื่องวัตถุประสงค์และขั้นตอนในการดำเนินโครงการ ไม่กระจายอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน ไม่คัดเลือกคนที่มีความรู้เหมาะสมกับตำแหน่งงานที่รับผิดชอบ ไม่ประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากร จึงขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญและมีความรู้ความสามารถที่เข้ากับงานของโครงการ ไม่สร้างแรงจูงใจให้พระสงฆ์เกิดความยินดีต่อการปฏิบัติงานของโครงการ การติดต่อประสานงานระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่ล่าช้า และการเยี่ยมชมติดตามผลประเมินผลการดำเนินงานของโครงการไม่ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด

ข้อเสนอแนะต่อการบริหารจัดการโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ของคณะสงฆ์อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี พบว่า คณะสงฆ์อำเภอบางปลาม้าควรศึกษาทำความเข้าใจในวัตถุประสงค์และขั้นตอนในการดำเนินโครงการ กระจายอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน จัดฝึกอบรมคัดเลือกคนที่มีความรู้เหมาะสมกับตำแหน่งงานที่รับผิดชอบ ประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากร สร้างแรงจูงใจให้พระสงฆ์เกิดความยินดีต่อการปฏิบัติงานของโครงการ นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการติดต่อประสานงานระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน ตรวจเยี่ยมชมติดตามผลประเมินผลการดำเนินงานของโครงการตามระยะเวลาที่กำหนด ขับเคลื่อนโครงการด้วยการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่จะปฏิบัติตนให้เกิดประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง จัดทำแผ่นป้ายประชาสัมพันธ์รณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนเห็นคุณค่าของการรักษาศีลว่าสำคัญต่อการดำเนินชีวิต ณ บริเวณหน้าวัดหรือในพื้นที่ชุมชน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อการทำงานร่วมกันระหว่างชาวบ้าน หน่วยงานราชการกับคณะสงฆ์,
หาจุดแข็งและประโยชน์หรือคุณค่าจากโครงการนี้แล้วนำเสนอให้เป็นที่ยอมรับ, พัฒนาตนเองโดยการแสวงหาความรู้เทคนิคใหม่ๆ จัดกิจกรรมจิตอาสาเพื่อสร้างสังคมให้มีความสามัคคีมีแรงจูงใจที่จะทำประโยชน์เพื่อตนและเพื่อสังคมที่สงบสุข จัดตั้งศูนย์กลางในระดับหมู่บ้านหรือชุมชน ผู้นำหมู่บ้านหรือชุมชนให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการทั้งด้านกำลังคนอาหารและน้ำช่วยดูแลการขับเคลื่อนโครงการอย่างเต็มกำลัง

Download

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕