หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูปลัดวีระ อคฺคจิตฺโต (มงคล)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๔ ครั้ง
อาหาเรปฏิกูลสัญญากรรมฐาน : หลักการบริโภคอาหารเชิงพุทธ
ชื่อผู้วิจัย : พระครูปลัดวีระ อคฺคจิตฺโต (มงคล) ข้อมูลวันที่ : ๐๘/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ชญาน์นันท์ อัศวธรรมานนท์
  พระมหาอินทร์วงค์ อิสฺสรภาณี
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๘ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

   วิทยานิพนธ์เรื่อง “อาหาเรปฏิกูลสัญญากรรมฐาน: หลักการบริโภคอาหารเชิงพุทธ”            เป็นการวิจัยเอกสาร (Documentary Research) มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาคือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการบริโภคอาหารในพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาแนวทางการบริโภคอาหารตามหลักอาหาเรปฏิกูลสัญญากรรมฐาน และ ๓) เพื่อวิเคราะห์แนวทางการบริโภคอาหารตามหลักอาหาเรปฏิกูลสัญญากรรมฐานในชีวิตประจำวัน

 

   จากการศึกษาพบว่า อาหาร หมายถึง สภาพที่นำมาซึ่งกำลัง เครื่องค้ำจุนชีวิต สิ่งที่หล่อเลี้ยงร่างกายและจิตใจ ทำให้เกิดกำลังเจริญเติบโต มี ๔ ประเภท ได้แก่ ๑. กวฬิงการาหาร คือ คำข้าว ๒. ผัสสาหาร คือ การสัมผัส ๓. มโนสัญเจตนาหาร คือ ความตั้งใจ และ ๔. วิญญาณาหาร                     คือ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป อาหารนั้นมีความสำคัญกับสรรพสัตว์ทั้งหลาย โดยเฉพาะกวฬิงการาหาร หากไม่มีอาหารก็ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ การบริโภคอาหารเชิงพุทธสามารถศึกษาได้จากโภชนปฏิบัติของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีปกติเสวยอาหารโดยไม่มียึดติดในรสชาติ ไม่ทรงเสวยมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ทรงเสวยเพียงวันละมื้อเพื่อเป็นการสร้างความพอดีให้เกิดขึ้นแก่ร่างกาย ส่วนในพระวินัยนั้นมีบทบัญญัติว่าด้วยการบริโภคอาหารในหมวดเสขิยวัตร เรียกว่า โภชนาปฏิสังยุต

 

   อาหาเรปฏิกูลสัญญาเป็นหนึ่งในสมถกรรมฐาน ๔๐ ซึ่งเป็นอุบายวิธีฝึกจิตให้สงบ จนจิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว เรียกว่า เอกัคคตา คำว่า อาหาเรปฏิกูลสัญญา หมายถึง ความกำหนดหมายความเป็นปฏิกูลในอาหาร โดยกำหนดในอาการต่างๆ ๑๐ ประการ คือ โดยการไป โดยการแสวงหา โดยการบริโภค โดยที่อยู่ โดยหมักหมม โดยยังไม่ย่อย โดยย่อยแล้ว โดยผล โดยหลั่งไหลออก และโดยเปื้อน นอกจากนี้ ยังพิจารณาความน่าเกลียดของอาหารที่รับประทานไปในหลายๆ วิธี                โดยกล่าวซ้ำๆ ว่า ปฏิกูลังเมื่อทำเช่นนี้ สัญญาคือการกำหนดรู้ถึงความน่าเกลียดเกี่ยวกับอาหาร คือ คำข้าวก็จะปรากฏชัดขึ้นเป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐาน

 

   อานิสงส์ของการเจริญอาหาเรปฏิกูลสัญญากรรมฐาน เบื้องต้นนั้นทำให้เกิดความผาสุกในร่างกาย ไม่ให้เกิดโรคที่จะเกิดจากการกินอาหาร ในระดับที่สูงขึ้นไปนั้นทำให้รู้แจ้งในรูปขันธ์ สามารถตัดตัณหาในรส ไม่มีความยินดียินร้ายในเพราะอาหาร ไม่มีความอยากในรสที่พึงพอใจ ทำให้จิตใจสงบ ระงับ ไม่กระวนกระวาย จิตย่อมอยู่เป็นสุข และพัฒนาจิตให้เข้าถึงพระนิพพาน

 

   การประยุกต์หลักอาหาเรปฏิกูลสัญญากรรมฐานในชีวิตประจำวันเพื่อการบริโภคอาหารอย่างฉลาดมี ๓ หลักการ คือ ๑. หลักโภชนจำกัด เป็นหลักการที่ประยุกต์มาจากคำสอนเรื่องโภชนมัตตัญญุตาและหลักของอาหาเรปฏิกูลสัญญา มีแนวทางปฏิบัติคือ การพิจารณาอาหารก่อนที่จะบริโภค การหยุดพฤติกรรมการกินอาหารระหว่างวัน การไม่รับประทานอาหารด้วยความมัวเมาหลงในรสชาติ การไม่รับประทานอาหารด้วยหวังว่าเป็นเครื่องประดับประดา การไม่รับประทานอาหารด้วยหวังว่าจะตกแต่งร่างกาย แต่ให้รับประทานเพื่อกำจัดความเบียดเบียน และเพื่อส่งเสริมสุขภาพของตนเองให้มีเรี่ยวแรงในการดำเนินกิจการต่างๆ ได้ ๒. หลักโภชนปฏิบัติ ประยุกต์มาจากคำสอนเรื่องพุทธวิธีในการบริโภคและบทโภชนปฏิสังยุต มีแนวทางปฏิบัติคือ ควรกินข้าวที่มีขนาดคำพอดี ควรเคี้ยวข้าวให้ละเอียดทุกคำข้าวก่อนกลืนลงคอ ไม่ควรกินอย่างมุมมาม หรือรีบกิน ควรกำหนดรสชาติของอาหารที่พอดี ไม่ควรกินข้าวในเวลากลางคืน และควรมีมารยาทในการรับประทานอาหาร คือมีความเคารพในอาหาร ในข้าว ในคนปรุงอาหาร เป็นต้น และ ๓. หลักโภชนเภสัช ประยุกต์มาจากหลักการกินอย่างมีสติและการกินเพื่อสุขภาพ มีแนวทางปฏิบัติคือ เข้าใจ : ในลักษณะอาหารและวิธีการกินอาหารตลอดจนเข้าใจในคุณค่าแท้ คุณค่าเทียมของอาหาร และเลือกบริโภคอย่างถูกต้อง เข้าถึง : อาหารที่สะอาดและถูกหลักอนามัย และ พัฒนา : คุณภาพจิตใจของตนเองให้สมบูรณ์อยู่ตลอดเวลาด้วยวิปัสสนากัมมัฏฐาน และการฝึกจิตตามหลักการของอาหาเรปฏิกูลสัญญาจะทำให้เกิดความเข้าใจในการรับประทานอาหารอย่างแท้จริง

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕