หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระวัลลภ วชิรวํโส (เดชผิว)
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๖ ครั้ง
การศึกษาเปรียบเทียบการงดเว้นจากการฆ่าในพระพุทธศาสนาเถรวาท กับศาสนาเชน (สาขาวิชาศาสนาเปรียบเทียบ)
ชื่อผู้วิจัย : พระวัลลภ วชิรวํโส (เดชผิว) ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๐๔/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระศรีรัตโนบล
  พระมหามงคลกานต์ ฐิตธมฺโม
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่อง “เปรียบเทียบการงดเว้นจากการฆ่าในพระพุทธศาสนาเถรวาทและหลักอหิงสาในศาสนาเชน” นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาการงดเว้นจากการฆ่าในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาการงดเว้นจากการฆ่าในศาสนาเชน และ ๓) เพื่อเปรียบเทียบการงดเว้นจากการฆ่าในพระพุทธศาสนาเถรวาทกับศาสนาเชน การวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงเอกสาร

ผลการศึกษาพบว่า

การงดเว้นจากการฆ่าในพระพุทธศาสนาเถรวาท เป็นการเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่นด้วยกายกรรมและวจีกรรมอันเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต มี ๖ ลักษณะด้วยกัน ได้แก่ ๑) การฆ่าด้วยตนเอง (๒) การสั่งให้ผู้อื่นฆ่า (๓) การปล่อยอาวุธออกไปฆ่า (๔) การฆ่าด้วยเครื่องมือที่อยู่กับที่ (๕) การฆ่าด้วยอำนาจอำนาจแห่งคุณไสยศาสตร์ (๖) การฆ่าด้วยการบันดาลด้วยฤทธิ์ ซึ่งมีหลักธรรมที่ปฏิปักษ์กันคือ เมตตา กรุณาปรารถนาความสุข ไม่มีเวร ไม่มีภัย แก่มนุษย์และสัตว์ทั่วไป

การงดเว้นจากการฆ่าในศาสนาเชน คือ การงดเว้นจากการประทุษร้ายสิ่งมีชีวิตแม้อยู่ในรูปที่เล็กที่สุด ทั้งที่สามารถมองเห็นได้ หรือมองไม่เห็น เพราะว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มีวิญญาณทั้งสิ้นและเป็นวิถีแห่งการปฏิบัติต่อทุกสรรพสิ่งในทุก ๆ บริบทของชีวิต ไม่ว่าจะโดยการกระทำ การพูด และการคิด โดยยึดหลักอหิงสาเป็นหลักธรรมสำคัญเป็นบรมธรรม เป็นแก่นแท้ เป็นคำสอนที่สำคัญที่สุดในบรรดาคำสอนทั้งหมด มี ๓ ประเภท คือ (๑) การไม่เบียดเบียนทางกาย (๒) การไม่เบียดเบียนทางวาจา และ (๓) การไม่เบียดเบียนทางใจ ซึ่งมีเกณฑ์ตัดสินคือ เจตนา และมีหลักธรรมที่เกื้อกูลกันได้แก่ ทยา ความรัก, การรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา และเมตตา ซึ่งมีการประยุกต์ในแง่ ยติ, ธรรม, เพื่อการดำเนินชีวิตและสังคม ตลอดทั้งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

จากการเปรียบเทียบการงดเว้นจากการฆ่าในพระพุทธศาสนาเถรวาทกับศาสนาเชน พบว่า การงดเว้นจากการฆ่าในพระพุทธศาสนาเถรวาทกับศาสนาเชน เป็นหลักจริยธรรมที่สร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคม มุ่งหวังให้ทุกองคาพยพของสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขปราศจากเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ก็ด้วยอาศัยหลักศีลธรรมข้อนี้เป็นเครื่องช่วยพยุงโลกให้มีความสงบร่มเย็น พ้นจากความแก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่น เบียดเบียนซึ่งกันและกัน สร้างคุณค่าอนันต์แก่สังคม พระพุทธศาสนามองคุณค่าของชีวิตอยู่ที่มนุษย์และสัตว์เท่านั้น ส่วนศาสนาเชนมองสรรพสิ่งด้วยความเมตตา มุ่งสันติสุขให้เกิดแก่สรรพชีวะไม่ว่าจะมนุษย์ สัตว์ หรือแม้กระทั่งพืช นั่นเอง

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕