หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นาวาตรี สมพงษ์ สันติสุขวันต์
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๒ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในสมัยทวารวดี(๒๕๕๑)
ชื่อผู้วิจัย : นาวาตรี สมพงษ์ สันติสุขวันต์ ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ
  รศ.ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์
  นาย รังษี สุทนต์
วันสำเร็จการศึกษา : ๔ เมษายน ๒๕๕๑
 
บทคัดย่อ

                วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศไทยสมัยทวารวดีในประเด็นที่ว่าด้วยการเข้ามาของพระพุทธศาสนาสู่ประเทศไทยสมัยทวารวดี อิทธิพลและร่องรอยของพระพุทธศาสนาในสมัยทวารวดี โดยศึกษาจากข้อมูลเอกสารและหลักฐานด้านโบราณคดีที่เกี่ยวข้อง

ผลจากการศึกษาพบว่า พระพุทธศาสนาได้เข้าสู่ประเทศไทยสมัยทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๐ ที่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง รุ่งเรืองอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖ มีเอกลักษณ์ด้านศิลปะเป็นของตนเองในชื่อ “ศิลปะทวารวดี” มีศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง
พุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑ พระพุทธศาสนาเถรวาทจากศูนย์กลางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้แผ่ไปถึง ภาคตะวันออก รุ่งเรืองสูงสุดในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๔ มีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณเมืองศรีมโหสถ ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี
พุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๒ พระพุทธศาสนาเถรวาทจากศูนย์กลางลุ่มแม่เจ้าพระยา ได้แผ่ไปถึงภาคใต้มีผู้นับถือมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔
พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ พระพุทธศาสนาเถรวาทจากศูนย์กลางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้แผ่ไปถึงบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รุ่งเรืองสูงสุดในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ มีศูนย์กลางอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำชีพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ พระพุทธศาสนาเถรวาทจากศูนย์กลางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แผ่ไปถึงภาคเหนือ รุ่งเรืองสูงสุดในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖ มีศูนย์กลางอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน โดยเฉพาะบริเวณเมืองลำพูนโบราณ
อิทธิพลของพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบทวารวดี มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวทวารวดีอย่างมาก ได้ทิ้งร่องรอยเกี่ยวกับประเพณีอันดีงามไว้คือการทำบุญอุทิศ การปฏิบัติธรรมเพื่อความสุขในโลกหน้าการปรารถนาให้ทันพระศรีอาริย์ อิทธิพลของพระพุทธศาสนาได้ก่อให้เกิดรูปแบบศิลปะประติมากรรม สถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน
พระพุทธศาสนาสมัยทวารวดีที่แพร่หลายไปในทุกภาคของประเทศนั้น ได้ทิ้งร่องรอยไว้ทั้งด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม เช่น ซากสถูป ธรรมจักรศิลา พระเจดีย์ พระพิมพ์ พระพุทธรูป ตลอดจนหลักฐานจารึกเกี่ยวกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ที่สำคัญและเป็นที่แพร่หลายในสมัยทวารวดีจารึกคาถา เย ธมฺมา หัวใจพระพุทธศาสนา อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท เป็นอาทิ ล้วนแต่เป็นเครื่องยืนยันร่องรอยต่าง ๆ ชี้ให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ศรัทธา ปัญญา ตลอดจนความเข้าใจในพระพุทธศาสนาของชาวพุทธสมัยทวารวดีได้เป็นอย่างดี   

Download : 255182.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕