หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมนตรี อาภทฺธโร
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๘ ครั้ง
การพัฒนาคุณภาพจิตตามหลักการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานของพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ)
ชื่อผู้วิจัย : พระมนตรี อาภทฺธโร ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๑๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  วันชัย พลเมืองดี
  พระครูศรีวรพินิจ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๐
 
บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดการพัฒนาคุณภาพจิตตามแนวทางพระพุทธศาสนา และ ๒) เพื่อศึกษาการพัฒนาคุณภาพจิตตามหลักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานของพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพประกอบกับการสัมภาษณ์เชิงลึก ผู้ให้ข้อมูลในการสัมภาษณ์ คือ กลุ่มที่ ๑ ลูกศิษย์ของพระธรรมธีรราชมหามุนี ๓ รูป และกลุ่มที่ ๒ ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร หมู่ ๒ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน ๑๐ คน

ผลการศึกษา พบว่า

๑. พระพุทธศาสนาถือว่าจิตเป็นประธาน คนจะดีหรือชั่วขึ้นอยู่กับคุณภาพจิตเป็นสำคัญ ดังนั้น จึงควรพัฒนาจิตให้มีคุณภาพอยู่เสมอโดยการปฏิบัติตามหลักไตรสิกขาหรือตามหลักอริยมรรคมีองค์ ๘ และหากกล่าวถึงวิธีการที่จะพัฒนาจิตใจก็ได้แก่การปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งเป็นการใช้สติพิจารณากาย เวทนา จิต และธรรม เพื่อให้เข้าใจสรรพสิ่งตามความเป็นจริง

๒. หลักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเพื่อพัฒนาจิตใจตามแนวของพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) คือ การดำเนินตามหลักสติปัฏฐาน ๔ คือ การใช้สติพิจารณากาย เวทนา จิต และธรรม โดยการภาวนาว่ายุบหนอ-พองหนอประกอบ ซึ่งผลของการปฏิบัติที่เกิดจากการใช้สติพิจารณากาย (กายานุปัสสนา) ส่งผลให้มีสติรู้ลมหายใจเข้า-ออก และการเคลื่อนไหวร่างกาย หรืออิริยาบถต่าง  ผลที่เกิดจากการใช้สติพิจารณาเวทนา (เวทนานุปัสสนา) ทำให้มีสติรู้ถึงเวทนา คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสุข ทุกข์ หรือไม่สุข ไม่ทุกข์ มีสติรู้การเกิด และดับของเวทนาทั้งหลาย ไม่ยึดมั่นถือมั่นในความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ผลที่เกิดจากการใช้สติพิจารณาจิต (จิตตานุปัสสนา) ทำให้จิตผ่องใส มีความมั่นคงหนักแน่นยิ่งขึ้น และสุขภาพจิตที่ดี และผลที่เกิดจากการใช้สติพิจารณาสภาวธรรม (ธัมมานุปัสสนา) ทำให้เกิดการกำหนดรู้สรรพสิ่งว่าล้วนเป็นสภาวธรรม ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เราหรือเขา

 

ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามแนวทางแห่งสติปัฏฐาน ๔ เพื่อพัฒนาคุณภาพจิตข้างต้นนี้ สามารถสรุปให้เด่นชัดใน ๒ ระดับ คือ ๑) ระดับโลกิยะ คือ อำนวยประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ช่วยให้คลายเครียด มีบุคลิกภาพดี มีจิตใจผ่องใส สงบ เยือกเย็น ทำให้คิดอะไรได้รวดเร็วและถูกต้อง และ ๒) ระดับโลกุตตระ คือ หากปฏิบัติได้ก้าวหน้าไม่หยุดนิ่งก็สามารถบรรลุธรรมขั้นต่าง ๆ และอยู่เหนือโลก คือ มีจิตไม่หวั่นไหวตามโลกธรรม ๘ ไม่ว่าจะมีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสุข ทุกข์ มีสรรเสริญ หรือนินทา ก็ตาม

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕