หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาบุญเลิศ ธมฺมทสฺสี (โอฐสู)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๙ ครั้ง
ศึกษาวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระราชวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ) (๒๕๔๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาบุญเลิศ ธมฺมทสฺสี (โอฐสู) ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ธรรมนิเทศ)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาเทียบ สิริญาโณ
  รศ.ชูศักดิื ทิพย์เกษร
  ดร.พจนพันธ์ สุโพธิ์
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๓
 
บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระราชวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ) วัดบ้านไร่  ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา  เพราะเห็นว่า ท่านเป็นพระที่สามารถสื่อสารกับประชาชนได้ทุกระดับ และประสบผลสำเร็จในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา คือมีประชาชนศรัทธาเคารพนับถือมากมาย ทุกคนต่างมุ่งสู่วัดบ้านไร่  เพื่อเข้าไปกราบนมัสการท่าน ยิ่งนับวันก็เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่านักข่าว นักการเมือง นักกีฬา หรือนักวิชาการ  ต่างก็หันมาสนใจเข้าหาท่านอยู่เสมอ แม้กระทั้งเวลาเกิดมีปัญหาที่แก้ไม่ตกก็มักจะให้ท่านเป็นผู้ชี้แนะแนวทาง เช่น ปัญหาเรื่อง วาย ทู เค และปัญหายาเสพติด  จึงทำให้ผู้วิจัยมีความสนใจอย่างยิ่งในการศึกษาค้นคว้า โดยได้ทำการวิจัยเชิงเอกสาร และวิจัยเชิงสำรวจ ได้แบ่งการศึกษาออกเป็น ๖ บท ในแต่ละบทมีดังนี้ 

         บทที่  ๑  บทนำ ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา วัตถุประสงค์ของการวิจัย ขอบเขตการวิจัย  วิธีดำเนินการวิจัย  คำจำกัดความที่ทำการวิจัย  และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ 

         บทที่  ๒   แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการเผยแผ่  และการสื่อสาร  โดยศึกษาถึงวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าในครั้งที่พระองค์ยังทรงมีพระชนม์อยู่ จากหนังสือพระไตรปิฎก เทคนิคและวิธีการสอนของพระพุทธองค์ พุทธวิธีการสอนตามแนวธรรมบท  วิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสาวก  และวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสมัยต่าง ๆ ในประเทศไทย  ส่วนการสื่อสารตามหลักกระบวนการสื่อสารใช้ทฤษฎีด้านการสื่อสาร ทฤษฎีการสื่อสารเพื่อการโน้มน้าวใจ  และมีแนวคิดพร้อมทั้งวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องด้วย

         บทที่  ๓    ระเบียบวิธีการวิจัย  มีขอบเขตการศึกษาค้นคว้า  มีวิธีการดำเนินการวิจัย ประชากรกลุ่มเป้าหมาย และการเลือกกลุ่มตัวอย่างในการวิจัย เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ และวิจัยภาคสนาม นำมาวิเคราะห์เชิงสถิติ โดยใช้ค่าสถิติพื้นฐานได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย โดยใช้โปรแกรม SPSS ช่วยในการประมวลผลทุกขั้นตอน

         บทที่  ๔     ศึกษาวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระราชวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ  ปริสุทฺโธ)โดยได้สัมภาษณ์ท่านเกี่ยวกับวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในปัจจุบัน และทราบถึงทัศน คติของท่านในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ศึกษาค้นคว้าวัตรปฏิบัติ อันเป็นปฏิปทาที่น่าเลื่อมใสยิ่งของหลวงพ่อ หลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่ท่านใช้ในการเผยแผ่หรือประกาศ และวิธีการเผยแผ่ที่ท่านใช้บ่อยที่สุด  คือการสนทนาธรรมและการตอบคำถาม  ถือว่าเป็นวิธีการที่ท่านใช้สื่อถึงผู้ฟังง่ายที่สุด  ไม่ต้องมีพิธีรีตองมากมาย  ตลอดถึงการใช้บุคลิกลักษณะคือท่านั่ง การพูดภาษาพื้นบ้าน และการสร้างอารมณ์ขันให้แก่ผู้ฟังอยู่เสมอ    ความสัมฤทธิผลในการเผยแผ่ที่มีคนทุกชนชั้นตั้งแต่กษัตริย์  คนรวย คนจนต่างพากันเข้าไปกราบนมัสการ และทัศนคติของคนเหล่านั้นที่มีต่อหลวงพ่อคูณ

         บทที่  ๕  ผลการวิจัย  ได้แก่ ผลของการสำรวจที่ได้มาจากการลงมือทำโดยใช้แบบสอบถาม แบ่งออกเป็นผลของข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับผู้ตอบแบบสอบถาม ผลของการเปิดรับสาร ผลของลักษณะของผู้ส่งสาร คือบุคลิกภาพ และการใช้สื่อภาษาในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา   และผลของการแสดงความคิดเห็นต่อวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และเนื้อหาธรรมที่ใช้เผยแผ่พระพุทธศาสนาของท่าน

         บทที่  ๖  สรุป  ผลการวิจัย และข้อเสนอแนะ   จากการวิจัย พบว่า หลวงพ่อคูณ ท่านเป็นพระที่ประชาชนศรัทธาเคารพนับถือเป็นอย่างมาก   เพราะท่านประสบความสำเร็จในการสื่อสาร จะเป็นการสนทนา หรือตอบปัญหา หรือว่าการใช้สื่อสัญลักษณ์ คือการเคาะหัวแทนการประพรมน้ำพุทธมนต์ และวัตถุมงคล การฝังตะกรุด จะมีคนทุกระดับเข้าไปหาท่านมิได้ขาด โดยเฉพาะนักข่าว หรือสื่อสารมวลชนจะติดตามเสนอข่าวสารของท่านอยู่เสมอ ไม่ว่าท่านจะพูดอะไร คำพูดนั้นมักเป็นที่สนใจกันเป็นอย่างมาก

         มีเรื่องที่จะต้องศึกษาเกี่ยวกับการทำงานของท่านได้ทุกแขนงทุกสาขาวิชา  แต่ที่น่าสนใจคือการศึกษาเปรียบเทียบวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของท่านกับพระเถระทั้งหลายที่มีลักษณะเด่นแตกต่างกัน และเหมือนกัน เรื่องอิทธิพลของการใช้สื่อสัญลักษณ์คือวัตถุมงคล คาถาอาคม ตะกรุด และการเคาะศรีษะแทนการประพรมน้ำพุทธมนต์ในสังคมปัจจุบัน และการสงเคราะห์ประชาชนโดยการบริจาคสร้างสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นงานที่ท่านอุทิศชีวิตทำเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ บ้านเมือง และพระพุทธศาสนามาเป็นเวลานาน
 

Download : 254305.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕