หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหานฤดล มหาปญฺโญ (จวนตัว)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๑ ครั้ง
สัปเหร่อ: การสืบสานคติ ความเชื่อและพิธีกรรมงานศพในเขตเทศบาลตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง
ชื่อผู้วิจัย : พระมหานฤดล มหาปญฺโญ (จวนตัว) ข้อมูลวันที่ : ๐๙/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  สมจันทร์ ศรีปรัชยานนท์
  อาภากร ปัญโญ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๓ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) เพื่อศึกษาคติ ความเชื่อและพิธีกรรมงานศพในพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาพิธีกรรมงานศพในวัฒนธรรมล้านนา ๓) เพื่อศึกษาการสืบสานคติ ความเชื่อ พิธีกรรมงานศพของสัปเหร่อที่มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของประชาชนในเขตเทศบาลตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง โดยวิจัยเชิงเอกสารและเชิงคุณภาพ จากการสัมภาษณ์เชิงลึกพระสังฆาธิการ มัคคนายกในท้องถิ่น ผู้นำในท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้สูงอายุ จำนวน ๓๕ รูป/คน เพื่อวิเคราะห์รูปแบบการสืบสานคติ ความเชื่อ พิธีกรรมงานศพกับบทบาทสัปเหร่อ

ผลการศึกษาวิจัยพบว่า

 

ความเชื่อและพิธีกรรมงานศพได้รับอิทธิพลจากประเทศอินเดีย เพื่อส่งดวงวิญญาณของผู้ตายไปสู่สวรรคาลัย จากการเผาและปัดเศษเถ้ากระดูกผู้ตายลงแม่น้ำคงคา จนเกิดธรรมเนียมนิยมการทำฌาปนกิจศพและลอยเถ้ากระดูก(ลอยอังคาร)  พิธีกรรมงานศพเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีแก่ผู้จากไปที่เรียกว่า ทักษิณาทานโดยสามารถแบ่งพิธีกรรมออกเป็น ๔ อย่าง คือ ๑) พิธีกรรมในวันตาย ๒) พิธีกรรมในวันตั้งศพบำเพ็ญกุศล ๓) พิธีกรรมในวันฌาปนกิจศพ ๔) พิธีกรรมหลังวันฌาปนกิจศพ และถือปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน

 

วัฒนธรรมล้านนาได้แบ่งลักษณะพิธีกรรมงานศพตามชั้นชนไว้ ๓ ลักษณะ  คือ ๑) การจัดพิธีศพเจ้านายชั้นสูง ๒) การจัดพิธีศพพระสงฆ์ ๓) การจัดพิธีศพสามัญชน โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งดวงวิญญาณผู้วายชนม์ไปสู่สุคติตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ซึ่งการจัดพิธีศพเจ้านายและพระสงฆ์จะตั้งสรีระร่างผู้ตายลงบนปราสาทศพที่สูงใหญ่งดงามแตกต่างสามัญชน ปัจจุบันการจัดพิธีกรรมงานศพมีลักษณะไม่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเจ้าภาพต้องการจัดพิธีกรรมรูปแบบใด  แต่พิธีกรรมต้องไม่ขัดกับหลักจารีตประเพณีดั้งเดิม  จากการศึกษาพบว่าแนวทางและรูปแบบการสืบสานคติ ความเชื่อและพิธีกรรมงานศพของสัปเหร่อที่มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของชุมชน ประกอบด้วย  ๑) ความเชื่อ การสงเคราะห์ผู้ตาย ๒) ความไว้วางใจ การยอมรับและไว้ใจของชุมชน ๓) รายได้ เป็นแรงจูงใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ ๔) การสืบต่อ เป็นการถ่ายทอดความรู้สู่เชื้อสายและผู้ที่มีความสนใจ

ดังนั้น การสืบสานคติ ความเชื่อและพิธีกรรมงานศพในวัฒนธรรมล้านนา จึงจำเป็นที่จะต้องตระหนักและสร้างคุณค่าการเป็นสัปเหร่อ ที่ประกอบด้วยความรู้ทางพิธีกรรม การบริหารจัดการขั้นตอนตามขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อสร้างความเป็นอัตลักษณ์และจรรโลงไว้ซึ่งประเพณีอันดีงามของชุมชนสืบต่อไป

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕