หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาวัฒนา ปญฺญาทีโป
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๔ ครั้ง
รูปแบบการพัฒนาเกษตรกรรมสมัยใหม่ตามแนวเกษตรเชิงพุทธบูรณาการ
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาวัฒนา ปญฺญาทีโป ข้อมูลวันที่ : ๑๕/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชปริยัติมุนี
  จำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

ดุษฎีนิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ (1) เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับเกษตรกรรมเชิงพุทธและวิทยาการสมัยใหม่ (2) เพื่อศึกษารูปแบบการเกษตรกรรมในสังคมไทยปัจจุบัน (3) เพื่อนำเสนอรูปแบบการพัฒนาเกษตรกรรมสมัยใหม่เชิงพุทธบูรณาการ

              ผลการวิจัยพบว่า เกษตรแนวพุทธ หรือพุทธเกษตร หมายถึง การทำเกษตรกรรม โดยยึดหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักศีล ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น มีเมตตากรุณา แบ่งปันกัน และเป็นสัมมาอาชีวะ เป็นพื้นฐานการประพฤติธรรม ส่วนเกษตรแนวใหม่มีทั้งเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน เกษตรพอเพียง ล้วนมุ่งเพิ่มผลผลิตลดรายจ่ายเพิ่มรายได้พึ่งพาตนเอง และไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม มุ่งไปในเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

              การถอดบทเรียนพุทธเกษตรกรรมของพระสงฆ์ที่สอนประชาชน พบว่า ปัจจุบันพระสงฆ์สอนธรรมะหลากหลายวิธีการเพื่อเข้าถึงประชาชน การสอนธรรมะผ่านกิจกรรมเกษตรเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพแทนการสอนธรรมะแบบจารีตที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต พระสงฆ์ที่สอนธรรมะผ่านการทำเกษตรกรรมในประเทศไทยมี 4 สำนัก คือ (1)กลุ่มสันติอโศก โดยสมณะเสียงศีล ชาตวโร (2)กลุ่มวัดสวนแก้ว โดยพระราชธรรมนิเทศ (พยอม กลฺยาโณ) (3) กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ โดยพระสุบิน ปณีโต และ (4)กลุ่มโรงเรียนชาวนาพุทธเศรษฐศาสตร์ โดยพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ทั้ง 4 กลุ่มนี้มีแนวคำสอนเรื่องพุทธเกษตรกรรม คล้ายกันคือ สอนให้คนรู้จักความขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด สามัคคี แบ่งปันกัน และคำนึงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับหลักธรรม ทิฏฐธัมมิกัตถธรรม โภควิภาค กามโภคีสุข อปริหานิยธรรม พรหมวิหาร สัมมาอาชีวะ รูปแบบพุทธเกษตรกลุ่มตามคำสอนของพระสงฆ์ทั้ง 4 กลุ่มนี้ เรียกว่าพุทธเกษตรกลุ่มสีขาว (white Buddhist agriculture) นอกจากนั้นยังมีหลักพุทธเศรษฐศาสตร์เข้ามากำกับเพื่อให้การดำเนินชีวิตสอดคล้องกับสภาพสังคมยุคใหม่ ในส่วนของชาวเกษตรกรผู้รับแนวทางการทำเกษตรเชิงพุทธไปปฏิบัติ พบว่าผู้ประสบความสำเร็จด้านอาชีพเกษตรกรรม ล้วนแต่มีศีลธรรม มีศีล 5 เป็นพื้นฐาน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีเมตตากรุณา แบ่งปันผลผลิต ไม่ถูกครอบงำด้วยกิเลสในการทำเกษตรกรรม ซื่อสัตย์สุจริต

     การบูรณาการหลักพุทธเกษตรกรรมเข้าไปในวิถีชีวิตเพื่อให้เกิดการพัฒนาการทางด้านศีลธรรมควบคู่ไปกับการประกอบอาชีพ เป็นการสอนธรรมะในรูปแบบของการปฏิบัติได้ผลคือ กลุ่มชาวเกษตรกร ชาวนา ชาวสวน และชาวไร่ ที่รับเอาแนวคำสอนหลักธรรมะที่ผสมอยู่กับการประกอบอาชีพ ทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างดีทั้งในแง่ปัจเจกที่ก่อให้เกิดศีลธรรม การตระหนักรู้ ความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ซึ่งเป็นจุดแข็งทำให้ชุมชนหรือสังคมเกิดการพัฒนาอย่างเป็นระบบ เกิดกัลยาณมิตรพึ่งพาอาศัยกัน

 

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕