หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ชนาภัทร์ วงศ์โรจนภรณ์
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๓ ครั้ง
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาผ่านวรรณกรรมท้องถิ่นเรื่อง พระเจ้าห้าพระองค์: กรณีศึกษาวัดพระยอดขุนพลเวียงกาหลง จังหวัดเชียงราย
ชื่อผู้วิจัย : ชนาภัทร์ วงศ์โรจนภรณ์ ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๐๓/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชปริยัติมุนี (เทียบ สิริญาโณ)
  บรรจบ บรรณรุจิ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

ดุษฎีนิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑. เพื่อศึกษาความเชื่อพระเจ้า ๕ พระองค์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาและสังคมไทย  ๒. เพื่อศึกษาความเชื่อพระเจ้า ๕ พระองค์ในวัดพระยอดขุนพล
เวียงกาหลง จังหวัดเชียงราย และ ๓. เพื่อศึกษาการเผยแผ่พระพุทธศาสนาผ่านวรรณกรรมท้องถิ่นเรื่องพระเจ้าห้าพระองค์ของวัดพระยอดขุนพลเวียงกาหลง จังหวัดเชียงราย เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ประกอบด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพภาคเอกสาร
(Documentary Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพภาคสนามเป็นการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview)

             ผลการวิจัยพบว่า พระเจ้า ๕ พระองค์ หมายถึงพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ในภัททกัป คือพระกกุกสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า พระโคตมพุทธเจ้า และพระศรีอาริยเมตไตรยพุทธเจ้า ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาชั้นปฐมภูมิและทุติยภูมิ แสดงการมีอยู่จริงของพระพุทธเจ้าทั้งหลายรวมทั้งพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ สังคมไทยรับรู้เรื่องชุดพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์มากกว่าพระพุทธเจ้าชุดอื่น ๆ มีเป็นวรรณกรรมและตำนานพื้นบ้านที่เรียกชื่อหลากหลายในภูมิภาคต่าง ๆ ใน ๒ ลักษณะ คือพระพุทธเจ้าในคัมภีร์พระพุทธศาสนา และพระพุทธเจ้าในตำนานพื้นบ้าน มี ๓ ลักษณะย่อย คือแบบพระเจ้า ๕ พระองค์ แบบแม่กาเผือก และแบบผสมระหว่างแบบแม่กาเผือกกับแบบพระเจ้า ๕ พระองค์ ในล้านนามีความเชื่อเรื่องพระเจ้า ๕ พระองค์เช่นเดียวกับภูมิภาคอื่น ๆ จะแตกต่างกันในส่วนพระพุทธเจ้าในตำนานพื้นบ้าน จะมีเพียง ๒ ลักษณะย่อย คือแบบแม่กาเผือก และแบบผสมระหว่างแบบแม่กาเผือกกับแบบพระเจ้า ๕ พระองค์ ความเชื่อดังกล่าวถูกถ่ายทอดผ่านงานด้านวรรณกรรม/นิทานพื้นบ้าน ด้านพุทธศิลปะ ด้านวัฒนธรรมประเพณี และด้านความเชื่อทางศาสนา

วัดพระยอดขุนพลเวียงกาหลง จังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองโบราณเวียงกาหลงที่มีภูมินามสัมพันธ์กับตำนานแม่กาเผือก ผู้เกี่ยวข้องกับวัดมีความเชื่อว่าเมืองโบราณเวียงกาหลงเป็นดินแดนพุทธภูมิ และแม่กาเผือกและพระเจ้า ๕ พระองค์มีจริงตามตำนานพื้นบ้านแบบแม่กาเผือกและพระเจ้า ๕ พระองค์ ซึ่งมีคติธรรมเรื่องความกตัญญูกตเวทิตา หลักไตรสิกขา หลักพรหมวิหาร และการบำเพ็ญบารมีพระโพธิสัตว์ สอดคล้องกับความเชื่อของชาวล้านนาเรื่องกรรมและนิพพาน เทวดาพุทธ และเรื่องอานิสงส์

วัดพระยอดขุนพลเวียงกาหลงนำวรรณกรรมท้องถิ่นเรื่องพระเจ้าห้าพระองค์เป็นสื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยมีปัจจัยนำเข้า ๖ ข้อ ได้แก่ ๑) ด้านศรัทธาและความเชื่อของผู้ริเริ่ม ๒) ประวัติศาสตร์เมืองหรือที่ตั้ง ๓) คัมภีร์พระพุทธศาสนาและตำนานพื้นบ้าน ๔) วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน ๕) ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น และ ๖) เป้าหมายหลัก  มีกระบวนการและผลผลิตสื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา ๖ ข้อ ได้แก่ ๑) การสร้างเรื่องเล่าให้เป็นเรื่องราว เกิดสื่อสัญลักษณ์และคำสอนที่เกี่ยวกับตำนาน ๒) จัดภูมิสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องและกลมกลืน เกิดเป็นเมืองวัฒนธรรมเวียงกาหลง ๓) ปฏิรูปคำสอนให้เข้าใจง่าย กระชับ เข้าใจตรงกัน ได้เป็นคำว่า กตัญญู เมตตา เสียสละ  ๔) สร้างธรรมิกสังคม (วิถีธรรม วิถีกินอยู่และวิถีร่วม) ด้วยการมีโรงเรียน โรงทาน โรงงานและโรงธรรม  ๕) ผสานกิจกรรมรวมวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ากับคำสอน เป็นวันประทีปธรรม และ ๖) สร้างจุดหมายร่วมเพื่อกระตุ้นและให้กำลังใจกับผู้ปฏิบัติธรรม กำหนดรูปแบบการดำเนินชีวิตชัดเจนเป็นหมู่บ้านศีล ๕ (สังคมอุดมศีล) ผลลัพธ์ที่ได้คือ ๑) ทำให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องพระพุทธเจ้ามากขึ้น  ๒) ได้แนวทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาใหม่  ๓) ได้ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ปฏิบัติ และ ๔) สร้างเสริมสังคมสันติสุข งานวิจัยนี้ได้องค์ความรู้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแบบ WEE-KALONG MODEL เพื่อเป็นแนวทางให้กับวัดอื่น ๆ นำ ไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมต่อไป

Download

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕