หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » มานพ บุญชื่น
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๙ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์การอวดอุตตริมนุสสธรรมในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (สาขาวิชาพระไตรปิฎกศึกษา)
ชื่อผู้วิจัย : มานพ บุญชื่น ข้อมูลวันที่ : ๑๙/๐๔/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน
  สุเทพ พรมเลิศ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๔ เมษายน ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้เป็นงานวิจัยเอกสารเรื่อง การศึกษาวิเคราะห์การอวดอุตตริมนุสสธรรมในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ ๑) เพื่อศึกษาการบัญญัติสิกขาบทการอวดอุตตริมนุสสธรรมในพระวินัยปิฎก ๒) เพื่อศึกษาความสำคัญและเกณฑ์การวินิจฉัยการกล่าวอวด
อุตตริมนุสสธรรมในคัมภีร์ พระพุทธศาสนา ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบของการอวดอุตตริ
มนุสสธรรมที่ไม่มีในตนต่อสังคมไทย

ผลการวิจัยพบว่า การบัญญัติสิกขาบทการอวดอุตตริมนุสสธรรมในพระวินัยปิฎก พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุกล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน ผู้ใดกล่าวอวดฯ ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระภิกษุ นอกจากนี้ยังทรงบัญญัติการปรับอาบัติในระดับต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้กล่าวอวด คือ ปาราชิก ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ทุกกฏ  พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญต่อสิกขาบทข้อนี้เป็นอย่างมากทรงแสดงไว้ว่าผู้ที่กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตนนี้ว่าเป็นยอดมหาโจร ฉันอาหารของชาวบ้านด้วยการไถยจิต เกณฑ์ตัดสินเป็นไปตามพระบัญญัติสิกขาบท ภิกษุบางรูปประกาศต่อหน้าพุทธศาสนิกชนว่าตนเองตัดกิเลสขาดแล้ว สิ้นกิเลสแล้ว บางรูปกล่าวกับฆราวาส ว่าตนเองคือพระอรหันต์ แต่บางรูปก็สร้างความยุ่งยากในการพิจารณาตัดสินเนื่องจากผู้กล่าวอวดหลีกเลี่ยงการพูดการแสดงแบบตรง แต่กลับแสดงอาการโดยอ้อม เช่น ภิกษุบางรูปไม่ได้กล่าวด้วยตนเองว่าตนคือพระอริยะ แต่เมื่อมีผู้ที่กล่าวชื่นชมว่าภิกษุนั้นคือพระอริยะก็แสดงอาการยอมรับ (ไม่ปฏิเสธ) ว่าตนเองคือพระอริยะ บางรูปพยากรณ์คติที่ไปของผู้ตาย เป็นการแสดงให้รู้ว่าภิกษุรูปนั้นรู้ชัดการจุติ อุบัติของสัตว์ แสดงว่าผู้พยากรณ์มีจุตูปปาตญาณอันเป็นคุณสมบัติของพระพุทธเจ้าหรือผู้ที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า การที่ปุถุชนพยากรณ์คติที่ไปของผู้ตายเสมือนหนึ่งเป็นการกล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน  บุคคลผู้ที่ได้กล่าวอวดว่าเป็นพระอริยะ แต่มีการปฏิบัติตนผิดไปจากคุณสมบัติของพระอริยะนั่นแสดงว่าบุคคลนั้นได้กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน ต้องอาบัติปาราชิก

ผลกระทบของการกล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน ต่อสังคมไทย จำแนกได้ดังนี้ คือ ทำลายพระธรรมวินัย ทำลายประเพณีและวัฒนธรรม ทำลายเศรษฐกิจ ผู้ที่กระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองกลายเป็นอาชญากรของสังคม พุทธศาสนิกชนไทยจำนวนหนึ่งนิยมเลื่อมใสศรัทธาในตัวบุคคล หวังพึ่งพาบุคคลดังกล่าวเพื่อเป็นแบบอย่างนำทางไปสู่ความสำเร็จทางธรรมและความเจริญมั่นคงในการดำรงชีวิต ผู้ที่กล่าวอวดฯ กลายเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ชี้นำแนวทางการปฏิบัติทางศาสนา ทำให้ประชาชนมีความเห็นคล้อยตาม     

Download

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕